ไอคอนสยาม และ สยามพารากอน เดินหน้าสานต่อ โครงการรักษ์โลก ใครจะเก็บขยะ-แยกขยะ ได้มากกว่ากัน
เมืองสุขสยาม แยกขยะทำปุ๋ย+บรรจุภัณฑ์รักษ์โลก
โครงการดี ๆ ช่วยกันกอบกู้โลก ต้องช่วยกันสนับสนุน ล่าสุด ไอคอนสยาม โดย บัญชา ฉันทดิลก ประกาศว่า ปีหน้า (2567) ร้านค้าใดไม่เปลี่ยนเป็น บรรจุภัณฑ์รักษ์โลก คงต้องขอเชิญออก
ผู้บริหาร SOOKSIAM สุขรักษ์โลก ปี 2 สานต่อโครงการรักษ์โลก ปีนี้ประกาศแคมเปญ เปลี่ยนขยะอาหารให้เป็นปุ๋ย ทางเลือกในการกำจัดขยะอาหารที่ยั่งยืน
“เมืองสุขสยาม มีร้านค้ามากมายนักท่องเที่ยวมาซื้อของ กินอาหาร เศษอาหารที่ผู้ประกอบการผลิตและขายให้ลูกค้า ทุกวัน ๆ เกิดขยะอาหารมากมาย ในแต่ละวันรถเก็บขยะของ กทม.มาขนขยะไปตกเกือบ 12 ตัน
ใน 12 ตัน มีเศษอาหารจากการบริโภค และเอาไปย่อยสลายไม่ได้ เพราะมีชิ้นกระดูก แพ็คเกจที่ติดมากับเศษอาหาร ทั้งจาน ชาม ช้อนส้อม ซึ่งต้องแยก
จากที่เราศึกษามาพบว่า ขยะอาหาร 1 ตัน ในแต่ละวัน เอามาย่อยสลายโดยใช้เครื่องมือ สามารถทำเป็นปุ๋ยได้วันละกี่กิโล สุขสยามร่วมมือกับคณะวิศวกรรมและนักวิจัยจากจุฬา ดร.โอ รศ.ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล แนะนำว่า เศษอาหารเอามาย่อยสลายทำปุ๋ยได้ 25% โดยใช้
เครื่องบดเศษอาหาร เช่นใส่ร้อยกิโลออกมาได้ 25 กิโล เป็นปุ๋ยให้ต้นไม้ ใช้เวลา 18-24 ชม. หลายหน่วยงานก็ทำวิจัยบอกว่า ใช้เทคโนโลยีย่อยสลายเศษอาหารทำปุ๋ยอินทรีย์ได้โดยตรง ไม่ต้องผ่านกระบวนต่าง ๆ เพียงใช้วิธีบด อบ หรือใช้จุลินทรีย์ในการย่อยสลาย”
จากขยะอาหารทำปุ๋ยแล้วนำไปมอบให้ กปร.เป็นโครงการในพระราชดำริ มี 6 โครงการ ซึ่งนำปุ๋ยไปส่งมอบให้ชุมชน ให้เกษตรกร เป็นอาหารพืชต่อไป
“เครื่องย่อยสลายที่ใช้ในเมืองสุขสยาม มี 2 วิธีคือ 1.ใช้จุลินทรีย์ ให้จุลินทรีย์กินเศษอาหาร หลังจากกินแล้วมันจะขับถ่ายมา ชีวิตของจุลินทรีย์สั้น กินอาหารขับถ่ายมาก็ตาย จุลินทรีย์ใหม่ก็เกิดขึ้นมาใน 24 ชม. กระบวนการย่อยโดยจุลินทรีย์เสร็จแล้วได้ปุ๋ย แล้วเอามาอบแห้งในเครื่องนั้นเลย โดยใช้วิธีหมุนปั่นและใช้ความร้อน 30-40 องศา ในเวลา 24 ชม.เพื่อไล่น้ำออกไป
วิธีที่ 2 คือ คลุกเคล้า บด อัด ปั่น เพื่อให้น้ำในเศษอาหารออกไป เหลือเศษอาหารที่แห้งแล้วอบปั่นอีกที กระบวนการใช้เวลา 18 ชม. ใช้ไฟฟ้า 60-80 องศา เครื่องที่นำมาทดลองใช้เพื่อให้เหมาะสมกับเวลา ที่อาจารย์วิจัยมาแล้วคือ ในรอบ 1 วัน ควรใช้ 2 ครั้ง
ใส่อาหารเข้าไปในเครื่อง 250 ลิตร ให้เดินเครื่องในเวลา 18 ชม. อีกเครื่องหนึ่งเราก็ใส่เศษอาหารเข้าไปให้ทำงาน ในกระบวนการทั้งหมดจะต้องใช้เครื่องในการย่อย 4 เครื่อง ตอนนี้เราทดลองใช้ระบบบดอัดและใช้ความร้อน อีกเครื่องใช้จุลินทรีย์ ได้ปุ๋ยออกมาในปริมาณใกล้เคียงกัน”
ขยะอาหารล้นโลก เป็นปัญหาระดับโลก ในแต่ละปี อาหารกว่า 1,300 ล้านตัน หรือ 1 ใน 3 ของอาหารที่ผลิตได้ทั่วโลกต้องกลายเป็นขยะอาหารที่ทิ้งไปอย่างสูญเปล่า
สำหรับประเทศไทย กว่า 60% ของขยะมาจากขยะอาหาร คนไทย 1 คน สร้างขยะอาหารสูงถึง 254 กิโลกรัมต่อปี ทำให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ต่อดิน น้ำ อากาศ เกิดการย่อยสลายกลายเป็นก๊าซมีเทน (CH4) ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจก ที่มีความรุนแรงกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 27-30 เท่า
“เรื่องลดขยะเศษอาหารสำคัญ เรื่องใช้บรรจุภัณฑ์ยิ่งสำคัญ ในสุขสยามมีร้านอาหารต่าง ๆ ปีแรกของโครงการรักษ์โลก SCG นำภาชนะที่ผลิตจากวัสดุธรรมชาติ เช่น เยื่อไม้มันสำปะหลัง ซังอ้อย ข้าวโพด ต้นยูคาลิปตัส เอามาทำจานกระดาษที่ย่อยสลายได้ แทนการใช้จานชามพลาสติกจากน้ำมันปิโตรเลียม ซึ่งกว่าจะย่อยสลายใช้เวลาหลายร้อยปี
ปีที่แล้วเราทำเรื่อง “สำนึกรักษ์บ้านเกิด” ทำสินค้าที่ระลึกจากใยผ้าไหม ใยบวบ ใยมะพร้าว เส้นใยพืชทำจานชามย่อยสลายได้
ปีนี้ ร้านค้าในสุขสยาม เรื่องใหญ่ที่ต้องเปลี่ยนคือ บรรจุภัณฑ์ใส่อาหาร ต้องให้เขาเปลี่ยนพฤติกรรมใหม่ ตั้งแต่วิธีทำอาหาร เช่น ต้มเล้งต้องสับกระดูกให้เล็กลง เคยต้มซี่โครงไก่ทั้งโครงต้องสับให้เล็กลง เคยปอกมะม่วงเอาเม็ดทิ้งต้องเก็บเม็ดไปทิ้งเอง เพราะมันย่อยไม่ได้จะใช้เวลานาน ต้องส่งแค่เปลือกมะม่วงเท่านั้น
ทุเรียนที่นี่ขายดีมาก ต้องสับเปลือก ถ้าไม่สับผมให้เขาใส่ถุงปุ๋ยให้เขาไปสับที่โรงงานหรือในสวนของเขา
ตอนนี้ขวดต่าง ๆ ผมก็บด กล่องกระดาษส่งขายซาเล้ง ผมทำทุกอย่าง เพราะรถขนขยะมาที่เมืองสุขสยาม ชั้น G ทุกอย่างต้องมาแยก ใครยังใช้จานพลาสติกผมปรับ ใช้ปริมาณเกินเท่าไหร่ ถ้าใช้ 1 โลผมปรับ 60 บาท
คือคุณต้องจ่ายส่วนใดส่วนหนึ่ง ต้องจ่ายให้กับพ่อบ้านที่เขาคอยแยกขยะ ถ้วยพลาสติกที่ใส่น้ำผมให้เปลี่ยนเป็นถ้วยกระดาษ ถ้าไม่เปลี่ยนผมจะเก็บถ้วยยี่ห้อของคุณมาชั่งกิโลแล้วปรับเลย
แล้วถ้าเขาไม่ยอมจ่ายเขาต้องไม่ขายในสุขสยาม เขาต้องออกไป เป็นข้อตกลงกัน คุยกันมา 3 เดือนแล้ว ในการรักษ์โลก เราต้องเปลี่ยนตัวตนของเราอะไรที่ทำให้เกิดขยะเราต้องแก้”
ผู้บริหารเมืองสุขสยาม บอกว่าขอรับบทเข้ม ปลายปีนี้เอาจริง
“ถ้าเขาอยากขายของต้องร่วมมือกัน พอปีที่ 3 เราจะเข้มข้นกว่านี้ ปีหน้าถ้าคุณใช้วัสดุที่ไม่สามารถย่อยสลายได้เป็นแพ็คเกจจิ้ง คุณจะไม่ได้ขายในเมืองสุขสยาม
ถ้าร้านค้าไม่ทำเราต้องยอมตัดใจไม่ให้เขาอยู่กับเรานะ ถึงแม้ว่าจะไม่มีสินค้าเราก็ต้องพยายามหาคนอื่น ใช้วิธีประนีประนอมในกี่วัน เราตั้งไว้ ต้อง 1 เดือนมั้ย หรือ 2-3 เดือน ถ้าไม่ไหวจริง ๆ ให้เขาพิจารณาก่อนแล้วค่อยปรับถึงขั้นเชิญออก แล้วถ้าเขาปรับตัวได้ก็กลับเข้ามาใหม่”
นอกจากให้ร้านค้าเปลี่ยนเป็นบรรจุภัณฑ์รักษ์โลกแล้ว ในฐานะลูกค้าเดินห้างก็ต้องเรียนรู้วิธี how to ทิ้ง
“ตอนนี้มี 4 ถังขยะ แยกเป็นขวดแก้ว ขวดพลาสติก จานกระดาษ เศษอาหาร และอื่น ๆ เช่น พวกเส้นใย ภาชนะทำจากไฟเบอร์ เซรามิก
เรื่องการทิ้งของลูกค้า ไม่ได้เรื่องเลย มีแต่ชาวต่างชาติที่รู้จักแยกขยะ คนจีน อินเดีย ไม่หันมามองเลย ทิ้งไปเลย ผมสังเกตดูนะ สุขสยามมีลูกค้าทุกชาติ ถังขยะ 4 ถังมีภาษาอังกฤษ ไทย จีน ฝรั่งเท่านั้นที่แยก เทเศษอาหารลงถังหนึ่งก่อนแล้วเหลือภาชนะ ถ้าเป็นกระดาษเขาทิ้งลงถังกระดาษ เป็นพลาสติกก็แยกลงถังพลาสติก ผมคิดว่าอยากให้ของชำร่วยเขาเลย
ในขณะที่คนไทยไม่สนใจ เหมือนไม่ใช่หน้าที่ เก็บไปทิ้งยังไม่เก็บเลย กินเสร็จวางตรงนั้น แต่เราก็พูดไป เอดูเคทไปเรื่อย ๆ…”
สยามพิวรรธน์ เดินหน้ารักษ์โลก
นราทิพย์ รัตตประดิษฐ์ ประธานบริหารสายงานปฏิบัติการ บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด เล่าถึงโครงการรักษ์โลก ที่ทำมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2549
“ปัจจุบันโลกของเรากำลังเผชิญกับภาวะโลกรวน ส่งผลกระทบแนวโน้มสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปของโลก โดยในช่วง 40-50 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยอุณหภูมิเพิ่มขึ้นประมาณ 1.2 องศา ซึ่งหากเราไม่ทำอะไรเลย มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีกเป็นประมาณ 2 องศา ในปี 2050 โดย Global Climate Risk Index 2021 ได้จัดอันดับให้ประเทศไทยมีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากโลกรวนเป็นอันดับ 9 ของโลก และมีความเสี่ยงต่อภัยแล้งสูงเป็นอันดับ 6 ของโลก
สยามพิวรรธน์ร่วมกับศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านกลยุทธ์ธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (วีกรีน) คณะสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ดำเนินการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร (Carbon Footprint for Organization; CFO) มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อประเมินปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาจากกิจกรรมต่าง ๆ ขององค์กร สามารถจำแนกสาเหตุของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มีนัยสำคัญ และหาแนวทางในการลดก๊าซเรือนกระจกขององค์กร
โดยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 จนถึงปัจจุบัน สยามพิวรรธน์ ได้ดำเนินโครงการการพัฒนาหรือปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ให้มีประสิทธิภาพการใช้พลังงานที่สูงขึ้นมา การใช้พลังงานสะอาดทดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิล และการคัดแยกขยะ สามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวม 6,809 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และได้ทำการชดเชยคาร์บอน (Carbon Offset) จำนวน 11,500 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า รวมทั้งสิ้นสามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวม 18,309 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า หรือเทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้จำนวน 1,064,466 ต้น
แนวทางการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ยกตัวอย่างเช่น การลดการใช้พลังงานและการเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้พลังงาน เช่น เทคโนโลยีการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานของระบบเครื่องทำความเย็น การเปลี่ยนหลอดไฟ LED ช่วยประหยัดพลังงาน การใช้ AI ในการควบคุมการทำงานของระบบควบคุมสภาพแวดล้อมภายในอาคาร (HVAC; Heating Ventilation and Air Conditioning) และการใช้พลังงานสะอาดจากแสงอาทิตย์ด้วยโซลาร์รูฟท็อป(Solar Rooftop) เพื่อแปลงเป็นกระแสไฟฟ้าในไอคอนสยาม ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 2,430 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า”
พลังงานสะอาด เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ สยาม พรีเมี่ยม เอาท์เล็ต กำลังดำเนินการ
“ขณะนี้อยู่ในระหว่างการพัฒนาพื้นที่หลังคาแนวราบขนาด 20,000 ตรม. เพื่อผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งอยู่ในโครงการ Siam Piwat 360° Waste Journey to Zero Waste หนึ่งในโครงการต้นแบบเพื่อเดินหน้าสู่การเป็นองค์กรขยะเป็นศูนย์ ผ่านการบริหารจัดการของเสียแบบครบวงจรตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน
อีกทั้งยังใช้พื้นที่ดาดฟ้าของอาคารจอดรถสยาม พัฒนาเป็นเรือนเพาะชำต้นไม้ สำหรับใช้ตกแต่งและปลูกในพื้นที่ศูนย์ฯ ซึ่งมีส่วนช่วยในการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เพิ่มออกซิเจน และช่วยลดอุณหภูมิโดยรอบศูนย์ฯ อีกด้วย”
หลายคนอาจไม่รู้ว่า สยามพิวรรธน์ เริ่มเก็บรวบรวมขยะจากอาคารศูนย์การค้า ตั้งแต่ปี 2549 ซึ่งแต่ละวันมีปริมาณขยะที่นำไปรีไซเคิลได้วันละ 300 กิโลกรัม ผู้บริหารโครงการรักษ์โลก เสริมว่า
“ล่าสุดเปิดโครงการ Siam Piwat 360° Waste Journey to Zero waste มุ่งเน้นจัดการขยะแบบครบวงจรตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยเปิดจุดบริการรับวัสดุบรรจุภัณฑ์สะอาดที่ไม่ใช้แล้วแบบไดรฟ์ทรู (Recycle Collection Center; RCC) สามารถนำขยะที่ทำความสะอาดและคัดแยกแล้ว มาฝากส่งต่อไปรีไซเคิลเพื่อนำกลับมาใช้ประโยชน์ หรืออัพไซคลิ่งเพิ่มมูลค่าให้กับขยะ เป็นจุดรับขยะแบบไดร์ฟทูแห่งแรกในเมืองไทย
ที่ผ่านมาภาพรวมของโครงการ Siam Piwat 360° สามารถรวบรวมขยะได้ 1,275 ตัน ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 7,156 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า หรือเทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้ 753,227 ต้น (ข้อมูล 2564 – มิถุนายน 2566) ในอนาคตเรายังเตรียมเพิ่มจุดบริการ Recycle Collection Center (RCC) ที่ไอคอนสยาม และสยามพรีเมี่ยม เอาท์เล็ต เพื่อขยายผลและส่งส่งเสริมให้ผู้คนร่วมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการคัดแยกขยะ ใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่า ด้วยการนำกลับมาใช้ใหม่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน
ในส่วนของ รอยัล พารากอน ฮอลล์ ศูนย์การประชุมและแสดงนิทรรศการ บนชั้น 5 ของศูนย์การค้าสยามพารากอน ได้ดำเนินการตามนโยบาย Carbon Neutral Venue อย่างจริงจัง โดยนำหลักคิด 4C ประกอบด้วย 1.Carbon Reduction ดำเนินกิจกรรมเพื่อลดการปล่อย Carbon Footprint ให้น้อยที่สุดผ่าน 3 กิจกรรมหลัก คือ Reduce, Reuse และ Recycle 2.Calculation สร้างเครื่องมือคำนวณเพื่อวัดผลให้เป็นรูปธรรม เพื่อที่จะได้ทราบว่าแต่ละกิจกรรมที่ทำลงไปมีส่วนช่วยโลกเรามากแค่ไหน
3.Communication สื่อสารให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายเพื่อสร้างความตระหนักร่วมกัน
4.Carbon Offset ชดเชย carbon footprint จากการจัดกิจกรรมให้เท่ากับศูนย์ ถือเป็นศูนย์ประชุมแห่งแรกในประเทศไทยที่เป็น Carbon Neutral Venue โดยสมบูรณ์
อีกทั้งยังเดินหน้ามุ่งสู่ องค์กรขยะเป็นศูนย์ และเป็นต้นแบบในการจัดการขยะแบบครบวงจร โดยเศษอาหารที่รวบรวมได้ในแต่ละวันไปทำเป็นสารปรับปรุงดินด้วยเครื่องอบขยะเศษอาหาร โดยร่วมมือกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อใช้ในการดูแลต้นไม้ภายในศูนย์ฯ ทดแทนการใช้ปุ๋ยเคมีทั้งหมด และยังส่งให้กับโครงการ “ไม่เทรวม” ของ กทม. เพื่อทำปุ๋ยหมัก หรือจัดเก็บรวบรวมส่งโรงงานกำจัดมูลฝอยด้วยเทคโนโลยีเชิงกล-ชีวภาพอ่อนนุชเพื่อหมักเป็นก๊าซผลิตไฟฟ้า
ยังมีโครงการส่งมอบกระป๋องอลูมิเนียมให้กับมูลนิธิขาเทียมฯ นำรายได้จากการขายกระป๋องเพื่อรีไซเคิลใช้ในการผลิตขาเทียม โครงการความร่วมมือกับสำนักงานเขตปทุมวันในการเก็บรวบรวมของเสียอันตรายเพื่อนำไปทำลายอย่างถูกวิธี โครงการแยกขวดช่วยหมอร่วมกับ Less Plastic นำขวดพลาสติกใส (ขวด PET) ไปอัพไซเคิลผลิตเป็นชุด PPE มอบให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ โครงการถังวนถุงมือวิเศษXวน- ร่วมกับ PPP Plastics Thailand นำพลาสติกยืดสะอาดนำกลับไปใช้ประโยชน์ใหม่ เป็นต้น”
Leave feedback about this