ธันวาคม 26, 2024
ticycity.com
Culture God's City

“ท้าวหิรัญพนาสูร” อสูรทรงเลี้ยงของ ร. 6  

โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า

สืบเนื่องจากเมื่อเดือนที่แล้ว ทางมูลนิธิอนุรักษ์พระราชวังพญาไท ได้มีหนังสือขออนุโมทนาบุญถึงผู้มีจิตศรัทธาในการบริจาคซ่อมแซมซุ้มท้าวหิรัญพนาสูร และบริเวณพื้นโดยรอบศาล  ทาง Ticy City เลยเกิดไอเดียที่จะให้ Nai Mu เป็นไกด์พาคุณผู้อ่านไปรู้ทำความรู้จักกับ “ท้าวหิรัญพนาสูร”อสูรทรงเลี้ยงของ ร. 6   ซึ่งมีชื่อเดิมว่า “ฮู”  จะเรียกว่า “ท้าวฮู หรือ “หิรัณฮู” ก็ได้  

ต้นกำเนิด “ท้าวฮู” 

ย้อนกลับในปี พ.ศ. 2449 ช่วงสมัยที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระอิสริยยศ “สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช” พระองค์ได้เสด็จประพาสมณฑลพายัพ (พื้นที่ภาคเหนือตอนบน) โดยภูมิประเทศในแถบนั้นยังมีสภาพเป็นป่ารกชัฎ ไม่มีถนน และทางรถไฟใดๆ ข้าราชบริพารที่ตามเสด็จต่างเกรงกลัวไข้ป่า อีกทั้งบางคนก็เริ่มจะเป็นไข้อ่อนๆ อีกด้วย

คืนหนึ่ง ทรงสุบินถึงชายชาวป่าหุ่นล่ำสัน แจ้งชื่อกับพระองค์ว่า “หิรัณย์” (ตามตัวสะกดในสมัยนั้น)  มีชื่อเดิมว่า “ฮู” เป็นอสูรผู้ดูแลป่าแห่งนี้  อีกทั้งแจ้งกับพระองค์ว่า “จะถวายความจงรักภักดี ตามคุ้มครอง ระวังภัยจากอุบัติเหตุ และภูติผีปีศาจ ไม่ว่าจะเสด็จประทับในที่แห่งใดก็ตาม”

พอรุ่งเช้าจึงทรงโปรดให้เตรียมอาหารเซ่นสังเวยท้าวฮู ปรากฏว่า การเดินทางในคราวนั้น ไม่มีผู้ใดเป็นอันตรายทั้งสิ้น คนที่เป็นไข้ก็หายและแข็งแรงดีทุกคน  ซึ่งนับแต่นั้นมาไม่ว่าคราวใดที่พระองค์จะเสด็จไปยังแห่งหนตำบลไหน  ยามเสวยก็จะให้ตั้งสำรับแก่ท้าวหิรัญทุกครั้งไป! 

อันที่จิงเรื่องพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสถาปนา “ท้าวฮู” เป็น “เทพารักษ์ประจำพระองค์” นั้นมีส่วนคล้ายๆ กับเรื่องหนึ่งของทางประเทศจีนเมื่อ จักรพรรดิ ถังเสวียนจง และ หยางกุ้ยเฟย แต่งตั้ง “จงขุ่ย” ที่มาเข้าฝันเป็นเทพอสูรปราบปีศาจ

โดยสมัยแรกๆ มีพิธีการแบ่งเครื่องเสวยอีกชุดหนึ่งแก่ท้าวฮู ทำการแบ่งแบบลอยๆ เพราะยังไม่มีรูปท้าวฮู และผู้ที่ทำการแบ่งเครื่องเสวยในครั้งนั้นคือ หลวงปราโมทย์กระยานุกิจ (มา) ซึ่งต่อมามีรับสั่งจะหล่อองค์สัมฤทธิ์ “ท้าวหิรัญพนาสูร”  จึงทรงเล่าเรื่องราวและบอกลักษณะรูปร่างท้าวฮูให้ พระยาอนุศาสน์จิตรกร (จันทร์ จิตรกร) ทราบ เพื่อนำไปร่างแบบจำลองรูปหล่อท้าวหิรัญพนาสูร โดยการหล่อรูปสัมฤทธิ์องค์เล็กๆ ในครั้งนั้นมีจำนวน  4 องค์ 

องค์แรก ตั้งไว้ที่ข้างพระบรรทม และเชิญตามเสด็จไปทุกที่ เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว สวรรคต พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานแก่พระนางเจ้าสุวันทา พระวรราชเทวี และสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ปัจจุบันประดิษฐานในห้องทรงนมัสการ วังรื่นฤดี ซึ่งพระวรราชเทวีทรงกำหนดธรรมเนียมให้สังเวยพระกระยาหารทุกวัน วันละ 2 เวลาคือ 08.00 น. และ 11.00 น. ในแต่ละวันจะถวายดอกไม้บูชา เวลา 20.00 น. 

องค์ที่สอง พระราชทานแก่พระยาอนิรุทธเทวา (หม่อมหลวงฟื้น พึ่งบุญ)  

องค์ที่สาม ไว้หน้าหม้อรถยนต์พระที่นั่งรอง ยี่ห้อเนเปีย 

องค์ที่สี่ อยู่ที่กรมมหาดเล็กหลวงในพระราชวัง 

ทั้งนี้เหล่ามหาดเล็ก ข้าราชบริพารเชื่อในบารมีและอิทธิฤทธิ์ของท้าวหิรัญพนาสูร อสูรทรงเลี้ยงของพระองค์มาก อย่างวันไหนที่ไม่ได้เซ่นสรวง ถ้วยโถโอชาม เครื่องเสวยแตกวินาศ  เสียงดังไปหมด ! 

“ท้าวหิรัญพนาสูร” เทพารักษ์ประจำวังพญาไท

ต่อมา ปี พ.ศ. 2465 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  โปรดให้ช่างหล่อรูปท้าวหิรัญพนาสูรขนาดใหญ่ด้วยสัมฤทธิ์ เพื่อมาเป็นเทพารักษ์ประจำพระราชวังพญาไท (ปัจจุบันคือที่ตั้งของโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า) คณะทำงานร่วมกันในครั้งนั้น ได้แก่ พระยาอาทรธุระศิลป์ (ม.ล. ช่วง กุญชร ณอ.)  เจ้ากรมบัญชาการ กรมศิลปากร เป็นผู้กองจัดสร้าง , พระเทพรจนา (สิน ปฏิมาประกร) เป็นผู้ปั้นต้นแบบ , นาย มาริโอ แกลเลตตี (Mr.  Mario Galetti) วิศวกรชาวอิตาเลียน เป็นผู้คุมการหล่อแบบ โดยใช้รูปร่างสัดส่วนของ “นายตาบ พรพยัคฆ์”  เป็นแม่แบบ ส่วนที่ต่างจากนายตาบคือ ท้าวฮู ไม่ไว้หนวด เนื่องจากท่านไม่โปรด และศีรษะให้หล่อรูปชฎาทรงเทริดอย่างไทยโบราณแทนผมสมัยใหม่ โดยเพื่อให้เข้ากับลักษณะของเทพารักษ์ โปรดให้ท้าวหิรัญพนาสูรถือไม้เท้า เป็นเครื่องประดับยศ 

มีเรื่องเล่ากันว่าเมื่อ นายมาริโอ แกลเลตตี นำเชือกผูกคอรูปท้าวหิรัญพนาสูรเพื่อชักรอกขึ้นบนฐาน  ปรากฏว่า นายมาริโอคอเคล็ดอย่างไม่มีสาเหตุ เมื่อพระยาอาทรธุระศิลป์ทราบ จึงแนะให้นำดอกไม้ ธูปเทียนไปขอขมา จากนั้นก็หายเป็นปกติ

“ท้าวหิรัญพนาสูร” มีพิธีบวงสรวง เมื่อวันเสาร์ที่ 15 กรกฎาคม 2465 

ปัจจุบัน ภายในโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า มีศาลท้าวหิรัญพนาสูรอยู่ 2 แห่ง ศาลเล็กอยู่ที่หน้าศูนย์อำนวยการแพทย์พระมงกุฎเกล้า และเมื่อเดินไปด้านหลังจะพบแหล่งนั่งพักผ่อน ในบริเวณนี้โล่ง สะอาดตา และมีศาลท้าวหิรัญพนาสูรที่สร้างเมื่อปี 2465 

“ขุนหิรัญปราสาท”  ต้นแบบ ท้าวหิรัญพนาสูร วังพญาไท

ขุนหิรัญปราสาท (ตาบ พรพยัคฆ์) แม่แบบของ “ท้าวหิรัญพนาสูร” ผู้นี้ เป็นบุตรนายทัดและนางพริ้ม เกิดเมื่อ 17 เมษายน 2428 และถึงแก่กรรม เมื่อ 4 กรกฎาคม 2507 ท่านเป็นคนสูงใหญ่ มีพละกำลังวังชาแข็งแรงมาก ห้าวหาญไม่กลัวใคร รวมทั้งไม่ยอมก้มศีรษะให้ใครโดยง่าย ขนาดมีสวนผลไม้ห่างจากตัวบ้านยังไม่มีโจรคนร้ายกล้าเข้ามาบุกรุก และท่านยังไม่เกรงกลัวในภัยอันตรายใดๆ ถึงกับเคยลั่นวาจาไว้ว่า หากพระยามัจจุราชจะมาเอาชีวิตเมื่อไรก็เชิญ ขออย่างเดียวอย่าเจ็บปวดทรมานก่อนตาย !  

ต่อมา ในปี พ.ศ. 2449  ตาบ พรพยัคฆ์ ได้รับการแต่งตั้งเป็นมหาดเล็กพนักงานน้ำสรง เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2465 พร้อมทั้งได้รับบรรดาศักดิ์ “ขุนหิรัญปราสาท”  

ครั้นเมื่อมหาดเล็ก ตาบ ขอพระราชทาน “นามสกุล” จากในหลวงรัชกาลที่ 6 ทรงรับสั่งถามถึงวงศ์ตระกูลว่ามาจากไหน ทำให้ทราบว่า ท่านเป็นหลานของพระฤทธิสงคราม (เสือ) แม่ทัพหน้าในสงครามปราบ “กบฎเงี้ยว” ในแผ่นดินรัชกาลที่ 5   พระองค์ท่านจึงทรงรับสั่งว่า “ไอ้ตาบมันเป็นลูกหลานของแม่ทัพหน้าซึ่งเป็นเสือเก่า ตัวมันเองก็มีรูปร่างสูงใหญ่ น้ำใจกล้าหาญอดทน ต้องตั้งนามสกุลของมันให้สมกับปู่ย่า ตาทวดมันเป็นเสือที่ประเสริฐมาแต่เดิม”  ดังนั้น ท่านจึงได้รับนามสกุลพระราชทานว่า “พรพยัคฆ์”

ส่วนบรรดาศักดิ์ “ขุนหิรัญปราสาท” นั้น ทรงพระราชทานหลังจากที่ตั้งศาลเทพารักษ์ หลังวังพญาไทแล้ว 2 เดือน ด้วยเหตุผลว่า เพื่อให้ชื่อสอดคล้องกับ “ท้าวหิรัญพนาสูร”  และยังมีสร้อยต่อท้าย ให้เกี่ยวพันกับ “ปราสาทราชวัง”  อีกด้วย

ขณะที่มหาดเล็กคนอื่นๆ ในรัชสมัยของในหลวงรัชกาลที่ 6 ต้องโกนหนวดให้ใบหน้าเกลี้ยงเกลาอยู่เสมอ  เนื่องจากพระองค์ไม่โปรดให้ไว้หนวด แต่ขุนหิรัญปราสาทเป็นคนเดียว ที่ได้รับการยกเว้น ! พร้อมทรงรับสั่งว่า “หนวดของไอ้ตาบมันสวยดี” ขุนหิรัญปราสาท (ตาบ พรพยัคฆ์) จึงภูมิใจและไว้หนวดมาตลอดอายุขัยของท่าน 

และหากมีโอกาสไปโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า หรือย่านอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ Ticy City ขอชื้อเชิญให้ไปกราบไหว้บูชา “ท้าวหิรัญพนาสูร” อสูรทรงเลี้ยงของ ร. 6 สักครั้ง เพื่อความเป็นสิริมงคลกับชีวิต แล้วจะพบว่า ศาลทั้ง 2 แห่งมีผู้มากราบไหว้บูชาทุกวัน! ไม่เคยขาด 

อ้างอิง :  เรียบเรียงและอ้างอิงจากบันทึกของ น.ส. สุธีรา อินทรน้อย ใน หนังสือ “พระพุทธเจ้าตรัสรู้อะไร”   พระราชนิพนธ์ใน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงศพ ขุนหิรัญปราสาท (ตาบ พรพยัคฆ์) ณ เมรุวัดมกุฏกษัตริยาราม เมื่อ 29 พฤษภาคม 2508 

เรื่อง : Nai mu

#TicyCity#ตีซี้ซิตี้ #เมือง #City #GodsCity #Naimu #กรุงเทพ #สายมู #ในหลวงรัชกาลที่6  #พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว #ท้าวหิรัญพนาสูร #ขุนหิรัญปราสาท #พระราชวังพญาไท #โรงพระยาบาลพระมงกุฎ

Leave feedback about this

  • Rating

Art & Event, Culture

Finding U

Culture, God's City

สองแผ่นดิ

Fashion, Trends

QUAD EYE

PR news, TICY PR

“ต้นกล้าฟ

Culture, Ticy Entertainment

10 Christ

X