ธันวาคม 25, 2024
ticycity.com
Culture God's City

“พระทันตธาตุฟาเหียน”  แห่งวัดหลิงกวง 

พระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว)

เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2567 ตั้งแต่ช่วงเช้าตรู่ได้มีการเปิดให้ประชาชนสักการะ พระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) จากสาธารณรัฐประชาชนจีนที่ได้อัญเชิญมาประดิษฐานในประเทศไทยเป็นการชั่วคราว เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 และในโอกาสการครบรอบ 50 ปี แห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย – จีน ในปี 2568  ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง เป็นวันแรก

โดยประชาชนต่างให้ความสนใจเดินทางเข้ามาสักการะพระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) จากทั่วประเทศ เพื่อความเป็นสิริมงคลกับชีวิต โดยเจ้าหน้าที่ได้จัดเตรียมดอกไม้สักการะและโปสการ์ดพร้อมบทสวดบูชาพระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) มอบให้ประชาชนที่เดินทางมาสักการะพระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) ตลอดทุกวันที่ประดิษฐาน

แม้ว่าหลายท่านจะทราบถึงรายละเอียดของพระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) องค์นี้กันดีอยู่แล้ว แต่ Ticy City ก็เชื่อว่ายังมีอีกหลายท่านที่ไม่ทราบ….แล้วจะช้าอยู่ใย Nai Mu กรูรูสายมูผู้มีเรื่องเล่ามากมายและได้ชื่อว่าเป็นนักเล่าแห่ง Ticy City พร้อมแล้วสำหรับเรื่องเล่า พระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) หรือ “พระทันตธาตุฟาเหียน”  แห่งวัดหลิงกวง  

ภาพนี้ ด้านหลังเป็นบทสวดบูชาพระบรมสารีริกธาตุ รับฟรี ! พร้อมดอกบัว ได้ที่สนามหลวง
วจนะของพระตรีปิฏก อาจารย์เสวียนจั้ง (พระถังซัมจั๋ง – บุคคลในประวัติศาสตร์) ผู้อัญเชิญพระไตรปิฏกที่อินเดีย ยุคหลังพระภิกษุฟาเหียน

พระเขี้ยวแก้ว หรือ พระทาฐธาตุ คือ พระทันตธาตุส่วนที่เป็นเขี้ยวของพระพุทธเจ้า จัดเป็นพระบรมสารีริกธาตุที่ไม่แยกกระจัดกระจาย องค์มีลักษณะแข็งแกร่งรวมกันแน่น ซึ่งตามพระไตรปิฎกภาษาบาลี กล่าวถึงมหาปุริสลักขณะ ๓๒ ประการ มีข้อความตอนหนึ่งกล่าวถึงลักษณะของพระทาฐะหรือเขี้ยวของบุคคลผู้มีลักษณะแห่งมหาบุรุษว่า “เขี้ยวพระทนต์ทั้งสี่งามบริสุทธิ์” 

กล่าวกันมาว่า พระเขี้ยวแก้วมีทั้งหมด ๔ องค์ ประกอบด้วย 

พระเขี้ยวแก้วเบื้องบนขวา ท้าวสักกะอัญเชิญไปประดิษฐาน ณ พระจุฬามณีเจดีย์ บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์

 พระเขี้ยวแก้วเบื้องต่ำขวา ประดิษฐานที่แคว้นกลิงคะ แล้วถูกอัญเชิญไปประดิษฐาน ณ ลังกาทวีป (วัดพระเขี้ยวแก้ว ประเทศศรีลังกาในปัจจุบัน)

 พระเขี้ยวแก้วเบื้องบนซ้าย ประดิษฐาน ณ แคว้นคันธาระ ต่อมาถูกอัญเชิญไปประดิษฐานไว้ที่เมืองฉางอัน ประเทศจีน (ซีอาน) โดยพระภิกษุฟาเหียนเมื่อคราวจาริกไปสืบพระศาสนายังอินเดีย ปัจจุบันพระเขี้ยวแก้วองค์นี้ถูกอัญเชิญไปประดิษฐาน ณ วัดหลิงกวง กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน 

ประวัติศาสตร์วัดหลิงกวง

พระเขี้ยวแก้วเบื้องต่ำซ้าย ประดิษฐานในภพพญานาค 

ในหนังสือเรื่อง “พระเขี้ยวแก้ว” พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เมื่อคราวเสด็จประพาสลังกาทวีป ในปี พ.ศ. ๒๔๔๐ ว่า “เมื่อถวายพระเพลิงพระพุทธสริระพระอัฏฐิธาตุนอกจากที่เปนเท่านั้น เหลือพระทนต์ ๔ องค์ กับพระอัฏฐิที่โหนกพระปรางทั้งสองข้างแลพระเศียร เจ้าประเทศราช ๘ องค์แย่งชิงกัน ภายหลังตกลงกันโดยสวัสดิภาพแบ่งไปองค์ละส่วน ต่างองค์ต่างสร้างพระสถูปบัญจุไว้ พระบรมธาตุซึ่งเปนสำคัญนั้น คือ พระทนต์ทั้ง ๔ องค์หนึ่งเทพยดาพาไป องค์ที่สองนาคทั้งหลายพาไป องค์ที่ ๓ ตกไปเมืองคันธาระ อยู่ในตวันตกเฉียงเหนือแห่งชมพูทวีป องค์ที่ ๔ ตกไปอยู่เมืองกลิงคะ ทิศตะวันออกเฉียงใต้แห่งชมพูทวีป” 

ครั้งนี้เป็นครั้งที่ ๒  ที่พระเขี้ยวแก้ว วัดหลิงกวง องค์นี้ มาประดิษฐานชั่วคราวที่เมืองไทย   

โดยครั้งแรก ในปี ๒๕๔๕ รัฐบาลจีนได้อนุญาตให้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) มาประดิษฐานในประเทศไทย ณ พุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เนื่องในโอกาสทรงเจริญพระชนมพรรษา ๗๕ พรรษา ๕ ธันวาคม ๒๕๔๕ ซึ่งเป็น ๑ ใน ๖  ครั้งที่ประดิษฐานนอกประเทศจีน ถือเป็นสิริมงคลยิ่งต่อพุทธศาสนิกชนทั้งชาวไทยและชาวจีนในประเทศไทย

ครั้งนี้ครั้งที่ ๒  ในวาระครบรอบ ๕๐ ปี แห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-จีน ในปี ๒๕๖๘ รัฐบาลจีนได้อนุญาตให้รัฐบาลไทยอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ พระเขี้ยวแก้ว หรือ พระทันตธาตุฟาเหียน จากวัดหลิง กวง มาประดิษฐานที่กรุงเทพฯ เป็นการชั่วคราว ณ ท้องสนามหลวง เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๗ เปิดให้ประชาชนเข้าสักการะตั้งแต่วันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๖๗ ถึงวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๘ รวม ๗๒ วัน

เจดีย์วัดหลิงกวงที่เก็บพระเขี้ยวแก้วองค์นี้

ภิกษุซ่านฮุย ผู้เก็บพระธาตุชิ้นล้ำค่าใต้เจดีย์!

วัดหลิงกวง (วัดแสงศักดิ์สิทธิ์) เป็นวัดที่มีชื่อเสียงมายาวนาน สร้างขึ้นในรัชศกต้าลี่ (ค.ศ. ๗๖๖ – ๗๗๙) ราชวงศ์ถัง ต่อมามีการสร้างเจดีย์เจาเซียน ซึ่งในปี ค.ศ. ๑๐๗๑ ได้อัญเชิญพระเขี้ยวแก้วมาประดิษฐาน ต่อมาพระเจดีย์เจาเซียนถูกทำลายจากเหตุการณ์ความวุ่นวายในปี ค.ศ. ๑๙๐๐  โดยในปีต่อมา ค.ศ. ๑๙๐๑  คณะสงฆ์ค้นพบกล่องศิลาบรรจุพระเขี้ยวแก้วขณะทำความสะอาดห้องใต้ดินฐานเจดีย์ ซึ่งบนตลับไม้กฤษณาจารึกด้วยลายมือของพระภิกษุซ่านฮุยในราชวงศ์ซ่งว่า “ได้นำมาไว้ ณ ที่แห่งนี้ เมื่อปี ค.ศ. ๑๕๐๖”  พระเขี้ยวแก้วที่ถูกซ่อนเร้นนานจึงปรากฏบนโลก และทางวัดยังคงรักษาสมบัติชิ้นล้ำค่านี้จนถึงวันนี้

พระะภิกษุซ่านฮุย ได้รับการขนานนามว่า “อาจารย์ผู้เก็บความลับ”  

เวลาต่อมาปี ค.ศ. ๑๙๕๗ มีการบูรณะพระเจดีย์และพุทธสมาคมจีนได้ริเริ่มการสร้างพระเจดีย์แปดเหลี่ยมขนาดใหญ่ เสร็จในปี ค.ศ. ๑๙๖๔ เพื่อบรรจุ พระเขี้ยวแก้ว วัดหลิงกวงองค์นี้ ซึ่งมีความยาวประมาณ ๑ นิ้ว และเชื่อกันว่าผู้ที่มองเห็นองค์พระเขี้ยวแก้วจะเห็นสีต่างกันไปตามกรรมส่วนบุคคล

วัดหลิงกวง เปิดโอกาสให้ผู้ศรัทธาได้บูชาพระเขี้ยวแก้วองค์นี้ เพียงปีละครั้งเท่านั้น ดังนั้นจึงมีผู้คนมากมายจากทั่วทุกมุมโลกที่เดินทางมา ณ วัดแห่งนี้เพื่อสักการะบูชา  และ Nai Mu ต้องบอกว่านับเป็นโอกาสอันดีที่คนไทยจะได้บูชานานถึง ๗๒ วัน โดยที่ไม่ต้องเดินทางไกลไปถึงประเทศจีน 

 

“พระทันตธาตุฟาเหียน” วัดหลิงกวง

พระธาตุฟาเหียน   

สำหรับที่ประเทศจีนเรียกพระเขี้ยวแก้วองค์นี้ว่า “พระทันตธาตุฟาเหียน” เพราะ หลวงจีนฟาเหียน คือภิกษุจีนรูปแรกที่เดินทางไปสืบพระศาสนา และอัญเชิญพระทันตธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) องค์นี้กลับมาเมืองจีน กล่าวกันว่า เมื่อแรกได้ประดิษฐานไว้ที่อาณาจักโบราณที่ชื่อว่า อูไดยานา (ปัจจุบันคือเขตปากีสถาน) แล้วย้ายไปอยู่แคว้นโคตัน (ปัจจุบันคือ จังหวัดไฮเดียน มณฑลซินเกียง) และย้ายอีกหลายเมือง จนมาประดิษฐานที่เมือง  เยนกิง ซึ่งก็คือเมืองปักกิ่ง ในปัจจุบัน

จดหมายเหตุแห่งพุทธอาณาจักรของภิกษุฟาเหียน

หลวงจีนฟาเหียน นอกจากแปลพระคัมภีร์แล้ว  ยังมีผลงานซึ่งได้รับการแปลเป็นภาษาไทย ชื่อ “จดหมายเหตุแห่งพุทธอาณาจักรของภิกษุฟาเหียน” ซึ่ง พระยาสุรินทรฦาชัย (จันทร์ ตุงคสวัสดิ) เป็นผู้แปลและเรียบเรียงจากต้นฉบับของศาสตราจารย์ เจมส์ เล็กจ์. เอ็ม.เอ.แอลแอล.ดี ผู้เขี่ยวชาญในภาษาและอักษรศาสตร์ของจีน     

โดยบันทึกนี้ ภิกษุฟาเหียนบันทึกไว้เมื่อได้ออกจากเมืองจีนท่องเที่ยวไปเพื่อแสวงหาคัมภีร์พระไตรปิฎก ณ ประเทศอินเดียตลอดถึงสิงหฬ ตั้งแต่ พ.ศ. ๙๔๒ ถึง  พ.ศ.๙๕๗  ขอสรุปประวัติสั้นๆ ของท่านโดยสังเขปว่า

Faxian aka Fa-Hien and Fa-hsien, 337 – c. 422. Chinese Buddhist monk who traveled by foot from China to India, depicted here on his return to China after fifteen years. From Hutchinson’s History of the Nations, published 1915.
พระภิกษุฟาเหียน

ในวัยเด็กนั้น พ่อของท่านนำท่านไปฝากเป็นลูกศิษย์วัดแห่งหนึ่ง และให้บวชเป็นสามเณรด้วย แต่เนื่องจากฟาเหียนยังเด็กมาก พ่อจึงขอเอาลูกไปเลี้ยงดูที่บ้านรวมกับคนอื่นๆ ในครอบครัวไปก่อน แต่มีเหตุให้ฟาเหียนป่วยจนแทบเอาชีวิตไม่รอด เมื่อหายป่วยพ่อจึงพากลับไปอยู่วัดเช่นเดิม 

หลังจากวันนั้น ฟาเหียนก็ไม่ยอมกลับไปอยู่กับพ่อแม่อีกเลย เอาแต่เล่าเรียนเขียนอ่าน และยังไม่ทันโตเป็นหนุ่ม พ่อก็มาเสียชีวิตลง และลุงก็ได้มาอ้อนวอนให้ฟาเหียนกลับไปทำหน้าที่เลี้ยงดูแม่  แต่ฟาเหียนตอบว่า “ข้าพเจ้ามิได้สละครอบครัวมาเพื่อทำตามความปรารถนาของบิดาข้าพเจ้าอย่างเดียวเท่านั้น, แต่เพราะเหตุว่าข้าพเจ้ายังปรารถนาที่จะอยู่ให้ไกลจากละอองมลทินโทษ,และความหยาบคายในทางดำเนินแห่งชีวิตด้วย , เพราะนั้นข้าพเจ้าจึงเลือกเอาเพศพรหมจรรย์เป็นที่พึ่ง” เมื่อลุงได้ยินดังนั้นก็เลิกชักชวน … 

หลังบวชเป็นพระภิกษุก็เฉลียวฉลาดเคร่งครัดในพระธรรมวินัย และรับภาระเป็นผู้เดินทางไปอินเดีย เพื่อเสาะแสวงหาคัดลอกพระไตรปิฏก โดยหลังกลับจากอินเดียและได้พำนักในนครนานกิง ทำให้ได้พบกับภิกษุอินเดียท่านหนึ่ง นามว่า พุทธภัทร  ทั้งยังช่วยกันแปลคัมภีร์ที่คัดลอกจากอินเดียมาเป็นภาษาจีนหลายเล่ม …       

ภิกษุฟาเหียนได้มรณภาพในวัย 88 ปี

เรื่อง : Nai Mu

Leave feedback about this

  • Rating

Art & Event, Culture

Finding U

Culture, God's City

สองแผ่นดิ

Fashion, Trends

QUAD EYE

PR news, TICY PR

“ต้นกล้าฟ

Culture, Ticy Entertainment

10 Christ

X