ticycity.com Contents Culture God's City เทพพุงพลุ้ย ‘ชัมภล-ปู๊กุยฮุก’ ประทานเงินทอง!  
Culture God's City

เทพพุงพลุ้ย ‘ชัมภล-ปู๊กุยฮุก’ ประทานเงินทอง!  

ความอุดมสมบูรณ์ 

Ticy City เชื่อว่าใครๆ ก็ปรารถนาความอุดมสมบูรณ์ มีกิน มีใช้ มีเหลือ มีเก็บ กันทั้งนั้น สายมูหลายคนต่างต้องเคยไปกราบไหว้เหล่าเทพและสิ่งศักดิ์เพื่อข้อพรในข้อนี้กันแน่ๆ แต่เคยสงสัยกันหรือเปล่าว่า ทำไม? เทพเจ้าซึ่งเป็นตัวแทนแห่งความอุดมสมบูรณ์จึงต้องมีเรือนร่างที่สมบูรณ์ถึงจะได้ชื่อว่าเป็นเทพแห่งผู้ให้ 

และเพื่อไม่ให้ข้อกังขานี้เป็นเรื่องกวนใจ เชิญเหล่าสายมู ล้อมวงเข้ามาฟังเรื่องเล่าจาก Nai Mu กรูรูสายมูผู้มีเรื่องเล่ามากมายในส่วน God’s City จาก Ticy City ที่จะมาไขความสงสัยถึงเรื่องนี้ โดยเฉพาะกับเทพพุงพลุ้ย ‘ชัมภล-ปู๊กุยฮุก’ ประทานเงินทอง 

ในความคิดของ Nai Mu “ความอุดมสมบูรณ์”  มักจะถูกเล่าขานผ่านเทพที่มีความสมบูรณ์ของเรือนร่าง ซึ่งคุณสมบัตินี้ เทพต่างๆมักจะมี “พุงพลุ้ย” เพราะเชื่อกันว่า รูปร่างแบบนี้แหละ จิตใจและอารมณ์ดี พร้อมที่จะให้ ให้ และให้  ประทานทรัพย์สิน เงินทอง และความสำเร็จแก่ผู้มากราบไหว้บูชา  เช่น 

พระศรีอาริยเมตไตรยโพธิสัตว์ ฝ่ายมหายาน วัดบำเพ็ญจีนพรต

หลวงพ่อถุงย่าม นอกจากมีปางที่ถือถุงย่ามใส่เงิน ถือลูกประคำแล้ว  บางปางจะมีเด็กๆ ป่ายปีนบนร่างกายอีกด้วย โดยท่านเป็นพระที่ไม่เคร่งครัดในจารีต เชื่อกันว่า ท่านเป็นปางหนึ่งของพระโพธิสัตว์ศรีอาริเมตไตรย ผู้จะมาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในกาลข้างหน้านั่นเอง 

พระพิฆเนศ นอกจากจะขจัดอุปสรรคแล้ว ยังเป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์อีกด้วย แม้จะไม่ได้มีคุณสมบัติการประทานทรัพย์สินโดยตรง หากแต่ท่านมีหลากหลายลีลาและใกล้ชิดกับมนุษย์มากที่สุด 

พระโพธิสัตว์ชัมภล แห่งพุทธวัชรยาน ทิเบต  (วัดโพธิ์แมนคุณาราม)
พระชัมภล-ปู๊กุยฮุก วัดโพธิ์แมนคุณาราม

พระชัมภลโพธิสัตว์  (ชัมภละ – Janbhala)  ก็มีกายอ้วน พุงพลุ้ย เป็นพระโพธิสัตว์ของศาสนาพุทธฝ่ายวัชรยาน-ทิเบต   

สำหรับ “พระโพธิสัตว์ชัมภล” ฝ่ายศาสนาเชน เรียก  “ศารวนุภูติ” นามไทยอื่นๆ เช่น ธนบดี ธเนศวร เป็นต้น ว่ากันว่า คือองค์เดียวกับ พระกุเวร (กุเบรา)  ของศาสนาฮินดู 

ซึ่งคนไทยคุ้นเคยกับท้าวกุเวร เจ้าแห่งทรัพย์ ในฐานะที่เป็นปางหนึ่งของ ท้าวเวสุวรรณ  ประติมากรรมรูปยักษ์ถือไม้ตะบอง 1 ใน 4 ของท้าวจตุโลกบาล ผู้คุ้มครองพุทธศาสนา ประจำทิศเหนือ 

ส่วนพุทธศาสนาฝ่ายมหายานเรียกท้าวเวสสุวรรณ ว่า  “ตอบุ๊งเทียงอ๊วง”

พระกุเบรา เทพในศาสนาฮินดู
พระกุเบรา เจ้าแห่งทรัพย์ (วัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร)

พระกุเบรา เทพในศาสนาฮินดู

พระกุเวร หรือ กุเบรา เทพในศาสนาฮินดู เป็นยักษ์เตี้ย ผิวสีทอง รูปร่างอ้วน ตัวเล็ก ท้องใหญ่  ฟัน 8 ซี่ และ มี 3 ขา สวมใส่พัสตราภรณ์และเครื่องประดับสวยงาม หัตถ์หนึ่งอุ้มพังพอนที่คายเงินทองเพชรนิลจินดาตลอดเวลา หัตถ์ขวาถือผลมะงั่ว (ต้นไม้นี้มีต้นกำเนิดที่อินเดีย คนไทยเรียกมะนาว,  ส้มมะงั่ว หรือ มะนาวควาย) 

ฐานะของกุเบราในฮินดูไม่ได้เป็นเทพจตุโลกบาล แต่มีสถานภาพเป็น เลขาฯ ของเทวีลักษมี  ใครมาขอเงินขอทองให้พระลักษมีประทานโชคลาภ ควรรู้ว่า ผู้ที่ทำหน้าที่แทนในการอนุมัติ คือ เทพกุเบรา ผู้นี้ !  เพราะท่านครองตำแหน่ง “เลขานุการ” ถือกุญแจท้องพระคลัง จะเปิดหรือไม่อยู่ที่ท่าน ว่า ผู้ขอมีเหตุผลและบุญบารมีเพียงพอหรือไม่ อย่างไร  ซึ่งเทพกุเบรามีเพียงปางเดียวเท่านั้น

พระโพธิสัตว์ชัมภล 5 ภาค(สี) ของทิเบต

พระโพธิสัตว์ชัมภลฝ่ายวัชรยาน มีทั้งสิ้น 5 ภาค ซึ่งเกิดจากพลังของพระพุทธเจ้า พระโพธิสัตว์ รวมถึงได้อิทธิพลความเชื่อจากเทพดั้งเดิมที่มีอยู่ก่อนแล้ว  โดยทั้ง 5 ภาคมีลักษณะดังนี้

วรกายสีเขียว –  เกิดจากพลังของอโมฆสิทธิพุทธเจ้า นั่งขัดสมาธิเพชร พระบาทประทับเหนือหอยสังข์และดอกบัว หัตถ์ขวาทรงผลมะงั่ว หัตถ์ซ้ายทรงพังพอนคายทรัพย์สิน

วรกายสีขาว – เกิดจากพลังพระเนตรขวาของพระอวโลกิเตศวร ภาคนี้ ชาติเดิมคือ พระอตีศะทีปังกระ พระสงฆ์ชาวอินเดีย ผู้แปลพุทธศาสนาสู่ทิเบต มีเรื่องเล่ากันว่า ท่านมีจิตเมตตา เห็นชายคนหนึ่ง ยากไร้ ผ่ายผอมอยู่ข้างทาง ไม่มีข้าวกิน ท่านจึงเฉือนเนื้อตัวเองให้เป็นอาหารแก่ชายนั้น แต่ชายผู้นั้น ไม่ยอมกิน ท่านเสียใจเกิดความทุกข์ที่ไม่อาจช่วยคนยากไร้ได้ พลันชายยากไร้คนนั้นก็กลับร่างเดิมเป็นพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ ทรงบันดาลให้พระอตีศะทีปังกระเป็นพระชัมชล พระวรกายสีขาว ประทับเหนือมังกร (บางแห่ง ประทับบนสิงโตหิมะ) หัตถ์ขวาชูดาบทองคำ หัตถ์ซ้ายทรงพังพอนคายทรัพย์สิน เป็นปางที่ชำระล้างกรรมและอุปสรรคทั้งปวง และขจัดความยากจน

วรกายสีเหลือง –  เกิดจากพลังของพระรัตนสัมภวพุทธเจ้า ภาคนี้มาจากคติความเชื่อเรื่องท้าวจตุโลกบาล ทรงเป็นเจ้าแห่งทรัพย์ผู้มีความมั่งคั่งและทรงอานุภาพที่สุด มุ่งพาสรรพสัตว์ข้ามพ้นสังสารวัฏทั้ง 6 ภูมิ อันได้แก่ 3 ภพล่าง (นรก, เปรต,เดรัจฉาน) และ 3 ภพบน (มนุษย์,อสุรกาย,เทวดา) ลักษณะ นั่งขัดสมาธิเพชร, หัตถ์ขวาทรงมะงั่ว, หัตถ์ซ้ายทรงพังพอน 

วรกายสีแดง –  เกิดจากพลังของพระวัชรสัตว์พุทธเจ้า มีทั้ง 2 กร และ 4 กร เป็นอิทธิพล และเชื่อกันว่า เป็นภาคหนึ่งของ พระคเณศสีแดง 

วรกายสีดำ –  เกิดจากพลังของคติท้าวกุเวร เป็นพลังของอโมฆสิทธิพุทธเจ้า  ทรงพังพอนในหัตถ์ซ้าย หัตถ์ขวาทรงกปาละ (กระโหลกศีรษะมนุษย์) เป็นสภาวะสุญญตา จะข้ามพ้นอวิชชาทั้งปวง 

และนี่คือ เรื่องราวที่มาของ พระชัมภลโพธิสัตว์ ซึ่งปัจจุบันมีความเชื่อว่า ท่านคือ เทพเจ้าแห่งโชคลาภ พระองค์หนึ่ง คนจีนถือท่านเป็น “หวงไฉซิ้งเอี้ยะ”

พระโพธิสัตว์ชัมภล หรือ ไฉ่ซิงเอี้ย (วัดหัวลำโพง)

ปู๊กุยฮุก ถุงย่ามไม่ได้มีเงินอย่างเดียว

เมื่อก้าวเข้าสู่วัดมหายาน ฝ่ายจีน สังเกตหรือไม่ว่า ทำไม? ทุกวัดถึงมี พระอ้วนพุงพลุ้ย นั่งด้วยท่าทางสบายๆ ไม่ติดยึดกับกฎเกณฑ์ใดๆ  ยิ้มแย้มแจ่มใสต้อนรับศาสนิกชน ซึ่งNai Muก็แอบคิดนะว่าถ้าท่านมีชีวิตเดินเหินได้ คงเสิร์ฟ Welcome Drink จูงมือเราเข้าสู่เขตพระศาสนา เป็นแน่ ซึ่งพระอ้วนองค์นี้ คนจีนแต้จิ๋วเรียก “ปู๊กุยฮุก” ชื่อไทยคือ “พระศรีอาริยเมตไตรย” บางคนเข้าใจผิดคิดว่า ท่านคือ พระสังกัจจายน์เถระ  สังเกตง่ายมาก  พระสังกัจจายน์ จะมีก้นหอยบนศีรษะ และสวมจีวรไม่เปิดพุง ผิดกับ ปู๊กุยฮุก ของมหายานฝ่ายจีน-ญวน  จะภิกษุโล้น เปิดพุง

 

ปู๊กุยฮุก และเหล่าเด็กๆ
ภาพวาด ปู๊กุยฮุก (พระเมตไตรยโพธิสัตว์ ฝ่ายมหายาน)

ปู๊กุยฮุก มือซ้ายถือลูกประคำ มือขวาถือถุงย่าม ในถุงย่ามใบใหญ่นั้น ภายในจะบรรจุ เงินทอง อาหาร และยารักษาโรค เพื่อแจกจ่ายดับทุกข์แก่สรรพสัตว์  

ตามคติจีน ถือว่าท่านเป็น 1 ใน 28 เทพเจ้าแห่งความมั่งคั่ง แต่ความมั่งคั่งของท่านถูกกำกับด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต  ไม่ได้แจกเงินใครซี้ซั้ว ให้เฉพาะคนที่สมควรจะได้  นอกจากรูปของท่านเดี่ยวๆ แล้ว บางรูป ท่านยิ้มอารมณ์ดี ไม่รังเกียจที่มีเด็กๆ มาป่ายปีนร่างกายของท่าน คนจีนเชื่ออย่างหนึ่งวา  เด็ก-ลูกหลานถือเป็นความมั่งคั่งอย่างหนึ่งของครอบครัว เข้าทำนอง “ลูกเต็มบ้านหลานเต็มเมือง” ที่จะช่วยสืบต่อทางธุรกิจ และช่วยเลี้ยงดูพ่อแม่ยามแก่เฒ่า 

Nai Mu มีเรื่องเล่าที่เล่าสืบต่อกันมาว่า ท่านเป็นพระภิกษุ ในยุค 5 ราชวงศ์ เป็นชาวเมืองฮ่องฮัว มณฑลเม่งจิว ฉายาว่า “เข่ยชื้อ” แปลว่า ผู้เมตตา กล่าวอะไรมักจะเป็นอรรถเป็นธรรม มีความหมายในทางนิกายเซ็น 

ในปีพ.ศ.1460 ท่านได้นั่งเข้าสมาธิดับขันธ์ที่แท่นหิน วัดงักลิ้ม ก่อนดับขันธ์ได้เขียนโศลกไว้บทหนึ่งว่า                   

หมีเล่อโฝ (พระเมตไตรยโพธิสัตว์ ฝ่ายมหายาน) วัดมังกรกมลาวาส

“พระเมตไตรย คือ พระเมตไตรย แบ่งกายเป็นพันหมื่นโกฏิ  ให้คนได้เห็นทุกเวลา แต่คนกลับไม่รู้จัก ” 

ข้อความนี้ ทำให้ชาวจีนเชื่อกันว่า ท่านคือนิรมานกายของ “หมีเล่อโฝ”  (พระเมตไตรยโพธิสัตว์) นั่นเอง

โดยสรุปเทพพุงพลุ้ยทั้ง 2 พระองค์ ที่ Nai Muกล่าวมา ถือเป็น พระโพธิสัตว์แห่งความมั่งคั่งของพุทธศาสนาฝ่ายวัชรยาน และมหายานของจีน  สัปดาห์หน้า Nai Muจะพาไปทำความรู้จักพบกับ เทพเจ้าไฉ่ซิงเอี้ย ของฝ่ายลัทธิเต๋ากัน

เรื่อง : Nai Mu

Exit mobile version