ticycity.com Contents Culture God's City คืนประทีปสว่างไสว กับเทศกาล “ดีปาวลี (ดิวาลี)”
Culture God's City

คืนประทีปสว่างไสว กับเทศกาล “ดีปาวลี (ดิวาลี)”

ปีใหม่อินเดีย

ในมุมมองของ Ticy City มีความเห็นว่าคนไทยเริ่มมีส่วนร่วมกับเทศกาลของชาวอินเดียมากกว่าสมัยก่อน เพราะทุกวันนี้โลกเชื่อมถึงกันหมดแล้ว ยกอย่างเช่น เทศกาลโฮลี (สาดสี), คเณศจตุรถี, งานนวราตรี ฯลฯ ที่ Nai Mu นักเขียนกรูรูสายมูได้เขียนถึงไปแล้ว ซึ่งแต่ละเทศกาล แต่ละงาน ล้วนมีเสน่ห์และสีสันที่เป็นเอกลักษณ์อย่างมาก

แต่ Nai Mu บอกว่ายังมีอีกหนึ่งเทศกาลที่เพิ่งเริ่มโปรโมตในประเทศไทยในเวลา 2-3 ปีนี้เอง คือ  “เทศกาลดีปาวลี” หรือการเข้าสู่ปีใหม่ของคนอินเดีย เป็นเทศกาลแสงสีสวย อีกทั้งทุกศาสนาจะร่วมเฉลิมฉลองด้วยเรื่องราวและตำนานที่แตกต่างกันไปด้วยความยินดี  และนอกจากการจุดแสงประทีปแล้ว  บางครอบครัวยังทำ“รังโกลี” เพื่อเทศกาลนี้ด้วย 

และนี่คือเรื่องเล่าจาก Nai mu คืนประทีปสว่างไสว กับเทศกาล “ดีปาวลี (ดิวาลี)” ใน Ticy City วันนี้

ดีปาวลี เป็นภาษาฮินดี  – “ดิ” (di) หรือ “ดีป” (Dip / deep) คือ ประทีป ผสมกับ “อวละ” (avalih) หมายถึง แถว-แนว  โดยชาวอินเดียจะจุดประทีปวางเป็นแถวนอกบ้านอย่างสวยงามเพื่อปกป้องความมืดมัวและสิ่งอัปมงคลทั้งปวง เพราะแสงสว่างคือ ชัยชนะของความมืดมิด ….และนี่คือเรื่องเล่าจาก Nai mu คืนประทีปสว่างไสว กับเทศกาล “ดีปาวลี (ดิวาลี)” ใน Ticy City วันนี้

เริ่มต้นปีใหม่กันแล้ว ! 

ดีปาวลี ในปี พ.ศ. 2567 ตรงกับวันพฤหัสบดีที่ 31 ตุลาคม แสงไฟจะสว่างไสวไปทั่ว ! โดยเฉพาะหมู่บ้านไหนที่มีชาวอินเดียอยู่จำนวนมาก ก็จะได้ยินเสียงพลุ ที่มาพร้อมแสงสวยงามของพลุและดอกไม้ไฟ ที่ถูกยิงขึ้นฟ้าเพื่อการเฉลิมฉลองปีใหม่ เด็ก ๆ จะถือไฟเย็นแกว่งไปมาอย่างสนุกสนาน  ที่สำคัญเทศกาลนี้จะบูชาพระลักษมี ด้วยดอกบัวแดงซึ่งเป็นดอกไม้สัญลักษณ์ที่นิยมบูชาพระแม่ ซึ่งวันนั้นจะมีราคาแพงมากถึงมากที่สุดของปีเลยทีเดียว และนอกจากราคาแพงแล้วบางปียังไม่มีของอีกต่างหาก … 

อัษฎลักษมี (พระลักษมี 8 ปาง)

โดยก่อนหน้าเทศกาลนี้ สมาชิกในครอบครัวจะร่วมกันทำความสะอาดบ้านเรือน เพื่อเตรียมต้อนรับเทศกาลปีใหม่และการมาเยือนของพระลักษมี เทวีแห่งโชคลาภ-เงินทอง กิจกรรมนี้คงคล้าย ๆ กับคนจีนที่ทาสีบ้านใหม่ ทำความสะอาดบ้านก่อนวันตรุษจีน ฤกษ์แรกคือการบูชาเทพเจ้าของคนจีนคือ ไฉ่ซิงเอี้ย (เทพเจ้าแห่งโชคลาภ)  ในเรื่องการทำความสะอาดบ้านเรือน คนไทยก็นิยมทำก่อนเข้าสู่เทศกาลสงกรานต์เช่นกัน

ดีปาวลี 5 วัน สำคัญอย่างไร ?

เทศกาลดีปาวลี กินระยะเวลาถึง 5 วัน และในแต่ละวันจะมีเรื่องราวแตกต่างกันไป 

รังโกลี

วันแรกธันเตรัส  เพื่อบูชา “พระธันวันตริ”  เทพเจ้าอายุรเวทพระองค์นี้ เป็นของวิเศษที่เกิดในระหว่างการ กวนเกษียรสมุทร ทรงถือกำเนิดพร้อมทูนหม้อน้ำอมฤต  เป็นนายแพทย์สวรรค์ผู้อุปถัมภ์วิชาแพทย์ศาสตร์ในการรักษาโรคทั้งปวงที่ประเทศอินเดีย ซึ่งนับจากปีค.ศ. 2016 ได้กำหนดให้วันนี้ เป็น “วันอายุรเวทแห่งชาติ”

วันที่สอง นรกจตุรทศี  รำลึกถึงวันที่พระกฤษณะฆ่าอสูรชื่อ นรกาสูร – อสูรผู้นี้เป็นลูกของพระวิษณุ เมื่อคราวที่อวตารปางที่ 3 เป็นหมูป่า เมื่อสัตยยุค เรียก “วราหาวตาร”  กับพระภูมิเทวี ผู้เป็นแม่ขอกับพระวิษณุเทพว่า ให้ลูกมีอายุยืนยาว ต่อมาเมื่อนรกาสูรเติบใหญ่ ได้ทำการยึดโลก บุกสวรรค์ ปล้น ช่วงชิง ยึดมงกุฏพระอินทร์ ขโมยตุ้มหูนางอทิติ  และลักพานางสวรรค์จำนวนมากไปเป็นนางบำเรอ จนล่วงเลยถึงยุคพระกฤษณะ (นารายณ์อวตาร ปางที่ 8 ) จึงปราบและสังหารอสูรตนนี้เสีย ก่อนตายนรกาสูรได้ขอว่า ขอให้วันตายของตนเป็นเป็นฉลองเทศกาลดีปาวลี

วันที่สาม – ลักษมีบูชา ถือเป็นวันหลักที่แต่ละครอบครัวจะจุดประทีป ตามแนวที่สวยงามยิ่ง เพื่อต้อนรับการมาเยือนครอบครัวของพระลักษมี เทวีแห่งความโชคและความมั่งคั่ง

พระธันวันตริ
พระกฤษณะยกเขาโควรรธนะบังฝน
พระราม กลับกรุงอโยธยา

วันที่สี่ – โควรรธนะบูชา ตามตำนานว่า พระกฤษณะ บอกให้ประชาชนในแคว้นวฤทวัน หันมาบูชาต่อเทวดาภูเขาโควรรธนะ ที่ให้ความร่มเย็นและอาหารอันอุดมสมบูรณ์แก่ประชาชน และเหล่าโคได้กินหญ้า ดีกว่าไปบูชาพระอินทร์ เรื่องนี้ทำให้พระอินทร์โกรธมาก ในฐานะเทพเจ้าแห่งฝน จึงบันดาลให้ฝนตกนานต่อเนื่องถึง 7 วัน 7 คืน พระกฤษณะจึงใช้นิ้วชี้ยกเขาโควรรธนะบังฝนให้เหล่าประชาชนและฝูงโคทั้งหลาย ในที่สุด พระอินทร์ยอมแพ้ราบคาบ และเชื่อว่า พระกฤษณะคือ นารายณ์อวตาร!  สิ่งที่นิยมทำกันในวันนี้ คือ เปิดใช้สมุดบัญชี รายรับ-รายจ่ายใหม่สำหรับธุรกิจทั้งปวงเพื่อความเป็นสิริมงคล

วันที่ห้า – ภาย ดูช  วันนี้จะให้พี่ชาย พี่สาว ได้ร่วมเฉลิมฉลองความผูกพันกับน้อง  จะมีการเจิมดิลกและป้อนข้าวอีกฝ่าย อวยพรให้มีชีวิตยืนยาว บางพื้นที่จะเป็นวันบูชา พระวิศวกรรม เทพแห่งการช่างด้วย

ใน 5 วันนี้ อาจจะมีตำนาน ความเชื่อตามท้องถิ่นต่างๆ อีก บางแห่งเชื่อว่าเป็นวันเกิดของพระลักษมี , บางแห่งว่า ระลึกถึงวันแต่งงานของพระวิษณุและพระลักษมี , บางแห่งเน้นการมีชัยของเจ้าแม่กาลี และบางแห่งเพื่อเฉลิมฉลองการนิวัติของ พระราม, สีดา , พระลักษณ์ และหนุมาน กลับกรุงอโยธยา หลังสังหารทศกัณฐ์ หรือ อสูรราวัณ แล้ว!

พุทธวัชรยานก็จุดประทีปบูชาพระพุทธเจ้า , ศาสนาเชนก็ฉลองในภูมิปัญญาของพระศาสดามหาวีระ เป็นต้น 

กรุงเทพมหานครจัดเทศกาลดีปาวลี

กรุงเทพมหานคร หรือกทม. เริ่มกิจกรรมสาธารณะ “เทศกาลดีปาวลี” ในยุคของผู้ว่าราชการชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ในปีพ.ศ. 2565 โดยร่วมมือกับหน่วยงานอินเดียหลายหน่วยงาน โดยมี Indian Association of Thailand เป็นหน่วยงานหลัก เพื่อให้ชาวไทยได้รู้จักกับวัฒนธรรมของชาวอินเดียมากขึ้น ทั้งยังเป็นการสนับสนุนการท่องเที่ยว โดยใช้พื้นที่คลองโอ่งอ่าง จัดกิจกรรมนี้มา 2 ปีแล้ว (พ.ศ.2565-2566) เนื่องจากอยู่ใกล้กับย่านพาหุรัดซึ่ง เป็น “The Little India” ของเมืองไทย

ปีนี้ กำลังจะนับหนึ่งอีกไม่กี่วัน กับเทศกาลแห่งแสงสว่าง และความรุ่งเรือง … เมื่อรู้จักกับเรื่องราวของดีปาวลีแล้ว มาเริ่มต้นชีวิตใหม่ทิ้งความเศร้า ผิดหวัง ล้มละลาย สิ้นหวัง มาสู้ความหวังใหม่ด้วยตัวเองอีกครั้ง กับการเปิดศักราชใหม่ด้วยการบูชา “พระลักษมี”

งานนี้ถึงไม่เชื่อก็ต้อง “มู” ด้วยการจุดประทีปบูชา ให้สว่างตลอดเส้นทางจากภายนอกสู่ภายในเรือน ทั้งยังเชื่อกันว่า พระลักษมีจะเสด็จมาพร้อมกับพระคเณศ (บางตำนาน ก็เพิ่ม ท้าวกุเบร)  เชิญท่านเสด็จมาประทับฝ่าพระบาทที่บ้านเรือนสักครั้งเพื่อความเป็นสิริมงคล … หรือบางคนอาจจะไปมูยังสถานที่ซึ่งมีเทวรูปพระลักษมีประดิษฐานอยู่ก็ได้

สำหรับพื้นที่ในกทม. Nai mu แนะนำ 7 สถานที่ด้วยกัน คือ ชั้น 4 ตึกเกษรพลาซ่า (ราชประสงค์) , เซ็นทรัล (ลาดพร้าว) , หน้าห้างฟอร์จูนทาวน์ (รัชดาภิเษก) , วัดไผ่เงินโชตินาราม (ถนนจันทน์) ถ้าเป็นเทวาลัยอย่างเป็นทางการ แนะนำ วัดเทพมณเฑียร (เสาชิงช้า), วัดวิษณุ (สาธร) และวัดแขก สีลม (กิจกรรมบูชา ระบุว่า วันพฤหัสบดีที่ 31 ตุลาคม 2567 บูชาพระลักษมี เนื่องในวัน ดีปาวลี) 

วาระแรกของดีปาวลีปีนี้ เริ่ม วันพฤหัสบดีที่ 31 ตุลาคม พ.ศ.2567เวลา 17.22 น. จนถึงวันศุกร์ที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567 เวลา 19.46 น. แสงประทีปที่สว่างไสวจะพาเรามาเจอกัน 

Happy Deepawali รับพรแห่งโชค สุข สมหวัง สมปรารถนากันถ้วนหน้าจ้า !

เรื่อง : Nai mu

#TicyCity #city #เมือง #Naimu #กรุงเทพ #สายมู # เรื่องเล่า #เทศกาลดีปาวลี #พาหุรัด #ชุมชนอินเดีย #TheLittleIndia  #พระแม่ลักษมี #แสงสว่าง #ปีใหม่อินเดีย 

Exit mobile version