พระแม่ตารา
สำหรับใครที่นับถือพระแม่อุมาเทวี..เทวีฮินดูที่เคียงคู่พระศิวะซึ่งเป็นที่รู้จักและได้รับการนับถือจากผู้คนมากมายหลายเชื้อชาติหลากชนชั้น ย่อมต้องเคยไปกราบขอพรองค์พระแม่ที่อยู่หน้า Big C ราชดำริอย่างแน่นอน และเคยนึกสงสัยหรือไม่ว่า พระแม่อุมา Big C “รูป-ชื่อ” ไปกันคนละทางหรือไม่ ?
มาฟังคำเฉลยพร้อมเรื่องเล่าถึง “พระแม่ตารา” จาก God’s City โดย Nai mu ใน Ticy City กันได้เลย จะได้ขอพรได้ถูกที่ถูกทาง
ทั้งนี้หน้าห้าง BIG C ราชดำริ มีเทวนารีองค์หนึ่ง คนส่วนใหญ่ขานนามท่านตามที่ระบุไว้ว่า “พระอุมาเทวี” ในรูปลักษณ์ประติมากรรมศิลปะประยุกต์สไตล์ทิเบต ซึ่งน่าจะขานพระนามเทวีองค์นี้ว่า “พระแม่ตารา” จะเหมาะกว่า โดยเทวีองค์นี้เป็นภาคสตรีของพระอวโลกิเตศวรที่อวตารลงมาเพื่อช่วยเหลือมนุษย์ผู้ทุกข์ยาก เหมือนที่คนไทยคุ้นเคยกับ “เจ้าแม่กวนอิม” ของจีนนั่นเอง
และการผสมผสานความหลากหลายทางวัฒนธรรม-ความเชื่อในหลายเชื้อชาติ เกิดขึ้นที่นี่ !
นั่นเพราะ …องค์ประธาน “พระโพธิสัตว์ตารา” ศิลปะทิเบต แต่ชื่อเป็นเทวีฮินดู (อินเดีย) “พระอุมา-ปารวตี” มีสิงโตจีนคู่ตั้งอยู่เบื้องหน้า มีตุ๊กตาศาลพระภูมิอย่างไทย รวมถึงของถวายจากผู้มีจิตศรัทธา ตั้งแต่น้ำแดง , น้ำผลไม้, นม, น้ำเปล่า ขนมต่างๆ ! มาครบหมดทั้งจีน ไทย อินเดีย ทิเบต !
ทุกเช้าผู้คนที่ผ่านไปผ่านมาบริเวณนี้ จะยกมือไหว้ขอพรกันก่อนไปทำงาน ร้านค้าแถบนี้นำข้าวของมาถวายขอให้ค้าขายดีๆ และสายๆ หน่อย Nai mu เคยเห็นร้านดอกไม้ประจำอยู่แถวนี้พร้อมให้ความสะดวกกับมือใหม่ชอบมู ไม่ว่าจะสร้างรูปแบบไหน แต่ชื่อต้องเป็นเทพฮินดูไว้ก่อน ไม่งั้นไม่เข้าพวกกับกลุ่มเทพราชประสงค์ ซึ่งคนไทยรู้จักชื่อ “พระแม่อุมา” มากกว่า “พระแม่ตารา” แน่นอน !!
จริงอยู่ พระอุมา มีปาง “ตารา” จริง !
ลัทธิศักติ ที่นับถือเทพฝ่ายสตรีเป็นใหญ่ มีคัมภีร์ตันตระเป็นหัวใจสำคัญ พระแม่ 10 องค์ในนิกายตันตระเรียก “มหาทศวิทยา” ได้แก่ มหากาลี, ตารา, โสฑศรี, ภูเนศวรี,ไภรวี, ฉินนมัสตา, พคลามุขขี, ธุมาวตี, มาตังคี และกมลา
หนึ่งในสิบของมหาทศวิทยา มีชื่อ “นางตารา” ปรากฏอยู่จริง โดย นางตารา (ทารา) คือ ผู้นำทางและผู้ปกปักรักษา ผู้ประทานความรู้สูงสุดอันนำไปสู่การหลุดพ้น พระนางเป็นเทวีแห่งการรวมพลังงานทั้งปวง เรียกว่า พระนาง คือมารดาของจักรวาล ก็ว่าได้
คราวกวนเกษียรสมุทรหาน้ำอมฤต พระศิวะได้ดื่มพิษร้ายจากพญานาควาสุกรีเพื่อรักษาปกป้องโลกในพ้นภัย ขณะที่พิษแล่นไปทั่วร่าง กำลังจะตุยอยู่แล้วนั้น พระนางปารวตีได้อวตารเป็น “พระแม่ตารา” ทำหน้าที่ในสภาวะของแม่ (จักรวาล) เพื่อรักษาบุตรที่ได้ดื่มพิษร้าย ด้วยการให้ลูกได้ดื่มน้ำนมจากเต้าของนาง และให้พิษร้ายนั้นมาอยู่ที่พระศอ เพื่อไม่ไปทำลายอวัยวะส่วนอื่นๆ ของร่างกาย
ดังนี้ พระศิวะจึงรอดพ้นและมีชีวิตอยู่ต่อไป และรูปดื่มน้ำนมนี้ มักจะถูกสร้างขึ้นในลักษณะให้พระศิวะเป็นเด็กน้อยดื่มน้ำนมจากทรวงอกของมารดาตารา
ส่วนรูปกายของพระตารานั้นมีวรกายสีน้ำเงินอ่อน ผมยุ่งเหยิง สวมด้วยมงกุฏที่ประดับด้วยจันทร์เสี้ยว มีสามเนตร และมีงูพันคล้องอยู่ที่คอ สวมหนังเสือและพวงมาลัยที่ทำมาจากกะโหลกศีรษะ ..ต้องจำไว้ให้มั่น เพื่อกันความสับสนกับปางอื่นๆ ของเจ้าแม่กาลี
พระนางตาราเทวี จะถือ “กรรไกร” อยู่ในมือข้างหนึ่งเสมอ ! นี่คือ “ตารา” ในฝ่ายฮินดูตันตระ ที่ไม่มีรูปลักษณ์อย่างที่เราเห็นเทวนารีหน้าห้าง Big C แต่อย่างไร ?
ตำนาน “นางตารา” ทิเบต
พระคาถาบูชาพระตาราเขียวคือ “ โอม ตาเร ตูตาเร ตูเร โซฮา”
พระคาถาบูชาพระตาราขาวคือ “โอม ตาเร ตูตาเร ตูเร มามา อายู ปูนี จานา ปูชิ กูรู โซฮา”
ย้ำว่า เทวนารีที่หน้าห้าง Big C ขานพระนามให้ถูกต้องคือ “พระโพธิสัตว์ ตารา” ของทิเบต!
ตารา – ทารา เป็นภาษาสันสกฤต ส่วนทิเบตเรียก ตารา ว่า Jetsun Dolma
พุทธศาสนาฝ่ายวัชรยาน เล่าถึงที่มาของพระโพธิสัตว์ “ตารา” ด้วยเรื่องราวที่แตกต่างกันไป ทั้งนี้สำหรับ นางตาราพระองค์แรกคือ “นางตาราเขียว” หรือ “ศยามตารา” บ้างว่าถือกำเนิดจากรัศมีเขียวที่ออกจากดวงตาของพระอมิตาภะ (พระพุทธเจ้า ในแดนสุขาวดี หมายถึง ผู้มีแสงสว่างไม่สิ้นสุด) ซึ่งพระพุทธเจ้าพระองค์นี้ฝ่ายมหายานของจีนนับถือมาก บรรดาวัดจีน จะตั้ง พระพุทธเจ้า 3 พระองค์ 1 ใน 3 พระองค์คือท่าน บางแห่งจะมีรูปท่านพร้อมอัครสาวกซ้ายขวาคือ พระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ และ พระมหาสถามปราปต์โพธิสัตว์
บ้างก็ว่านางตารา เกิดจากรัศมีตาข้างขวาของพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ , บ้างก็ว่า พระอวโลกิเตศวรหลั่งน้ำตาหยดลงในทะเลสาบ เพราะเห็นใจในความทุกขเวทนาของเหล่ามนุษย์ น้ำตานั้นบังเกิดเป็นดอกบัวลอยขึ้นเหนือน้ำ เมื่อดอกบัวบานก็บังเกิดเป็น “เทวีตารา” ประทับนั่งบนดอกบัวนั้น น้ำตาซ้าย เป็น “พระสิตตาราโพธิสัตว์” (ตาราขาว เรียก พระจินดามณีจักรตารา) และ น้ำตาขวา เป็น “พระศยามตารา” (ตาราเขียวแก่) เป็น 2 ปางแรก และได้รับความนิยมมากที่สุด ต่อมาจะมีปางอื่นๆเสริมเติมเข้ามา รวม 21 ปาง และมีคุณสมบัติแยกย่อยมากมาย การถือกำเนิดของพระนางตารา มีภารกิจในการช่วยเหลือสรรพสัตว์ให้พ้นทุกข์ และเข้าสู่พระนิพพาน
นางตาราจะมองเห็นความทุกข์ในทุกภาคส่วนของสรรพสัตว์บนโลก ด้วยมี 7 พระเนตร คือ นลาฏ 1, ปกติ 2, พระหัตถ์ 2 , พระบาท 2 และเทวนารีที่ Big C ไม่มีตาพิเศษนี้ !
“นางตาราขาว” เป็นเทวียามกลางวัน เน้นด้านอายุยืนยาว ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ
“นาตาราเขียว” เป็นเทวียามค่ำคืน เน้นการคุ้มครองจากอันตรายทั้งหลาย เช่น ภัยจากราชสีห์, ช้าง, อัคคีภัย, อสรพิษ, โจรภัย, ถูกคุมขัง, อุทกภัย และอมนุษย์ เป็นต้น
บ้างเป็นตำนานในพระสูตรว่า พระโพธิสัตว์ เกิดเป็น ธิดาของกษัตริย์อินเดีย และตั้งมั่นในพระรัตนตรัย รับฟังธรรมจากพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งในอดีตอันไกลโพ้น จนสำเร็จบรรลุมรรคผล สามารถกลายร่างเป็นบุรุษเพศได้ และนางได้ยืนยันว่าไม่เคยมีพระผู้โปรดสรรพสัตว์เป็นหญิงมาก่อน ดังนั้น นางจึงขอยึดรูปกายนี้ เพื่อสงเคราะห์ในสรรพสัตว์ต่อไป
และในพุทธศตวรรษที่ 11 สมัยพระเจ้าสรองสันคัมโป ในทิเบต ได้อภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงเนปาลชื่อ “ภฤกุฎีเทวี” และเจ้าหญิงจีนชื่อ เจ้าหญิงเวนเชิง ผู้นับถือพระพุทธศาสนา เชื่อกันว่า ทั้ง 2 พระองค์เป็นอวตารของ “นางตารา” ซึ่ง “ภฤกุฎี” คือ ตาราเขียว และ “เวนชิง” เป็นตาราขาว และด้วยเหตุที่พุทธศาสนาได้เข้าสู่ประเทศทิเบต พระเจ้าสรองสันคัมโปได้ทรงส่งทูตไปศึกษาพระพุทธศาสนาและภาษาต่างๆ ในประเทศอินเดีย และมีการแปลคัมภีร์พุทธศาสนาจากภาษาสันสกฤตเป็นภาษาทิเบต ในเวลาต่อมา
และเมื่อหันมาดูภาพ “พระนางตารา” ของทิเบต แล้วก็ลองขบคิดกันว่า เทวนารี ที่หน้าห้าง BIG C ราชดำริ ควรเป็นและขานพระนามใดให้ถูกต้องหรือไม่ จะได้ไม่ “ผิดฝาผิดตัว” พรที่ขอจะได้สัมฤทธิ์ผล
เรื่อง : Nai Mu
#ตีซี้ซิตี้ #เมือง #Ci#TicyCityty #GodsCity #Naimu #กรุงเทพ #สายมู # เรื่องเล่า #พระเม่อุมา #พระแม่ตารา #เทวนารี #bigc #ราชดำริ #ฮินดู #ทิเบต #พระโพธิสัตว์