เพศสภาพ
Ticy City ของร่วมฉลอง ‘Pride Month’ เดือนแห่งความหลากหลายของกลุ่ม LGBTIQ+ ด้วยบทความที่น่าสนใจและฮิลใจต่อสังคมโดยรวม โดยเฉพาะในยุคที่เปิดกว้างต่อความหลากหลาย จากอาจารย์ทยากร กิตติชัย นักจิตวิทยา สวนสุขภาพอรุณสหคลินิก
เพราะเมื่อทุกความเปลี่ยนแปลงที่ผ่านเข้ามา ขบวนแนวคิดสมัยใหม่ ได้เข้ามาปรับเปลี่ยนนิยามพร้อมเปิดทางให้กับความหลากหลายแนวคิดได้เข้ามาสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ และเรื่องของ ‘เพศสภาพ’ที่เคยมีเพียงชายและหญิง ด้วยเช่นกัน
อันที่จริงสังคมของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ หรือ ที่นิยมเรียกว่ากลุ่มLGBTIQ+ ( L (แอล) -Lesbian G (จี) – Gay (เกย์) B (บี) – Bisexual (ไบเซ็กช่วล) T (ที) – Transgender (ทรานเจนเดอร์) I (ไอ) – Intersex (อินเตอร์เซ็กซ์) และ Q (คิว) – Queer (เควียร์) ) เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมาเนินนานในประวัติศาสตร์โลก ไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทยแต่กลับถูกซุกซ่อน หวงห้าม ห้ามเปิดเผยหรือแพร่งพรายออกไป เพราะนอกจากจะไม่เป็นที่ยอมรับแล้ว ยังถูกเหยียดหยามต่อต้านจากสังคมอีกด้วย
แต่เมื่อสังคมไทยในปัจจุบันเปิดกว้างมากขึ้น มีการยอมรับความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ+) และเคารพในความแตกต่างของความเป็นมนุษย์มากขึ้น จนนำไปสู่การผ่านร่างกฎหมาย “สมรสเท่าเทียม” ซึ่งเป็นประเด็นที่มีการเคลื่อนไหวเรียกร้องจากกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศมาอย่างยาวนาน ก็ต้องยอมรับว่านับเป็นจุดเริ่มต้นที่น่ายินดีในการสร้างความเท่าเทียมทางกฎหมายให้เกิดขึ้นกับ “ประชาชนทุกเพศ” ของประเทศไทย
แต่ยังมีผู้คนจำนวนมากที่ยังไม่เข้าใจ ส่งผลให้ผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ไม่ได้รับการยอมรับจากคนในครอบครัว ชุมชน และสังคม บางรายถึงขึ้นถูกตีตราจากสังคม บางรายถูกล่วงละเมิดทางเพศ บางรายทนต่อความทุกข์ในใจไม่ไหวจนเกิดการทำร้ายตัวเอง และในบางรายเลือกที่จะจบชีวิตตัวเอง
ดังนั้นการดูแลสุขภาพใจในของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศจึงเป็นอีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่ต้องใส่ใจโดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชน ที่ต้องเติบโตเป็นกำลังสำคัญของประเทศในอนาคต
และจากปัญหาดังกล่าวทางสำนักงานกองทุนสนับสนุนการเสริมสร้างสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับมูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกระเทยเพื่อสิทธิมนุษยชนได้จัดทำ “คู่มือผู้ปกครองในการดูแลบุตรหลานหลากหลายเพศ” เพื่อสร้างความเข้าใจแก่ผู้ปกครองในการดูแล เสริมสร้างต้นทุนทางใจให้กับเด็กและเยาวชนกลุ่มนี้มากขึ้น และเพื่อป้องกันปัญหาทางสุขภาพจิตโดยตรง
ทั้งนี้ปัญหาสุขภาพใจที่พบบ่อยในกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ หรือ LGBTQ+ได้แก่
ภาวะเครียดสะสม (Stress)
การใช้ชีวิตอยู่บนความคาดหวังที่สูง ส่งผลให้เกิดความกดดัน จนทำให้นอนไม่หลับ ตื่นกลางดึก เบื่อหน่าย ความต้องการทางเพศลดลง ซึ่งถ้าปล่อยทิ้งไว้อาจก่อให้เกิดโรคทางกายตามมา เช่น ความดัน ไมเกรน กระเพาะ เป็นต้น หากลองปรับเปลี่ยนด้วยตัวเองแล้วไม่สำเร็จ ลองออกไปพบปะผู้คน ทำกิจกรรมผ่อนคลาย แต่ถ้าเครียดมากจนทนไม่ไหวควรพบจิตแพทย์หรือนักบำบัด เพื่อพูดคุยหาแนวทางแก้ไขร่วมกัน
ภาวะซึมเศร้า (Depression)
เกิดจากความเครียดสะสม สภาพสังคม พันธุกรรม และสิ่งแวดล้อม ที่ทำให้กดดัน รู้สึกเบื่อหน่าย มีปัญหาการนอน การรับประทานอาหาร ความสนใจสิ่งต่างๆ ลดลง สมาธิไม่ดี คิดว่าตัวเองไร้ค่า ไม่อยากเจอใคร บางรายมีพฤติกรรมทำร้ายตัวเอง และอาจรุนแรงถึงขึ้นมีความคิดที่ีจะฆ่าตัวตาย โดยมีรายงานวิจัยกล่าวถึงอัตราการบาดเจ็บจากการพยายามฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในวัยรุ่นกลุ่มนี้ การสังเกตตนเองบ่อยๆ ไม่พาตัวเองไปเจอสิ่งกระตุ้น และหากิจกรรมผ่อนคลาย มีคนรับฟัง ให้กำลังใจมีส่วนช่วยลดอาการดังกล่าวได้ หากสงสัยว่าตัวเองมีภาวะซึมเศร้าหรือไม่สามารถทำแบบทดสอบภาวะซึมเศร้าเพื่อประเมินตัวเองเบื้องต้นได้ ทั้งนี้หากอาการที่มีเกิดขึ้นนานเกิน 2 สัปดาห์ควรปรึกษาแพทย์เพื่อทำการรักษาต่อไป
ภาวะวิตกกังวล (Anxiety)
ความกลัว ความวิตกกังวลถึงเหตุการณ์ในอนาคตที่มากกว่าปกติเกี่ยวกับเรื่องรอบตัวไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเรียน การทำงาน สุขภาพ ครอบครัว การเงิน ความสัมพันธ์ ซึ่งส่งผลต่อการนอนหลับ อารมณ์โมโหและหงุดหงิดง่ายโดยไม่รู้สาเหตุ ปวดหัวบ่อย ไม่มีสมาธิ แพนิค ซึ่งการพูดคุย และกำลังใจจากคนใกล้ชิดมีความสำคัญ แต่ถ้าอาการรุนแรงจนกระทบการใช้ชีวิตประจำวันควรได้รับการบำบัดรักษาด้วยยากับจิตแพทย์ หรือการพูดคุยกับนักบำบัด
ทั้งนี้หากรู้ตัวว่าความเครียดที่มีเริ่มคุกคามชีวิตและส่งผลต่อสุขภาพกาย-ใจ ขอแนะนำให้นัดพบจิตแพทย์ หรือนักบำบัดที่มีความเชี่ยวชาญ เพื่อประเมินอาการและรับการรักษาอย่างถูกวิธีคะ
อ.ทยากร กิตติชัย ( Ms. Thayakorn Kittichai)
นักจิตวิทยา สวนสุขภาพอรุณสหคลินิก
#TicyCity #ตีซี้ชิตี้ #เมือง #City #Health #PrideMonth #LGBTIQ+ #ความหลากหลาย #เพศสภาพ #สมรสเท่าเทียม #สุขภาพใจ