ธันวาคม 3, 2024
ticycity.com
Movement Voice

Olympic Ceremony 2024: Parisian Style!

ปาร์กัว, พาเหรด LGBTQIAN+, ภาพยนตร์เก่า, ดนตรีเมทัล ในพิธีเปิดโอลิมปิคครั้งล่าสุด ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส

เวลาผ่านไปเร็วกว่าใจคิด โดยไม่ทันรู้ตัว มหกรรมกีฬา ‘โอลิมปิค 2024’ ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ก็ได้เปิดฉากขึ้นอย่างเป็นทางการ หลังจากทิ้งระยะเวลากว่าสี่ปี จากครั้งก่อนหน้าที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ที่จัดขึ้นท่ามกลางบรรยากาศของการแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 ที่ส่งผลให้เป็นโอลิมปิคที่มีความ ‘Brief’ อย่างถึงที่สุดอย่างเป็นประวัติการณ์

และเมื่อสถานการณ์ของโลกเริ่มคลี่คลาย สิ่งที่เคยอัดอั้นคับข้องไว้ ก็เริ่มเผยและสำแดงออกมา พิธีเปิดที่ปารีสนั้น ถูกตั้งความคาดหวังเอาไว้ล่วงหน้า ว่าจะเป็นงานที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความตระการตา แสง สี เสียง ระดับจัดเต็ม ให้สมกับที่รอคอยกันมานานแสนนาน 

แน่นอนว่า เมื่อพิธีเปิดเริ่มดำเนินไปในตลอดระยะเวลา 4 ชั่วโมงเต็มท่ามกลางสายฝน มันไม่เพียงแต่จะตอบสนองในแง่ของความตระการตาที่สมการรอคอย แต่มันยังไปได้ไกลยิ่งกว่าในแง่ของการ ‘สำแดงตัวตน’ ของความเป็นฝรั่งเศส ที่ได้ประกาศให้สากลโลกได้รับรู้ โดยไม่มีการประนีประนอมยอมความ หรือลดราวาศอกใดๆ เลยแม้แต่น้อย 

พิธีเปิดโอลิมปิค 2024 ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศสครั้งนี้ เป็นในเกือบจะทุกนิยาม นอกเหนือจากคำว่า ‘ธรรมดา’…. มันเล่นใหญ่ใส่เต็ม มันเปี่ยมไปด้วยความสร้างสรรค์ มันแตะต้องในประเด็นที่ละเอียดอ่อนและอ่อนไหวอย่างห้าวหาญ ชัดเจน มีความมั่นใจ  

นั่นทำให้งานแสดงโชว์ต่างๆ มีความพิเศษและ ‘ฉีก’ ไปจากทุกกฏเกณฑ์ ไม่ว่าจะการแสดงกายกรรมตามเส้นทางรายล้อมกรุงปารีส, การฉายภาพยนตร์เก่าโบราณของสองพี่น้องลูมิแยร์ ผู้ให้กำเนิดงานด้านภาพยนตร์, ขบวนพาเหรดที่ราวกับจะยั่วล้อภาพเขียน The Last Supper ที่ประกอบด้วยกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ (ที่กลายเป็นประเด็นอ่อนไหวให้คนก่นด่ากันมากที่สุด) 

หรือแม้แต่งานแสดงแบบสมัยใหม่อย่างการส่งต่อคบเพลิงด้วยศิลปะแห่งปาร์กัว (Parkour) กีฬาที่มีต้นกำเนิดจากฝรั่งเศสและการคารวะแด่วิดีโอเกมสัญชาติฝรั่งเศสอย่าง Assassin’s Creed: Unity จนถึงการแสดงสดดนตรีเมทัลจากวง Gojira หน้าศาลอุทธรณ์ที่มีพระนางมารี อองตัวแน็ต ถือศีรษะของตัวเองคอยหลอกหลอนท่ามกลางพลุแดงที่แสดงถึงเหตุการณ์นองเลือดในช่วงเวลาแห่งการปฏิวัติ

ทั้งหมด ราวกับตะโกนให้ชาวโลกได้รับรู้ว่า เหล่าปารีเชียงนั้น เปี่ยมไปด้วยอิสรเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ‘ในทุกแง่มุม’ และไม่เกี่ยงว่าคนที่ได้พบเห็น จะรักหรือเกลียด พวกเขาไม่สน และไม่แคร์ ตราบเท่าที่มันตอบสนองต่อหลักการของเสรีภาพในการยืนยันตัวตนและสิทธิขั้นพื้นฐานและความหลากหลายอย่างถึงที่สุด

แต่เหนือสิ่งอื่นใด แม้จะถูกขนานนามว่าเป็นพิธีเปิดที่ ‘ราคาถูกที่สุด’ เมื่อเทียบกับพิธีเปิดที่มีความอลังการงานสร้างยิ่งกว่าในครั้งก่อนๆ (เช่น พิธีเปิดโอลิมปิคที่จีน ที่กำกับโดย จางอี้โหมว ที่ทุ่มทุนสร้างไปกว่า 300 ล้านดอลลาร์ กับนักแสดงเรือนหมื่นที่มาอย่างพร้อมเพรียงกัน….) แต่พิธีเปิดที่ปารีส เลือกใช้สิ่งหนึ่งที่เป็นพลังที่ถูกสะสมมาอย่างยาวนานได้อย่างมีประสิทธิภาพ…. 

พวกเขาเลือกใช้ ‘บริบททางพื้นที่’ ได้อย่างแม่นยำราวจับวาง…. 

ปารีส คือเมืองที่เป็นหม้อกลั่นรวมของความหลากหลายทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนาน ทุกตรอกซอกซอย ทุกหัวมุมถนน ทุกสถาปัตยกรรม ต่างมีเรื่องราวและความเป็นมา มีการส่งต่อความทรงจำ มีการทับถมของเหตุการณ์ที่หลากหลายซับซ้อนเป็นเลเยอร์ 

และสิ่งที่พวกเขาทำกับพิธีเปิด ไม่ได้เป็นการสร้างอะไรใหม่ นอกไปเสียจากการขับเน้นคุณลักษณะทางประวัติศาสตร์ของพื้นที่ให้โดดเด่นขึ้นมา ทุกองศา ทุกมุมกล้อง ทุกการถ่ายทอด ผ่านการคิดและคำนวณอย่างละเอียดอ่อน เพื่อให้ภาพของปารีสที่มีความเป็นเมืองภาพสวย (Picturesque) ได้เปล่งประกาย และสำแดงเนื้อในที่มากไปกว่าผิวหน้าที่ผู้คนสัมผัสแต่ภายนอก 

มันอาจจะกล่าวได้ว่า ความเป็นปารีเชียง กับหัวใจแห่งงานออกแบบและสิทธิเสรีภาพ คือ DNA ที่ฝังรากลึกในตัวตนของพวกเขา ราวกับลมหายใจที่ใช้อยู่ในทุกเมื่อเชื่อวัน มันแทบไม่ต้องประดิษฐ์หรือปรุงแต่งอะไรเพิ่มเติมให้แปลกแยกหรือผิดปรกติ พวกเขาแค่ ‘หยิบจับ’ และ ‘เผยชัด’ ถึงตัวตนของตัวเอง และประกาศความร่วมสมัย ของมหานครที่ยืนหยัดมาอย่างยาวนานแห่งหนึ่งของประวัติศาสตร์ชาติยุคสมัยใหม่ 

ย้ำกันอีกครั้งว่า พิธีเปิดโอลิมปิคที่ปารีส 2024 ไม่ได้รับประกันว่าจะถูกใจสำหรับทุกคน มีคนรัก มีคนเกลียด มันเป็นเรื่องธรรมดา พวกเขาเคารพในจุดยืนของคุณ ตราบเท่าที่พวกเขาสามารถแสดงความคิดเห็นและความสร้างสรรค์ได้โดยเสรี

(โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้ารู้สึกอึดอัดกับการที่เห็นพาเหรดผู้มีความหลากหลายทางเพศในท่าทางที่ยั่วล้อภาพเขียน The Last Supper แล้วล่ะก็ พวกเขาไม่ได้แคร์ว่าคุณจะคิดเห็นอะไรเท่าไรนักหรอก…..)  

และด้วยความเสรีในการสร้างสรรค์เช่นนี้เอง ที่ทำให้พิธีเปิดโอลิมปิคครั้งที่ 33 ปี 2024 ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ได้สลักจารึกความทรงจำร่วมในประวัติศาสตร์การกีฬา และประวัติศาสตร์โลก ให้ได้กล่าวถึงและจดจำต่อไปอีก ตราบนานเท่านานเลยทีเดียว

Leave feedback about this

  • Rating

Gadget, Trends

ร้านสวยสุ

Movement, Voice

ส่องไอเดี

Culture, God's City

วันประสูต

Movement, Voice

A Life in

Destination, Food

‘ศรณ์’  ‘

PR news, TICY PR

‘เชียงใหม

X