ticycity.com Contents Voice Movement Why Japanese Hates ‘Halloween’??
Movement Voice

Why Japanese Hates ‘Halloween’??

https://www.flickr.com/photos/31029865@N06/

เหตุไฉนคนญี่ปุ่นจึงไม่ชอบวัน ‘ฮาโลวีน’??

เมื่อพูดถึงประเทศญี่ปุ่นและการเฉลิมฉลองเทศกาลต่างๆ แล้วนั้น คุณจะพบว่า ประเทศนี้ ค่อนข้างมีความยืดหยุ่น และเปิดกว้างรับวัฒนธรรมที่แตกต่าง ก่อนจะดัดแปลงใส่ความเป็นอาทิตย์อุทัยลงไปได้อย่างลงตัว ใครปรารถนาที่จะฉลองเทศกาลไหน ก็สามารถทำได้เกือบตลอดทั้งปี ไม่ว่าเทศกาลนั้น จะเป็นของญี่ปุ่นดั้งเดิม หรือของตะวันตกที่รับเข้ามาก็ตาม 

แต่สำหรับ ‘เทศกาลฮาโลวีน’ ในคืนปล่อยผีวันที่ 31 ตุลาคมของทุกปี กลับเป็นข้อยกเว้นสำหรับคนญี่ปุ่นบางส่วน เพราะแม้จะคล้ายคลึงทางคติความเชื่อเช่นเดียวกับเทศกาลโอบ้ง แต่ ‘สิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงเริ่มต้น’ ก็สร้างภาพจำที่ย่ำแย่ ติดตัวมาจนถึงปัจจุบัน 

ฮาโลวีนเริ่มต้นอย่างไรในประเทศญี่ปุ่น

มันเป็นเรื่องที่น่าประหลาดใจ นั่นเพราะการตื่นรู้เกี่ยวกับเทศกาลฮาโลวีนในประเทศญี่ปุ่นนั้น เริ่มต้นมาแค่เพียง ‘สองทศวรรษ’ เท่านั้น หรือถ้าจะนับการเข้ามาแบบ ‘จริงๆ’ ก็ย้อนกลับไปถึงช่วงปลายทศวรรษที่ 70 ซึ่งถือได้ว่ายังใหม่มากๆ สำหรับการจัดเทศกาล 

แม้ไม่มีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร แต่เชื่อกันว่า ร่องรอยของฮาโลวีนครั้งแรกในญี่ปุ่น เกิดขึ้นเมื่อร้าน Kiddy Land ในย่านฮาราจูกุ นำเข้าสินค้าธีมฮาโลวีนเข้ามาจำหน่าย เป็นของจุกจิกพกพาน่ารักและตุ๊กตาจิปาถะทั่วไป ก่อนที่จะข้ามมาปี 1983 ที่ย่านโอโมเตะซานโดะ ย่านไฮโซชื่อดังของโตเกียว จัดงานพาเหรด ‘Hello Halloween Pumpkin Parade’ แต่ก็มีชาวต่างชาติเข้ามาร่วมเพียงประปราย 

การตื่นรู้เรื่องฮาโลวีนของคนญี่ปุ่น เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน เมื่อ Disney Land เริ่มจัดงานเทศกาลฮาโลวีนเป็นครั้งแรกในปี 1997 และในปี 2002 ก็ตามมาด้วยงานใหญ่ที่จัดโดย Universal Studio Japan ที่ทำให้ชื่อของ ‘เทศกาลฮาโลวีน’ แพร่หลายในสังคมญี่ปุ่นวงกว้างนับแต่นั้น 

แล้วเกิดอะไรขึ้น ถึงทำให้คนญี่ปุ่นบางส่วน ‘เกลียดวันฮาโลวีน’???

เนื่องด้วยเทศกาลที่ค่อนข้างใหม่ในความเข้าใจของคนญี่ปุ่น และเริ่มต้นจากชาวต่างชาติที่พักอาศัยและเดินทางมาท่องเที่ยว ทำให้มีเรื่องราวที่ไม่ค่อยจะดีนักเกิดขึ้น ภาพจำของคนญี่ปุ่นที่มีต่อฮาโลวีนในช่วงแรก ก็มักจะเป็นชาวต่างชาติในชุดบ้าๆ กินดื่มเมาเรี่ยราดบนขบวนรถไฟ สร้างความสกปรก ส่งเสียงดังเอะอะ หนักข้อเข้า ก็รบกวนคนท้องถิ่นที่ใช้ชีวิตประจำวัน

ที่ร้ายแรงสุดคือปี 2009 กับ ‘ขบวนรถไฟฮาโลวีน’ ที่โตเกียวกับโอซาก้า ที่ความเดือดร้อนของเหล่าผู้ร่วมฉลองทั้งต่างชาติและญี่ปุ่น ที่สนุกมันส์จนเลยเถิด ไม่เคารพกฎระเบียบ เกิดคดีทำลายข้าวของ ล่วงละเมิดทางเพศ จนคนญี่ปุ่นบางส่วนทนไม่ไหว ออกไปประท้วงที่หน้าสถานีชินจูกุพร้อมป้ายอันหลากหลายอาทิ ‘ไอ้พวกงั่งไกจิน ออกไปจากประเทศเราเดี๋ยวนี้!!!!’, ‘เราคนญี่ปุ่นไม่ต้องการฮาโลวีนโว้ย!!!!!’ จนขึ้นข่าวหนังสือพิมพ์หน้าหนึ่งอยู่พักใหญ่ 

มันก็เป็นที่เข้าใจกันได้ ถ้าหากคุณใช้ชีวิตปกติธรรมดา มีกฎระเบียบสังคมที่ชัดเจน แล้วจู่ๆ ในคืนวันที่ 31 ตุลาคม กฎระเบียบทั้งหลายก็ถูกโยนทิ้งลงถังขยะ ในการมาของเหล่าคนในชุดประหลาดๆ ที่สร้างความเดือดร้อนไปทั่ว ฮาโลวีนอาจจะเป็นวันที่วิญญาณคนตายกลับมาสู่โลกคนเป็นในฟากตะวันตก แต่สำหรับคนญี่ปุ่น เทศกาลนี้มันคือวัน ‘ล้างป่าช้า (All Hell Broke Loose) ขนานแท้ จะให้รู้สึกดีไปทั้งหมดก็อาจจะเป็นไปได้ยาก 

ฮาโลวีนกับประเทศญี่ปุ่นในปัจจุบัน 

แม้จะยังคงมีการต่อต้านประท้วงจากคนญี่ปุ่นบางส่วนที่เห็นวันฮาโลวีนไม่ได้เป็นอะไรมากไปกว่าข้ออ้างในการทำตัวผีบ้าอย่างไร้กฏเกณฑ์ แต่สำนึกและความเข้าใจเกี่ยวกับฮาโลวีน ก็ได้ผสานรวมเข้ากับวัฒนธรรมญี่ปุ่นสมัยใหม่ไปแล้วเป็นที่เรียบร้อย โดยการเฉลิมฉลองของญี่ปุ่น จะเน้นไปที่การแต่งแฟนซีและคอสเพลย์รูปแบบต่างๆ และมีการฉลองตามร้านอาหาร ผับบาร์ พร้อมสินค้าที่มีจำหน่ายตามช่วงเวลา เป็นอีกหนึ่งเทศกาลที่มีสีสันของญี่ปุ่นเลยก็ว่าได้ 

เกิดอะไรขึ้นกับฮาโลวีนปีนี้ ??? 

แต่ดูเหมือนว่าฮาโลวีนปีนี้ ทางการโตเกียว จะเห็นเหตุการณ์ ‘โศกนาฏกรรมที่อิแทวอน’ ของประเทศเพื่อนบ้านอย่างเกาหลีใต้ แล้วถอดบทเรียน ป้องกันไว้ดีกว่าแก้ เพราะแม้ฮาโลวีนทุกปี ย่านสำคัญต่างๆ อย่างชิบุย่า ฮาราจูกุ รปปงงิ โอโมเตะซานโดะ จะมีกองกำลังตำรวจคอยรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด แต่ไม่ใช่กับปี 2023 ที่ได้ดำริว่า ถ้ามันยุ่งยากนัก ‘งดจัดงาน’ มันซะเลยจะดีกว่า 

นั่นทำให้ลานชิบุย่า อันเป็นสถานที่นัดพบและจัดงานฮาโลวีนใหญ่ที่สุดประจำปี ถูกตั้งเป็นเขตห้ามเข้า ห้ามทำกิจกรรม ห้ามละเมิดผ่าน (แม้แต่รูปปั้นน้องหมาฮาจิโกะ ก็ยังถูกล้อมรั้วเอาไว้ เพราะไม่อยากให้กลายเป็นแหล่งรวมตัวของกลุ่มวัยรุ่นและนักท่องเที่ยว) เรียกว่าปีนี้ ทางการโตเกียวไม่ทำเล่นๆ เอาจริงแบบที่ไม่กะให้เกิดเหตุสลดใดๆ ทั้งสิ้น 

……. แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้เหล่าพาเหรดของวัยรุ่นและนักท่องเที่ยวในชุดแฟนซีของเขตอื่นๆ ในชิบุย่าลดลง รวมไปถึงย่านท่องเที่ยวอื่นๆ ที่ยังคงคึกคักหนาแน่นของคืนที่ผ่านมา และเราอาจจะต้องมาลุ้นกันมา ในคืน ‘ปล่อยผี’ วันที่ 31 ตุลาคม มาตรการของทางการโตเกียว จะสัมฤทธิ์ผลหรือไม่ 

อย่างไรก็ตามแต่ ฮาโลวีน ก็ถือเป็นอีกสีสันของประเทศญี่ปุ่น ที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวจำนวนมหาศาลในแต่ละปี แม้ว่าคนญี่ปุ่นที่เคยประสบพบเจอกับความบรรลัยวอดวายในช่วงเริ่มต้น จะยังยืนกรานว่า ‘ไอ้พวกไกจิน ไสหัวไปให้พ้น!!!’ อยู่ก็ตาม

#TicyCity #WhyJapaneseHatesHalloween #ทำไมคนญี่ปุ่นไม่ชอบวันฮาโลวีน

Exit mobile version