AI เปลี่ยนโลก
Ticy Cityเห็นด้วยต่อคำกล่าวที่ว่า “AI เปลี่ยนโลก” คำนี้ไม่เกินจริงเลยที่เดียว เพราะปีที่ผ่านมาถือได้ว่าเป็นปีแห่งการเริ่มต้นนำ AI เข้ามาใช้เป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กร รวมถึงการเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของผู้คนทั่วไป โดยเฉพาะปี 2568ธุรกิจต้องจับตาเทรนด์ AI ที่เข้ามามีบทบาทมากยิ่งขึ้น
ซึ่งไมโครซอฟท์ (Microsoft) บริษัทเทคโนโลยีผู้พัฒนาแพลตฟอร์มและเครื่องมือที่เปี่ยมด้วยศักยภาพจาก AI ยังคงมั่นใจว่า AI จะได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องให้มีความฉลาดและมีการทำงานที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น สร้างผลกระทบเชิงบวก และนำไปประยุกต์ใช้ในวงกว้างมากขึ้น ทั้งช่วยปลดล็อคการทำงานของพนักงาน สร้างขีดความสามารถในการแข่งขันขององค์กร หาแนวทางรับมือกับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของประเทศไทยและโลก ตลอดจนสร้างหลักการกำกับดูแลการใช้งาน AI ให้มีจริยธรรมและความรับผิดชอบอย่างเป็นรูปธรรม
ทั้งนี้ ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย เผยถึงเทรนด์ AI ที่น่าจับตามองในปี 2568 เพื่อให้องค์กรไทยทั้งภาคธุรกิจ ภาครัฐ และคนไทยได้เตรียมความพร้อมประยุกต์ใช้ AI ในวงกว้างมากยิ่งขึ้น เพื่อช่วยลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพ สร้างสิ่งใหม่ ๆ ความคิดสร้างสรรค์ และก่อให้เกิดผลกระทบในเชิงบวกให้กับตนเอง สังคม และประเทศ ดังนี้
1. Scaling Laws: AI จะยกระดับศักยภาพและเติบโตอย่างก้าวกระโดด
ในปีใหม่นี้ AI จะได้รับการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดยิ่งกว่าทุกการปฏิวัติอุตสาหกรรมที่ผ่านมา ฉีกกฏการเติบโตจากเดิมที่เติบโตด้วยตัวเองอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามกาลเวลา โดยคาดการณ์ว่า AI จะเพิ่มขึ้นแบบเป็นทวีคูณในทุก ๆ ครึ่งปี อันเป็นผลมาจากประสิทธิภาพการทำงานของคอมพิวเตอร์ที่ทรงพลังในทุกมิติ และการนำเทคนิคที่เก่งกว่าเดิมมาประยุกต์ใช้กับข้อมูลและอัลกอริทึมของ AIซึ่งองค์กรที่ได้เริ่มใช้และยังไม่ได้ใช้ AI จึงควรปรับตัวตามเรื่องนี้ให้ทัน
AI ไม่ได้เป็นแค่เทคโนโลยี แต่จะเข้ามาเป็นผู้ช่วยในการใช้ชีวิตและทำงานของทุกคน ภาคองค์กรต้องตระหนักถึงการนำ AI มาใช้เพื่อช่วยปรับปรุงกระบวนการทำงานตลอดจนโมเดลธุรกิจ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งปัจจุบัน มีหลายองค์กรในไทยที่นำ AI มาประยุกต์ใช้ในการลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพงาน และลดระยะเวลาในการทำงานให้กับพนักงานแล้ว
จากรายงานของ IDC ประจำปี 2567 พบว่า 60% ขององค์กรที่ได้สำรวจจากทั่วโลก วางแผนที่จะนำ AI เข้ามามีส่วนร่วมกับภาคธุรกิจอย่างเต็มประสิทธิภาพใน 2 ปีข้างหน้า ซึ่งสูงกว่าในปี 2566 ที่มีสัดส่วนเพียง 46% เท่านั้น โดยอุตสาหกรรมที่มีความพร้อมมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ การศึกษา สุขภาพ และการเงิน
ดังนั้นหากมองภาพรวมในระดับประเทศ องค์กรต่างๆ ในไทยจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับนำ AI มาปรับใช้ เพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันให้เท่าทันกับการใช้งาน AI ของประเทศอื่น
2. Agentic World: เสริมประสิทธิภาพให้องค์กร และช่วยพนักงานมุ่งเน้นการทำงานที่สำคัญ
AI Agent จะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของทีมงานและกระบวนการทำงาน ช่วยแบ่งเบาภาระการทำงาน Routine Work เพื่อให้พนักงานมีเวลาไปโฟกัสกับการทำงานที่สำคัญกว่า และยังช่วยให้องค์กรจัดสรรทรัพยากรบุคคลได้เกิดประโยชน์สูงสุด ในอนาคตก็จะเห็นการทำงานร่วมกันระหว่างมนุษย์และ AI อย่างแพร่หลาย ทั้งยังจะได้เห็น AI Agent มาช่วยสนับสนุนพนักงานในการค้นหาข้อมูล เข้าถึงองค์ความรู้ทั้งภายในและนอกองค์กรได้มากขึ้น ตลอดจนการทำงานร่วมกันแบบ Multi AI Agent และที่สำคัญผู้ใช้งานที่ไม่ความรู้ด้านไอที ก็สามารถสร้าง AI Agent ของตนเองได้อย่างง่ายดายและสะดวกรวดเร็ว ผ่านเครื่องมือต่าง ๆ อาทิ Microsoft 365 Copilot และ Microsoft Copilot Studio เป็นต้น
โดยสามารถเห็นตัวอย่างได้จากกลุ่มธุรกิจธนาคาร ซึ่งสามารถแบ่งกระบวนการการตรวจสอบเครดิตลูกค้าออกมาได้หลายขั้นตอน พนักงานธนาคารอาจมองเห็นโอกาสว่างานการตรวจสอบความครบถ้วนของเอกสารจากลูกค้าเป็นงานที่ใช้ AI ช่วยได้ ในการทำหน้าที่ตรวจสอบเอกสารต่าง ๆ ที่มีอยู่จำนวนมาก เมื่อ AI แจ้งว่าได้รับเอกสารครบถ้วนแล้ว พนักงานจึงทำหน้าที่ตรวจทานอีกครั้ง ในกรณีที่ลูกค้าส่งเอกสารมาไม่ครบ AI จะทำการแจ้งเตือนพนักงาน นอกจากนี้ AI ยังสามารถช่วยตรวจสอบได้ด้วยว่า ข้อมูลในเอกสารที่ลูกค้ายื่นนั้นถูกต้องหรือไม่ เช่น ถ้าลูกค้าแจ้งว่าทำงานที่บริษัทนั้น ๆ แต่ AI ตรวจสอบแล้วไม่พบข้อมูล AI จะสามารถแจ้งเตือนพนักงานให้ตรวจสอบข้อมูลนี้อีกครั้งได้เช่นกัน ซึ่งการใช้ประโยชน์จาก AI แบบนี้ถือเป็นคอนเซปต์ของการใช้ AI ในอนาคต
3. Multimodal AI: สรรค์สร้างนวัตกรรม จาก AI ที่รองรับข้อมูลจากสื่อทุกประเภท
สภาพการทำงานในปัจจุบัน แหล่งข้อมูลที่ใช้ในการทำงานหรือจัดเก็บไม่ได้มาจากเอกสารหรือข้อความเพียงอย่างเดียว ยังมีข้อมูลในรูปแบบอื่น ๆ เช่น ข้อความ รูปภาพ เสียง ซึ่งในอนาคต AI จะสามารถนำข้อมูลที่อยู่ในสื่อหลากหลายประเภทนี้ออกมาใช้งานให้เกิดประโยชน์ และบูรณาการร่วมกันได้ สามารถประมวลผลข้อมูลออกมาได้ครบถ้วนและสอดคล้องในทุกบริบท ก้าวข้ามขีดจำกัดในการป้อนข้อมูล คำสั่ง และแสดงผลลัพธ์ในรูปแบบของข้อความเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ทำให้การสื่อสารกับ AI เป็นธรรมชาติมากยิ่งขึ้น
ปัจจุบัน Copilot ของ Microsoft สามารถใส่ prompt ได้ทั้งข้อความ เสียงพูดเป็นภาษาไทย และรูปภาพ สามารถมองเห็นสิ่งที่เห็นบนหน้าจอ หรือต้องการแสดงให้เห็นภาพกล้องที่มีอยู่บนดีไวซ์ต่าง ๆ รวมถึงฟีเจอร์ใหม่ ๆ ที่จะทำให้เกิด user interface อันชาญฉลาด ใช้งานง่าย และเป็นภาษาธรรมชาติมากยิ่งขึ้น ไม่ว่า
จะเป็นระบบ Voice Recognition ที่แม่นยำรวดเร็ว หรือ Sora โมเดล AI ที่จะช่วยให้สร้างวิดีโอที่สมจริงได้จากข้อความ ซึ่งจะเห็นโซลูชันต่าง ๆ ที่เชื่อมโยงความสามารถนี้ สร้างสรรค์บริการใหม่ ๆ เพื่ออำนวยความสะดวก และสร้างแต้มต่อในการให้บริการลูกค้า
4. Data Security: หัวใจสำคัญที่จะต้องพัฒนาควบคู่กับการประยุกต์ AI
หนึ่งในเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กันคือ การรักษาความปลอดภัยของข้อมูล เนื่องจาก AI สามารถเข้าถึงข้อมูลทั้งหมดได้ จึงมีความจำเป็นที่องค์กรจะต้องระมัดระวังอย่างยิ่งในการแบ่งปันข้อมูล หากมีการแชร์ข้อมูลอย่างเกินควรและไม่ได้รับการป้องกัน ข้อมูลที่ไม่ควรเปิดเผยก็อาจถูกมองเห็นได้ เช่น ข้อมูลส่วนตัวของพนักงานและลูกค้า ซึ่งจะต้องเป็นความลับขององค์กร
ในอดีต การแชร์ข้อมูลโดยไม่มีการควบคุมอาจยังไม่เป็นปัญหาใหญ่ เพราะไม่มีเครื่องมือที่สามารถรวบรวมข้อมูลทั้งหมดได้ แต่ในปัจจุบัน สิ่งเหล่านี้เปลี่ยนไป การรักษาความปลอดภัยข้อมูลจึงเป็นเรื่องที่ทุกองค์กรต้องให้ความสำคัญควบคู่ไปกับการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ รวมถึงการกำหนดแนวทางการจัดการข้อมูล (data governance)
โดยไมโครซอฟท์ เสนอ 4 แนวทางในการเตรียมข้อมูลสำหรับการใช้งาน AI คือ การรู้จักข้อมูล การควบคุมข้อมูล การปกป้องข้อมูล และการป้องกันการสูญเสียข้อมูล การดำเนินการตามขั้นตอนเหล่านี้สามารถช่วยบรรเทาความกังวลของผู้นำ และลดความเสี่ยงด้านข้อมูลได้เป็นอย่างมาก พร้อมนำเสนอเครื่องมืออย่าง Microsoft Purview ช่วยรักษาความปลอดภัยข้อมูลแบบเรียลไทม์และการควบคุมการปฏิบัติตามข้อกำหนด ทำให้การใช้งาน AI ในองค์กรปลอดภัย มั่นคง และมีประสิทธิภาพสูงสุด
5. Responsible AI : จริยธรรม AI ต้องใช้อย่างเป็น “ธรรม” กับทุกฝ่าย
เพื่อให้ AI ถูกนำไปใช้งานอย่างสร้างสรรค์ เป็นธรรม และเกิดประโยชน์กับทุกคนในสังคมอย่างแท้จริง บริษัทผู้พัฒนายักษ์ใหญ่ในหลายประเทศต่างร่วมกันในการหาแนวทางกำกับดูแลการใช้งาน AI โดยไมโครซอฟท์ ได้กำหนดมาตรการใช้งาน AI อย่างมีจริยธรรมและรับผิดชอบต่อสังคม มุ่งเน้นความโปร่งใส ความเป็นธรรม และความปลอดภัย ทั้งยังมีคณะกรรมการตรวจสอบเพื่อให้แน่ใจว่าบริการ AI ใหม่ ๆ ที่สร้างขึ้นจะต้องผ่านเกณฑ์ Responsible AI ก่อนการนำออกมาใช้
พร้อมกันนี้ ไมโครซอฟท์ยังได้เสริมมาตรการ AI Guardrail เพื่อป้องกันการใช้งาน AI ในรูปแบบที่ไม่ได้รับอนุญาตอย่างเข้มงวด เพื่อให้แน่ใจว่า AI จะถูกใช้งานตามวัตถุประสงค์ที่ถูกต้องและเป็นธรรม โดยมีการกำหนดเกณฑ์การใช้งานที่ชัดเจนและป้องกันการใช้งานในทางที่ผิด เช่น การใช้งานที่ละเมิดความเป็นส่วนตัว การใช้เพื่อการก่ออาชญากรรม หรือการใช้ในการเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นเท็จ
จากเทรนด์เทคโนโลยีที่ทางไมโครซอฟท์ได้กล่าวถึงมาข้างต้น จะเห็นว่า AI สามารถสร้างฉากทัศน์ใหม่ และเกิดประโยชน์มหาศาลต่อภาคธุรกิจได้อย่างไรบ้าง โดยผู้บริหารควรกำหนดแนวทางที่ชัดเจนในการใช้ AI ผ่านการวิเคราะห์ภาพรวมการทำงานภายในองค์กร และนำ AI เข้าไปช่วยแก้ไขกระบวนการทำงานที่ล่าช้าหรือขาดประสิทธิภาพเหล่านั้น เปลี่ยน AI เป็นผู้ช่วยทำงานร่วมกับพนักงาน ขับเคลื่อนองค์กรให้เติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยไมโครซอฟท์ ในฐานะผู้ให้บริการโซลูชัน AI มุ่งมั่นที่จะพัฒนา AI อย่างสร้างสรรค์ ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม สร้างความเท่าเทียมในการใช้งานเทคโนโลยีที่ครอบคลุมทั้งระดับบุคคล องค์กร และระดับประเทศ รวมถึงริเริ่มโครงการต่าง ๆ ที่มีจุดมุ่งหมาย เพื่อสร้างทักษะและส่งเสริมการใช้งาน AI ในวงกว้าง
#TicyCity#ตีซี้ซิตี้ #เมือง #City #กรุงเทพ #ไมโครซอฟท์ #Microsoft #AI #ธุรกิจ #เทรนด์ #newyear202 #นวตกรรม #เทคโนโลยี