ในวาระ 150 ปีชาติกาล เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี มูลนิธิเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี จัดแสดงละครเวทีเรื่อง ลำนำชีวิต (Ballad of Life) ละครพูดผสมการแสดงภาษากาย หรือ Physical Theatre
ในวาระ 150 ปีชาติกาล เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี มูลนิธิเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี จัดแสดงละครเวทีเรื่อง ลำนำชีวิต (Ballad of Life) ละครพูดผสมการแสดงภาษากาย หรือ Physical Theatre
ทายาทรุ่นหลาน ศาตราจารย์เกียรติคุณ ดร.นทีทิพย์ กฤษณามระ ให้ข้อมูลว่า
“เนื่องใน วาระ 150 ปี ชาตกาล เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี ในปี พ.ศ.2569 ปีนี้ 2567 จะจัดแสดงละครเวที เพื่อให้ประชาชนทั่วไปรู้จักผลงานของท่าน และเข้าใจถึงวิสัยทัศน์ของท่านมากขึ้น
แต่เป็นละครเวทีที่ไม่ได้มาเล่าถึงชีวประวัติของท่าน จุดที่ยากคือต้องสังเคราะห์จากผลงานที่มากมายหลากหลายของท่าน ออกมาเป็นบทละครเวที ทำให้เป็นเรื่องราว เป็นเหตุการณ์ย่อย ๆ หลายอัน ให้ดูแล้วเข้าใจ”
เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี นามปากกา ครูเทพ ชื่อจริง สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา เกิดเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2419 บ้านเดิมที่ตำบลสะพานหัน พระนคร เมื่ออายุ 16 ปี เข้าศึกษาต่อในโรงเรียนฝึกหัดอาจารย์
ปี 2439 ได้เป็นนักเรียนทุนหลวงกระทรวงธรรมการ เดินทางไปศึกษาวิชาครูต่อที่โรงเรียนฝึกหัดครู วิทยาลัยเบอโรโรด (Borough Road College) ณ กรุงลอนดอน
ปี พ.ศ.2442 กลับเข้ารับราชการกระทรวงธรรมการ ท่านมีบทบาทสำคัญในการวางรากฐานให้แก่ระบบการศึกษาไทย เช่น จัดตั้งโรงเรียนมหาดเล็กหลวง (ปัจจุบันคือวชิราวุธวิทยาลัย) ตามพระราชดำริของรัชกาลที่ 6
เป็นผู้ก่อตั้งโรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวาย กำหนดให้คนไทยทุกคนมีสิทธิเข้าเรียนตั้งแต่ 7 ขวบ เปิดโอกาสให้ผู้หญิงได้เรียนหนังสือ แต่งตำราเรียน ประพันธ์งานร้อยกรองในรูปฉันทลักษณ์ต่าง ๆ รวมถึงบทละคร ข้อเขียนร้อยแก้ว ฯลฯ
ศ.ดร.นทีทิพย์ ในฐานะหลานตา อธิบายเพิ่มเติมว่า
“ตัวดิฉันเป็นหลานของเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี แต่เกิดไม่ทันท่าน คุณแม่เป็นหนึ่งในบุตรสาวของท่าน
ครูเทพ เป็นผู้บุกเบิกการศึกษาสมัยใหม่ สมัยรัชกาลที่ 5 ได้ทุนไปศึกษาด้านการศึกษาที่ประเทศอังกฤษ กลับมาเมืองไทยได้เป็นเจ้ากระทรวงธรรมการ (กระทรวงศึกษาธิการในปัจจุบัน) เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรคนแรกสมัยหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง
นอกจากผลงานด้านการศึกษา ท่านยังเขียนบทละครสั้น ๆ เป็นละครพูด ภายในซ่อนไว้ด้วยวิสัยทัศน์ ท่านมีความคิดสมัยใหม่ด้านการศึกษามาก เช่น ออกพระราชบัญญัติเกี่ยวกับประถมศึกษา และก่อตั้งโรงเรียน
ด้านการละคร ละครของท่านก็จะนำเสนอเกี่ยวกับผู้หญิง เพราะคุณพ่อท่านเป็นพระยา (พระยาไชยสุรินทร์ – ม.ล.เจียม เทพหัสดิน ณ อยุธยา) แต่คุณพ่อเสียตั้งแต่อายุ 7 ขวบ จึงต้องช่วยคุณแม่ทำงานหลายอย่าง ทำสวน ค้าขาย เย็บผ้าก็จะช่วยเย็บรังดุม
ท่านได้เขียนบทกลอนเกี่ยวกับผู้หญิงไว้มากมาย มูลนิธิฯ เลยคิดว่าน่าจะทำเป็นละครเวที ส่วนตัวดิฉันเป็นนักวิทยาศาสตร์ ได้รู้จัก คุณนิกร แซ่ตั้ง และเคยไปดูละครของคุณนิกร คิดว่านี่คือสไตล์ละครของคุณตา ถ้าเป็นสมัยนี้เรียกว่า ละครเวทีร่วมสมัย เป็น Contemporary เป็นละครที่มีบทพูด และมีเนื้อหาที่จะฝากคนดูให้คิด อาจยกปัญหาบางอย่างในสังคมและไม่บอกว่าคำตอบคืออะfไร ให้คนดูไปคิดต่อเอง
มูลนิธิฯ ตัดสินใจว่าจะทำละครในปี 2567 เพื่อให้คนทั่วไปรู้จักผลงานของเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี และวิสัยทัศน์ของท่าน พอถึงวันที่จัดเฉลิมฉลองปี 2569 ก็ไม่ต้องอธิบายมากว่าท่านคือใคร
และเราเชื่อในฝีมือของคุณนิกร ละคร ลำนำชีวิต หรือ Ballad of Life คือการเอาหลายอย่างมารวมกันเป็น 3 ส่วนชีวิต เป็น 3 ตอนเล่นไม่มีหยุดพัก ผู้กำกับบอกว่าบทละครสังเคราะห์มาจากตำราของท่านและวิสัยทัศน์ของครูเทพ
ก่อนเข้าชมละครมีวิดีโอและนิทรรศการเกี่ยวกับโคลงกลอนของท่านให้ชม ระหว่างรอชมละครบริเวณโถงใหญ่ เปิดชีวประวัติฉายวนไปทั้งสองด้าน ดูแล้วจะเข้าใจถึงผลงานของเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี มีรูปของท่าน บทกลอน คติของท่าน พอไปดูละครแล้วจะเข้าใจยิ่งขึ้น”
ละครเวทีร่วมสมัย ‘ลำนำชีวิต’ 3 ตอน
ตอนที่ 1 ตัวละคร (Role) : เรื่องราวของคณะละครที่กำลังซ้อมการแสดงกัน ฉากพระรามที่คิดถึงนางสีดาหลังพิธีลุยไฟ ในขณะที่คณะละครกำลังประสบปัญหาไม่มีโรงละครสำหรับเปิดการแสดง ในตอนนี้ได้หยิบยกบทกลอน ‘รามรันทด’ ซึ่งเป็นหนึ่งในเนื้อหาของหนังสือ โคลงกลอนครูเทพ ขึ้นมาตีความใหม่ให้เกิดความร่วมสมัยผ่านวัฒนธรรมการรำฟ้อนและการดนตรี
ตอนที่ 2 วิชาชีวิต (Wisdom) : เรื่องของแม่กับลูกเจนใหม่ ถกเถียงกันว่า พ่อแม่ควรตัดสินให้ลูกเลือกเรียนทางไหน หรือลูกควรมีอิสระในการคิดเอง ปริญญาจำเป็นไหม เกิดเป็นคำถามบนความเปราะบางของความสัมพันธ์ในครอบครัว และตั้งคำถามต่อโครงสร้างการศึกษาที่กำหนดมาตั้งร้อยกว่าปีแล้ว
ตอนที่ 3 รอยมนุษย์ (Legacy) : การแสดงที่เน้น Impression เป็นภาพบรรยากาศและความรู้สึก มากกว่าเรื่องราวที่จับต้องได้ เมื่อมนุษย์จากโลกนี้ไป สิ่งที่เหลือไว้เป็นร่องรอยคืออะไร เราจำเป็นต้องทิ้งอะไรไว้ให้คนรุ่นหลังไหม ตอนนี้ได้แรงบันดาลใจมาจากชีวิตของเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี ที่ทิ้งผลงานให้คนรุ่นหลังมากมาย
ศ.ดร.นทีทิพย์ กฤษณามระ ทายาทเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี ทิ้งท้ายว่า
“ละครไม่ซีเรียส จะมีตลก หัวเราะบ้าง ขณะเดียวกันมีความสะใจ เมื่อเจอตัวละคร บทละคร ซึ่งจะมาชนใจเรา แล้วแต่ว่าแต่ละคนมีประสบการณ์ด้านไหนมา มีเสียดสีสังคมนิดหน่อย เรื่องผู้ชายมองผู้หญิง ผู้หญิงมองผู้หญิง การศึกษา แม่ลูก คนรุ่นใหม่จะฟังเราแค่ไหน บางตอนมีท่าร่ายรำ ประกอบเสียงดนตรี และเชื่อว่าในตอนที่ 1 ที่มาจากบทกลอนของ ครูเทพ ใน พระรามรันทด อาจมีคนน้ำตาหยดแน่ ๆ…”
Ticy City ชวนชมละครเวทีร่วมสมัยในรูปแบบละครพูดผสมการแสดงแบบภาษากาย (Physical Theatre) เรื่อง ลำนำชีวิต
เขียนบทและกำกับ : นิกร แซ่ตั้ง จากคณะละคร 8×8 (Theatre8x8)
ผลงานที่ผ่านมา : ไร้พำนัก, ใจยักษ์, เมาท์, พระเจ้าเซ็ง, สามสาวทราม ทราม, กรุงเทพน่ารักน่าชัง, ทารกจกเปรต ฯลฯ
แนวละคร : ละครสั้น 3 ตอนต่อกัน ความยาว 60 นาที ชวนให้นึกถึงความเปลี่ยนแปลงจากยุคเก่าสู่ยุคใหม่ กระเทาะเปลือกของความเป็นมนุษย์ ผ่านสถานการณ์ที่แตกต่างกัน
นักแสดง : ดวงใจ หิรัญศรี, สุชาวดี เพชรพนมพร, สุมณฑา สงวนผลรัตน์, ตรึงตรา โฆษิตชัยมงคล, ศักดิ์ชาย เกียรติปัญญาโอภาส, วิภู บุนนาค, ณัฐวุฒิ เมืองมูล
ประพันธ์ดนตรี : สินนภา สารสาส
สถานที่ : ศูนย์ศิลปะการละครสดใส พันธุมโกมล ชั้น 6 อาคารจักรีสิรินธร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
รอบการแสดง : วันพฤหัสบดีที่ 22 สิงหาคม 2567 เวลา 19.30 น. / วันศุกร์ที่ 23 สิงหาคม 2567 เวลา 19.30 น. / วันเสาร์ที่ 24 สิงหาคม 2567 เวลา 14.00 น. และ 19.30 น.
ราคาบัตร : บุคคลทั่วไป 500 บาท / นักเรียน, นักศึกษา 350 บาท จองบัตรที่
https://www.ticketmelon.com/ballad-of-life/theatre8x8 สอบถามเพิ่มเติมอีเมล: maewkayand2@gmail.com
#ละครเวที #ละครเวทีร่วมสมัย #ลำนำชีวิต #ศ.ดร.นทีทิพย์ กฤษณามระ #เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี #ครูเทพ #มูลนิธิเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี #TicyCity #ตีซี้ซิตี้