ธนบัตรที่ระลึกเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๗
ราคา 100 บาท
ธนาคารแห่งประเทศไทยออกใช้ธนบัตรที่ระลึกเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๗
นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย แถลงว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดทำธนบัตรที่ระลึกเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติ และน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ตลอดจนให้ประชาชนทั่วไปได้มีโอกาสแลกธนบัตรไว้เป็นที่ระลึก และมีส่วนร่วมในการแสดงความจงรักภักดี
ธปท. จัดทำธนบัตรที่ระลึกในชนิดราคา 100 บาท จำนวนทั้งสิ้น 10 ล้านฉบับ โดยธนบัตรได้รับการออกแบบเป็นแนวตั้ง เพื่อให้พระบรมสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีความโดดเด่น งดงาม มีความพิเศษแตกต่างจากธนบัตรหมุนเวียนทั่วไป และได้จัดพิมพ์ด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง บนวัสดุพอลิเมอร์ เพื่อให้มีความทนทาน รวมทั้งมีลักษณะต่อต้านการปลอมแปลงอย่างครบถ้วน
ธนบัตรที่ระลึกนี้สามารถใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย โดยจ่ายแลกในราคาฉบับละ 100 บาท พร้อมกันนี้ ธปท. ได้จัดทำแผ่นพับสำหรับธนบัตรที่ระลึกดังกล่าว จำนวน 2 ล้านชุด เพื่อจำหน่ายในราคาชุดละ 10 บาท โดยรายได้จากการจำหน่ายแผ่นพับทั้งหมด จะนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อม ถวายโดยเสด็จพระราชกุศลตามพระราชอัธยาศัย
ทั้งนี้ ประชาชนที่สนใจ สามารถติดต่อขอแลกธนบัตรที่ระลึกนี้ได้ที่ธนาคารพาณิชย์ ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย และที่ศูนย์การเรียนรู้ ธปท. ตั้งแต่วันที่ 23 กรกฎาคม 2567 เป็นต้นไป
สำหรับธนบัตรที่ระลึกเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๗
ธนบัตรด้านหน้า
พระบรมสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงฉลองพระองค์บรมขัตติยราชภูษิตาภรณ์ และทรงสายสร้อยปฐมจุลจอมเกล้าวิเศษ
ธนบัตรด้านหลัง
พระบรมสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงฉลองพระองค์บรมขัตติยราชภูษิตาภรณ์ประดับดารานพรัตน ทรงสายสร้อยปฐมจุลจอมเกล้าวิเศษ และทรงพระแสงกระบี่
ข้อมูลธนบัตร
•ขนาดธนบัตรและความหมาย
– กว้าง 89 มิลลิเมตร : เลข 9 สื่อความหมายถึงการ ครองราชย์ปีที่ 9
– ยาว 163 มิลลิเมตร : มีผลรวมเท่ากับ 10 สื่อความหมายถึงพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 10 แห่งราชวงศ์จักรี
• ชนิดราคา 100 บาท พิมพ์บนวัสดุพอลิเมอร์ จ่ายแลกในราคา 100 บาท
• จำนวนพิมพ์ 10 ล้านฉบับ
• ประกาศออกใช้ : ลงวันที่ 20 มิถุนายน 2567
• วันออกใช้ : วันที่ 23 กรกฎาคม 2567
ข้อมูลแผ่นพับบรรจุธนบัตรที่ระลึกฯ
•ขนาด
– เมื่อพับ: 129×203 มม.
– เมื่อกางออก: 258×203 มม. โดยหน้าที่ 3 และ 4 เจาะช่องขนาด 94×168 มม. เพื่อยึดแผ่นเซลลูลอยด์ สำหรับบรรจุธนบัตรที่ระลึกฯ
• จำนวนพิมพ์ 2 ล้านชุด จำหน่ายราคาชุดละ 10 บาท
• รายได้จากการจำหน่ายแผ่นพับทั้งหมดโดยไม่หักค่าใช้จ่าย จะนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายโดยเสด็จ พระราชกุศลตามพระราชอัธยาศัย
ธนบัตรด้านหน้า
พระบรมสาทิสลักษณ์ พิมพ์ทับบนลายพื้นสีเหลือบทอง
พระบรมสาทิสลักษณ์ ลายรัศมีเบื้องหลังพระบรมสาทิสลักษณ์ และลายหน้าครุฑประกอบลายช่อกระหนก พิมพ์ด้วยเส้นนูนสีน้ำตาลเข้ม จะรู้สึกสะดุดเมื่อสัมผัสด้วยปลายนิ้วมือ องค์ประกอบทั้งหมดนี้รวมทั้งลายพรรณพฤกษาสีเหลืองและสีแดงซึ่งอยู่บริเวณเบื้องซ้ายและเบื้องขวาของพระบรมสาทิสลักษณ์ พิมพ์ทับบนลายพื้นสีเหลือบทอง
ตราสัญลักษณ์งานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ตราสัญลักษณ์งานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๗ ลายช่อกระหนกที่รองรับตราสัญลักษณ์ฯ ตัวอักษรต่าง ๆ พิมพ์ด้วยสีน้ำตาลเข้ม ส่วนตัวเลขแจ้งชนิดราคา “100” และ “๑๐๐” พิมพ์ด้วยสีน้ำตาลเข้มและสีแดง
ช่องใสรูปพระครุฑพ่าห์ หมึกพิเศษสีทองภายในช่องใส
ช่องใสรูปพระครุฑพ่าห์ มีการพิมพ์ด้วยหมึกพิมพ์พิเศษสีทอง และมีรูปพระครุฑพ่าห์สีขาวอยู่ภายในช่องใส
ลายประจำยามมุมซ้ายล่าง
ลายประจำยามที่มุมล่างซ้ายบนด้านหน้า พิมพ์ในตำแหน่งตรงกันกับด้านหลัง เมื่อยกธนบัตร ส่องกับแสงสว่าง จะเห็นซ้อนทับกันสนิท
ช่องใสรูปแปดเหลี่ยม
ช่องใสรูปแปดเหลี่ยม มองเห็นทะลุได้ทั้งสองด้าน ภายในมีลายดอกพิกุลขนาดเล็กดุนนูน เป็นจุดสัมผัสสำหรับผู้บกพร่องทางสายตา
ภาพเงาอักษรพระปรมาภิไธย ว.ป.ร. ด้านหน้า
ภาพเงาอักษรพระปรมาภิไธย ว.ป.ร. ภายใต้พระมหาพิชัยมงกุฎเปล่งรัศมี มีลักษณะคล้ายลายน้ำ มองเห็นได้ทั้งสองด้านเมื่อยกธนบัตรส่องกับแสงสว่าง
ชนิดราคา ๑๐๐ และ เส้นนูนสีใส 4 เส้น
ตัวเลขแจ้งชนิดราคา “๑๐๐” พิมพ์ทับด้วยเส้นนูนสีใส ๔ เส้น จะรู้สึกสะดุดเมื่อสัมผัสด้วยปลายนิ้วมือ เป็นจุดสัมผัสสำหรับผู้บกพร่องทางสายตา
ช่องใสรูปประจำยาม
ช่องใสรูปประจำยามที่เบื้องล่างขวา ภายในมีบางส่วนของลายดอกรวงผึ้งซึ่งพิมพ์ด้วยหมึกพิมพ์พิเศษ เมื่อพลิกธนบัตรขึ้นลงหรือพลิกซ้ายขวาจะเห็นรูปวงกลมเคลื่อนไหวไปมาได้รอบทิศทาง และเปลี่ยนสลับจาก สีทองเป็นสีเขียว
ตัวอักษรจิ๋ว
แถบสีเหลืองและสีชมพูซึ่งพิมพ์ในแนวเฉียงที่ขอบธนบัตรเบื้องล่างทั้งด้านซ้ายและด้านขวา ภายในมีข้อความ “ทรงพระเจริญ” ขนาดเล็กเรียงติดต่อกัน อ่านได้ชัดเจนโดยใช้แว่นขยาย
ลักษณะภายใต้รังสีเหนือม่วง
พระบรมสาทิสลักษณ์ ลายช่อกระหนกที่รองรับตราสัญลักษณ์ฯ และองค์ประกอบต่าง ๆ ที่อยู่โดยรอบขอบธนบัตร ได้แก่ ลายประดิษฐ์ ลายพรรณพฤกษา ภาพดอกรวงผึ้ง รวมทั้งแถบสีเหลืองซึ่งภายในมีข้อความ “ทรงพระเจริญ” จะเรืองแสงเป็นสีเหลืองภายใต้รังสี เหนือม่วง
ตัวเลข ๑๐๐ เรืองแสงสีแดง
ตัวเลขแจ้งชนิดราคา “100” และ “๑๐๐” พื้นลายไทยสีแดงอ่อนบริเวณเบื้องบนและ เบื้องล่างของพระบรมสาทิสลักษณ์ และบางส่วนของลายประจำยามประกอบลายช่อกระหนก .ที่มุมล่างซ้าย จะเรืองแสงเป็นสีแดงภายใต้รังสีเหนือม่วง
ภาพดอกรวงผึ้งและลายดาว สีเขียวอมเหลืองภายใต้รังสีเหนือม่วง
บริเวณเบื้องล่างของพระบรมสาทิสลักษณ์จะปรากฏภาพดอกรวงผึ้งและลายดาวสีเขียวอมเหลืองเรืองแสง ภายใต้รังสีเหนือม่วง
หมวดอักษรเลขหมาย เรืองแสงสีส้ม
หมวดอักษรและเลขหมายไทยจะเปลี่ยนเป็นสีส้มเรืองแสงภายใต้รังสีเหนือม่วง
ธนบัตรด้านหลัง
ดอกรวงผึ้ง พิมพ์ด้วยหมึกพิมพ์พิเศษ
ลายดอกรวงผึ้งสีทองที่เบื้องล่างซ้าย พิมพ์ด้วยหมึกพิมพ์พิเศษ เมื่อพลิกธนบัตรขึ้นลงหรือพลิกซ้ายขวาจะเห็นรูปวงกลมเคลื่อนไหวไปมาได้รอบทิศทาง และเปลี่ยนสลับจากสีทองเป็นสีเขียว
ตัวอักษรจิ๋ว
แถบสีเหลืองและสีชมพูซึ่งพิมพ์ในแนวเฉียงที่ขอบธนบัตรเบื้องล่างทั้งด้านซ้ายและด้านขวา ภายในมีข้อความ “ทรงพระเจริญ” ขนาดเล็กเรียงติดต่อกัน อ่านได้ชัดเจนโดยใช้แว่นขยาย
ข้อความ ที่ระลึกเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
พระบรมสาทิสลักษณ์ และข้อความ “ที่ระลึกเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๗” พิมพ์ด้วยสีน้ำตาลเข้ม
จุดเรืองแสงเป็นสีเหลืองภายใต้รังสีเหนือม่วง
ลายประดิษฐ์ ลายไทย ภาพดอกราชพฤกษ์ และแถบสีเหลืองซึ่งภายในมีข้อความ “ทรงพระเจริญ” ทั้งหมดนี้ อยู่บริเวณขอบธนบัตรเบื้องซ้ายและเบื้องขวา จะเรืองแสงเป็นสีเหลืองภายใต้รังสีเหนือม่วง
ช่องทางการแลกธนบัตรที่ระลึก
ตั้งแต่วันที่ 23 ก.ค. 2567 เป็นต้นไป ประชาชนสามารถแลกธนบัตรที่ระลึกฯ และซื้อแผ่นพับบรรจุธนบัตรที่ระลึกฯ ได้ที่
• ธนาคารพาณิชย์ทุกแห่ง
• ธนาคารออมสิน ธ.ก.ส. ธอส. และธนาคารอิสลามฯ
• ศูนย์การเรียนรู้ ธนาคารแห่งประเทศไทย
ภาพธนบัตรและข้อมูลจากเว็บไซต์ของธนาคารแห่งประเทศไทย