ท้าวเกศโร + พระปิ่นเกล้าฯ = พระพรหม(เอราวัณ) !
เทพองค์แรกในย่านราชประสงค์
Ticy City โดย Nai Muยังคงพาวนลูปอยู่ในย่านราชประสงค์ เพราะในย่านนี้ เป็นพื้นที่มหาเทพฝ่ายฮินดูโดยแท้ ! และจะมีใครรู้บ้างว่าเทพเจ้าองค์แรกในย่านนี้คือ “ท้าวมหาพรหมเอราวัณ” !
สำหรับโรงแรมเอราวัณ ในยุคแรกเริ่มเป็นกิจการของรัฐบาล พลตรี หลวงบูรณสงคราม นายทหารนอกประจำการเป็นผู้ประมูลรับเหมาในการก่อสร้าง โดยพล ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ อธิบดีกรมตำรวจ เป็นประธานกรรมการบริหารโรงแรมเอราวัณ ซึ่งนับหนึ่งในการเริ่มก่อสร้างเมื่อปี 2497 แต่รูปหล่อท้าวมหาพรหมได้อัญเชิญมาประดิษฐานที่ศาล เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2499 หรือเมื่อ 68 ปีที่แล้ว ซึ่งต่อมาในปี 2534 โรงแรมเอราวัณได้สร้างและปรับเป็น “โรงแรม แกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ” แต่ศาลพระพรหมและมูลนิธิทุนท่านท้าวมหาพรหม โรงแรมเอราวัณแห่งนี้ ก็ยังคงอยู่ในพื้นที่เดิม !
“ท้าวมหาพรหม เอราวัณ” เป็น “พรหม” ในคติพุทธศาสนา ทั้งนี้บ้านเรือน , ห้าง, ร้าน, บริษัท, อาคารของคนไทยที่นิยมตั้งศาลพระพรหม ก็มาจากอิทธิพลของพระพรหมองค์นี้ทั้งสิ้น ! ไม่ได้มีเรื่องราว และความหมายอย่าง พระพรหม ในฐานะ “เทพผู้สร้าง” ของทางศาสนาพราหมณ์-ฮินดู
เหตุตั้ง “พระพรหม เอราวัณ”
การก่อสร้างโรงแรมอาจไม่เสร็จตามที่มอบหมาย ด้วยมีเหตุขัดข้องเป็นอุปสรรคตลอดเวลา เป็นต้นว่า ข้าวของก่อสร้างที่ได้มาไม่ตรงสเป๊กกับที่สั่งไป เช่น ผิดขนาด ผิดความต้องการของช่าง บางทีคนงานก็ทำผิดไปจากแบบสั่งไว้ ปรับ แก้กันตลอดเวลา คนงานไม่ว่าจะเป็นช่างเหล็ก ช่างปูน ได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ เลือดตกยางออก ไม่เว้นแต่ละวัน นี่คือเหตุสำคัญ ที่ทำให้ พล ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ต้องเรียกประชุมคณะกรรมการขอวิธีการแก้ไขให้การสร้างโรงแรมได้เสร็จตามวันเวลาที่กำหนด
ผู้ใหญ่ท่านหนึ่งในที่ประชุม แนะนำให้ท่านขอความช่วยเหลือจาก พล.ร.ต. หลวงสุวิชานแพทย์ ! (อั๋น สุวรรณภาณุ) นายทหารเรือผู้เชี่ยวชาญในโหราศาสตร์และญาณสมาธิ !
ซึ่งผู้ทำหน้าที่ในการประสานงานกับหลวงสุวิชานแพทย์คือ พล.ต.ต. ม.ล. จเร สุทัศน์ ณ อยุธยา ผู้ควบคุมการก่อสร้างโรงแรมเอราวัณ
“เอราวัณ” นั้นเป็นชื่อ “ช้างเผือก (เอราวัณ)” ของพระอินทร์ ซึ่งเป็นเทพบุตรพระองค์หนึ่ง เวลาพระอินทร์จะไปไหน เทพบุตรองค์นี้ก็จะเนรมิตกายเป็นช้างเผือก 33 เศียร เพื่อให้ทรงใช้เป็นพาหนะ ! และเมื่อจะสร้างโรงแรมไม่เคยมีการบอกกล่าวต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ! หนทางเดียวที่จะแก้ตามที่หลวงสุวิชานแพทย์ แนะนำคือ บอกกล่าวพระพรหมเพื่อขอใช้ชื่อ “เอาราวัณ” จากสวรรค์มาเป็นชื่อโรงแรมในโลกมนุษย์ ขอบารมีท่านให้การก่อสร้างบรรลุวัตถุประสงค์ สำเร็จเสร็จทันตามที่กำหนดไว้ พูดอย่างสมัยนี้คือ ให้ท่านช่วยปรับเปลี่ยนร้ายเป็นดี เปลี่ยนยากเป็นง่าย เปลี่ยนไกลเป็นใกล้ นั่นเอง และถ้าเสร็จตามเวลาที่กำหนด ก็ต้องตั้ง “ศาล” ถวายท่านทันที
แปลกแต่จริง ! นับจากวันบวงสรวง บอกกล่าวแล้ว ทุกอย่างก็ราบรื่น เสร็จทันกำหนดโดยทุกประการ !
ท้าวเกศโร + พระปิ่นเกล้า = พระพรหม เอราวัณ
“พระพรหม เอราวัณ” มาจากคติทางพุทธศาสนา ที่ปรากฏใน “ไตรภูมิ” ฐานะของ “พรหม” สูงกว่าเทวดาในฉกามาพจร แบ่งเป็น รูปพรหม 16 ชั้น และอรูปพรหม (สูงกว่ารูปพรหม) 4 ชั้น แต่รูปของพรหมตามคติไทย ก็หยิบยืมและนำมาจากรูป “พรหม ผู้สร้าง” ของศาสนาฮินดู
หลวงสุวิชานแพทย์ เคยเล่าว่า พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว (กษัตริย์องค์ที่ 2 ในรัชสมัยแผ่นดินรัชกาลที่ 4) เมื่อทรงสวรรคต ก็ไปบังเกิดในสวรรค์ชั้นพรหม มีตำแหน่งเป็นถึง “รองท่านท้าวมหาพรหม” เฉลิมพระนามในโลกทิพย์ว่า “ท้าวเกศโร” การตั้งศาลพระพรหมในครั้งนี้ได้อัญเชิญญาณทิพย์ของท่านมาสถิตย์ในรูปปั้นพระพรหม เพื่อให้คอยปัดเป่าความทุกข์ ความเดือดร้อนแก่ประชาชน เพื่อเสริมบุญบารมีแก่พระองค์ท่าน โดยญาณทิพย์ของพระองค์จะมาประทับในช่วงค่ำของทุกวัน ยกเว้นวันพระ เพราะต้องไปเฝ้าพระพุทธองค์ !?
สูตรดั้งเดิมเครื่องบูชา จากการสื่อด้วยญาณพิเศษของท่านระบุว่า “บูชาด้วย พวงมาลัยดอกไม้สด โปรดดอกกุหลาบแดง , ธูป 7 ดอก, เทียน 1 เล่ม (กรณีแก้บน ใช้มาลัยดอกไม้สด 7 สี 7 ศอก)
วิกฤตผ่านพ้น ศักดิ์สิทธิ์กว่าเดิม
เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2549 ชายปริศนา สติไม่สมบูรณ์ ทุบรูปปั้นพระพรหมจนแหลก ซึ่งใช้เวลา 2 เดือนคืนสภาพ โดยเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2549 ได้อัญเชิญขึ้นประดิษฐานอีกครั้ง , ต่อมาวันที่ 17 สิงหาคม 2558เกิดวางระเบิด ในบริเวณนี้ ไม่เพียงแต่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบ แม้รูปพระพรหมก็เสียหายเล็กน้อย และได้ซ่อมแซมจนแล้วเสร็จ จัดพิธีบวงสรวง ซึ่งการกลับมาเรียกศรัทธาในครั้งนี้ศักดิ์สิทธิ์กว่าเดิม เพราะล่าสุด คลิปใน TikTok มีชาวจีนสมปรารถนากับการขอพร (คิดว่าคงจะได้มากอยู่) ขนาดจ้างนางรำ 168 นาง มารำแก้บน ! เลยทีเดียว
พระพรหมเอราวัณเป็นแลนด์มาร์กสำคัญที่นักท่องเที่ยว ชาวจีน ชาวฮ่องกงนิยมมากราบไหว้บูชากันมาก
ทุกวันนี้ สูตรการบูชาอาจจะเปลี่ยนไปตามยุคสมัย ใช้ธูป 12 ดอก (ด้านละ 3 ดอก) , เทียน 4 เล่ม , ทองคำเปลว , พวงมาลัยดอกไม้ และ ณ วันนี้ ไม่มีการจุดธูปที่ศาลพระพรหมเอราวัณอีกแล้ว !ดอกไม้ที่นิยมกันในย่านนี้คือ พวงมาลัยดอกดาวเรือง ใช้ “ดอกดาวเรือง” ดอกไม้ยอดฮิตของเทพฮินดู , แต่ความจริง ดอกไม้โปรดของพระพรหม เทพผู้สร้างคือ ดอกบัวขาว โดยกุหลาบในสมัยก่อนที่ใช้กัน ได้หายไปแล้ว …
แล้วเจอกันใหม่ครับ !
เรื่อง : Nai mu
#TicyCity #ตีซี้ซิตี้ #เมือง #City #GodsCity #Naimu #สายมู #พระพรหม #พระพรหมเอราวัณ #ท้าวมหาพรหม #แยกราชประสงค์ #ความเชื่อ #กลางเมือง #ย่านธุรกิจ
Leave feedback about this