แผ่นดินไทย
ในช่วงวันหยุดยาวเทศกาลปีใหม่นี้ หากใครยังไม่มีแพลนที่จะไปเที่ยวหรือไม่รู้ว่าจะไปกราบไหว้ขอพรที่ไหนดีละก็ มาตาม Nai Mu กรูรูสายมูผู้มีเรื่องเล่ามากมายจาก Ticy City ไป ก้มกราบ “แผ่นดินธรรม” สักครั้งตอนสิ้นปี แต่จะด้วยเหตุผลกลใด ทำไมต้องกราบผื้นแผ่นดินไทย และต้องไปกราบที่ไหนนั้นไปฟังเรื่องเราจาก Nai Mu ได้เลย
ช่วงรอยต่อของการข้ามสู่ศักราชใหม่ ประเพณีที่คนไทยวัยผู้ใหญ่นิยมกันคือ “สวดมนต์ข้ามปี” ตามด้วยไหว้พระ 9 วัดในวันรุ่งขึ้น เพื่อความเป็นสิริมงคล ความจริงแล้วสามารถแหวกชุดความเชื่อและกำหนดเองได้ ช่วงใกล้สิ้นปี Nai mu ขอชี้ชวนผู้อ่านทั้งหลายมา “กราบแผ่นดิน” สักครั้ง ! ซึ่งมี “พระแม่ธรณี” เทวนารีที่อยู่กับมนุษย์อุษาคเนย์มาไม่น้อยกว่า 3,000 ปี นางกำเนิดเมื่อแผ่นดินบังเกิดขึ้นในโลก นางจึงรู้อดีต ดี-ชั่ว ความเป็นไปทุกชาติภพของมนุษย์ทุกผู้ทุกนาม
และอีก 2 แห่งที่คัดเลือกมา อยู่ไม่ไกลคือ ตราแผ่นดิน (หลัง สถานีตำรวจนครบาล พระราชวัง) และศาลเจ้าพ่อครุฑ ในย่านคลองหลอด !
หนึ่งปีที่ผ่านมา แผ่นดินไทยให้เราเหยียบ ย่ำ เดิน ทำมาหากินโดยสุจริต จึงสมควรที่เราจะสำนึกแสดงความกตัญญูต่อแผ่นดินที่ทำให้เราเติบโตในปีที่ผ่านมา … ก่อนจะก้าวต่อไปในปีหน้า
พระแม่ธรณี
พระแม่ธรณีบีบมวยผมมีในวัดแทบทุกแห่ง แต่คนส่วนใหญ่นิยม “อุทกทาน” ในรูปพระแม่ธรณีบีบมวยผมที่สนามหลวง โดยในหนังสือ “จดหมายเหตุการณ์อนุรักษ์กรุงรัตนโกสินทร์” ของคณะกรรมการจัดงานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี เมื่อปี 2525 ในหัวข้อ “ศาลเทพารักษ์ในเขตคลองผดุงกรุงเกษม” ยังเรียก “อุทกทาน” มิได้ยกเป็นเทพเทวดา ! ดังที่ประชาชนนิยมมาสักการะแต่อย่างไร
พระแม่ธรณี คือเทพผู้คุ้มครองแผ่นดิน เป็นเทพมารดาของทุกสรรพชีวิตในโลก เทพนารีพระองค์นี้ ในยุคพระเวทเรียกพระปฤวี ต่อมาเป็นพระภูเทวี เป็นพระชายาพระองค์หนึ่งของพระวิษณุเทพ บางทีก็เรียก พระศรีวสุนธรา หรือพระพสุธา !
นางพระธรณี เป็นเทวีชั้นรองในศาสนาฮินดู แต่เป็นเทพนารีผู้มีบทบาทในพระพุทธศาสนา ตอน พระพุทธเจ้าชนะมาร (พระแม่ธรณีบีบมวยผม) ในคัมภีร์ฝ่ายพุทธยุคแรก ไม่ได้ระบุถึงบทบาทของพระแม่ธรณีในตอนพระพุทธเจ้าผจญมารแต่อย่างใด มีการบันทึกเหตุการณ์นี้ในปฐมโพธิกถา ฉบับ พระนิพนธ์ในสมเด็จพระสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ซึ่งทรงแปลในสมัยรัชกาลที่ 3
ความเชื่อเรื่อง นางธรณีบีบมวยผมเป็นพยานให้พระพุทธเจ้า เพื่อขับไล่พญามาร แพร่หลายอย่างมากทั้งไทย ลาว พม่า กัมพูชา แม้ในโคลงศรีปราชญ์ ก่อนถูกประหารยังอ้างพระธรณีเป็นพยาน “ธรณีนี่นี้เป็นพยาน…”
โดยนิทานของชนทุกชาติ ทุกศาสนา ความเชื่อ มีเรื่องพระธรณีหมด แต่เรียกชื่อแตกต่างกันไป
เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินเปิดโรงกรองน้ำสามเสน เพื่อทรงเปิดการประปากรุงเทพฯ ในวันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2457 ความตอนหนึ่งได้ทรงเปรียบเทียบพลังอำนาจของน้ำประปากับอิทธิฤทธิ์ของอุทกธาราของพระแม่ธรณีในพุทธประวัติว่า
“ … ท่านโบราณจารย์ จึงต้องสอนให้ใช้น้ำเปนเครื่องชำระล้าง ในที่สุดถึงแม้จะกล่าวเปรียบเทียบสิ่งที่เปนของชั่วร้าย เพื่อจะกำราบสิ่งชั่วร้ายนั้น ก็จะกำราบให้พ่ายแพ้ได้โดยอาไศรยอำนาจน้ำ เป็นต้นว่า ครั้งสมเด็จพระมุนินทรชินสีห์ประทับอยู่ที่ใต้โพธิบัลลังก์ พระยามารซึ่งสมมุตว่าเปนผู้คิดร้ายต่อพระองค์ ได้หวังผจญต่อพระบรมศาสดา โดยเดชะอำนาจพระบารมีของพระองค์ บันดาลให้นางพระธรณีมาสยายผมบีบน้ำบำราบมารได้ด้วยอิทธิฤทธิ์แห่งน้ำ อันหลั่งไหลมาจากผมของนาง ด้วยอำนาจสัจจะวาจาภาษิตนี้ ขอการประปาจงเปนผลสำเร็จสมตามพระราชประสงค์ของสมเด็จพระชนกนารถของเรา”
ตามบันทึกของเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) เสนาบดีกระทรวงนครบาลลงวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2460 สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง มีพระราชดำริที่จะสร้าง “ท่ออุทกธารา” ให้เป็นสาธารณทานมาระยะหนึ่งแล้ว ต่อมารัชกาลที่ 6 จึงทรงมีกระแสรับสั่งว่า “ควรทำเปนรูป นางพระธรณีรีดน้ำจากมวยผม ดูจะเป็นการงดงามดี ที่ๆ จะสร้างนั้น ควรสร้างที่เชิงสะพานผ่านพิภพลีลาตรงแยกถนนราชินีกับถนนราชดำเนิน”
ช่างผู้ออกแบบรูปพระแม่ธรณีบีบมวยผมคือ สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ , ผู้ออกแบบซุ้มคือ พระยาจินดารังสรรค์ (พลับ) , นายเอมิลิโอ โจวันนี กอลโล (Emillo Giovanni Gollo) นายช่างเอกประจำกรมศุขาภิบาล เป็นผู้ดูแลการก่อสร้างอุทกทาน คิดเป็นเงิน 16,437 บาท เปิดใช้งานเมื่อ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2460 ซึ่งตรงกับวันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ซึ่งขณะนั้นพระองค์ทรงแปรพระราชฐานอยู่ที่พระราชวังบางปะอิน ทรงพระราชทานหัตถเลขามายังเสนาบดีกระทรวงนครบาล โปรดเกล้าฯ มอบหมายอุทกธารนี้ให้เสนาบดีรับแทนราษฎร “เปนสาธารณะทานแก่ประชาชนผู้เป็นเพื่อนแผ่นดิน ได้กินบำบัดร้อนแลกระหาย เปนความสบายตามปรารถนาทั่วกัน”
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ท่อน้ำทั้งหลายก็ถูกขโมย สูญหาย ซุ้มและรูปพระแม่ธรณีเสื่อมโทรมลง
ต่อมาจอมพลพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ สั่งบูรณะพระแม่ธรณีให้งามอร่ามลงรักปิดทอง ยกให้สูงขึ้น จาก “อุทกธารา” ก็เปลี่ยนบทบาทเป็นเทพนารี มีผู้คนมาบวงสรวง กราบไหว้ ขอพรกันนับแต่บัดนั้น
‘อาร์มแผ่นดิน’ สมัยรัชกาลที่ 5
หลังสถานีตำรวจนครบาลพระราชวัง “มีศาลปู่ดำและตราแผ่นดิน” เปิดตลอด 24 ชั่วโมง ตำรวจ ข้าราชการ คนในเครื่องแบบนิยมมาบูชากันมาก ข้อห้าม ! ไม่อยากติดทหาร ห้ามมาบนบานที่นี่โดยเด็ดขาด !
เรื่องราวของ “ตราแผ่นดิน” และ “ปู่ดำ” แห่งนี้ แม้จะตั้งอยู่หลังสถานีตำรวจนครบาลพระราชวังนานมากแล้ว แต่ไม่พบที่มาที่ไป อาร์มแผ่นดินนี้ ใช้เป็นรูปโปร์ไฟล์ของ เพจ สถานีตำรวจนครบาล พระราชวัง
ที่นี้ขออธิบายรูปต่างๆ ในอาร์มแผ่นดิน เพียงว่า
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว “อาร์มแผ่นดิน” หรือ ตราแผ่นดิน เป็นตราประจำประเทศ ทรงพระราชทานบัญญัติใช้ตราแผ่นดิน เมื่อวันที่ 20 เมษายน ร.ศ. 108 (พ.ศ. 2432) ณ พระที่นั่งจักรีมหาประสาท โดยให้รวบรวมสัญลักษณ์ชัตติยราชอิสริยยศสำหรับพระมหากษัตริย์ แลพระราชสัญจกรสำหรับแผ่นดินแลสำหรับพระบรมราชวงศ์ ทั้งตราหลวงสำหรับราชการและชนชาวสยามหลายเชื้อสายนำมาไว้รวมกัน ประกอบเป็นลายในตราแผ่นดิน เพื่อแสดงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวของสยามประเทศ ผู้ออกแบบคือ เสวกเอกหม่อมเจ้าประวิช ชุมสาย
ขอสรุปสั้นๆ ว่า สัญลักษณ์ของตราแผ่นดิน ประกอบด้วย พระมหาพิชัยมงกุฎพร้อมดวงรัศมี, ฉัตรเจ็ดชั้น หรือ สัปตปฏลเศวตฉัตร, ช้างไอยราพต 3 เศียร, ช้างเผือก, กริชคตและกริชตรง , ภาพคชสีห์ประคองฉัตร และราชสีห์ประคองฉัตร, พระมหาสังวาลนพรัตนราชวราภรณ์ เป็นต้น
กรุงสยามใช้ตราแผ่นดินเป็นตราประจำประเทศ ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนมาใช้เครื่องหมายพระครุฑพ่าห์แทนเครื่องหมายตราแผ่นดิน
ศาลเจ้าพ่อครุฑ
ทั้ง อาร์มแผ่นดิน หรือ ศาลเจ้าพ่อครุฑ ไม่พบบันทึกที่มาที่ไป นอกจากเรื่องเล่า
ศาลเจ้าพ่อครุฑ ตั้งอยู่ในบริเวณห้องแถวของตรอกเล็กๆ ที่ชื่อ ตรอกครุฑ ย่านคลองหลอด (เปิด-ปิด เวลา 07.00-17.00 น.) ศาลเจ้าพ่อครุฑตั้งในชุมชนแห่งนี้มานาน บ้างก็ว่าถึงร้อยปี มีเรื่องเล่ากันมาว่า ชาวบ้านได้พบครุฑไม้แกะสลักองค์หนึ่งลอยมาตามแม่น้ำ เข้าใจว่า องค์ครุฑนั้นคงติดและหลุดจากหัวเรือโบราณ จึงนำมาตั้งและบูชากัน ต่อมา องค์ครุฑเก่าถูกมือดีขโมยไป จึงมีการสร้างครุฑองค์ใหม่มาแทนที่ โดยหลวงพ่อวราห์ ปุญญวโร แห่งวัดโพธิ์ทอง บางมด ซึ่งท่านโด่งดังเรื่องการสร้างครุฑในเมืองไทย พร้อมศิษยานุศิษย์มาร่วมกันบูรณะศาลแห่งนี้ และทำพิธีบวงสรวงเป็นที่เรียบร้อย …
สัญลักษณ์ทั้งสามนี้ ล้วนมีความเกี่ยวข้องกับ “แผ่นดินไทย” ที่เราควรจะหาเวลาไปสักการะบูชาสักครั้งในชีวิต
เรื่อง : Nai Mu