ธันวาคม 25, 2024
ticycity.com
Culture God's City

“ไต้ฮงกง” จากจีนถึงไทย อุดมการณ์ไม่เปลี่ยน

 มูลนิธิป่อเต็กตึ้ง

สำหรับสายบุญ Ticy City เชื่อว่าคงคุ้นเคยกับการไปบริจาคเงินเพื่อร่วมทำบุญซื้อโลงศพตามมูลนิธิต่างๆ กันอยู่แล้ว และหนึ่งในมูลนิธิที่ผู้คนนิยมไปร่วมบุญทั้งยังเป็นมูลนิธิที่คุ้นชินกับชื่อเสียงมายาวนานนั้นคือ มูลนิธิป่อเต็กตึ้ง ซึ่งแรกเริ่มเดิมทีที่ก่อตั้งเมื่อ  พ.ศ. 2452  ใช้ชื่อว่า “คณะเก็บศพไต้ฮงกง”

แล้ว.. ไต้ฮงกงคือใคร มีความสำคัญอะไร และเกี่ยวข้องกับมูลนิธิป่อเต็กตึ้งอย่างไร มาตามหาคำตอบจาก Nai mu กรูรูสายมูผู้มีเรื่องเล่ามากมายในGod’s City  กับเรื่อง “ไต้ฮงกง” จากจีนถึงไทย อุดมการณ์ไม่เปลี่ยน จาก Ticy City กันได้เลย

การทำบุญบริจาคโลงศพ เป็นมหากุศลเหมือนการสะเดาะเคราะห์ต่อชะตาตัวเองให้ภัยวิบัติเบาบางลง   Nai mu เชื่อว่า บุญกุศลนี้ หลายคนคงเคยปฏิบัติทำกันมาบ้าง โดยเฉพาะบางคนที่ผ่านไปย่านเยาวราชก็คงมักจะแวะบริจาคเงินทำบุญที่มูลนิธิป่อเต็กตึ้ง ย่านพลับพลาไชย พร้อมสักการะบูชา “ไต้ฮงกงโจวซือ” ประธานของศาลเจ้าแห่งนี้  ซึ่งในช่วงระหว่างวันที่ 26พฤศจิกายน – 1 ธันวาคมนี้ ตรงกับวันเกิดของท่านพอดี

ไต้ฮงกงโจวซือ 
ศาลเจ้าไต้ฮงกง พลับพลาไชย

“มูลนิธิฮั่วเคี้ยวป่อเต็กเซี่ยงตึ้ง” ดำเนินกุศลเจตนามานานถึง 115 ปี! โดยพัฒนาจากชื่อเดิม คือ  “คณะเก็บศพไต้ฮงกง” เมื่อปี พ.ศ. 2452

ทุกครั้งที่มีเหตุด่วน เหตุร้าย ไม่ว่าจะเป็นที่กรุงเทพฯ หรือต่างจังหวัด ก็จะเห็นรถและเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิฯ เข้าไปทำงานสังคมสงเคราะห์ เยียวยาผู้ประสบภัยอย่างเร่งด่วน ไม่ว่าจะเป็น อัคคีภัย อุทกภัย และวาตภัย  ทั้งยังจัดการช่วยเหลือศพทั่วไปที่เกิดอุบัติเหตุอย่างฉับพลัน รวมถึงจัดงานเทกระจาด ฯลฯ  ซึ่งหลายคนคงยังไม่ทราบว่า โรงพยาบาลหัวเฉียวและมหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติก็เป็นส่วนหนึ่งของมูลนิธินี้เช่นกัน 

‘ไต้ฮงกง’  อริยสงฆ์นักสงเคราะห์ 

สำหรับเรื่องของไต้ฮงกงนั้น มีบันทึกเรื่องราวในจดหมายเหตุของอำเภอเตี้ยเอี้ย เมืองแต้จิ๋ว มณฑลกวางตุ้ง ในสาธารณรัฐประชาชนจีน ว่า  

นายหลิงเอ้อ แซ่ลิ้ม” เกิดที่เมืองเหวินโจว เมื่อปี พ.ศ. 1582 (หรือเมื่อ 985 ปีก่อน) ในสมัยราชวงศ์ซ้อง (ซ่ง) เป็นลูกชายของครอบครัวของผู้มีอันจะกิน ได้รับการศึกษาอย่างดีเยี่ยมทั้งวิชาการและศาสนาจนแตกฉาน เฉลียวฉลาด สอบได้ตำแหน่ง “จิ้นสือ” (บัณฑิตชั้นเอก) และได้รับการแต่งตั้งให้เป็นนายอำเภอเซียวเฮง แคว้นเจียงเจี๊ยะ  เขาทำงานราชการด้วยความสุจริต ซื่อสัตย์ ยุติธรรม ทุกบ้านเรือนอยู่ด้วยกันอย่างร่มเย็นเป็นสุข จนนายหลิงเอ้อเริ่มเบื่อหน่ายในชีวิตทางโลก จึงได้สละเพศฆราวาสเมื่ออายุ 54 ปี อุปสมบทเป็นพระภิกษุในพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน มีฉายาว่า “ไต้ฮง” บำเพ็ญศาสนกิจ วิปัสสนากรรมฐาน และศึกษาหลักธรรมต่างๆ ในพระไตรปิฏกได้อย่างแตกฉาน 

ภาพวาดไต้ฮงกง

เมื่ออายุได้ 81 ปี   “ภิกษุไต้ฮง” ออกธุดงค์ตามสถานที่ต่างๆ จนมาจำพรรษาที่อาราม “เล่งจั๊วโก๋วยี่” บนภูเขาปักซัว อำเภอเตี้ยเอี้ย เมืองแต้จิ๋ว มณฑลกวางตุ้ง  ท่านได้ชักชวนชาวบ้านมาร่วมกันบูรณะอารามร้างแห่งนี้ และด้วยเหตุที่ท่านไม่ติดยึดในลาภสักการะอันใด เมื่อเสร็จกิจท่านก็ธุดงค์มาจำพรรษาที่ “วัดเมียนอัน” ซึ่งเป็นวัดเก่าในตำบล ฮั่วเพ้ง ! เช่นเดียวกัน แต่ที่นี่ต่างจากสถานที่แห่งแรก เพราะเป็นเขตที่ยังมีการรบพุ่ง ช่วงชิงอำนาจ ส่งผลให้มีศพทหารและศพชาวบ้านอยู่กลาดเกลื่อน 

นอกจากนี้ ยังเป็นพื้นที่ซึ่งมักเกิดภัยพิบัติจากธรรมชาติ, โรคระบาด, ภัยแล้ง อยู่เสมอ ศพจากภัยสงครามและธรรมชาติจึงมีมากจนน่าเวทนา ส่งกลิ่นเหม็นคละคลุ้ง   ภิกษุไต้ฮงได้ทำหน้าที่เก็บศพพร้อมนำไปฝังให้จนเรียบร้อยโดยไม่รังเกียจ ทั้งยังตั้งศาลารักษาโรคภัยให้ผู้ป่วยที่ริมโขดหินใหญ่ และจัดหาอาหารช่วยเหลือผู้ยากไร้ ผู้เดือดร้อน อดอยากหิวโหย

อีกเหตุการณ์หนึ่งที่อยู่ในสายตาท่านคือ ผู้คนที่ข้ามแม่น้ำเหลียงเจียงอันเชี่ยวกรากซึ่งมีความยาวถึง 300 วา มักเกิดเหตุเรือล่มคนจมน้ำตายเสมอ  ท่านจึงคิดที่จะสร้างสะพานที่มีความกว้าง 5 วา ยาว 300 วา ให้คนสามารถเดินข้ามแม่น้ำสายนี้ได้อย่างปลอดภัย ท่านจึงได้บอกบุญ ขอบิณฑบาตวัสดุก่อสร้างต่างๆ ตลอดจนแรงงานจากชาวบ้านให้ช่วยกัน โดยเลือกพื้นที่ก่อสร้างที่หน้าศาลเจ้าหลักเมือง และดูฤกษ์ก่อนเริ่มงาน โดยจุดธูปบอกกล่าวกับเทวดาฟ้าดิน ตลอดจนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ผู้รักษาลำน้ำ  

เรื่องราวตามประวัติท่าน

ในวันที่เริ่มก่อสร้างสะพาน เกิดเหตุมหัศจรรย์ น้ำในลำน้ำแห้งขอดลง ประชาชนทั้งหลายต่างก้มกราบภิกษุ   ไต้ฮง แต่ท่านได้บอกให้กราบฟ้าดินแทน  พร้อมทั้งท่านบอกว่า ในการนี้ น้ำที่ปากแม่น้ำจะหยุดการขึ้น-ลง เป็นเวลา 7 วัน ขอท่านทั้งหลายจงเร่งมือเถิด ! โดยทั้งสะพานและถ้ำระบายน้ำอีก 19 แห่งสามารถสำเร็จในเวลาที่กำหนด ซึ่งในวันที่ 8 น้ำก็ขึ้น-ลงตามปกติ และได้ตั้งชื่อสะพานตามชื่อตำบลว่า “ฮั่วเพ้ง” 

ยันต์คุ้มภัยของไต้ฮงกง ที่ทุกคนรู้จักดี

 

กำลังเร่งก่อสร้าง ศาลเจ้าไต้ฮงกงแห่งใหม่ ย่านสาทร 

ภิกษุไต้ฮงเริ่มอาพาธและมรณภาพ เมื่ออายุได้ 85 ปี ชาวบ้านเชื่อกันว่า ท่านคือ อริยสงฆ์ผูทรงคุณวิเศษ โดยชาวบ้านได้ฝังร่างท่านและประกอบพิธีบำเพ็ญกุศลที่ภูเขาฮั่วเพ้งและเรียกขานท่านว่า “ไต้ฮงกง” (หลวงปู่ไต้ฮง) พร้อมสร้างรูปเคารพของท่านไว้บูชาที่ศาลเจ้าป่อเต๊กตึ้ง ! (ที่มีความหมายว่า สนองพระคุณ) 

ทั้งนี้ที่เมืองจีนมีกุศลสถานซึ่งดำเนินงานสังคมสงเคราะห์ตามเจตนารมณ์ของท่านถึง 237 แห่ง แถบตะวันออกเฉียงใต้อีก 40 แห่ง

ภิกษุไต้ฮงเริ่มอาพาธและมรณภาพ เมื่ออายุได้ 85 ปี ชาวบ้านเชื่อกันว่า ท่านคือ อริยสงฆ์ผูทรงคุณวิเศษ โดยชาวบ้านได้ฝังร่างท่านและประกอบพิธีบำเพ็ญกุศลที่ภูเขาฮั่วเพ้งและเรียกขานท่านว่า “ไต้ฮงกง” (หลวงปู่ไต้ฮง) พร้อมสร้างรูปเคารพของท่านไว้บูชาที่ศาลเจ้าป่อเต๊กตึ้ง ! (ที่มีความหมายว่า สนองพระคุณ) 

ทั้งนี้ที่เมืองจีนมีกุศลสถานซึ่งดำเนินงานสังคมสงเคราะห์ตามเจตนารมณ์ของท่านถึง 237 แห่ง แถบตะวันออกเฉียงใต้อีก 40 แห่ง 

ไต้ฮงกง หินหยกขาว
พระกษิติครรภโพธิสัตว์ 

อุดมการณ์สู่ประเทศไทย 

เมื่อ พ.ศ. 2439  คนจีนชื่อ เบ๊ยุ่น ซึ่งเป็นชาวเตี้ยเอี้ย ได้อัญเชิญรูปปั้นจำลองของหลวงปู่ไต้ฮง จากตำบล ฮั่วเพ้ง อำเภอเตี่ยเอี้ย จังหวัดแต้จิ๋ว มณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีน เพื่อมาสักการะที่ร้านกระจกในย่านวัดเลียบ ซึ่งต่อมาได้เกิดโรคอหิวาตกโรคระบาดมีผู้คนล้มตายจำนวนมาก  ประชาชนที่รู้ข่าวเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ของหลวงปู่ไต้ฮงได้มาขอสักการะมากขึ้นทุกวัน นายเบ๊ยุ่นเห็นว่า ไต้ฮงกง ชะรอยจะมาโปรดคนหมู่มาก จึงนิมนต์ย้ายท่านมาที่ข้างสมาคมกว๋องสิว ถนนเจริญกรุง ให้คนได้บูชากัน จากนั้นก็นิมนต์ย้ายอีกครั้งหนึ่งมาที่ศาลเจ้าไต้ฮงกง พลับพลาไชยเป็นการถาวร

พระอนุวัฒน์ราชนิยม (ฮง เตชะวาณิช หรือ ยี่กอฮง) หัวเรือใหญ่จัดซื้อที่ดิน

โดยมีพระอนุวัฒน์ราชนิยม (ฮง เตชะวาณิช หรือ ยี่กอฮง) เป็นหัวเรือใหญ่จัดซื้อที่ดินสำหรับสร้างศาลเจ้าเพื่อประดิษฐาน “หลวงปู่ไต้ฮงกง”  จากนั้นทุกเทศกาลศาลเจ้า ไต้ฮงกง พลับพลาไชยแห่งนี้จะเนืองแน่นไปด้วยผู้คนเป็นจำนวนมาก 

แต่ไม่นานจากนี้ …  ตามกำหนดการ ก่อนตรุษจีน 2568  ศาลเจ้าไต้ฮงกงแห่งใหม่ ย่านสาทร ถนนเจริญราษฎร์ บนพื้นที่กว้างขวางกว่า 4 ไร่ 14 ตารางวา จะเปิดอย่างเป็นทางการ โดยเมื่อ 31 มีนาคม 2567 ได้ทำพิธีสงฆ์อัญเชิญ หินหยกขาว แกะสลัก รูปไต้ฮงกง , พระโพธิสัตว์กวนอิม,  พระกษิติครรภโพธิสัตว์ จัดวางตามตำแหน่งเป็นที่เรียบร้อยแล้ว  และภายในศาลแห่งใหม่นี้ยังมีเหล่าเทพเจ้าองค์สำคัญอื่นๆ  เช่น ไท่ส่วยเอี๊ย (เทพเจ้าคุ้มครองชะตา), ไฉ่ซิงเอี๊ย (เทพเจ้าโชคลาภ)  , กวงเสี่ยตี่กุง (กวงกง-เทพเจ้ากวนอู), บุงเซียงตี่กุง (บุงเซียงเอี้ย) เทพเจ้าการศึกษา, เหี่ยงเทียงเสี่ยงตี่ (ตัวเหล่าเอี้ย-เจ้าพ่อเสือ), เทียงโหวเซี่ยบ้อ (มาโจ้ว), เสี่ยอึ่งกง (เทพเจ้าหลักเมือง), ซาเต๊กเจี้ยซิ้ง (แปะกง – โกวตี่กง) รวมอยู่อีกด้วย

แผนกการเงิน รับบริจาค 

กำเนิดมูลนิธิ “ป่อเต๊กตึ้ง” 

เมื่อปี พ.ศ. 2452 มีกลุ่มพ่อค้าชาวจีนในกรุงเทพฯ 12 คน ได้ตั้ง “คณะเก็บศพไต้ฮงกง” เพื่อเก็บศพไร้ญาติ ทุกชาติ ทุกภาษา นำไปฝังที่ป่าช้าวัดดอน ถนนเจริญกรุง

ต่อมาในปี พ.ศ. 2455 คณะผู้ก่อตั้งขอพระบรมราชูปถัมภ์จากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงพระกรุณาพระราชทานเงินมาช่วยเหลือปีละ 2,000 บาท (ซึ่งยังไม่พอกับค่าใช้จ่ายในขณะนั้น) 

จนมาปี พ.ศ. 2480 นักธุรกิจชาวจีน สมาคม และหนังสือพิมพ์จีน ได้ระดมความคิดเพื่อปฏิรูปคณะเก็บศพ โดยจดทะเบียนด้วยเงินทุน 2,000 บาทถ้วน ในนาม “มูลนิธิฮั่วเตี้ยวป่อเต๊กเซี่ยงตึ้ง” ซึ่งเป็นมูลนิธิในลำดับที่ 11 ของสยาม และเป็นที่คุ้นชินมาจนถึงทุกวันนี้ว่า  ป่อเต๊กตึ้ง

เรื่อง :  Nai mu

#TicyCity #ตีซี้ซิตี้ #เมือง #City #GodsCity #Naimu #กรุงเทพ #สายมู #เรื่องเล่า #มูลนิธิ  #ป่อเต็กตึ้ง  #บริจาค #โลงศพ #ไต่ฮงกง #อุดมการณ์ #ศาลเจ้า #โรงพยาบาลหัวเฉียว       #มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ    

Leave feedback about this

  • Rating

Art & Event, Culture

Finding U

Culture, God's City

สองแผ่นดิ

Fashion, Trends

QUAD EYE

PR news, TICY PR

“ต้นกล้าฟ

Culture, Ticy Entertainment

10 Christ

X