คนอินเดียเคยใช้ต่อต้านอังกฤษ
การบูชา
“คเณศจตุรถี” นั้นมีจุดเริ่มต้นจากการบูชาในลักษณะแบบบ้านใครบ้านมัน ก่อนจะเกิดปรากฏการณ์ปลุกคนเดินถนน เพื่อสร้างเทศกาลนี้ให้กับคนทุกชั้น ทุกวรรณะ เพื่อแสดงนัยยสำคัญในการร่วมต่อต้านการปกครองของอังกฤษ เมื่อปี ค.ศ. 1893
ทั้งนี้กำหนดวันบูชาพระคเณศ มีทุกเดือน ในวันขึ้น 4 ค่ำ (เรียก วินายักจตุรถี) และ แรม 4 ค่ำ (เรียก สังกัษฏีจตุรถี) โดยภายในหนึ่งปีๆ จะมีงานบูชาใหญ่อยู่ 2 ครั้งคือ ช่วงเดือนมาฆะ (ราวกลางเดือน มกราคม – กลางเดือนกุมภาพันธ์) เรียกว่า “คเณศชยันตี” ซึ่งหมายถึงวันประสูติ และที่รู้จักกันมากคือ งานคเณศจตุรถี หรืองานเฉลิมฉลองในเดือนภัทรบท (ตรงกับวันแรม 4 ค่ำ เดือน 10) ซึ่งปีพ.ศ. 2567 นี้ วันแรกตรงกับวันเสาร์ที่ 7 กันยายน เป็นงานเฉลิมฉลองที่รู้จักกันทั่วโลก โดยเฉพาะ “แคว้นมหาราษฏระ” ทางทิศตะวันตกของอินเดีย ที่มีผู้คนร่วมเฉลิมฉลองกันมากที่สุด
สมัยก่อน คนไทยรับรู้ว่า วันคเณศจตุรถี เป็นวันประสูติของพระคเณศ จนถึงวันนี้ก็ยังมีคนเข้าใจแบบนี้อยู่ ในหลายปีมานี้ ชัดเจน และคนรับรู้มากขึ้นว่า วันประสูติคือ “คเณศชยันตี” ตามที่กล่าวไว้ใน คัมภีร์คเณศปุราณะ อัธยายที่ 44 และ มหาภารตะ ทั้ง 2 แห่งกล่าวไว้ตรงกันว่า วันประสูติของพระคเณศคือ “มาฆ ศุทธ จตุถี” หมายถึง วันศุกลปักษ์ (อ่านว่า สุก-กะ-ละ-ปัก) คือ ข้างขึ้น 4 ค่ำ เดือนมาฆะ !
คเณศจตุรถี จากพิธีส่วนบุคคล ต่อมาได้ขยายเป็นการเฉลิมฉลองในรูปแบบงานสาธารณะของรัฐ เป็นงานที่ชนทุกชั้นต่างมาร่วมสนุกสนานด้วยหัวใจเดียวกัน วรรณะสูงสุด และต่ำสุด สามารถมาเจอกันได้ในงานนื้ เมื่อได้เห็นภาพการเฉลิมฉลองที่ใหญ่โตจากคลิปทั้งหลาย ใครบ้างจะไม่อยากบินมาพิสูจน์ให้เห็นกับตาสักครั้ง
อาจารย์ คมกฤช อุ่ยเต๊กเค่ง เคยกล่าวถึงบุคคลหนึ่ง ที่ทำให้เทศกาลคเณศจตุรถี เป็นหนึ่งมิติทางการเมือง มีชื่องานแปลไทยว่า “งานเทศกาลพระคเณศสำหรับคนทั้งหลาย” ! กล่าวคือ ในปี ค.ศ. 1893 ตอนนั้น รัฐบาลอังกฤษปกครองอินเดีย และมีกฎห้ามชุมนุมในที่สาธารณะเพื่อป้องกันการต่อต้าน “ท่านโลกมันยะ พาล คงคาธรดิลก” (Lokmanya Bal Gangadhara Tilak) นักเคลื่อนไหวทางการเมืองสังคม ซึ่งเรียกร้องเอกราชของอินเดีย เห็นว่า พระคเณศเป็นเทพที่ชนทุกชั้นเข้าถึงได้ ไม่มีข้อจำกัดในการบูชา จึงใช้เทศกาลนี้ดึงชนทุกชั้นออกมาใช้ชีวิตรวมตัวในท้องถนน เป็นการแสดงออกแบบสันติวิธีทางการเมืองเพื่อต่อต้านอังกฤษไปในตัว และการรวมตัวในวันสุดท้าย คือ ต้นแบบของเทศกาลคเณศจตุรถี ในปัจจุบันนี้ !
โดยเทศกาล คเณศจตุรถีปีนี้ อยู่ในระหว่างวันที่ 7 – 17 กันยายน ทุกภาคส่วนจะทำการเฉลิมฉลองและบูชาพระองค์ ด้วยพิธีเล็ก-ใหญ่ต่างกัน ตามบ้านเรือน , เทวาลัย จะมีพิธีเฉลิมฉลอง สวดมนต์ ระบำรำฟ้อนถวาย หรือตำหนักทรง เจ้าลัทธิทั้งหลายก็มีการเทิดเทิง เฉลิมฉลองเช่นกัน ! จนถึงวันสุดท้าย จะทำพิธีแห่พระพระคเณศไปลอยในแม่น้ำ หรือ ทะเล
การทำพิธีลอยน้ำคือ การคืนสู่ธรรมชาติ ! ที่สำคัญ เป็นไปตามความเชื่อเรื่อง “ปัญจายตเทวดา” หรือ เทวดาที่ครองธาตุทั้ง 5 ของศาสนาฮินดู ดังนี้ พระศิวะ (ครองธาตุดิน), พระคเณศ (ครองธาตุน้ำ), พระสุริยะ (ครองธาตุลม), พระอุมา (ครองธาตุไฟ) , พระวิษณุ (ครองอากาศธาตุ)
สมัยก่อน ชาวบ้านในอินเดียไม่ได้มีเทวรูปไว้บูชาในบ้านเรือนอย่างสมัยนี้ การบูชาเป็นแบบบ้านใครบ้านมัน ชาวบ้านจะปั้นเทวรูปสมมติจากดินเหนียวขนาดเล็กๆ ซึ่งบางคนหรือพราหมณ์จะประกอบพิธีทำตามขั้นตอน เช่น เชิญท่านมานั่ง ล้างมือ ล้างเท้า ถวายบูชาด้วยนม เนย ดอกไม้หอม ผลไม้ ขนม และสวดมนต์บูชา จนเมื่อเทศกาลสิ้นสุด ก็จะนำเทวรูปสมมตินั้นไปลอยน้ำ ให้ทรงกลับคืนสู่สวรรค์
ทุกวันนี้ ในเมืองไทย และทั่วโลกสามารถหาซื้อพระคเณศเล็กๆ ที่ปั้นด้วยดินเผามาใช้ในเทศกาลนี้ได้
งานคเณศจตุรถีในเมืองไทยมีต่อเนื่องมาสม่ำเสมอทุกปี ยกตัวอย่าง หน่วยงานหนึ่งคือ VISHWA HINDU PARISHAD ASSOCIATION (THAILAND) หรือ ชื่อไทยว่า “สมาคมวิศวะฮินดูปาริชาด” นั้นจัดงานคเณศจตุรถีถึงปีนี้ เป็นปีที่ 17 กำหนดงานปีนี้ จัดในวันเสาร์ที่ 14 และอาทิตย์ที่ 15 กันยายนนี้ ณ สนามกีฬานิมิบุตร (ใกล้เอ็ม บี เค เซ็นเตอร์) วันอาทิตย์จะทำพิธีลอยน้ำพระคเณศตามประเพณี ณ สวนศิลาฤกษ์ บริเวณสะพานภูมิพล 1 ถนนพระราม 3
และปัจจุบันนี้ ตามเพจต่างๆ ซึ่งเป็นร้านค้าที่ขายเครื่องบูชาเทพฮินดู มีเครื่องบูชาจำหน่ายหมดไม่ว่าจะเป็น ขนม ดอกไม้ หญ้าแพรก ธูปหอม กำยาน ติลก เทวรูป สารพัด สารพัน ซื้อได้ทางออนไลน์ ซึ่งความจริงแล้ว ของพวกนี้ก็ไม่ได้หาซื้อยากเลยสักหน่อย !
โดยผู้ที่ชอบมู ก็จะรู้ว่า พระคเณศท่านโปรด ขนมโมทกะ หรือโมทัก (Modak), ขนมลฑฺฑู (Laddhu – ออกเสียงว่า‘หล่า-ดู๊’) ขนมอินเดียส่วนใหญ่ มีรสหวานถึงหวานมาก !
สำหรัับโมทกะ เป็นภาษาสันสกฤต แปลว่า ยินดี ,พึงใจ ,รื่นเริงใจ มีลักษณะของขนมชนิดนี้เป็นแป้งสีขาว ก้อนกลม ยอดแหลมคล้ายกระเทียม ห่อด้วยไส้มะพร้าวขูดผัดกับน้ำมันพืช ผสมเนยใส ผงกระวาน น้ำตาลทรายแดง
ส่วนขนมลฑฺฑู ทำจาก แป้งถั่ว ลูกกลม แต่คนไทย ไม่คุ้นเคยกับนม-เนยอย่างขนมอินเดีย จึงนำขนมไทยคือ “ ขนมต้มขาว” ที่มีลักษณะคล้ายขนมลฑฺฑูมาถวายแทน
ดังนั้นเทวรูปพระคเณศในบางปางถือชามใส่ขนม หรือบางทีก็ใช้งวงตวัดก้อนขนม เป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ มีกิน มีใช้ ไม่ลำบาก นั่นเอง
ขนมพวกนี้ ตลอดจนเครื่องบวงสรวงอื่น เช่น ธูปหอม กำยาน การบูร หมากแขก เทวรูป เราสามารถหาซื้อได้ที่ ซอยข้าง “ห้างอินเดีย เอ็มโพเรี่ยม” หรือ เรียกกันอย่างคุ้นปากว่า “ตรอกแขก พาหุรัต”
ยกเว้น “หญ้าแพรก” ต้อง ปากคลองตลาด มีแน่นอน ! เพียงแต่ต้องเดินบริหารเท้าสักหน่อย …
ทั้งนี้ยังมีเรื่องเกี่ยวกับความเชื่อในวันสำคัญนี้ด้วย ตามคำบอกเล่าเชื่อกันมาว่า วันคเณศจตุรถี ห้ามมองพระจันทร์ ! ในวันแรกของเทศกาลนี้ ใครที่เผลอเรอผิดพลาดไป เพื่อนๆจะร่วมกันรุมด่า เพราะเสียงด่าโขมงโฉงเฉงนั้น จะทำให้ผู้มองพระจันทร์นั้นพ้นคำสาป ไม่ต้องไปเกิดเป็นคนจัณฑาล!
นิทานเรื่องนี้ มีว่า พระคเณศกินอิ่มจากงานเลี้ยง ขี่หนูกลับ ระหว่างทางมีงูเห่าตัดหน้าหนู เป็นเหตุให้พระคเณศตกจากหลังหนู ท้องแตก แต่ยังเสียดายขนมทั้งหลาย จึงโกยใส่ท้องแล้วจับงูมารัดท้องไว้ พระจันทร์เห็นเหตุการณ์นี้เข้า ก็หลุดขำ หัวเราะ พระคเณศโกรธมาก จึงถอดงาเขวี้ยงไปที่พระจันทร์ โลกที่สว่างไสวกลับมืดมิด พวกเทวดาจึงมาอ้อนวอนร้องขอ พระคเณศจึงยอมถอดงา แต่โทษของพระจันทร์ยังมีอยู่ จึงให้พระจันทร์ เว้าแหว่ง เป็นเสี้ยว เกิดข้างขึ้น ข้างแรม ดังที่เราเห็นกันนั่นเอง
และคุณผู้อ่านละ…เชื่อนิทานเรื่องนี้หรือไม่ ?
เรื่อง : Nai mu
#TicyCity #ตีซี้ซิตี้ #เมือง #City #GodsCity #Naimu #สายมู #ความเชื่อ #พระคเณศ #คเณศจตุรถี #พิธีกรรม #การบูชา #อินเดีย #อังกฤษ