ธันวาคม 25, 2024
ticycity.com
Culture God's City

“เจ้าแม่ทับทิม สะพานเหลือง” เทวนารีไม้ลอยน้ำ เจ้าแม่ช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางน้ำ

ราชินีสวรรค์

เมื่อเร็วๆ นี้ Ticy City ได้มีโอกาสพบปะสนทนากับ Nai mu ถึงเรื่องราวต่างๆ ที่จะมานำเสนอใน God’s City โดย Nai Mu ได้เอ่ยถึงสารคดี The Last Breath of Samyan ที่เกี่ยวกับ “ศาลเจ้าแม่ทับทิม” (จุฬา ซอย9) สะพานเหลือง ที่เพิ่งได้รับรางวัลสารคดียอดเยี่ยมบนเวทีสุพรรณหงส์ ครั้งที่ 32 เมื่อวันที่ 29 กันยายน ที่ผ่านมา ซึ่งใครอยากรู้เรื่องราวก็หาชมได้ใน Netflix 

แต่สำหรับใครที่ยังไม่มีเวลาดูหรือยังหาโอกาสดูไม่ได้ Ticy City ขอแนะนำว่าเรื่องราวของ “เจ้าแม่ทับทิม สะพานเหลือง” เทวนารีไม้ลอยน้ำ เจ้าแม่ช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางน้ำ ที่ Nai mu เขียนถึงใน God’s City นี้ก็สนุกและน่่าสนใจไม่แพ้กัน

ป้ายแดงเด่นเป็นสง่า “ศาลเจ้าแม่ทับทิม สะพานเหลือง”

ที่มา เจ้าแม่ทับทิม สะพานเหลือง

ต้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ครอบครัว “นายจู๋ แซ่ตั้ง”  ได้อพยพจากอำเภอเก๊กเอี๊ย เมืองแต้จิ๋ว มณฑลกวางตุ้ง เข้ามาพำนักอยู่ในประเทศไทย  ซึ่งก่อนหน้านี้ พี่ชายของนายจู๋ได้เดินทางเข้ามาก่อนแล้ว โดยทำงานรับจ้างทั่วไปแถวริมคลองบางรัก 

อยู่มาวันหนึ่งขณะที่พี่ชายนายจู๋เดินเลียบคลองไปทำงานตามปกติ ก็เห็นวัตถุชิ้นหนึ่งลอยทวนน้ำมาอยู่ที่บริเวณน้ำวน ซึ่งเขาก็ไม่ได้สนใจ จนผ่านไปหลายวัน วัตถุชิ้นนั้นก็ยังอยู่ที่เดิม เขาจึงตัดสินใจเก็บวัตถุชิ้นนั้นขึ้นมา ปรากฎว่าเป็นไม้แกะสลัก รูปเทวนารี “เจ้าแม่ทับทิม” ดังนั้นเขาจึงนำไปเก็บไว้ที่บ้าน แต่ก็มิได้บูชาแต่อย่างใด

วิมานเจ้าแม่สวรรค์ “เทียงโหวเซี้ยบ้อ” เลขที่ 377/11 จุฬา ซอย 9
เจ้าแม่ทับทิม ประธานศาลเจ้าแห่งนี้

สำหรับนายจู๋ ผู้เป็นน้องชายเมื่ออพยพมาเมืองไทยตามพี่ชาย ก็ได้ขึ้นฝั่งที่ท่าน้ำราชวงศ์ พร้อมทั้งตั้งใจจะประกอบอาชีพเลี้ยงเป็ดที่ตนถนัด แต่เยาวราชในช่วงเวลานั้นไม่มีพื้นที่ซึ่งเหมาะสม จนมาเห็นว่าท้องทุ่งย่านสะพานเหลืองเหมาะสำหรับการทำกิจกรรมดังกล่าว จึงเริ่มเลี้ยงเป็ด มีรายได้ดีและประสบความสำเร็จมาก  เมื่อพี่ชายเห็นว่า กิจการของน้องชายไปได้สวย จึงนำองค์เจ้าแม่ทับทิมที่เก็บอยู่หลายปีมามอบให้ 

เมื่อนายจู๋จึงได้รับมาและตั้ง “ศาลไม้” ไว้สำหรับบูชาเจ้าแม่ ชาวบ้านในละแวกสะพานเหลือง พอรู้ข่าวต่างก็มาเซ่นสรวงบูชาไม่ได้ขาด จนต่อมาศาลไม้นั้นก็เริ่มขยับขยาย 

นายจู๋ชอบพอกับ “นางพลอย” ข้าหลวงในวังสระปทุม จึงได้แต่งงานกัน นางพลอยผู้นี้ช่วยประสานงานดูแลชาวจีนอพยพให้เป็นไปตามระเบียบกฎหมายทางราชการ นายจู๋ได้รับความไว้วางใจให้ดำรงตำแหน่ง “จางวาง” และได้หาพื้นที่ 3 งานเศษ สร้างศาลเจ้าและแสดงมหรสพ 

“กระถางธูป” มีตราพระปรมาธิไธย จปร. ประดิษฐ์แบบอักษรจีน เป็นเครื่องสังเค็ด รัชกาล 6  พระราชทานแก่ศาลเจ้า

รุ่นที่สอง นายบุญจันทร์ หรือ เล้ง แซ่ตั้ง ผู้เป็นลูกชายนายจู๋ได้ดูแลศาลต่อจากผู้เป็นพ่อ และแต่งงานกับนางสงวน แซ่ลิ้ม 

ในปี พ.ศ. 2454 (ร.ศ.129) พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 โปรดให้สร้าง “กระถางธูป” ซึ่งมีตราพระปรมาธิไธย จปร. ประดิษฐ์แบบอักษรจีน เป็นเครื่องสังเค็ดพระราชทานแก่ศาลเจ้า เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ เล่ากันว่า ศาลแห่งนี้ ในหลวงรัชกาลที่ 5 เคยเสด็จพระราชดำเนินมาอย่างสามัญชน ไร้พิธีการใดๆ  กระถางธูปใบนั้น ปัจจุบันยังคงตั้งสืบเนื่องมายาวนาน ก่อนที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะถือกำเนิดในปี 2459 เสียอีก 

รุ่นที่สาม คือ นายประจวบและนางเช้า พลอยสีสวย เป็นผู้ดูแลศาลเจ้าแห่งนี้

รุ่นที่สี่  ลูกชายคนโตของนายประจวบ ชื่อ นายปฐมพงศ์ พลอยสีสวย (ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว) รับหน้าที่ต่อ กับภรรยาชื่อ เพ็ญประภา พลอยสีสวย 

ศาลเจ้าแม่ทับทิมแห่งนี้  ตั้งอยู่บนเลขที่ 377/11 จุฬา ซอย 9  มีทั้งบรรดานิสิตรั้วจามจุรี คนหนุ่มสาว ที่มาไหว้เจ้าแม่กันตลอดเวลา ส่วนเทพเจ้าอื่นๆ ร่วมศาลเดียวกัน มี แปะกง (เจ้าที่) และแชเล้งเอียกง (เทพมังกรเขียว)

ในเมืองไทย ไม่ว่าจะที่กรุงเทพฯ หรือต่างจังหวัด นิยมตั้งศาลเจ้าแม่ทับทิม โดยเฉพาะในพื้นที่ซึ่งใกล้เคียงกับแหล่งน้ำที่มีคนจีนอาศัยอยู่ 

เทียงโหวเซี้ยบ้อ หรือ ม่าจ้อโป๋ 

การเรียกขานชื่อเจ้าแม่ทับทิม

คนไทยรู้จักชื่อ “เจ้าแม่ทับทิม” ในนาม “ม่าจ้อโป๋, เทียงโหวเซี้ยบ้อ,จุ้ยบ้วยเนี้ย” ซึ่งเรียกเหมารวมว่า เจ้าแม่ทับทิม เหมือนกันหมด แต่ไม่แน่ว่าเทวนารีในศาลเจ้า อาจจะเป็นคนละองค์กันก็เป็นได้ 

ศาลเจ้าแม่ทับทิม สะพานเหลือง (จุฬาซอย 9) และ ศาลเจ้าแม่ทับทิม ที่สะพานหัน พาหุรัด คือ  “ม่าจ้อโป๋” (ฮกเกี้ยน) , “เทียงโหวเซี้ยบ้อ”  (แต้จิ๋ว) หรือ เจ้าแม่ทับทิม ! 

อีกองค์หนึ่ง ที่คนไทยก็เรียก เจ้าแม่ทับทิม แต่ความจริง คนจีนเรียก “จุ้ยบ้วยเนี้ย” หรือ  จุ้ยโบเนี้ยว เป็นเทพท้องถิ่นชาวไหหลำ แปลตามตัวว่า “เจ้าแม่ท้ายน้ำ” ก็ประมาณว่า เจ้าแม่คงคา นั่นแหละ ศาลเจ้าแม่ทับทิม เชิงสะพานซังฮี้ คือ “จุ้ยบ้วยเนี้ย”  ซึ่งเป็นคนละองค์กัน แม้จะมีลักษณะที่ใกล้เคียงกันก็ตาม 

เทียงโหวเซี้ยบ้อ หรือ ม่าจ้อโป๋ 
แชเล้งเอียกง (เทพมังกรเขียว)
แปะกง (เจ้าที่) 

เจ้าแม่ทับทิม ช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางน้ำ

เรื่องราวของเจ้าแม่ทับทิมนั้น มีเรื่องเล่ามากมาย ขอคัดย่อมาแต่พอสังเขป 

เจ้าแม่ทับทิม มีถิ่นกำเนิดที่เกาะเหมยโจว มณฑลฝูเจี้ยน หรือ ฮกเกี้ยนในปัจจุบัน  เกิดเมื่อวันที่ 23 เดือน 3 ทางจันทรคติแบบจีน ในครอบครัวของ “นายหลิมหยวนกับนางเฉินซื่อ”  ครอบครัวนี้มีลูก 7 คน ชาย 5 คน หญิง 2 คน ลูกสาวคนสุดท้องเป็นผู้หญิง ซึ่งตอนเกิดปรากฏแสงสว่างไปทั่วบ้าน มีกลิ่นหอมเย็นประหลาด ผิวพรรณงดงาม ผิดจากลูกชาวบ้านทั่วไป พ่อตั้งชื่อว่า “โม่” ที่แปลว่า เงียบขรึม เพราะเด็กสาวคนนี้เลี้ยงง่าย ไม่ร้องไห้งอแงเป็นเวลาหนึ่งเดือนเต็ม  

ด้วยอุปนิสัยเงียบขรึมมาแต่เด็ก ชอบอยู่คนเดียว พออายุ 4 ขวบ แม่พาหลิมโม่ไปไหว้พระก็เริ่มตื่นรู้,  8 ขวบอ่านหนังสือได้แตกฉาน, 10 ขวบอ่านคัมภีร์ต่างๆ ได้อย่างคล่องแคล่ว, 13 ขวบเรียนสมาธิฝึกปฏิบัติธรรมกับหลวงจีนท่านหนึ่ง บางแห่งว่าเป็นเทวดา และบอกเรื่องราวของสวรรค์ให้นางได้รับรู้,  อายุ 15 หลิมโม่พบอสูรกายชูถาดตนหนึ่ง ผองเพื่อนต่างวิ่งหนี แต่นางไม่กลัวกลับหยิบถาดในมืออสูรอีกต่างหาก การหยิบถาดในครั้งนั้น ทำให้เธอเริ่มมีพลังวิเศษ รู้เหตุการณ์ล่วงหน้า ทายทักแม่ยำ เชี่ยวชาญยาสมุนไพรรักษาโรค และรู้ในเรื่องลมฟ้าอากาศ 

วันหนึ่ง ขณะที่เธอกำลังทอผ้า แว๊บหนึ่งก็รู้ว่า พ่อและพี่ชายซึ่งออกทะเลจะประสบอันตราย เรือกำลังจะเจอกับพายุเป็นเหตุให้เรือล่ม นางจึงใช้พลังจิตส่งขอนไม้ให้คนทั้งคู่พ้นภัย 

บ่อยครั้งที่ชาวบ้านเห็นเธอโยนผ้าขาวขึ้นไปบนอากาศ เมื่อชาวบ้านถามว่า โยนผ้าทำไม?  เธอตอบว่า ช่วยชาวประมงให้พ้นภัย ชาวประมงรอดชีวิตกลับฝั่ง ต่างพูดกันเป็นเสียงเดียวว่า เห็นผ้าขาวมาตวัดเรือให้พ้นจากภัยพายุ  ชาวบ้านต่างเชื่อว่า นางเป็นผู้มีบุญมาเกิดเพื่อช่วยเหลือชาวบ้านโดยแท้   

เธอมีเทพผู้ช่วยในการทำภารกิจต่างๆ  2 คน คนหนึ่งหูทิพย์ คนหนึ่งตาทิพย์ 

วันหนึ่ง เธอได้เวลาบอกลาครอบครัว พร้อมเดินไปบนยอดเขาเหมยเฟิง บนเกาะเหมยโจว  วันที่นางสำเร็จมรรคผล เสียงดนตรีอันไพเราะ ขับขาน ดังกังวานจากสวรรค์ มีเทวบัญชาให้เธอขึ้นประจำตำแหน่ง “ราชินีสวรรค์” … แม้กระนั้นเธอก็ยังใช้ญาณทิพย์เพื่อช่วยชาวประมง และคนเดินเรืออยู่เนืองๆ 

และนี่คือเรื่องเล่าขานที่สืบต่อกันมา… ขอ “ราชินีสวรรค์” เจ้าแม่ทับทิม สะพานเหลือง จงเจริญ ! 

เรื่อง : Nai Mu

Leave feedback about this

  • Rating

Art & Event, Culture

Finding U

Culture, God's City

สองแผ่นดิ

Fashion, Trends

QUAD EYE

PR news, TICY PR

“ต้นกล้าฟ

Culture, Ticy Entertainment

10 Christ

X