“วัดญวน สะพานขาว”
สายมูและไม่มูทั้งหลายล้อมวงกันเข้ามาได้เลย เพราะวันนี้… Nai Mu กรูรูสายมูผู้มีเรื่องเล่ามากมายใน God’s City จากเว็บต์ไซต์และเพจ Ticy City จะพาไปทัวร์ “วัดญวน สะพานขาว” เพื่อทำความรู้จักกับ ปู่ชีวก ฯ, ท้าวมหาพรหม ฤาษีเกตุม ของหลวงพ่อบ๋าวเอิง! พร้อมกันแล้วออกทัวร์ได้เลย
Nai Mu ขอบอกว่า ทุกยุคสมัย นิยมเรียกวัดสมณานัมบริหาร (แปลว่า ศาสนสถานอันมีสมณะแห่งอนัมนิกายเป็นผู้ดูแลบริหาร) ว่า “วัดญวน สะพานขาว” พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 5 ทรงพระราชทานตรา “พระจุลมงกุฎ” พระบรมราชสัญลักษณ์ประจำพระองค์ ให้เป็นส่วนหนึ่งในตราสัญลักษณ์ของพระอารามเพื่อความเป็นสิริมงคล
วัดอนัมนิกายในเมืองไทย มีทั้งหมด 21 แห่ง ในกทม. มี 7 แห่ง ส่วนแห่งอื่นๆ อยู่ต่างจังหวัด วัดญวน สะพานขาว ในยุคหลวงพ่อบ๋าวเอิง (ช่วงก่อนปี พ.ศ. 2507) โด่งดังมาก เพราะท่านเป็นพระภิกษุชาวเวียดนามที่มีความรู้เรื่องยาสมุนไพร และการรักษาโรคเป็นอย่างดี บวกเข้ากับวิชาประสบการณ์ทางวิญญาณ อัญเชิญเทพ เทวดา และบุคคลทั่วไปให้มาปรากฏบนนิ้วหัวแม่มือ … ภาพใบหน้าคล้ายเหรียญรูปไข่ นูนออกมาจากปลายนิ้ว เป็นสุดยอดวิชาซึ่งคนสมัยนั้นรู้กันดี !

หลวงพ่อบ๋าวเอิง มรณภาพละสังขารเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2507 ด้วยโรคมะเร็งเลือดโลหิต อายุ 58 ปี
ภายในบริเวณวัดสมณานัมบริหารมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์หลายชิ้น ที่สร้างขึ้นจากวิชาเชิญเทพของท่านให้มาสถิตยังหัวแม่มือ และ สเก็ตช์ภาพออกมาก่อนสร้างรูปหล่อในเวลาต่อมา เช่น บรมครูทางการแพทย์ ปู่ชีวกโกมารภัจจ์ (พ.ศ. 2497), ท้าวมหาพรหมสหัมปติ (พ.ศ. 2501) , พระฤาษีกาไรยโกฏิ (เกตตุม) ซึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้อยู่ในศาลาร่วมบุญ (จี้จินเกาะ) ร่วมด้วยพระประธาน, พระเวทโพธิสัตว์, เจ้าแม่กวนอิม, พระอมฤตราช (ไต้สือเอี้ย) ยมทูตขาว-ดำ (ตั่วแปะ,ยี่แปะ) ออกจากศาลาร่วมบุญ ทางซ้ายมือ เป็นวิหารเก๋งจีนหลวงพ่อบ๋าวเอิง ร่วมด้วยเจ้าพ่อเสือ และอื่นๆ อาทิ เทพยเจ้าสุวรรณรัตน์ (เซ่งเทียนจู๊) ซึ่งมีตำแหน่ง เลขาธิการ ของสมเด็จท้าวมหาพรหมสหัมปติ ในโลกวิญญาณ !
วัดญวน สะพานขาว สร้างขึ้นในช่วงรัชกาลที่ 2-3
ท่านบ๋าวเอิง เกิดเมื่อ 24 มีนาคม 2449 ปีมะเมีย เชื้อชาติญวน จากอำเภอโผเชิงหาว จังหวัดรดยา สาธารณรัฐเวียดนามใต้ บุตรของนายหญอ และนางทัน ห่อเหวียง ซึ่งประกอบอาชีพค้าขาย มีพี่น้อง 7 คน บ๋าวเอิงเป็นลูกคนที่ 6 เริ่มบรรพชาตั้งแต่เป็นสามเณรเมื่ออายุ 8 ขวบ โดยพำนักอยู่ที่ “วัดเพื้อกล็องตื่อ” จนอายุ 21 ปีได้บรรพชาเป็นพระในอนัมนิกาย ในวัดเดียวกัน ก่อนจะย้ายไปจำพรรษา ณ “วัดตามบ๋าวตื่อ” ในเวลาต่อมา

ทั้งนี้ท่านได้ตามพระภิกษุกรี๊วางเข้ามาในเมืองไทยในรัชสมัยสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ปี 2473 และเข้ามาพำนักชั่วคราวที่วัดสมญานัมบริหาร (วัดญวน สะพานขาว) จากนั้นไปวัดอนัมนิกายาราม บางโพ (วัดญวน บางโพ) เป็นเวลา 2 เดือน และย้ายมาพำนักที่วัดกุศลสมาคร ตรอกเต๊า และ วัดอุภัยราชบำรุง (วัดญวน ตลาดน้อย) ตามลำดับ
ใน ปี พ.ศ. 2490 หลวงพ่อบ๋าวเอิงได้มารับตำแหน่ง เจ้าอาวาส วัดสมณานัมบริหาร ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ จาก องพจนสุนทร (2491) , องสุตบทบวร (2497) และตำแหน่งสุดท้ายคือ องสรภาณมธุรส ตำแหน่งปลัดขวา (2501)
คนสมัยนั้นกล่าวขานถึงวิชาต่างๆของท่านบ๋าวเอิง เช่น วิชารักษาโรคภัยไข้เจ็บ, ให้ฤกษ์ยามในวาระต่างๆ, ทำนายทายทักเหตุการณ์ต่างๆ, ประกอบพิธีกรรมมงคล และอวมงคล, ปลุกเสกเครื่องรางของขลัง และทำน้ำมนต์, ทรงเจ้าเข้าผี เกี่ยวกับวิญญาณ และอื่นๆ
ประสบการณ์ด้านวิญญาณของท่านเป็นหนึ่งไม่รองใคร เรื่องต่างๆ มีบันทึกไว้เป็นหลักฐานใน หนังสือหลายเล่ม Nai Mu ขอสรุป เล่าให้ฟัง นิดๆหน่อยๆ พอเป็นสังเขป
การอัญเชิญวิญญาณของท่าน ถ้าว่ากันตามศัพท์ของสมัยนี้ก็ต้อง ใช้คำว่า “ป่วน” ไปทั้งนรกและสวรรค์ ! ถึงขนาดมีประกาศจาก “เจ้ากรุงพาลีเทวทูตไตรภพ” ขอให้งดกิจกรรมดังกล่าว เป็นเวลาถึง 8 เดือน คำประกาศ ระบุไว้ว่า “เราพาลีได้รับพระกระแสรับสั่งจากพระอิศวร ให้มาบอกกล่าวแก่ องค์พจนสุนทร (บ๋าวอิง) ว่า นับแต่นี้ไปอีก 8 เดือนจึงค่อยเชิญวิญญาณ และให้พุทธศาสนิกชนทั้งหลายพึงทราบด้วย ยกเว้นให้เฉพาะแต่การเชิญวิญญาณของผู้ล่วงลับไปแล้ว ในเวลาทำพิธีกงเต๊กเท่านั้น ห้ามมิให้เชิญพร่ำเพรื่อ” เจ้ากรุงพาลีเทวทูตไตรภพ ประกาศ ณ วันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2496

ซึ่งท่านบ๋าวเอิงได้อุธรณ์ขอร้องต่อพระอิศวรว่า การกระทำของข้าพเจ้านั้นเป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ของพระศาสนา หวังให้มนุษย์ได้ประสบความรู้แจ้งเห็นจริง ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ส่วนตัวเลย ข้าพเจ้ายอมเหนื่อยยากลำบากในการนี้ ก็เพราะมีจิตมุ่งส่งเสริมหลักแห่งความจริงของศาสนาว่า วิญญาณย่อมสืบภพสืบชาติต่อไปไม่สูญหายไปไหน นอกจากพระอรหันต์เท่านั้น จึงได้รับลดหย่อนลงมาเหลือเพียง 5 เดือน
บางเรื่องจะสรุปให้ฟังว่า….
หลวงพ่อบ๋าวเอิง แม้จะเป็นภิกษุในพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน แต่ไม่เคยได้ยินหรือรู้ประวัติ “บรมครูปู่ชีวกโกมารภัจจ์” ท่านนี้มาก่อน!
จนกระทั่ง วันที่18 มีนาคม 2497 ขณะนั้น องพจนสุนทร (บ๋าวเอิง) ได้ทำการเชิญวิญญาณของพูนเพ็ญ จำรูญจันทร์ ภรรยาผู้ล่วงลับของ ร.ต.อ. ทวี จำรูญจันทร์ เมื่อราวเวลา 23.30 น. ด้วยความที่ครอบครัวนี้เป็นลูกศิษย์ของหลวงพ่อ วิญญาณภรรยาได้ประทับร่างของสามีบอกว่า “หนูมาบอกหลวงพ่อว่า หลวงพ่อเป็นหมอรักษาโรคต่างๆ แต่หนูลืมบอกหลวงพ่อให้อัญเชิญหมอชีวกโกมารภัจจ์ มาประสิทธิ์ประสาทวิชาการรักษาโรค ให้หลวงพ่อถวายตัวเป็นศิษย์ท่านเสีย”

“ท่านชีวกฯ เป็นใครกันล่ะโยม” หลวงพ่อบ๋าวอิงถาม
“ท่านเป็นนายแพทย์รักษาอาการประชวรให้สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และถวายโอสถให้ท่านเป็นประจำ”
แล้วกล่าวว่า วันทูลเชิญหมอชีวกฯ ควรเป็นวันเพ็ญจันทร์เต็มดวง โดยถวายเครื่องบูชา ขันธ์ 5
เครื่องขันธ์ 5 นี้ ผู้อาสารับจัดการนั่งอยู่ในเหตุการณ์ด้วย คือ วิทย์ ศิวะดิตถ์ เจ้าของห้างเสรีวัฒน์ สะพานหัน รับปากจะดำเนินการจัดให้ในคืนเพ็ญ!
และเมื่อ 30 เมษายน 2497 ขณะที่หลวงพ่อกำลังรักษาคนไข้อยู่ที่ “ศาลาร่วมบุญ” มีผู้หนึ่งคือ ร.ต. โชติ สโมสร ดูการรักษาอยู่ด้วย ท่านบ๋าวเอิงถามว่า “ท่านวาดรูปได้ใช่มั้ย”
“ได้ครับ ถ้ามีแบบให้ดู” เพียง 2 ชั่วโมงวิชาของหลวงพ่อบ๋าวอิง ก็สร้างความเซอร์ไพรส์ให้ ร.ต.โชติ และได้สเก็ตช์ภาพบรมครูทางการแพทย์ที่ปรากฏแก่สายตาได้สำเร็จตามประสงค์
หลังจากนั้นวันที่ 23 พฤษภาคม ท่านบ๋าวเอิง เชิญท่านชีวกฯประทับร่าง ร.ต.อ. ทวี จำรูญทรัพย์ เพื่อขออนุญาติหล่อท่านขนาดท่าตัวจริงไว้บูชา และขนาด 3 นิ้ว จำนวน 108 องค์ไว้ให้ผู้เคารพบูชา
ท่านประสิทธิประสาทพระคาถารักษาโรค “นะอะนะวะ โรคาพยาธิ วินาสสันตุ” !
นายชิ้น ชื่นประสิทธิ์ เป็นผู้ปั้นรูปขนาดเท่าตัวจริง ใช้เวลาร่วม 2 ปี จึงสำเร็จ พร้อมหล่อด้วยโลหะ
พิธีทุกอย่างสำเร็จลงในวันที่ 24 เมษายน 2500
ท่านเรียก “บรมครูคุรุแพทย์ ชีวกโกมารภัต”
วันที่ 3 พฤษภาคม 2497 มีคนไข้ เป็นหญิงชราชื่อ “นางกุหลาบ ประสบสิน” ขายน้ำอบไทยมาให้ช่วยรักษา เพราะปวดเมื่อยเนื้อตัวมาหลายวัน แต่ปรากฏมีวิญญาณมาประทับ แจ้งนามว่า “สมมติเทวราช” พร้อมแจ้งวัตถุประสงค์ที่มา คือ เพื่อมาชมพระบารมีของสงฆ์ที่มีคุณธรรมและจิตใจดี อยากช่วยสืบสร้างบารมีต่อไป” ! สั้นๆ เพียงนี้ แล้วท่านก็ถอยร่าง

ต่อมานางกุหลาบก็มาพบท่านบ๋าวเอิงและยอมรับเคยลงประทับเทพยดามาหลายองค์ ท่านบ๋าวเอิงก็ลองเชิญเทพมาประทับ ปรากฏมีเทพยดาพระองค์ใหม่ที่ไม่เคยประทับร่างนางกุหลาบมาก่อน เทวดาท่านนี้คือ เทพยเจ้าสุวรรณรัตน์ (ภาษาจีน ชื่อ เซ่งเทียนจู๊) ต่อมาเทวดาผู้นี้ได้มาช่วยท่านบ๋าวเอิงในการประกอบกิจกรรมต่างๆ ทั้ง สอนเวทมนต์ อาคม สารพัด มาทราบหน้าที่ในภายหลังว่าเทวดาผู้นี้เป็นเลขาธิการของสมเด็จท้าวมหาพรหมสหัมปติ
เทพยเจ้าสุวรรณรัตน์ได้มอบคาถาให้ท่านบ๋าวเอิงภาวนาถึงพระพรหมาเป็นเวลา 2 ปี จนมีเทวดาองค์หนึ่งอ้างชื่อครั้งแรกว่า “ท้าวขี้เกียจ” ผ่านร่างประทับของชายคนหนึ่ง ก่อนถอยออกจากร่าง ท่านว่า คือ “ท้าวจตุระเทวา” ท่านบ๋าวเอิงตีความ “จตุระ” ต้องเป็น “พรหมวิหารสี่” แน่ ! ต่อมา ท่านบ๋าวเอิงเชิญพระพรหมมาปรากฏที่นิ้วมือ ร.ต.โชติ สโมสร ผู้สเก็ตช์ภาพ และนายชิ้น ชื่นประสิทธิ์ เป็นผู้ปั้น ในเวลาต่อมา

ท้าวมหาพรหมสหัมปติ ได้ประทานพระคาถาเรียกเงินเรียกทองและกำกับวิธีใช้คาถาว่า
“โอม พุทธะโธ ธัมมะโม สังฆะโฆ ให้มือข้าโตเรียกเงินได้เงิน เรียกทองได้ทอง ยะมาหายะ ยะมาหายัง นะนะนะโม เงินทองพอประมาณ กวักเงินได้เงิน กวักทองได้ทอง”!
ก่อนนอนให้ภาวนา 3- 9 ครั้ง แล้วใช้มือกวักไปทั้ง 4 ทิศ ภาวนาเรียกเงินเรียกทองเมื่อจะออกจากบ้านไปธุระ ให้ภาวนาคาถานี้ 3 ครั้ง แล้วกวักมือ อธิษฐานชื่อท่าน จตุระเทวา นึกตามที่จะปรารถนา ผู้ใดปฏิบัติได้ดังนี้ จะได้สมมโนรถของตน
เมื่อคราวที่ท่านบ๋าวเอิงจาริกธรรมไปเนปาล เกิดเหตุที่วัดญวน สะพานขาว พระภิกษุตึ๋ง แซ่ล้อ (ฉายา เทียนเว้ย) ซึ่งดูแลความเรียบร้อยในอุโบสถ เกิดแผลที่เท้าซ้าย เพียงแผลเล็กๆ ปล่อยทิ้งไว้จนแผลลามใหญ่โต จนหมอในโรงพยาบาลลงความเห็นว่า เชื้อลามกินถึงกระดูก อาจจะต้องตัดขา ! วันหนึ่งท่านบ๋าวเอิงเชิญ เทพยเจ้าสุวรรณรัตน์ลงประทับร่างทรงคนหนึ่ง แต่ผู้ที่มาประทับทรงในครั้งนั้นแจ้งชื่อว่า “เกตตุม” เป็นรุกขเทวา ใต้ต้นมะตูม ข้างศาลาร่วมบุญ ที่ภิกษุเทียนเว้ย ไปโค่นต้นไม้ จนไม่มีที่อยู่อาศัย เมื่อถูกมดกัดยังด่าว่า “ไอ้ห้าร้อย” ! ท่านเกตตุมโกรธจึงดลบันดาลให้เป็นไป โดยมีการทำสัญญากันว่า ถ้านายแพทย์รักษาขาซ้ายนั้นหาย ท่านบ๋าวเอิงจะปั้นรูปท่านให้เป็นที่สถิตย์ให้คนกราบไหว้บูชา ก็เป็นไปดังสัญญากันไว้ ท่านบ๋าวเอิงจึงได้สร้างรูปท่านเกตตุม หรือ ฤาษีกาไรยโกฏิ ในเวลาต่อมา ปัจจุบัน ปฏิมากรของท่านอยู่เบื้องหน้าบรมคุรุแพทย์ชีวกโกมารกัต ในศาลาร่วมบุญ!
นี่เป็นเพียงเรื่องสรุปเล็กๆ น้อยๆ ที่มาของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ 3 พระองค์นี้ ในวัดญวน สะพานขาว ที่ Nai MU พามาทัวร์ครั้งนี้
เรื่อง : Nai MU
Leave feedback about this