ลัทธิบูชางู
เนื่องจากสังคมสมัยโบราณเป็นสังคมเกษตรกรรม แน่นอนว่าการทำมาหากินของผู้คนย่อมพึ่งพิงธรรมชาติและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่คอยเกื้อหนุนเป็นเรื่องปกติ ซึ่งการทำมาหากินนั้น Nai Mu บอกได้เลยว่าย่อมมีสิทธิ์เจอ “งู” อสรพิษที่เลื้อยบนผืนดินและคร่าชีวิตคนในชุมชน
ดังนั้นการสร้าง “ลัทธิบูชางู” จึงเป็นเรื่องที่มีสืบเนื่องมาแต่โบราณเช่นกัน ไหนๆ ก็ปีงู Nai Mu กรูรูสายมูผู้มีเรื่องเล่ามากมายในส่วนของ God’s City จากเว็บไซต์และเพจ Ticy City จึงขอพาสายมูพร้อมคนรักงูทั้งหลายไปฟังเรื่องเล่าลัทธิบูชางู บูชาเทวีท้องถิ่นองค์หนึ่ง ซึ่งฝ่ายจีนก็มีเทพ-เทวีบรรพกาล ที่มีท่อนล่างเป็นงูซึ่งมาสอนให้มนุษย์รู้จักดำรงชีวิต แต่ที่ Nai Mu จะพาไปทำความรู้จักเทวีท้องถิ่นองค์นั้น คือ “มนสาเทวี” เทวีงูของชาวฮินดู
![](https://ticycity.com/wp-content/uploads/2025/02/01-1-edited-1.jpg)
![](https://ticycity.com/wp-content/uploads/2025/02/05-2-edited.jpg)
![](https://ticycity.com/wp-content/uploads/2025/02/03-2-edited.jpg)
การบูชา “งู” ของคนอินเดียเกิดขึ้นก่อนที่ชาวอารยันจะเข้ามามีบทบาทในศาสนาในอินเดีย เทวีพระองค์นี้มีชื่อเรียกต่างๆ เช่น “มนสา (อ่านว่า มานะสา) , มาริษาเทวี และ “ปัทมา” หมายถึง ดอกบัวคืออาสน์ (ที่รองนั่ง) ของพระองค์ ในแคว้นเบงกอล รัฐมหาราษฎระ และทางภาคใต้ของอินเดีย รวมถึงชาวเนปาล นับถือมนสาเทวีมาก
โดยในเทศกาล “นาคปัญจามี” จะนิยมบูชาพระนาง ด้วยการอัญเชิญต้นมนสา หรือที่คนไทยเรียก “ต้นส้มเช้า” มีลักษณะคล้ายต้นกระบองเพชร ต้นไม้สำคัญประจำตัวของพระนางเพื่อมาบูชา หรือปลูกไว้ที่ลานบ้าน
“นาคปัญจามี” ตรงวันขึ้น 5 ค่ำ เดือนศารวัน หรือเดือน 9 ของปฏิทินฮินดู ซึ่งอยู่ในราวเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม ซึ่งมีข้อห้ามหลายอย่างในวันนี้ เช่น ห้ามไถนา ตัดหญ้า พรวนดิน อย่างเด็ดขาด ! เพราะอาจจะไปกระทบกระเทือนต่อครอบครัวของ “คุณๆ” ทั้งหลาย
นอกจากนี้ ยังมีพิธีให้ “นมสด” แก่งู เนื่องจากมีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่า หญิงท้องแก่นางหนึ่ง ชอบเลี้ยงงูด้วยอาหารและนมสดเป็นประจำ ทำให้มนสาเทวีโปรดปรานมาก โดยเทศกาล “นาคปัญจามี” นอกจากบูชางูแล้ว ยังถึงเหล่านาคต่างๆ เช่น อนันตะ , วาสุกี , ตาสัก , การ์โกตกา และพินคาลา ก็ได้รับการบูชาอีกด้วย
“มนสาเทวี” คือ ลูกสาวบุญธรรม บางแห่งว่า ลูกเมียน้อยของพระศิวะ บ้างว่า เป็นลูกของพระแม่คงคา ลูกเมียน้อยผู้นี้จึงไม่กินเส้นกับแม่ใหญ่อย่างพระนางปารวตี นางจึงลงมาอยู่ในโลกมนุษย์ พร้อมกับ “เนตาเทวี” ลูกสาวอีกคนหนึ่งของพระศิวะ นางต้องการให้คนบูชานางเฉกเช่นเดียวกับมหาเทพและมหาเทวี
เศรษฐีจานท์ สัทากร ยืนหนึ่งของการนับถือในตัวพระศิวะมหาเทพมาตลอด ไม่คิดเปลี่ยนใจ พร่ำภาวนาแต่ “โอม นมัส ศิวาย” ไม่คิดปันใจหรือเฉไฉไปยึดมั่นใครหรือองค์ไหนเป็นสรณะ!
นางมนสาเทวีจึงต้องการเอาชนะ โดยหวังให้เศรษฐีจานท์หันมานับถือนาง เพียรทำสารพัดวิธี ก็ไม่อาจเปลี่ยนใจเศรษฐีจานท์ได้ ซึ่งเมื่อบอกแล้วยังไม่ยอมรับ นางจึงให้งูมาทำลายอุทยานอันงดงามให้ย่อยยับลงกับตา ! เศรษฐีจานท์แก้เกมด้วยการเรียกเพื่อนชื่อ “ศังกร” มาร่ายเวทย์คืนชีวิตให้สวนดอกไม้งดงามเหมือนเดิม ทำให้มนสาเทวีมีบัญชาให้งูไปกัดศังกรจนตาย หมดสิทธิ์ร่ายเวทย์อีกต่อไป สวนดอกไม้ก็พังพินาศสิ้น และจากนั้นก็เริ่มเด็ดชีวิตลูกของเศรษฐีจานท์ทีละคน จนตายหมดทั้ง 6 คน ซึ่งทุกครั้งก่อนที่จะลงมือ นางจะกระซิบเตือนข้างหูเศรษฐีจานท์ว่า “จงมานับถือและสักการะข้า” !
เมื่อถึงคราวที่เศรษฐีจานท์ไปล่องเรือค้าขาย นำเงินกำไรและสินค้ากลับมาเป็นอันมาก นางมนสาเทวีก็ร่ายเวทย์ให้คลื่นลมในท้องทะลปั่นป่วน พระนางปารวตีเห็นเหตุการณ์ จึงมาช่วยเหลือเศรษฐีจานท์ นางมนสาเทวีจึงไปทูลต่อพระศิวะผู้เป็นบิดา พระศิวะจึงต้องเรียกพระนางปารวตีกลับ ! คลื่นลมแรงทำให้เรือล่ม สินค้าและของมีค่าจมหายในทะเล สิ้นเนื้อประดาตัว มนสาเทวีจึงพาเศรษฐีจานท์ขึ้นฝั่ง แต่เขาก็ยังไม่ยอมคลายศรัทธาจากพระศิวะ !
![](https://ticycity.com/wp-content/uploads/2025/02/07-1-819x1024.jpg)
เวลาต่อมา นางมนสาเทวีจึงวางแผนใหม่ ขอให้นางฟ้าเพื่อนของนาง 2 องค์มาช่วยเหลือ คนหนึ่งให้ไปเกิดเป็นลูกชายของเศรษฐีจานท์ชื่อ “ลักษมินทร” อีกคนให้เกิดเป็นลูกสาวพ่อค้าเพื่อนเศรษฐีจานท์ชื่อ “เพลุลา” ลิขิตให้ทั้งคู่ได้ครองคู่กัน
หมอดูทายทักว่า ลูกชายเศรษฐีจานท์จะตายในวันแต่งงาน ! ซึ่งก็เป็นจริงดังนั้น เพลุลา ตัดสินใจนั่งเฝ้าศพสามีบนแพที่ล่องไปในแม่น้ำ … นางคิดว่าบางทีถ้าโชคเข้าข้างนาง คงจะพบคนมีวิชาช่วยชุบชีวิตสามี นางมนสาเทวีร่ายมนตร์ให้ร่างของลักษมินทรไม่เน่าเปื่อย นางเพลุลาใช้ชีวิตบนแพนานถึง 6 เดือน จนวันหนึ่งแพล่องมาถึงบ้านของเนตาเทวี นางเพลุลาเห็นเด็กๆ ที่เล่นซุกซนขณะที่เนตาเทวีกำลังซักผ้าอยู่ริมน้ำ ซนกันนัก นางตบเปรี้ยง ! เด็กก็ล้มนอนแน่นิ่งหมดสติไป จนนางซักผ้าเสร็จ จึงพรมน้ำร่ายเวทย์ เด็กทั้งหลายก็ฟื้นมีชีวิตปกติเหมือนเดิม
นางเพลุลาเห็นดังนั้น จึงถ่อแพเข้าฝั่ง อ้อนวอนให้นางเนตาเทวีช่วยเหลือ นางจึงพาเพลุลาขึ้นไปเอาน้ำทิพย์บนสวรรค์ ! นางว่า “ลักษมินทรจะฟื้นได้เมื่อเศรษฐีจานท์ยอมถวายการบูชาแก่นางมนสาเทวี” การพรมน้ำทิพย์ นอกจากลักษมินทรจะฟื้นแล้ว ทุกสิ่งที่เศรษฐีจานท์สูญเสียไป จะได้คืนกลับมาดังเดิมอีกด้วย!
ในที่สุด เศรษฐีจานท์ก็ยอมจำนน ถวายบูชานางมนสาเทวีแบบไม่เต็มใจด้วยการใช้มือซ้าย และหันหน้าไปอีกทางอย่างไม่เต็มใจ แค่นี้นางก็พอใจแล้ว จึงประสาทพรให้สมบัติทุกอย่างของเศรษฐีจานท์กลับคืนดังเดิม ไม่ว่าจะเป็นสวนดอกไม้, ศังกร เพื่อนรัก, ลูกทั้ง 6 คน ทรัพย์สินทั้งหลาย และ ลักษมินทร
Nai Mu ลืมบอกไปว่า นางมนสาเทวีเป็นเทวีที่สวยงดงาม มีดวงตาที่สามที่หน้าผาก มีเป็ดสีขาวเป็นพาหนะ มือชูงูเป็นบริวาร และประทับดอกบัว …
ไหนๆ ก็ไหนๆ แล้ว Nai Mu ขอเล่าถึงตำนานเทพ-เทวีบรรพกาลฝ่ายจีน ซึ่งมีท่อนล่างเป็นงูที่ได้กล่าวถึงในช่วงต้นพอสังเขปสักนิด นั่นคือ เทพมารดา “เจ้าแม่หนี่วา” เทพปกรณัมของจีนคู่กับเทพบิดา กษัตริย์“ฝูซี”
![](https://ticycity.com/wp-content/uploads/2025/02/9-819x1024.jpg)
“เจ้าแม่หนี่วา” สร้างมนุษย์จากดินเหนียว
ใครที่เคยดูซีรีส์ “ปาฏิหาริย์รักร้อยปี” ของช่องวัน31 น่าจะคุ้นเคยกับเจ้าแม่หนี่วาองค์นี้มาบ้าง เทพมารดา “เจ้าแม่หนี่วา” คือเทพปกรณัมของจีนคู่กับเทพบิดา กษัตริย์“ฝูซี” ทั้งคู่คือ เทพ-เทวีผู้ให้กำเนิดสรรพสิ่งในยุคสร้างโลก ทั้งคู่ท่อนบนเป็นมนุษย์ ท่านล่างเป็นงู ฝ่ายชายคือกษัตริย์ที่สอนให้ชาวบ้านรู้จักการทำเกษตร เพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ ล่าสัตว์ หาปลา และทำครัว
![](https://ticycity.com/wp-content/uploads/2025/02/08-1-768x1024.jpg)
![](https://ticycity.com/wp-content/uploads/2025/02/14-2-edited.jpg)
ส่วนเจ้าแม่หนี่วา ได้ปั้นมนุษย์จากดินเหนียว และใช้ด้ายสะบัดดินโคลนให้เกิดเป็นมนุษย์เพื่อให้เป็นเพื่อนคลายความเหงาในช่วงที่กษัตริย์ฝูซีไปทำธุระแดนไกล ครั้งที่ท้องฟ้าเกิดรอยรั่ว เหล่าปีศาจออกอาละวาด เจ้าแม่นำหิน 5 สีมาหลอมสลายถึง 49 วันเพื่ออุดรอยรั่ว เพื่อช่วยมวลมนุษย์ให้พ้นภัย!
![](https://ticycity.com/wp-content/uploads/2025/02/15-1024x576.jpg)
เมื่อกษัตริย์ฝูซีสวรรคตลง เจ้าแม่หนี่วาได้สืบตำแหน่งพระมหากษัตริย์แทน นับเป็นฮ่องเต้หญิงในเทพปกรณัมของจีน เจ้าแม่องค์นี้ มีพระเมตตา และคุ้มครองสตรี และเป็นเทพแห่งความรักและสมหวังอีกด้วย และนี่เป็นเพียงเรื่องเล่าที่ Nai Mu ตัด-สรุปมาเล่าคร่าวๆ เท่านั้นเอง
ส่วนใครหรือสายมูท่านใดที่ต้องการบูชา “เจ้าแม่หนี่วา” เชิญได้ที่ ศาลเจ้านาจาซาไทจื้อ อ่างศิลา และ ที่ หนึงออกวนอิม วัดชนะสงคราม บางลำพู
เรื่อง : โดย Nai Mu
Leave feedback about this