รัชกาลที่ 4
สำหรับคนไทยทุกคนต้องคุ้นหูกับชื่อ “พระสยามเทวาธิราช” ที่เชื่อกันว่าท่านคอยปกปักษ์รักษาคุ้มครองประเทศไทย และ Ticy City ก็เชื่อว่าอีกหลายคนคงไม่ทราบว่า “พระสยามเทวาธิราช” ยืนหนึ่ง โชว์เหนือ ด้วยคอนเซ็ปต์ เทวดาแห่งชาติ หรือ “ผีหลวง” ด้วยสังคมไทยตั้งแต่ยุคบรรพกาลนั้นก็นับถือ “ผี” เป็นทุนเดิม แต่จะมีที่มาที่ไปอย่างไร ตามไปอ่านเรื่องราวจาก Nai mu กันได้เลย
นับถือ “ผี” ความเชื่อที่มีมานาน
สังคมโบราณนั้น มนุษย์ต้องพึ่งพิงธรรมชาติ จึงบัดพลีเซ่นสรวงบูชาต่างๆ เพื่อให้ ชีวิตตนเอง ครอบครัว และชุมชน อยู่ร่วมกับธรรมชาติได้อย่างปลอดภัย น้ำท่าอุดมสมบูรณ์ ผลหมากรากไม้เจริญงอกงามดี
ในหลักศิลาจารึกกรุงสุโขทัยหลักที่ 1 มีข้อความตอนหนึ่งจารึกว่า
“เบื้องหัวนอนเมืองสุโขทัยนี้ มีกุฎีพิหารปู่ครูอยู่ มีสรีดภงส์ มีป่าพร้าว ป่าลาง มีป่าม่วง ป่าขาม มีน้ำโคก มีพระ ขพุงผี เทวดาในเขาอันนั้น เป็นใหญ่กว่าทุกผีในเมืองนี้ ขุนผู้ใดถือเมืองสุโขทัยนี้แล้ ไหว้ดีพลีถูก เมืองนี้เที่ยง เมืองนี้ดี ผิไหว้บ่ถูก ผีในเขาอันบ่คุ้ม บ่เกรง เมืองนี้หาย”
เรื่องการนับถือ “ผี” มีความเชื่อที่มีมานานตั้งแต่สมัยสุโขทัยโน่น ดังตัวอย่างที่จะเล่าให้ฟังว่า
เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2455 จอมพลสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถ ได้เสด็จไปสำรวจเมืองสุโขทัย และทรงนิพนธ์ไว้ในหนังสือ “กำเนิดเมืองสวรรคโลก สุโขทัย” ว่า
“มีพยานชัดที่กล่าวว่า เบื้องหัวนอนมีพระขพุงผี เทพยดาในเขาอันนั้น ทางเหนือเมืองสุโขทัยไม่มีภูเขาจนลูกเดียว ส่วนทางใต้มี ซ้ำไปหาเทวรูปได้ที่ในเพิงหินด้วย ดูจะเป็นพระขพุงผีแน่ ไม่มีปัญหาเลย”
เทวรูปสตรีนี้เป็นสีเขียว ไม่สวมเสื้อ และใบหน้าดูเป็นคนแก่ ปัจจุบัน เทวนารีรูปนี้เรียกว่ากันว่า “แม่ย่า” อยู่ที่ศาลพระแม่ย่า สุโขทัย สันนิษฐานว่า พ่อขุนรามคำแหงให้สร้างพระขพุงผีองค์นี้เพื่อรำลึกถึง “พระนางเสือง” ผู้เป็นมารดา
ครั้นมาถึงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ความเชื่อเรื่อง “ผี” (ดี) –ที่คอยคุ้มครองบ้านเมืองก็ยังมีอยู่ ยุคนี้ ชนชั้นปกครองมีความเชื่อทางการเมือง ผ่าน พระเสื้อเมือง, พระทรงเมือง และพระหลักเมือง สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ อธิบายว่า พระเสื้อเมืองเป็นมัลลิตารีเพาเวอร์คืออำนาจทหาร, พระทรงเมืองเป็นชีวิลเพาเวอร์คือ อำนาจของข้าราชการพลเรือน และพระหลักเมือง เป็นจูดิคัลเพาเวอร์ คือ อำนาจตุลาการ นอกจากนี้ ยังมี พระองค์อื่นๆ ในหมวดหมู่เดียวกัน เช่น พระกาฬไชยศรี, เจ้าพ่อเจตคุปต์, เจ้าพ่อหอกลอง เป็นต้น
กำเนิดพระสยามเทวาธิราช
จนถึงรัชกาลที่ 4 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ดำริว่า ประเทศไทยมีเหตุการณ์ที่เกือบจะเสียอิสรภาพหลายครั้ง และบังเอิญมีเหตุให้รอดพ้นภยันตรายมาได้เสมอ ชรอยคงจะมีเทพยดาที่ศักดิ์สิทธิ์คอยอภิบาลอยู่ สมควรที่จะสร้างรูปเทพยดาองค์นั้นขึ้นสักการะบูชา ทรงโปรดให้ พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้า ประดิษฐวรการ เป็นผู้ปั้นหล่อพระสยามเทวาธิราช
พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าประดิษฐวรการ มีพระนามเดิมว่าหม่อมเจ้าดิศ เป็นพระโอรสในพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหมื่นณรงค์หริรักษ์ เป็นผู้ปั้นหล่อพระสยามเทวาธิราช และพระบรมรูปรัชกาลที่ 1 – 4 ที่ประดิษฐานอยู่ในปราสาทพระเทพบิดร
พระสยามเทวาธิราช เป็นเทวดาไทยแท้พระองค์เดียวของประเทศไทย ! ยืนหนึ่ง โชว์เหนือ ด้วยคอนเซ็ปต์ เทวดาแห่งชาติ หรือ “ผีหลวง” ! มีอำนาจเหนือกว่าผีอื่นๆ ทั้งปวงที่รู้จักและเคารพกันมาในสมัยต้นรัตนโกสินทร์
พระสยามเทวาธิราช เป็นเทวรูปหล่อด้วยทองคำ ความสูง 8 นิ้ว ประทับยืนทรงเครื่องกษัตริย์ มีมงกุฎเป็นเครื่องศิราภรณ์ พระหัตถ์ขวาทรงพระขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายยกเสมอพระอุระในปางประทานพร ประดิษฐานบนเรือนแก้วเก๋งจีนทำด้วยไม้จันทน์ มีคำจารึกเป็นภาษาจีนที่ผนังเบื้องหลัง แปลไทยว่า “ที่สถิตแห่งพระสยาม เทวาธิราช” เก๋งจีนนี้ประดิษฐานอยู่ในมุขกลางของพระวิมานไม้สลักปิดทอง ตั้งอยู่เหนือลับแลบังพระทวาร เทวราชมเหศวร์ ตอนกลางพระที่นั่งไพศาลทักษิณ ในพระบรมมหาราชวัง ด้านหน้าตั้งรูปพระสรัสวดี มุขตะวันออก รูปพระอิศวรและอุมา ส่วนมุขตะวันตก ตั้งนารายณ์ทรงสุบรรณ
ในสมัยรัชกาลที่ 4 ทรงถวายเครื่องสักการะเป็นประจำทุกวัน และถวายเครื่องสังเวยทุกวันอังคารและเสาร์ก่อนเพล เครื่องสังเวยประกอบด้วย ข้าสุกหนึ่งถ้วยเชิง หมูนึ่งหนึ่งชิ้น พร้อมด้วยน้ำพริกเผา ปลานึ่งหนึ่งชิ้นพร้อมด้วยน้ำจิ้ม ขนมต้มแดงและขนมต้มขาว กล้วยน้ำหว้า มะพร้าวอ่อนหนึ่งผล ผลไม้ตามฤดูกาลสองย่าง และน้ำสะอาดอีกหนึ่งถ้วย และโปรดเกล้าฯ ให้จัดพิธีสังเวยเทวดาในวันขึ้น 1 ค่ำเดือน 5 (วันขึ้นปีใหม่ทางจันทรคติแบบไทย)
เมื่อครั้งฉลองกรุงเทพมหานครครบ 200 ปี (เมื่อ พ.ศ. 2525) พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระสยามเทวาธิราชจากพระวิมานในพระที่นั่งไพศาลทักษิณ เพื่อทรงประกอบพระราชพิธีบวงสรวง และทรงพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ประชาชนเข้าถวายสักการะเป็นครั้งแรก
พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ อดีตประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ นายกรัฐมนตรีคนที่ 16 ของประเทศไทย เคยกล่าวว่า
“ผมเชื่อว่า พระสยามเทวาธิราชมีจริง และจะปกป้องคนดี และสาปแช่งคนไม่ดี คนทรยศต่อชาติบ้านเมืองให้พินาศไป นั่นคือ ความเชื่อของผม ส่วนบุคคลอื่นจะเชื่อหรือไม่ ขึ้นอยู่กับจริยธรรมและคุณธรรมของแต่ละคน”
พระสยามเทวาธิราช มีภารกิจทางความมั่นคงล้วนๆ มีหน้าที่คุ้มครองพระมหากษัตริย์ พระบรมวงศานุวงศ์ , ปราบเสี้ยนหนาม อริราชศัตรู, คุ้มครองประเทศไทย และเป็นกำลังในดวงเมือง เท่านั้น
ในแผ่นดินสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสร้าง “พระสยามเทวาธิราช” อีกพระองค์หนึ่ง ซึ่งมีพระพักตร์ลม้ายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประดิษฐาน ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต
ความเชื่อ “พระสยามเทวาธิราช” คือ ดวงพระวิญญาณของบูรพกษัตริย์สลับเปลี่ยนกันมารักษา
พระสยามเทวาธิราช เป็นเพียง “ตำแหน่ง” ที่ใช้คำว่า “ผีหลวง” เชื่อกันว่า ดวงพระวิญญาณของบูรพกษัตริย์ที่สวรรคตไปแล้วจะหมุนเวียนสลับเปลี่ยนกันมารักษาตำแหน่ง ในนามของ “พระสยามเทวาธิราช” พร้อมผู้ช่วย
ในปี พ.ศ. 2509 หรือ 58 ปีที่แล้ว “พระมหาโพธิธรรมาจารย์ วงศ์ศากยะ” เคยกล่าวถึง พระนามของพระมหากษัตรย์ที่อยู่ในกลุ่มพระสยามเทวาธิราช เช่น พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ , พ่อขุนผาเมือง, สมเด็จพระนเรศวรมหาราช, พระเอกาทศรถ, พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก, พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว,พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว, สมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว, พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์
และในปีพ.ศ. 2522 หรือ 45 ปีที่แล้ว “แฉล้ม อุศุภรัตน์” เขียนหนังสือเล่มหนึ่ง โดยปกหนังสือ ระบุว่า “พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ในตำแหน่ง พระสยามเทวาธิราช องค์ที่ 11 อาภากร”
โลกวิญญาณมีจริงหรือไม่ Nai mu ต้องบอกว่า ไม่รู้ ส่วนใครจะเชื่อหรือไม่ให้เป็นวิจารณญาณของแต่ละคนแล้วกัน
เรื่อง : Nai Mu
#TicyCity#ตีซี้ซิตี้ #เมือง #City #GodsCity #Naimu #กรุงเทพ #สายมู # เรื่องเล่า #รัชกาลที่4 #พระสยามเทวาธิราช #เทวดา #ผีหลวง #ประเทศไทย