องค์บิดาแห่งทหารเรือไทย
“โอม ชุมพร จุติ อิทธิการะนัง สุโข นะโมพุทธายะ นะ มะ พะ ทะ จะ พะ กะ สะ มะ อะ อุ”
Ticy City เชื่อว่า เมื่อเอ่ยพระนามของเสด็จเตี่ย พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ หลายท่านคงพอทราบถึงเรื่องราวพระประวัติของพระองค์ท่านกันบ้างแล้วทั้งในด้านที่ทรงเป็น “องค์บิดาแห่งทหารเรือไทย” หมอพรแห่งแพทย์แผนไทย หรือที่คนทั้วไปในยุคนั้นขนานนามว่า “หมอพรหมอเทวดา” แต่วันนี้ Nai Mu อีกด้านที่หลายคนยังไม่ทราบ เป็นเรื่องราวของเกร็ดบางเรื่อง “กรมหลวงชุมพรฯ” ที่ปากคลองมะขามเฒ่า
ซึ่งเดือนนี้ วันที่ 19 ธันวาคม เป็นวันคล้ายวันประสูติของ พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ (19 ธันวาคม พ.ศ. 2423 – 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2466) องค์บิดาแห่งทหารเรือไทย
ว่ากันว่า เลข 19 นี้ สัมพันธ์กับพระองค์ท่าน ด้วยพระองค์ประสูติ และสิ้นพระชนม์ ในวันที่ 19 อีกทั้งเมื่อวันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2544 พระองค์ทรงได้รับการถวายพระสมัญญาจากกองทัพเรือว่าเป็น ‘องค์บิดาแห่งทหารเรือไทย’ จากที่ทรงวางรากฐานและพัฒนาปรับปรุงทหารเรือสยามให้เจริญก้าวหน้าตามแบบประเทศตะวันตก
พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ทรงเป็นพระเจ้าลูกยาเธอลำดับที่ 28 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมารดาคือ เจ้าจอมมารดาโหมด ธิดาของเจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์
ตลอดในช่วง 43 ปีของพระองค์ท่านเต็มไปด้วยเรื่องราวอันหลากหลายสีสัน กราฟชีวิต ขึ้น-ลง-ผกผัน และกลับมาสง่างาม สมพระเกียรติในวาระสุดท้าย !
เกร็ดที่ Nai Mu จะเล่านี้ เป็นเกร็ดในช่วงที่ท่านและครอบครัวไปใช้ชีวิตช่วงหนึ่งที่ปากคลองมะขามเฒ่า เรียนวิชากับหลวงปู่ศุข คบค้ากับชาวบ้าน เป็นมิตรกับชุมชนละแวกนั้นอย่างไม่ถือพระองค์
ในช่วงเวลาที่ท่านมา ณ วัดปากคลองมะขามเฒ่า นิยมสวมเสื้อคอกลม นุ่งกางเกงเคียนด้วยผ้าขาวม้าสีแดง และใส่รองเท้าแตะ !
เกร็ดนี้เป็นส่วนหนึ่งในหนังสือ “ประวัติ พระครูวิมลคุณากร (ศุข) วัดปากคลองมะขามเฒ่า จังหวัดชัยนาท โดยนายแพทย์ สำนวน ปาลวัฒน์วิไชย ซึ่งสโมใสรไลอ้อนส์ ชัยนาท – ชมรมพระเครื่องชัยนาท จัดพิมพ์เพื่อเผยแพร่
- คราวหนึ่งมีเทศน์ที่วัดปากคลองมะขามเฒ่า มีพิณพาทย์วงคุ้งสำเภา อำเภอมโนรมย์มาบรรเลง เมื่อเทศน์จบ กรมหลวงชุมพรฯ ทรงติการตีพิณพาทย์ของวงนี้ว่า “ตีเหมือนกับหม่อมของท่านตีกะลา”
- เมื่อหม่อมของท่านเดินผ่านตลาด มีหม่อมท่านหนึ่งเป็นฝรั่ง (หม่อมเดซี) เป็นจุดสนใจของชาวบ้านทั่วไป เพราะสีผิวและผมแตกต่างไปจากคนอื่นๆ เมื่อเดินผ่านจึงชวนกันมามุงดู เพราะไม่เคยเห็นมาก่อน
- มีอยู่ครั้งหนึ่งเป็นฤดูแล้ง หาดทรายขึ้นที่ฝั่งตรงข้ามวัดปากคลองมะขามเฒ่า เป็นสงกรานต์พอดี ชาวบ้านจึงมาเล่นสงกรานต์กันตามประเพณี ที่หาดทรายมีหม่อมของท่านบางคนอยากดู จึงไปดูชาวบ้านเล่นสงกรานต์กันโดยไม่ได้ขออนุญาต กลับมาเลยถูกกรมหลวงชุมพรฯ ตีด้วยไม้ตะพด
- กรมหลวงชุมพรฯ เคยเสด็จไปยิงจระเข้และปลาที่บึงใหญ่ เรียกว่า บึง หรือ หนองท่าเรือ การไป ก็ไปเป็นขบวนใหญ่ มีหม่อมและชาวบ้านที่คุ้นเคยกับพระองค์ติดตามไปด้วย เตรียมข้าวปลาอาหารไปรับประทานกันแบบปิคนิค ตอนนั้นเลยวัดปากคลองออกไปยังคงเป็นป่ารก ชาวบ้านต้องเดินนำ ฟันไม้ออกเป็นทางเพื่อให้เดินได้สะดวก สมัยนั้นเสือและจระเข้ชุมมาก ม้าของหลวงพ่อศุขเคยถูกเสือกิน ชาวบ้านใต้วัดปากคลองมะขามเฒ่ายังต้องเอาสุนัขขึ้นไว้บนบ้านในเวลากลางคืน ไม่เช่นนั้นจะถูกเสือกินหมด
- ชาวบ้านตำบลธรรมมามูล ซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้ามกับวัดปากคลองมะขามเฒ่า เคยเล่าให้ฟังว่า กรมหลวงชุมพรฯเคยเสด็จมาเที่ยวยิงนก และหาสุราพื้นบ้านเสวยบ่อยครั้ง
- ข้าพเจ้าได้มีโอกาสไปสำรวจหนองท่าเรือทอง (เป็นแม่น้ำเจ้าพระยาเดิม ซึ่งส่วนต้นและปลายลำน้ำตื้นเขินขึ้น เนื่องจากแม่น้ำเจ้าพระยาเปลี่ยนทางเดินใหม่) สองครั้ง ครั้งแรกข้าพเจ้าไปทางฝั่งตะวันออกของหนอง โดยสมุห์ทองหล่อทัดมาลี กรุณานำไปดูบริเวณที่เป็นถ้ำจระเข้ ซึ่งมีอยู่หลายถ้ำ ครั้งที่สอง ข้าพเจ้าได้ไปฝั่งตะวันตกของหนอง โดยการนำของนายเผด็จ นิมะวัลย์ และนายอำนวย ศรีเพ็ญ จุดมุ่งหมายเพื่อศึกษารายละเอียดเรื่องพระวัดปากคลองมะขามเฒ่า ในการไปครั้งนี้ ได้ทราบจากนางสำรวย บัวขาวว่า กรมหลวงชุมพรฯ เคยเสด็จมาที่หนองท่าเรือหลายครั้ง โดยท่านมีเพื่อนสนิทคนหนึ่งชื่อ นายเปรม มัชบาล เป็นชาวมอญอยู่ปากเกร็ด นนทบุรี เมื่อใดกรมหลวงชุมพรฯ เสด็จวัดปากคลองมะขามเฒ่า ท่านมักจะไปเยี่ยมนายเปรมเสมอ ทางนายเปรมก็จะจัดสร้างพลับพลาไว้รับเสด็จยาวหลายห้อง ทั้งนี้ เพราะผู้ตามเสด็จมีทั้งหม่อมและพระโอรส ธิดาของกรมหลวงชุมพรฯด้วย ….
กรมหลวงชุมพรฯ บางครั้งเสด็จพักอยู่นาน 3-4 วัน ก็มีของโปรด “อ้ายเป้” มีบริการพร้อมทุกเมื่อ พระองค์ทรงพระสำราญมาก ทรงร้องรำทำเพลงเป็นที่สนุกสนานครึกครื้น …
กรมหลวงชุมพรฯชอบเสวยอ้ายเป้
เมื่อกรมหลวงชุมพรฯ เสด็จมาที่วัดปากคลองมะขามเฒ่านั้น เวลาว่างๆ ท่านมักจะไปหา “อ้ายเป้” ซึ่งเป็นน้ำตาลหมักทำเองของชาวชนบทชนิดหนึ่ง จนเป็นที่รู้กันทั่วไป ขอนำเรื่องที่ผู้เล่าคือ นางหีบ สุขทอง เล่าเมื่อ 4 พฤษภาคม 2523 เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้ทราบอีกมุมหนึ่งของชีวิตกรมหลวงชุมพรฯ ในสมัยนั้น
ผู้เล่ามีสามีชื่อ ยอด บ้านอยู่ใต้วัดปากคลองมะขามเฒ่า วันหนึ่งกรมหลวงชุมพรฯ พบนายยอด จึงถามว่า “อ้ายยอด อ้ายน้ำหวานๆ ขมๆ มีที่ไหนวะ” นายยอดจึงตอบว่า มีตรงนี้เอง กรมหลวงชุมพรฯ จึงบอกว่า “กูให้วันละบาท มึงเอากาใส่มาให้กูใต้ต้นกะจะทุกวันนะ” นายยอดจึงต้องทำหน้าที่หาอ้ายเป้มาไว้ตามที่กรมหลวงชุมพรฯ สั่ง พอตกบ่ายท่านมาเสวยอ้ายเป้ที่ต้นกะจะนั้นทุกวัน อยู่มาวันหนึ่งท่านไปที่ต้นกะจะตามเวลา ไม่พบกาใส่อ้ายเป้ จึงสั่งคนไปตามนายยอดมา ท่านถามว่า “ทำไมไม่เอากาน้ำร้อนมา (กาใส่อ้ายเป้) นายยอดทูลตอบว่า “ตำรวจจับคนทำไปเสียแล้ว” ท่านจึงเขียนจดหมายให้มหาดเล็กถือไปอำเภอไปรับตัวตาปั่น ดีประเสริฐ คนทำกลับมาจากตำรวจ (มีบางท่านกล่าวว่า ท่านให้คนเอาเงินค่าปรับไปเสีย 20 บาท จึงรับคนกลับ) แล้วเขียนหนังสือให้ตาปั่นทำอ้ายเป้ตลอดชีวิต ไม่ให้ตำรวจจับอีก
เรื่องเกร็ดหนังสือเล่มนี้มีมากมาย ทั้งหลวงปู่ศุข และ กรมหลวงชุมพรฯ
หมายเหตุ หม่อมเดซี ที่กล่าวไว้ข้างต้น คือ หม่อมลินจง บุนนนาค เป็นพระธิดาพระยาสุริยานุวัตร (เกิด บุนนาค) กับ คุณหญิงลิ้นจี่ – ท่านเป็นสามัญชนคนแรกที่ดำรงตำแหน่งเป็นเสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ และลงนามในธนบัตร ท่านเขียนหนังสือวิชาการทางเศรษฐศาสตร์ เรื่อง “ทรัพย์ศาสตร์” จำนวน 3 เล่ม (สมัยนั้น รัชกาลที่6 ไม่พอพระทัย เพราะหนังสือพูดถึงความยากจนในสยาม การจัดการระบบเศรษฐกิจใหม่เพื่อลดการเอาเปรียบและเหลื่อมล้ำในสังคม สนันสนุนระบบสหกรณ์ (สมาคมคนทำงาน) จนเป็นหนังสือต้องห้าม และกลับมาเผยแพร่อีกครั้ง เมื่อมีการสอนลัทธิเศรษฐกิจใน มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ในปี พ.ศ. 2477)
ในเพจ Eat Pray Live กล่าวถึง “บ้านสุริยานุวัตร” ความตอนหนึ่งกล่าวว่า
“ ‘บ้านสุริยานุวัตร’ นี้เป็นที่พำนักของท่านพระยาสุริยานุวัตรและครอบครัว ซึ่งประกอบไปด้วยภรรยาคือคุณหญิงลิ้นจี่ และบุตรธิดาอีก 7 คน โดยหนึ่งในนั้นคือหม่อมลินจง หรือหม่อมเดซี่ หม่อมห้ามในพระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ สตรีที่ทรงเคยรู้จักสนิทสนมตั้งแต่ครั้งยังประทับอยู่ที่ต่างประเทศ มีเรื่องเล่าขานกันว่า หม่อมลินจงได้ทำการปลิดชีวิตตัวเองที่บ้านหลังนี้ในวันที่พระองค์ท่านทรงเข้าพิธีอภิเษกสมรสกับพระชายาและ ‘เสด็จเตี่ย’ได้ทรงมารับร่างที่ไร้ลมหายใจของหม่อมลินจงกลับไป ซึ่งหลังจากนั้นก็ไม่มีใครได้เห็นร่างของหม่อมลินจงอีกเลย
เรื่องราวจะจริงเท็จอย่างไร ไม่มีใครกล้ายืนยัน…” !
เรื่อง : Nai Mu