เทศกาลสงกรานต์ไทย
ก่อนที่ Nai Mu กรูรูสายมูผู้มีเรื่องเล่ามากมายใน God’s City จากเว็บต์ไซต์และเพจ Ticy City จะนำพาสายมูและไม่มูไปทำความรู้จักกับนางสงกรานต์ ธิดา 7 นางของท้าวกบิลพรหม ตามความเชื่อที่เกี่ยวเนื่องกับเทศกาลสงกรานต์ไทย Nai Mu ก็ต้องขอกล่าวคำทักทายก่อนว่า “สวัสดีปีใหม่ไทย” เพราะวันนี้เป็นวันเนาและยังอยู่ในช่วงวันหยุดของเทศกาลสงกรานต์

เทศกาลสงกรานต์ไทย ถูกกำหนดขึ้นระหว่างวันที่ 13-15 เมษายนของทุกปี จัดเป็นประเพณีวันขึ้นปีใหม่ไทย ซึ่งมีทั้งประเพณีในราชสำนัก และความสนุกสนานอย่างชาวบ้าน เป็นวัฒนธรรมร่วมรากของชาวเอเชีย ทุกชาติพันธุ์ที่ตอบรับความสนุกสนานจะนับถือศาสนาพุทธทั้งสิ้น
สำหรับคำว่า “สงกรานต์” นั้นมาจากภาษาสันสฤต แปลว่า ผ่านหรือเคลื่อนย้าย หมายถึง การย้ายของพระอาทิตย์เข้าไปจักรราศีใดราศีหนึ่ง และความหมายของคนไทยคือ วันที่พระอาทิตย์เคลื่อนเข้าสู่ราศีเมษในเดือนเมษายนเท่านั้น
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว Nai Muได้เล่าถึงนิทานวันสงกรานต์ไปบ้างแล้ว แต่เป็นเรื่องเล่าเน้นไปที่ท้าวกบิลพรหมเป็นหลัก ในสัปดาห์นี้เลยขอมาเล่าถึงถึงธิดาสาวนางฟ้าทั้งเจ็ด หรือ เรียกง่ายๆ ว่า “นางสงกรานต์” เป็นการร่วมเฉลิมฉลองแทนการสาดน้ำก็แล้วกัน


ประกาศสงกรานต์ 2568
เมื่อวันที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2568 กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม แจ้งว่า ฝ่ายโหรพราหมณ์ กองพระราชพิธี สำนักพระราชวัง ประกาศสงกรานต์ พุทธศักราช 2568 ดังนี้

“ปีมะเส็ง (มนุษย์ผู้ชาย ธาตุไฟ) สัปตศก จุลศักราช 1387 ทางจันทรคติ เป็น อธิกวาร ทางสุริยคติ เป็น ปกติสุรทิน”
วันที่ 14 เมษายน เป็นวันมหาสงกรานต์ ทางจันทรคติ ตรงกับวันอาทิตย์ แรม 1 ค่ำ เดือน 5 เวลา 04 นาฬิกา 28 นาที 28 วินาที นางสงกรานต์ ทรงนามว่า ทุงสะเทวี ทรงพาหุรัด ทัดดอกทับทิม อาภรณ์แก้ว ปัทมราค ภักษาหารอุทุมพร (มะเดื่อ) พระหัตถ์ขวาทรงจักร พระหัตถ์ซ้ายทรงสังข์ เสด็จไสยาสน์หลับเนตรมาเหนือหลังครุฑเป็นพาหนะ

วันที่ 15 เมษายน เวลา 08 นาฬิกา 27 นาที 36 วินาที เปลี่ยนจุลศักราชใหม่ เป็น 1387 ปีนี้ วันศุกร์ เป็น ธงชัย, วันศุกร์ เป็น อธิบดี, วันพฤหัสบดี เป็น อุบาทว์, วันอาทิตย์ เป็น โลกาวินาศ ปีนี้ วันพุธ เป็นอธิบดีฝน บันดาลให้ฝนตก 600 ห่า ตกในโลกมนุษย์ 60 ห่า ตกในมหาสมุทร 120 ห่า ตกในป่าหิมพานต์ 180 ห่า ตกในเขาจักรวาล 240 ห่า นาคให้น้ำ 5 ตัว เกณฑ์ธัญญาหาร ได้เศษ 6 ชื่อ ลาภะ ข้าวกล้าในภูมินาจะได้ผล 9 ส่วน เสีย 1 ส่วน ธัญญาหาร พลาหาร มัจฉมังสาหาร จะบริบูรณ์ อุดมสมบูรณ์ ประชาชนทั้งหลายจะเป็นสุขสมบูรณ์แล เกณฑ์ธาราธิคุณ ตกราศีอาโป (น้ำ) น้ำมาก

ทำนายจากอะไร ?
เวลาที่พระอาทิตย์ยกขึ้นสู่ราศีเมษจะเป็นเกณฑ์แสดงอิริยาบถของนางสงกรานต์ เป็นคำทำนาย เช่น เช้าถึงเที่ยง (ยืนลืมตา) เกิดความเดือดร้อนเจ็บไข้ , เที่ยงถึงค่ำ (นั่งลืมตา) เจ็บไข้ ล้มตาย เกิดเหตุเพทภัย, ค่ำถึงเที่ยงคืน (นอนลืมตา) ประชาชนเป็นสุข, เที่ยงคืนถึงเช้า (นอนหลับตา) พระมหากษัตริย์จะเจริญรุ่งเรืองดี และยังมีคำทำนายที่เกี่ยวข้องกับวันและฤกษ์ต่างๆ ในวันสงกรานต์ปีนั้นๆ อีกด้วย เช่น วันเนา , วันเถลิงศก,วันขึ้นจุลศักราชใหม่ , นาคให้น้ำ เป็นต้น


แต่หากพูดถึงนางสงกรานต์ในสมัยนี้ คนน่าจะนึกถึงการประกวด “เทพี-นางสงกรานต์” มากกว่า ตำนาน 7 ธิดาเชิญเศียรท้าวกบิลพรหมในตำนานที่คนโบราณเชื่อเป็นตุเป็นตะ โดยเวทีการประกวดนางสงกรานต์เก่าแก่ ซึ่งเป็นตำนานและอยู่เคียงคู่กับสาวงามทั้งหลายจะเป็นเวทีไหนไปไม่ได้ นอกจากเวที การประกวดเทพีสงกรานต์ วิสุทธิกษัตริย์ งานทำบุญวันสงกรานต์เริ่มต้นที่พระสงฆ์ 200 รูปในปี 2478-2479 และขยายเป็น 2,000 รูป ในปี 2482 เริ่มประชันสาวงามในชื่อ “นางงามตักบาตรสงกรานต์” ในปีนั้นรางวัล คือ ขันน้ำพานรอง ซึ่งเป็นผลผลิตบ้านพานถม

ในระยะแรกไม่มีการบันทึกชื่อผู้เข้าประกวด จนเมื่อปี พ.ศ. 2503 จึงมีการบันทึก “เทพีสงกรานต์ วิสุทธิ์กษัตริย์” คนแรกคือ เบญจวรรณ บุญตามี
นางงามในวงการหลายคนเคยผ่านการประกวดนนางงามสงกรานต์มาก่อน เช่น น้ำฝน สรวงสุดา ลาวัณย์ประเสริฐ, อลิษา ขจรไชยกุล, ลีลาวดี วัชโรบล, จริยา แอนโฟเน่, น้ำผึ้ง ณัฐริกา ธรรมปรีดานันท์ รวมถึง สินจัย หงษ์ไทย ที่มาจากเวทีสงกรานต์ทางช่อง 5

ถึงวันนี้ การประกวดนางสงกรานต์ ขยับขยายผลไปมากมายทั้งเด็ก สาวแท้ สาวทียม ในงานต่างๆ ทั้งวัดและเอกชน กรุงเทพและต่างจังหวัด


จนถึงวันนี้ ! สงกรานต์ ไม่ได้เป็นแค่วันที่คนไทยจะทำบุญร่วมความสนุกสนานกันเท่านั้น หากเป็นหมุดหมายสำหรับนักท่องเที่ยวทั่วโลกด้วย ! เนื่องจากปีที่แล้ว พศ. 2567 UNESCO มอบประกาศนียบัตรอย่างเป็นทางการให้ “สงกรานต์ไทย” เป็นมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ให้แก่กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งกรมส่งเสริมวัฒนธรรมได้จัดงาน “World Songkran Festival : ประเพณีสงกรานต์ไทย หมุดหมายนักท่องเที่ยวทั่วโลก” ผ่านเครือข่ายวัฒนธรรม 76 จังหวัดทั่วประเทศ และ 50 เขต ในกรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 1 – 21 เมษายน 2567 ทั้งนี้กระทรวงวัฒนธรรมได้เปิดตัว “แอนโทเนีย โพซิ้ว” รองชนะเลิศอันดับ 1 มิสยูนิเวิร์ส 2023 เป็นนางสงกรานต์ ประจำปี 2567 “นางมโหธรเทวี” และได้ทำเพลงสงกรานต์เป็นภาษาต่างประเทศเพื่อให้ชาวต่างชาติได้มีส่วนร่วมและเข้าใจในประเพณีนี้มากขึ้น
สำหรับ สงกรานต์ไทย ปี 2568 ภายใต้แนวคิด “สงกรานต์บ้านฉัน สีสันแบบไทย สุขไกลทั่วโลก” ยกระดับเทศกาลไทยสู่ระดับสากล

นางสงกรานต์ ทั้ง 7 ในตำนาน
คราวนี้มาเข้าเรื่องลูกสาวทั้ง 7 นางของท้าวกบิลพรหม ซึ่งเป็นบาทบริจาริกาของพระอินทร์ อยู่ในสวรรค์ชั้นที่ 1 จาตุมหาราชิกา นางสงกรานต์ประจำวันนั้นๆ ต่างทำหน้าที่เป็นผู้เชิญเศียรท้าวกบิลพรหม เวียนรอบเขาพระสุเมรุเป็นเวลา 60 นาที ก่อนจะนำเศียรนั้นไปไว้ในถ้ำคันธูลี ณ เขาไกรลาส บูชาด้วยเครื่องทิพย์ ท้าวเวสสุกรรม เนรมิตโรงประชุมหมู่เทวดาด้วยแก้วเจ็ดประการ ทุกหนึ่งปี จะนำเศียรท้าวกบิลพรหมมาเวียนครั้งหนึ่ง โดยธิดาทั้ง 7นาง มีนามดังนี้
1. นางสงกรานต์ทุงษเทวี : ประจำวันอาทิตย์ ทัดดอกทับทิม มีปัทมราค (แก้วทับทิม) เป็นเครื่องประดับภักษาหารคืออุทุมพร (มะเดื่อ) อาวุธคู่กาย พระหัตถ์ขวาถือจักร พระหัตถ์ซ้ายถือสังข์ เสด็จไสยาสน์เหนือปฤษฎางค์ครุฑ
2. นางสงกรานต์โคราดเทวี : ประจำวันจันทร์ ทัดดอกปีป มีมุกดาหาร (ไข่มุก) เป็นเครื่องประดับ ภักษาหารคือเตละ (น้ำมัน) อาวุธคู่กาย พระหัตถ์ขวาถือพระขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายถือไม้เท้า เสด็จประทับเหนือพยัคฆ์ (เสือ)
3. นางสงกรานต์รากษสเทวี : ประจำวันอังคาร ทัดดอกบัวหลวง มีโมรา (หิน) เป็นเครื่องประดับ ภักษาหารคือโลหิต (เลือด) อาวุธคู่กาย พระหัตถ์ขวาถือตรีศูล พระหัตถ์ซ้ายถือธนู เสด็จประทับเหนือวราหะ (หมู)
4. นางสงกรานต์มัณฑาเทวี : ประจำวันพุธ ทัดดอกจำปา มีไพฑูรย์ (พลอยสีเหลืองแกมเขียว) เป็นเครื่องประดับ ภักษาหารคือนมและเนย อาวุธคู่กาย พระหัตถ์ขวาถือเหล็กแหลม พระหัตถ์ว้ายถือไม้เท้า เสด็จไสยาสน์เหนือปฤษฎางค์คัสพะ (ลา)
5. นางสงกรานต์กิริณีเทวี : ประจำวันพฤหัสบดี ทัดดอกมณฑา (ยี่หุบ) มีมรกตเป็นเครื่องประดับ ภักษาหารคือถั่วและงา อาวุธคู่กาย พระหัตถ์ขวาถือพระขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายถือปืน เสด็จไสยาสน์เหนือปฏษฎางค์ชสาร (ช้าง)
6. นางสงกรานต์กิมิทาเทวี : ประจำวันศุกร์ ดัดดอกจงกลนี มีบุษราคัมเป็นเครื่องประดับ ภักษาหารคือกล้วยและน้ำ อาวุธคู่กาย พระหัตถ์ขวาถือพระขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายถือพิณ เสด็จประทับยืนเหนือมหิงสา (ควาย)
7. นางสงกรานต์มโหทรเทวี : ประจำวันเสาร์ ทัดดอกสามหาว (ผักตบชวา) มีนิลรัตน์เป็นเครื่องประดับภักษาหารคือเนื้อทราย อาวุธคู่กาย พระหัตถ์ขวาถือจักร พระหัตถ์ซ้ายถือตรีศูล เสด็จประทับเหนือมยุราปักษา (นกยูง)
โดยทางของไทยลื้อ มีนางผู้เชิญเศียร 12 นางตามปีนักษัตร
เรื่อง Nai Mu
Leave feedback about this