อมิตาภพุทธเจ้า
สำหรับเดือนนี้ Nai Mu กรูรูสายมูของ Ticy City จะมาชวนให้ปักหมุดกันไว้ในวันที่ 17 เดือน 11 ทางจันทรคติแบบจีน โดยปีนี้ตรงกับวันอังคารที่ 17 ธันวาคม ซึ่งเป็นวันประสูติของ “พระอมิตาภพุทธเจ้า” นั่นเอง
“ นำ มอ ฮอ นี ทอ ฮุก” – ข้าพเจ้าขอกราบไหว้ นอบน้อมต่อพระพุทธเจ้า ในสุขาวดีพุทธเกษตร ผู้มีรัศมีแห่งแสงสว่างและอายุยืนยาวไม่มีประมาณ ….
งานนี้ Nai Mu จะชักชวนกันไปวัดทั้งจีนนิกายและอนัมนิกาย หรือวัดญวน เพื่อกราบไหว้ สักการะบูชาพระพุทธเจ้าองค์สำคัญของฝ่ายมหายานพระองค์นี้
อมิตาภพุทธเจ้าเป็นใคร
พระนาม “อมิตาภะ” หมายถึง ผู้มีแสงส่องสว่างไม่มีประมาณ , อมิตายุส (ยุส-สะ) หมายถึง ผู้มีอายุกาลไม่มีประมาณ พระองค์เป็น 1 ใน 5 ของธยานิพุทธะ ตามคติความเชื่อว่ามี 5 พระองค์คือ (พระไวโรจนพุทธะ, พระอักโษภยพุทธะ, พระรัตนสัมภวพุทธะ, พระอมิตาภพุทธะ และพระอโมฆสิทธิพุทธะ) ทุกพระองค์ล้วนเป็นอวตารของพระพุทธเจ้าองค์ปฐม สำเร็จด้วยฌานของอาทิพุทธ
ทั้งนี้ในอุโบสถ ของวัดฝ่ายมหายาน จะมีการประดิษฐาน พระพุทธเจ้าทั้ง 3 ฝ่ายคือ ธยานิพุทธะ (อมิตาภพุทธะ) มานุษิพุทธ (พระศากยมุนีพุทธะ) และ สัมโภคกาย (พระไภษัชคุรุพุทธะ)
องค์กลางคือ ศากยมุนีพุทธะ (หรือ สมณโคดม พระพุทธเจ้าในกาลปัจจุบันที่เรานับถือ) เป็นฝ่ายมานุษิพุทธ เพราะกำเนิดในครรภ์มารดา บรรลุและประกาศธรรมในโลก พระปฏิมาจะยกพระหัตถ์แสดงธรรม บางแห่งอาจถือลูกแก้วสารพัดนึก, ด้านขวาของท่านคือ พระอมิตาภพุทธะ ฝ่ายธนานิพุทธ ทรงถือดอกบัวแดงในพระหัตถ์ และด้านซ้ายของศายมุนีพุทธ คือ พระไภษัชคุรุพุทธะ (พระไภษัชยคุรุไวฑูรยประภา) เป็นสัมโภคกาย บรมครูทางโอสถ ถือ เจดีย์ หรือ บาตร , หม้อน้ำมนต์ ในพระหัตถ์ ซึ่ง “พระกริ่ง” ที่คนไทยรู้จักกันคือ พระพุทธเจ้าพระองค์นี้นี่เอง
พระอมิตาภพุทธะ หรือ ออนีทอฮุก หรือ อามีทอฝอ เป็นพระพุทธเจ้าประจำ สุขาวดีพุทธเกษตร ที่อยู่ทางทิศตะวันตก ห่างไกลจากโลกถึงสิบล้านล้านกิโลเมตร พุทธเกษตรนี้ ใช้เวลาสร้างอาณาจักรอยู่เท่ากับระยะเวลาที่ท่านทรงบำเพ็ญจนสำเร็จ ทรงมีพระวรกายสีแดง สัตว์พาหนะคือ นกยูง พระโพธิสัตว์คู่บารมีของพระองค์คือ พระมหาสถามปราปต์ (ผู้ช่วยฝ่ายซ้าย) และพระอวโลกิเตศวร (ผู้ช่วยฝ่ายขวา)
กล่าวกันว่า ในอดีตกาลอันไกลโพ้น ยังมีมหาราชองค์หนึ่งนามว่า จักรินมหาราชา ทรงมีโอรสนับพันองค์ พระโอรสองค์โตชื่อ ปู๋จวี้ องค์รองชื่อ หนีหมอ ต่อมาเมื่อจักรินมหาราชาบำเพ็ญเพียรจนสำเร็จ เป็นพระอมิตาภพุทธเจ้า แห่งสุขาวดีโลกธาตุ พระโอรสองค์โต สำเร็จเป็นพระอวโลกิเตศวร (ผู้เป็นใหญ่ที่มีแสงสว่าง) ส่วนองค์รอง สำเร็จเป็นพระมหาสถามปราบต์ (กำลังปัญญาอันยิ่งใหญ่) โพธิสัตว์ทั้งสองพระองค์ได้ช่วยกิจของพระอมิตาภพุทธเจ้า
ดังนั้นตามวัด นอกจากประดิษฐานพระพุทธเจ้า 3 พระองค์แล้ว บางแห่งยังตั้ง พระอมิตภพุทธะ ขนาบข้างซ้ายขวาตามตำแหน่งของพระโพธิสัตว์ 2 พระองค์อีกด้วย
ก่อนที่พระศากยมนุนีพุทธเจ้าจะเสด็จเข้าสู่ปรินิพพาน ได้ตรัสพระสูตร “อมิตยุสูตร” เกี่ยวกับพระอมิตภพุทธเจ้า ผู้ประทับเป็นประธานอยู่ ณ สวรรค์ชั้นสุขาวดี ทิศตะวันตก แก่พระสารีบุตรเถระ ไว้ด้วย
พระอมิตภพุทธเจ้าและนิกายสุขาวดีได้รับความนิยมมาก โดยนิกายนี้ปลูกฝังความเชื่อว่า ผู้ใดมีความแน่วแน่นในการเปล่งนาม “นำ มอ ออนีทอฮุก” – “นะโม อมิตภะ” ก่อนวายชนม์ พระองค์พร้อมพระโพธิสัตว์ทั้ง 2 พระองค์จะเสด็จมารับวิญญาณของคนผู้นั้นไปบำเพ็ญธรรมในสุขาวดีพุทธเกษตร
ซึ่งเวลาดูซีรีส์จีน และมีหลวงจีนที่อุทานว่า “อมิตาพุทธ” ก็คือ พระนามของพระพุทธเจ้าองค์นี้นั้นเอง
ในคัมภีร์มหาสุขาวดีวยุหสูตร ได้เล่าพระประวัติและพระเกียรติคุณของพระพุทธเจ้าองค์หนึ่ง ซึ่งนับไปในอดีตถึง 10 กัลป์ นามว่า อมิตาภะ แต่เดิมนั้นเป็นมหาราชาพระองค์หนึ่ง แต่ได้มีโอกาสมาเข้าเฝ้า ณ เบื้องพระพักตร์และฟังเทศนาจากพระโลเกศวรราชพุทธเจ้าจนเกิดความเลื่อมใสศรัทธาในพระธรรม จึงตัดสินใจสละราชสมบัติออกบวชเป็นพระภิกษุ มีนามว่า “ภิกษุธรรมกร” พากเพียร เล่าเรียน เขียนอ่านยาวนานถึง 5 กัลป์ ด้วยความแน่วแน่ที่จะบรรลุพุทธภูมิและเป็นพระพุทธเจ้าในกาลเบื้องหน้า พระองค์ตั้งมั่นในมงคลพรถึง 48 ประการเพื่อประโยชน์แก่มหาชน และขอให้สุขาวดีพุทธเกษตรของพระองค์มีความงดงาม สุข สงบ และทุกคนที่ถือกำเนิดบนพุทธเกษตรแห่งนี้ จะเป็นผู้บรรลุสัมมาสัมโพธิญาณทุกคน
โลกทิพย์สุขาวดี
แดนทิพย์แห่งสวรรค์ตะวันตก ชื่อ “สุขาวดี” นี้ งดงามด้วยภูเขาแก้ว 7 ลูก ,กำแพงแก้ว 7 ชั้น ต้นตาลสูงเป็นแนวอยู่ 7 แถวโยงตาข่ายกระดึงทองคำถึงกัน ยามลมโบกพัด เกิดเสียงดนตรีทิพย์แว่วบรรเลงสอดร้อยรัดไปมา พื้นดินปูลาดด้วยทอง เรียก สุวรรณปฐพี น่าอภิรมย์ยิ่ง
ในอุทยาน ร่มรื่นด้วยต้นไม้ทิพย์น้อยใหญ่ มีสระโบกหรดี อีก 7 สระ ท่าขึ้น-ลงทั้ง 4 ทิศ ประดับด้วยสิ่งมีค่าสารพัน ทั้งโลหะ และรัตนะ อาทิ เงิน, ทอง, ไพฑูรย์, ผลึก, ทับทิม, บุราคัม, มรกต ระดับความลึกแค่กาจะก้มกินน้ำได้ แต่ละสระจะมีดอกบัวต่างพันธุ์ ต่างสีสัน ขึ้นเต็มทุกสระ ทั้งดอกเขียว,เหลือง,แดง,ขาว ฯลฯ เมื่อบัวบานมีสัณฐานใหญ่เท่ากงเกวียน
เมื่อดนตรีทิพย์บรรเลง จะมีดอกมณฑาทิพย์ (ชาวสุขาวดีนิยมบูชาพระพุทธเจ้า) โปรยปรายจากฟากฟ้า กลางวัน 3 ครั้ง กลางคืน 3 ครั้ง ส่งกลิ่นหอมเย็น ตลอดทั้งวัน , เหล่านกทั้งหลายเช่น หงส์, กระเรียน, นกยูง ส่งเสียงร้องตลอดทั้งวัน ความสุขบนแดนสุขาวดีพุทธเกษตรแห่งนี้ ไม่เคยปรากฏให้เห็นในภูมิอื่นๆ
ได้แต่ฝันหวาน … ตื่นๆๆ สายมากแล้ว อ้าว ! ฝันซะเพลินเลย
สืบลึกลงไป … พระอมิตาภพุทธเจ้า มาจากการถ่ายเททางวัฒนธรรม และไม่ใช่พระเป็นเจ้าของพุทธศาสนามาแต่เดิม ผู้ที่นำลัทธินี้ไปสั่งสอนครั้งแรกในดินแดนจีนคือ เจ้าชายชาวปาร์เถียน จากประเทศอิหร่าน เชื่อกันว่า มีต้นรากจากลูกผสมของอิหร่านกับอินเดีย ที่ให้ความสำคัญในการบูชา “แสงสว่าง-กำลัง-ปัญญา” และน่าจะมีต้นเค้าจากเทพดั้งเดิมของชาวอิหร่าน นามว่า ในซูร์วาน ซึ่งเป็นเทพดั้งเดิมในศาสนาเปอร์เซียและเทพแห่งกาลเวลาและอวกาศอันไม่มีที่สิ้นสุด ซูร์วานเป็นเทพที่เป็นกลาง เนื่องจากบุตร เป็นตัวแทนของสองสิ่งที่ตรงข้ามกัน ซูร์วานจึงไม่มีการแบ่งแยกระหว่างความดีและความชั่ว ซูร์วานยังเป็นเทพแห่งโชคชะตา แสงสว่างและความมืดอีกด้วย
เล่ามาถึงขนาดนี้ วันที่ 17 เดือน 11 ซึ่งตรงกับวันอังคารที่ 17 ธันวาคม นี้ ก็อย่าลืมไปกราบไหว้ สักการะบูชาพระพุทธเจ้าองค์สำคัญของฝ่ายมหายานพระองค์นี้กันนะ
เรื่อง : Nai Mu
Leave feedback about this