แหล่งชุมชน
คำกล่าวที่ว่า “จีน-ไทย ใช่อื่นไกลคือพี่น้องกัน” เป็นคำกล่าวที่ Ticy Cityเห็นว่าไม่เกินจริงเลยสักนิด เป็นความผูกพันที่เกี่ยวเนื่องมายาวนานไม่ว่าจะเป็นทางสายเลือดหรือสัมพันธไมตรีที่เคารพนับถือต่อกัน โดยเฉพาะกับ 5 บรรพบุรษไทยในศาลเจ้าจีน ที่ชาวจีนต่างให้ความเคารพ ซึ่งอยู่ในแหล่งชุมชนต่างๆ โดย Nai Mu กรูรูสายมูผู้มีเรื่องเล่ามากมายใน Ticy City อาสาเป็นไกด์พาทัวร์ นับว่าเป็นการเริ่มต้นฉลอง 50 ปี ความสัมพันธ์ทาง การฑูตไทย-จีน ในปีนี้
วันนี้ Nai Mu จะพาไปศาลเจ้าจีน 5 แห่งใน 3 แหล่งชุมชน ซึ่งประดิษฐานพระรูปบรรพบุรุษที่คนไทยและชาวจีนเคารพยกย่อง ชุมชนแรกคือ บริเวณตลาดยอดพิมาน ปากคลองตลาด มี ศาลสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า และซุ้มเจ้าพ่อบุญมา (สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท-วังหน้า) พระอนุชาในรัชกาลที่ 1 , ชุมชนย่านบางลำพู มี ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสิน และ ศาลพันท้ายนรสิงห์ และสุดท้าย ชุมชนตลาดนางเลิ้ง คือ ศาลเสด็จพ่อกรมหลวงชุมพร ทุกแห่งที่จะพาไปรู้จักนี้ ผู้คนไม่พลุกพล่าน
ศาลเจ้า “รัชกาล1 และเจ้าพ่อบุญมา”
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ปฐมกษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ มีพระนามจีนว่า “แต้ฮั้ว” เพื่อเป็นการระลึกถึงพระเกียรติคุณของพระองค์ จึงมีการสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ที่สะพานพุทธยอดฟ้า หรือชื่ออย่างเป็นทางการคือ สะพานปฐมราชานุสรณ์ เมื่อปี พ.ศ. 2472
ทั้งนี้ตามที่อื่นๆ หรือตามวัดวาอารามต่างๆ อาจจะพบพระรูปสำหรับสักการะ-บูชา แต่ที่นี่ … เป็นศาลที่มีกลิ่นอายในสไตล์จีน ด้วยเครื่องบูชาแปลกตาแบบจีน เช่น แขวนโคมแดงไว้หน้าศาล , กระถางธูปปักกิมฮวย เป็นต้น ห่างไม่ไกลจากศาลของพระองค์ท่าน มีซุ้มบูชา พระอนุชาธิราชของพระองค์ท่าน ซึ่งก็คือ สมเด็จพระวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ซึ่งชาวปากคลองเรียก “เจ้าพ่อบุญมา” ตามพระนามเดิมของท่าน ศาลทั้ง 2 แห่ง ใช้เวลาเพียงไม่กี่นาทีก็เดินเชื่อมถึงกัน! แต่ถ้าหากเดินเข้าทางซุ้มประตูสีเหลืองนวล ชื่อ “ตลาดกลางผักและผลไม้ ปากคลองตลาด” จะเห็นซุ้มบูชาของเจ้าพ่อบุญมาก่อน
สำหรับพื้นที่บริเวณนี้เคยเป็นที่ดินส่วนพระองค์ของในหลวงรัชกาลที่ 1 เมื่อคราวย้ายกรุงมาตั้งเมืองใหม่ในฝั่งพระนคร ต่อมาพื้นที่บริเวณนี้ได้รับการพัฒนาให้กลายเป็นตลาดในปี 2504 และในปีเดียวกันนั้นเอง ชาวบ้านได้สร้าง “ศาลไม้” เพื่อสักการะบูชา ชาวบ้าน พ่อค้า แม่ขาย ต่างเชื่อในพระบารมีของพระองค์ นิยมมากราบไหว้ขอพรในเรื่องการค้าการขายอยู่เนืองๆ ต่อมามีการบูรณะครั้งใหญ่ เปลี่ยนศาลไม้เป็น “ศาลสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า” แบบถาวร ในปี 2527 ด้วยสถาปัตยกรรม ผสมผสานความเป็นไทยและจีนเข้าด้วยกัน ศาลแห่งนี้ ประดิษฐานพระบรมรูปทรงยืนพระองค์หนึ่ง เบื้องหน้าเป็น พระบรมรูปนั่งประทับบนบัลลังก์ พร้อมพระแสงคู่กาย โดยประดับเครื่องยศ ที่เรียกว่า “กิมฮวย” (ดอกไม้ทอง) เครื่องบูชาของชาวจีน ซึ่งมีตั้งแต่รูปทรงเล็กๆ คล้ายใบไม้สีทอง มีลวดลายมงคลต่างๆ และแซมด้วยหางนกยูง กิมฮวยนี้จะปักเฉียงเป็นตัว V บนกระถางธูป นอกจากนี้ ยังนิยมใช้กิมฮวยขนาดใหญ่ เป็นเครื่องบูชาให้กับ 2 พระองค์อีกด้วย
สำหรับสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท เป็นพระรูปนั่งประทับ ประดิษฐานในซุ้มบูชาองค์สมเด็จเจ้าพ่อปากคลองตลาด เรียกสั้นๆ ว่า “เจ้าพ่อบุญมา” ทรงเป็น “วังหน้า” พระองค์แรกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงร่วมพระราชสงครามกับพระเชษฐาถึง 8 ครั้ง คือระหว่างปีพ.ศ. 2325 – พ.ศ. 2345 ทั้งยังยังทรงอุปถัมภ์บำรุงการพระศาสนา ศิลปวรรณกรรม และสถาปัตยกรรม อีกมาก
ศาลพระเจ้าตากสิน – ศาลพันท้ายนรสิงห์
ณ ชุมชนบ้านพานถม บริเวณริมคลองบางลำพู ไม่ไกลจากวัดบวรนิเวศวิหารนัก ซึ่งภายใน “ศาลพระเจ้าตากสินมหาราช พระยาพิชัยดาบหัก เจ้าแม่ทับทิม” มีพระบรมรูปสมเด็จพระเจ้าตากสินประทับบัลลังก์ว่าราชการเป็นองค์ประธาน ตามพระราชประวัติ พระเจ้าตากสินมีเชื้อสายของจีนแต้จิ๋ว มีพระนามจีนว่า “แต้เจียว” คนจีนในเมืองไทยนิยมเรียก “แต้อ๊วง” ,ด้านซ้ายมือ เป็นรูปหล่อของ “พระยาพิชัยดาบหัก” ทหารคู่ใจผู้ซื่อสัตย์และกตัญญู ด้านขวาคือ เจ้าแม่ทับทิม ขนาบซ้าย-ขวาด้วยเทพหูทิพย์ -เทพตาทิพย์ ซึ่งเป็นเทพบริวาร คอยช่วยเหลือกิจของเจ้าแม่
แต่เดิมเป็นศาลไม้ ตั้งอยู่ในทุ่งริมคลองบางลำพู นอกเขตกำแพงพระนคร ต่อมา กรุงเทพมหานครได้เวนคืนที่ดินและย้ายศาลมาตั้งในที่ปัจจุบัน จากศาลไม้เปลี่ยนเป็นศาลปูน อาคารชั้นเดียว หลังคาปูกระเบื้องดินเผา คล้ายโบสถ์ไทย หน้าจั่วเป็นรูปตรีศูล ตราสัญลักษณ์ประจำรัชกาลของพระองค์ ซึ่งปรากฏในเงินพดด้วงสมัยกรุงธนบุรี แต่งเติมด้วยลวดลายไม้ประดับ และค้างคาว- สัตว์อายุยืนซึ่งทรนงในศักดิ์ศรี แม้ยามสิ้นชีวิตก็หลบซ่อนไม่ให้ผู้ใดเห็น และเสือซึ่งเป็นนักษัตรของปีพระราชสมภพในพระองค์
เดินถึงกันสบายมาก เข้าสู่บริเวณถนนไกรสีห์ เป็นที่ตั้งของ “ศาลเจ้าพ่อเขาตก และ เจ้าพ่อพันท้ายนรสิงห์” ซึ่งเป็นศาลเจ้าในชุมชนตลาดยอด ต่อมาเกิดไฟไหม้ตลาดยอดครั้งใหญ่ในปี 2510 ศาลได้รับความเสียหาย จึงได้มีการสร้างศาลไม้ ไว้ในตำแหน่งเดิม และต้องย้ายเมื่อกรุงเทพมหานครต้องการสร้างอาคารจอดรถ หลังเสร็จสิ้นเมื่อปี 2534 จึงได้สร้างศาลแห่งนี้เป็นการถาวร
สิ่งศักดิ์สิทธิ์ในศาล นอกจากเจ้าพ่อเขาตกแล้ว ยังมีพระโพธิสัตว์กวนอิม และพันท้ายนรสิงห์ โดยพระเอกของศาลแห่งนี้ คือรูปสักการะ ”พันท้ายนรสิงห์” ซึ่งเล่าลือกันว่า เป็นประติมากรรมแรก ที่เสด็จพระองค์ชายใหญ่ พลตรีพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล สร้างขึ้นหลังจากที่หนัง “พันท้ายนรสิงห์” ที่ท่านสร้างขึ้นและออกฉายในปี 2493 ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก ทั้งแง่รายได้ และการกล่าวขานถึงวีรกรรมของนายท้ายเรือผู้นี้ ที่เป็นคนสุจริต จงรักภักดี และรักในกฎระเบียบวินัยยิ่งชีวิต ไม่ว่า พันท้ายนรสิงห์จะมีตัวตน หรือเป็นเรื่องแต่ง แต่คุณสมบัติเหล่านี้ก็ควรค่าแก่การเชิดชูและกล่าวถึง
ศาลเสด็จพ่อกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ตลาดนางเลิ้ง
แต่เดิม ศาลเสด็จพ่อกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ หรือที่เรียกขานท่านกัน ว่า “เสด็จเตี่ย” ที่ตลาดนางเลิ้งแห่งนี้ เป็นแบบศาลเจ้าจีน ตั้งขึ้นเมื่อปี 2502 โดยอัญเชิญเทพเจ้าจีนหลายพระองค์ รวมถึง “เสด็จเตี่ย” พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ไว้ด้วย เนื่องจากพระองค์ท่านมีวังที่พำนักในเขตนี้ คนไทยและคนจีนย่านนางเลิ้งนับถือท่านมาก
โดยสมัยที่ท่านยังมีพระชนม์ชีพอยู่ ได้มาที่ตลาดนี้อยู่เนืองๆ เมื่อไม่กี่ปีมานี้ ได้มีการบูรณะศาลใหม่ แม้หน้าตาของศาลจะเปลี่ยนไป ก็ยังคงกลิ่นอายศิลปะสไตล์จีนที่พอให้คุ้นเคยกัน ภายในศาลนอกจากพระบรมรูปเสด็จเตี่ยแล้ว ยังมี ปึงเถ่ากง-เทพเจ้ากวนอู-ไฉ่สิ่งเอี้ย – เจ้าแม่กวนอิม อีกด้วย
อีกไม่กี่สัปดาห์จะเข้าสู่เทศกาลตรุษจีนแล้ว Nai Mu จึงอยากชวนสายมูและไม่มูทั้งหลายมากราบไหว้สักการะ 5 บรรพบุรุษไทยในบรรยากาศใหม่ในจีนสไตล์กัน เพื่อความเป็นสิริมงคลตามความเชื่อ
Leave feedback about this