วัดคณิกาผล
สำหรับสายมูที่ติดตามเรื่องเล่าของ Nai Mu ใน Ticy City ต้องไม่พลาดความสนุกสนานจากเรื่องเล่าที่จะพาย้อนเวลาไปท่องโรงคณิกาอันดับหนึ่งในยุคแผ่นดินรัชกาลที่ 3 ซึ่ง ของ “อำแดงแฟง” เจ้าของโรงคณิกาสุดฮอตในสำเพ็ง และเป็นตำนานเล่าขานมาถึงทุกวันนี้ และอำแดงแฟงคนนี้ก็คือผู้ที่สร้าง “วัดคณิกาผล” นั่นเอง


โดยวันนี้ Nai Mu ขอตามรอยละคร “คุณพี่เจ้าขา ดิฉันเป็นห่านมิใช่หงส์” ทีกำลังออกอากาศทุกวันพุธ-พฤหัสบดี ทางช่อง3 โดยละครเรื่องนี้ เป็นเรื่องราวของ “นิทรา” ดาราสาวที่ทะลุมิติกลับไปในสมัยรัชกาลที่ 3 ซ้ำร้าย เธอยังถูกขายให้เป็นนางคณิกา ในโรงแม่แฟงที่ตรอกเต๊า ย่านสำเพ็ง เยาวราช เรื่องนี้ รินลณี ศรีเพ็ญ รับบท “แม่แฟง” แม้ก่อนหน้านี้ ทางช่องวัน 31 เคยทำซีรีส์เรื่อง “บางกอกคณิกา” แต่โคมเขียวของบางกอกคณิกาเป็นยุคต่อเนื่องมาในสมัยรัชกาลที่ 5

ย่าแฟง เปาโรหิตย์ : เมียเจ้าสัวเอี๋ยน!
ชีวิตจริงตามประวัติศาสตร์ “ย่าแฟง”เป็นบรรพบุรุษของ “ตระกูลเปาโรหิตย์” ศาสตราจารย์ธงทอง จันทรางศุ คือลูกหลานสายตรงคนหนึ่งของท่านย่า
“อำแดงแฟง” เป็นสาวคนไทยที่แต่งงานกับ “เจ้าสัวเอี๋ยน” เศรษฐีชาวจีน ซึ่งมีอาชีพทำสวนพลูในฝั่งธนบุรี เมื่อพระเจ้าตากสินประสงค์จะใช้ที่ดินสร้างพระราชวัง ชาวจีนจึงย้ายอพยพมาสร้างชีวิตใหม่ในฝั่งพระนคร ซึ่งเจ้าสัวเอี๋ยนผู้นี้มีชื่อเสียง อำนาจ บารมี ชาวบ้านจึงเรียกตรอกที่พักของเจ้าสัวว่า “ตรอกอำแดงแฟง” อยู่ในย่านสำเพ็ง แหล่งการค้าที่เจริญรุ่งเรืองในสมัยรัชกาลที่ 3 แต่ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 4 ประมาณปี พ.ศ.2403 เกิดไฟไหม้ครั้งใหญ่ในย่านสำเพ็ง บ้านเจ้าสัวเอี๋ยนและตรอกอำแดงแฟง วอดไปกับกองเพลิง จนวันนี้ไม่มีใครรู้ว่าพิกัดของตรอกนี้ตั้งอยู่ที่มุมไหนในสำเพ็ง !

อำแดงแฟง-เจ้าสัวเอี๋ยน (แซ่ตัน) มีลูกสาว 2 คน คนโตชื่อเอม แต่งงานกับพระมหาราชครูมหิธร (กลีบ) ลูกชายของพระมหาราชครูปูโรหิตาจารย์ (บุญรอด) , ลูกสาวคนเล็กชื่อกลีบ แต่งงานกับชายไทยไม่ทราบชื่อ มีลูกสาวคนโตชื่อสวาทเสียชีวิตแต่ยังเยาว์ ส่วนลูกชายก็เลี้ยงยาก ถึงขนาดแม่กลีบต้องนำลูกชายใส่กัณฑ์เทศน์ จึงได้ชื่อว่า “กัณฑ์” ต่อมาคือ พระดรุณรักษา (กัน) ต้นสกุล สาครวาสี

ในสมัยรัชกาลที่ 3 อำแดงแฟง เมียเจ้าสัวเอี๋ยน ผู้มากบารมี เป็นผู้ดูแลธุรกิจโคมเขียวชื่อ “โรงแม่แฟง” ที่ตรอกเต๊า เรียกตามภาษาสมัยนี้ก็คือ “แม่เล้า” เป็นสำนักโสเภณีที่โด่งดังที่สุดของสำเพ็ง-เยาวราชจนกลายเป็นตำนานเล่าขานมาถึงทุกวันนี้ ภายหลังเมื่อแม่แฟงเลิกทำธุรกิจนี้ นางกลีบผู้เป็นลูกสาวคนเล็กก็มารับช่วงต่อ


“ตรอกเต๊า” ในมืดมีสว่าง !
ตรอกเต๊า หรือเยาวราชซอย 8 ในปัจจุบัน เป็นซอยเล็กๆ แคบๆ วิ่งเข้าได้แค่จักรยาน, มอเตอร์ไซค์และรถเข็นเท่านั้น ซอยนี้แวดล้อมด้วย วัดจีน-วัดญวน-วัดไทย จากปากซอยเดินไม่กี่ก้าว ด้านซ้ายมือ เป็นที่ตั้งของ “วัดบำเพ็ญจีนพรต” วัดจีนแห่งแรกของกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นวัดในสไตล์ห้องแถว ซึ่งแต่เดิม ในสมัยรัชกาลที่ 1 ที่ตรงนี้คือวิหารร้างของพระโพธิสัตว์กวนอิม ต่อมาราวปี พ..ศ. 2414 ในสมัยรัชกาลที่ 5 พระอาจารย์สกเห็ง เดินทางมาจากเมืองจีน จึงได้มาพัฒนาและบูรณะวิหารร้างแห่งนี้เป็นวัดจีน เปลี่ยนชื่อจาก “ย่งฮกอำ” เป็น “ย่งฮกยี่” พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานชื่อวัดจีนนี้ว่า “วัดบำเพ็ญจีนพรต” และพระราชทานสมณศักดิ์ พระอาจารย์สกเห็ง เป็นพระอาจารย์จีนวังสมาธิวัตร เจ้าคณะใหญ่จีนนิกายรูปแรกของประเทศไทย

ผ่านวัดสู่ตรอกแคบๆ คือย่านโคมเขียว ที่เคยเฟื่องฟูในสมัยรัชกาลที่ 3ถึงรัชกาลที่ 5 สมัยนั้นเป็นเพียงห้องแถวไม้เรียงรายยาวตลอดทั้งตรอก ทุกสำนักจะแขวนโคมเขียวไว้หน้าบ้าน… เป็นหมุดหมายบอกพิกัดแห่งการค้าในซอยลับยามค่ำคืน! จุดโคมแล้วจะมีเคล็ด โดยใช้ธูปราว 20 ดอกไปลนวนใต้โคม เรียกแขก เปิดตลาด
ถัดมา ซ้ายมือจะเห็นประตูเหล็กด้านข้างของวัดกุศลสมาคร (วัดญวน) ที่ปิดไว้ เดินลึกเข้าไปจนทางเริ่มกว้างขึ้น ด้านขวาจะพบ ประตูสัมมุขาสังฆพัฒนา ของวัดไทยชื่อ กันมาตุยาราม ที่แม่กลีบสร้างไว้เมื่อ พ.ศ. 2407 สามารถเดินเข้าวัดในประตูนี้ได้ และสามารถเดินตรงไปจนทะลุถนนเจริญกรุง ซอย 14 (ซอยวัดกันมาตุยาราม) ปากซอยเป็นที่ตั้งของร้านอาหาร ฮั่วเซ่งฮง ซอยติดๆ กัน จะเป็นประตูหน้าของวัดกันมาตุยาราม สังเกตุง่าย เพราะมีศาลเจ้าแม่กวนอิม ตั้งเด่นอยู่บริเวณทางเข้าวัด ภายในวัดปัจจุบัน รกสักหน่อย เพราะเป็นเหมือนโกดังย่อยๆ สำหรับขึ้น-ลงสินค้าในย่านนี้ !
Cool & Hot ที่โรงแม่แฟง
“เล่าเรื่องบางกอก” ของ ส.พลาย ตอน “สำเพ็ง” กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า
“….ยายแฟงเศรษฐีนีมีลูกสาวคนหนึ่งชื่ออำแดงกลีบ ตามเรื่องปรากฏว่าอำแดงกลีบผู้นี้ก็เป็นเจ้าของโรงโสเภณีมีชื่อไม่น้อยไปกว่าคุณยายแฟงผู้เป็นมารดาอีกเหมือนกัน และนับว่าเป็นสถานที่ชั้นเยี่ยมแห่งหนึ่งในสมัยนั้น คือบรรดาห้องของหญิงทุกๆ ห้องประดับด้วยเครื่องสวยๆ งามๆ ราวกับห้องลูกสาวของคหบดีมีเงินกันทีเดียว เช่นมีม้าหรือโต๊ะกระจกตั้งพานเครื่องแป้งถมโถถมปริกทอง ขันน้ำถม กระโถนเงิน มุ้งแพร ซึ่งโรงโสเภณีอื่นๆ สู้ไม่ได้ เพราะอย่างดีก็มีใช้เป็นเครื่องเงินธรรมดาเท่านั้น…”

โรงแม่แฟงเลือกสรรเครื่องจรุงใจหลายอย่างขึ้นมารองรับ นอกเหนือจากห้องหับ และสาวสวยกว่าโรงแม่อื่นๆในย่านเดียวกัน มีกิจกรรมบันเทิงย้อมใจ ไม่ว่าจะเป็นดนตรีและการแสดงต่างๆ เนื่องจากตลาดจีนในสมัยรัชกาล 3 เป็นย่านการค้าที่ชนทุกชาติเข้ามาหาความสำราญในการพักผ่อน สมัยนั้นธุรกิจโคมเขียวยังถูกกฎหมาย ปีหนึ่งๆ ส่งภาษีเข้ารัฐเป็นจำนวนมาก นอกจากบริเวณสำเพ็งและสถานที่ใกล้เคียงก็มีโรงโคมอื่นๆ อีกหลายแห่ง
ซึ่งโรงโคมของบรรดาแม่ๆ ที่มีชื่อในช่วงรัชกาลที่ 3 จนถึงรัชกาลที่ 6 เช่น ยายแฟง, แม่กลีบ, ยายเต๊า, ยายอิ่มขาว, ยายหม่อม, นายเม่งฮวด , ยายอบ, ตึกยี่สุ่นเหลือง โดยในปีพ.ศ. 2438 สมัยรัชกาลที่ 5 มีบันทึกว่า ในกรุงเทพฯ มีซ่องถึง 67 โรง และโสเภณีถึง 656 คน

วัด : รายได้จากโคมเขียวและคณิกา
ยายแฟงทำธุรกิจหลายปีจนร่ำรวยกว่าเดิมเป็นอันมาก จึงคิดจะสร้างวัดตามแนวพระราชนิยมของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้ใช้ทุนทรัพย์ส่วนตัวรวมกับเงินสมทบจากบรรดาลูกสาวที่เคยทำงานในโรงแม่แฟง สร้างวัดขึ้นเมื่อปีพ.ศ. 2376 โดยมีชื่อว่า “วัดใหม่ยายแฟง” เช่นเดียวกับนางกลีบ ผู้เป็นลูกสาว ก็สร้างวัดไทย ไม่ห่างไกลจากแหล่งธุรกิจนัก
นายกัน ลูกชายนางกลีบได้มีโอกาสติดตามกองทัพไทยไปปราบฮ่อที่เมืองหนองคาย กลับมารับบรรดาศักดิ์เป็น “หลวงบริคุตวรภัณฑ์ (กัน) เจ้ากรมภาษี และทูลถวายวัดใหม่ยายแฟงของยาย และ วัดที่แม่กลีบสร้างให้เป็นอารามหลวง แต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เห็นว่า วัดหลวงมีมากแล้ว จึงไม่โปรด แต่พระราชทานชื่อวัดทั้ง 2 แห่งนี้ใหม่ว่า “วัดคณิกาผล” (วัดใหม่ยายแฟง) และ “วัดกันมาตุยาราม” (วัดของมารดานายกันซึ่งก็คือนางกลีบ) วัดแห่งนี้มีรูปหล่อครึ่งตัวของแม่กลีบเช่นเดียวกับวัดคณิกาผลที่มีรูปหล่อของย่าแฟง เป็นที่ระลึกถึงความดีในการบุกเบิกสร้างวัด !

ใครอยากจะมู “ย่าแฟง” ผู้เป็นต้นเรื่อง เชิญได้ที่ “วัดคณิกาผล” ย่านพลับพลาไชยได้ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 07.00-22.00 น. ส่วนใหญ่ ผู้มาบูชาท่านมักจะเป็นหญิงขอในเรื่องเมตตามหานิยม และจะมากันในช่วงแดดร่มลมตก เพราะเชื่อกันว่าพลังของย่าแฟงยามหลังอาทิตย์ตกดินไปแล้วจะครบถ้วน แม้ว่าผู้มาขอพรในปัจจุบันนี้ไม่ได้มีอาชีพอย่างว่าแล้วก็ตาม แต่เนื่องจากเมื่อสมัยท่านยังมีชีวิตอยู่ กิจการโคมเขียวโรงแม่แฟงของท่าน จะครึกครื้นในช่วงอาทิตย์ตกดิน เพื่อต้อนรับบรุษแปลกหน้าที่จะมาเยือน ณ เรือนโรงแม่แฟงแห่งนี้ !
เรื่อง : โดย Nai Mu
Leave feedback about this