ลองลิ้มชิมรสกับ Content Creator สายอาหาร ผู้มีประสบการณ์ยาวนาน เจ้าของเพจ ‘กินกับพีท’
เมื่อพูดกันถึงสายงานที่เกี่ยวข้องกับ ‘อาหาร’ แล้วนั้น ดูเหมือนว่าอาชีพของ ‘นักชิม’ จะเริ่มเป็นที่ปรากฏขึ้นอย่างมากมาย ตามการเติบโตของสื่อ Social Media ที่ขยายตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว จากอาชีพที่มีจำนวนเพียงหยิบมือ ก็เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก จากร้านอร่อยเพียงไม่กี่ร้าน ก็ปรากฏซึ่งร้านลับ ตำรับเด็ดต่างๆ ที่ถูกพาไปชิมลิ้มลอง ให้รับชมผ่านการถ่ายทอดบันทึกด้วยเทคนิคที่น่าดู น่าชมต่างๆ ทั้งในแบบมือสมัครเล่น และมืออาชีพ
นั่นทำให้การแข่งขันในเวทีของนักชิม ที่จะโดดเด่นขึ้นมาเป็นแถวหน้าของวงการ ไม่ใช่งานที่ง่าย แต่ต้องมีทักษะที่เป็นเฉพาะ ความรู้ที่รอบด้าน และประสบการณ์ที่สั่งสมมาเป็นอย่างดี เรียกว่าต้องให้ผู้ชมได้สิ่งใดสิ่งหนึ่งกลับไป ตั้งแต่เดินเข้าประตูหน้าร้าน ลิ้มลองอาหารในจาน จนถึงปิดท้ายจ่ายเงินในตอนจบเลยก็ว่าได้
ซึ่งชื่อของ ‘พีรพัฒน์ ตุลยาเดชานนท์’ หรือที่รู้จักกันในนามเจ้าของเพจ ‘กินกับพีท’ ก็เป็นอีกหนึ่งนักชิมที่ยืนหยัดในแวดวงมาอย่างยาวนาน คร่ำหวอดในสายงาน Food Content มากว่า 12 ปี เป็นทั้งนักชิม กรรมการเชฟกระทะเหล็ก ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยประสบการณ์ทั้งในแง่ทฤษฏีและภาคปฏิบัติอย่างคร่ำหวอด ที่ Ticy City จะขอเชิญให้ไปร่วมสัมผัส พูดคุย และเรียนรู้เรื่องราวของเขา ผ่านบทความที่เราพร้อมจะนำเสนอในวรรคถัดจากนี้
จากความชอบในการทาน สู่งาน ‘กินกับพีท’
ชีวิตของผู้ชายที่ชื่อพีท-พีรพัฒน์ ตุลยาเดชานนท์ ในแรกเริ่มนั้นไม่แตกต่างจากคนอื่นๆ มากนัก เขาสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกาณ์ภาคภาษาญี่ปุ่น ก่อนจะเข้าศึกษาในคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภาควิชาการประชาสัมพันธ์ ทั้งระดับปริญญาตรีและปริญญาโท และเริ่มการทำงานในสายงาน พีอาร์ (PR ) ตามเส้นทางสายอาชีพทั่วไป
แต่หลายครั้ง สิ่งที่จะกลายเป็นเส้นทางอาชีพ ก็มักจะมาในจังหวะและโอกาสที่แตกต่างจากทั่วไป และมาในรูปแบบของ ‘ความชื่นชอบ’ ซึ่งสำหรับคุณพีท คือความชอบในการทานของอร่อย ….
‘ที่บ้านนับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิคครับ และส่วนตัวเป็นคนชอบเรื่องอาหารอยู่แล้วเป็นทุนเดิม ก็จะหาร้านอาหารเตรียมเอาไว้หลังไปโบสถ์ในทุกสัปดาห์ เลยเริ่มต้นจากการทำเพจเก็บร้านที่ทางบ้านชื่นชอบ ก่อนจะต่อยอดมาเป็นเพจแนะนำเพื่อนที่เรียนในหลักสูตรปริญญาโทท่านอื่นๆ’
และจากการเริ่มต้นอย่างง่ายๆ เช่นนี้เอง ที่การบอกเล่าปากต่อปาก และจำนวนร้านอาหารที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้คุณพีท ตัดสินใจที่ลองเปิดเพจสำหรับคนนอกที่ไม่ใช่เพื่อนเข้ามารับชม จากเพจที่ตั้งค่าเฉพาะส่วนตัว (Private) ก็ขยายกลายมาเป็นเพจสาธารณะ (Public) ตามจำนวนร้านอาหารที่ไปทานมากขึ้น ขยายขอบเขตของทั้งจำนวน ความชื่นชอบ และการปฏิสัมพันธ์กับผู้คนที่ชอบของอร่อย ยาวนานต่อเนื่องมาเกือบ 12 ปีเต็ม
การทำคอนเทนต์สายอาหารให้ ‘อร่อย’
เพจ ‘กินกับพีท’ เป็นเพจหนึ่งในสาย Food Content ที่ได้รับความนิยมอย่างมาก และมักจะได้รับการแนะนำจากคนในแวดวงอย่างสม่ำเสมอ นั่นสะท้อนถึงคุณภาพ และมาตรฐานในการทำ Content ที่ดี และด้วยเวลาที่ต่อเนื่องมาถึง 12 ปี การจะยืนระยะอยู่ในแวดวงยาวนานเช่นนี้ ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะนอกจากความรู้ที่ต้องถึงแล้ว เทคนิคการถ่ายทำ การบอกเล่าเรื่องราว และการถ่ายทอดประสบการณ์ ก็มีส่วนสำคัญอย่างยิ่ง
‘แนวทางหลักๆ ของเพจ ‘กินกับพีท’ ที่ยังคงเอาไว้เสมอมา คือการเป็นตัวของตัวเอง โชว์หน้าตาชัดเจนว่าไปทานมาจริงๆ บอกเล่าประสบการณ์และเนื้อหาอย่างตรงไปตรงมา ให้ความรู้สึกว่า ได้คุยกับเพื่อน ได้ฟังเพื่อนแนะนำร้าน’
กระนั้นแล้ว เมื่อเพจเริ่มเป็นที่รู้จักและสนใจ มีผู้ติดตามเข้ามารับชมเป็นจำนวนมาก ปัญหาหนึ่งที่มักสร้างความลำบากใจอยู่เสมอ คือการมี ‘สปอนเซอร์’ ที่พร้อมสนับสนุน ที่เป็นได้ทั้งข้อดีและข้อติดขัด ทางหนึ่ง มันเป็นโอกาสที่ดีที่จะได้เนื้อหาใหม่ๆ ที่น่าสนใจ แต่อีกทาง มันก็เป็นความกดดันอยู่ไม่น้อยสำหรับผู้ทำคอนเทนต์ โดยเฉพาะกับสาย Food Content ที่ต้องการความตรงไปตรงมา แต่คุณพีทก็มีวิธีการรับมือกับปัญหาดังกล่าวได้อย่างละมุนละม่อมยิ่ง
‘สิ่งหนึ่งที่ผมตั้งเอาไว้ในใจเลยคือ ร้านที่ไปรับประทาน ต้องอร่อยจริงในความรู้สึกของเราครับ และต้องเป็นที่ยอมรับอย่างต่อเนื่อง ส่วนเรื่องที่ว่าจะเลือกร้านไหนนั้น ก็ยังค่อนข้างจะเลือกตามใจที่อยากทาน หรือร้านที่ได้ยินจากกระแสในช่วงนั้น แน่นอน การไปหลายๆ ร้าน ไม่ใช่ทุกร้านที่จะอร่อยทั้งหมด ในจุดนี้ ก็จะบอกไปตรงๆ แต่ความต่างอย่างหนึ่งคือ ถ้าเป็นร้านที่สปอนเซอร์ ก็จะรอให้ทางร้านปรับปรุง แล้วจะกลับมาทานซ้ำครับ
นอกเหนือจากรีวิวร้านอาหารแล้ว เพจ ‘กินกับพีท’ ยังมีเนื้อหาอื่นๆ ที่น่าสนใจ เช่น การรีวิวของสะสม รีวิวโรงแรม และเนื้อหาไลฟ์สไตล์ที่ไปกันได้กับแนวทาง ทำให้เพจไม่ร้าง และมีเนื้อหาอัพเดตต่อเนื่องอยู่ตลอด ให้ครบพร้อมความสดใหม่ทั้งในแง่ปริมาณและคุณภาพ รวมถึงการที่เขาได้มีโอกาสไปเป็นกรรมการของรายการ ‘เชฟกระทะเหล็กเมืองไทย’ และกรรมการของ ‘เชลล์ชวนชิม’ ที่มีส่วนในการรับรู้ของผู้คนที่มีต่อเพจในทางหนึ่งด้วยเช่นกัน
ด้วยความที่ผมเป็นคณะกรรมการเชฟกระทะเหล็กประเทศไทย และเชลล์ชวนชิม อาจมีส่วนทำให้ผู้ติดตามเพจได้เปิดใจลองทานร้านใหม่ๆ ที่นำเสนอออกไปมากขึ้น อย่างน้อยที่สุดก็คงคิดว่า ถ้าแนะนำโดยกรรมการเชฟกระทะเหล็ก รสชาติก็น่าจะดีในระดับหนึ่ง’
สิ่งที่ได้เรียนรู้จากประสบการณ์ 12 ปีในเส้นทางคอนเทนต์สายอาหาร
แม้คุณพีท จะคร่ำหวอดด้วยประสบการณ์ในสายคอนเทนต์อาหาร ลองชิมมานับหมื่นร้าน ชิมอาหารเกือบจะทุกรูปแบบ แต่การปรับตัวของร้านอาหารหลังการแพร่ระบาดของ COVID-19 ในปี 2019 นั้น ก็เป็นสิ่งใหม่ที่แตกต่างจากความเข้าใจเดิมๆ ที่ส่งผลต่อการทำงาน และการประกอบธุรกิจร้านอาหาร Saha Omakase ด้วยเช่นกัน
‘รูปแบบเปลี่ยนไปแล้วครับ หลายร้านต้องปรับตัวมาเป็น Delivery มากขึ้น รวมถึงขยายช่องทางการขาย เป็นสภาวะใหม่ที่อาจจะลำบากในช่วงแรก แต่ก็ช่วยเปิดโอกาสที่น่าสนใจสำหรับทางผู้ประกอบการ และผู้ทานมากขึ้น โดยเฉพาะผู้ทาน ที่จะได้มีโอกาสลิ้มลองอาหารจากร้านที่ไม่เคยลองง่ายขึ้น และมากขึ้นด้วยครับ’
เมื่อถามถึงความคิดเห็นเกี่ยวกับประสบการณ์ในฐานะคนทำ Food Content และนักชิมโดยภาพรวม ว่าได้รับสิ่งใดจากเวลาที่ผ่านมาบ้าง หนุ่มนักชิมอารมณ์ดีท่านนี้ได้สรุปช่วงเวลา 12 ปีที่ผ่านมาของเขาอย่างสั้นๆ แต่เข้าใจง่ายได้ใจความ แถมยังเป็นประโยชน์ต่อนักสร้างสรรค์เมนูอาหารอย่างยิ่ง
‘ยังคงยืนยันครับว่า อาหารไทย คืออาหารที่ต่อยอดและพลิกแพลงได้หลากหลายและอาจจะมากกว่าทุกประเทศ มีความยืดหยุ่นสูง รวมถึงเวลาที่ได้ทำงานในสายงานนี้ ได้เห็นคนที่รักอาหาร เข้าครัว และรังสรรค์จานอร่อย ว่าตั้งใจมากน้อยเพียงใด ทำให้ผมอยากจะถ่ายทอด บอกเล่า ทุกประสบการณ์ เพื่อให้พวกเขาได้เติบโตต่อไป’
สุดท้าย เมื่อถามถึงเคล็กลับในการที่จะเป็นคนทำ Food Content ที่ดี ยืนระยะได้ยาวนาน คุณพีทสรุปง่ายๆ เอาไว้สามข้อหลัก ที่ชัดเจน
‘ไปลิ้มลองด้วยตัวเอง บอกเล่าอย่างตรงไปตรงมาและไม่คิดแค่ว่าจะหาทางมาเอาเงิน เท่านี้ก็สามารถไปต่อได้ยาวๆ ครับ’..
Leave feedback about this