Culture Ticy Entertainment

Dune Part 2

สงคราม การเมือง ศาสนา และศรัทธาที่กลายเป็น ‘อาวุธ’

(บทความชิ้นนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาของภาพยนตร์บางส่วน โปรดใช้วิจารณญาณในการอ่าน….)

หากสืบย้อนกลับไปในทุกความขัดแย้งของมนุษยชาติ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวที่เล็กน้อย หรือใหญ่ยิ่งเพียงใด ล้วนแล้วแต่ก่อกำเนิดจากรากฐานของชุดความคิด ความเชื่อ และความเหลื่อมล้ำไม่เสมอภาค ที่เมื่อมีการผลักโมเมนตัมจนถึงขีดสุด จะระเบิดออกมากลายเป็นการปะทะ ที่มีเพียงการเอาความเชื่อดังว่า มาเป็นฉากหน้าเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับทุกนาฏกรรมที่จะเกิดขึ้น

เรา, มนุษยชาติ, เป็นสัตว์ประเสริฐที่ให้ความสำคัญกับเรื่องเล่า ความเชื่อ ศรัทธา ศาสนา และชุดการเมืองอย่างเหนียวแน่นบ้าคลั่งเช่นนี้เอง ….. 

และนั่น คือสิ่งที่ ‘Dune Part 2’ ภาพยนตร์ไซไฟมหากาพย์แห่งพิภพทะเลทราย ในการกำกับของ Denis Villenueve สร้างจากพาร์ทหลังของนวนิยายจากปลายปากกาของ Frank Herbert ได้นำเสนอ เพราะถ้ามองให้ลึกลงไปจากฉากหน้าของความเป็นภาพยนตร์ไซไฟมหากาพย์ สิ่งที่ซ่อนตัวอยู่ภายใต้ความงดงามแห่งผืนทราย หาใช่เทพหนอนยักษ์ Shai-Hulud ไม่ แต่เป็นกลเกมการเมือง ผลลัพธ์ของการใช้พลังศรัทธา และปลายทางแห่งการทำลายล้างที่ความเชื่อที่ยากจะประสาน ได้เข้ามาคัดง้างซึ่งกันและกัน 

Dune Part 2 สานต่อเรื่องราวจากพาร์ทแรก ในการผจญภัยของ Paul Atreides (นำแสดงโดย Timothee Chalamet นักแสดงวัยรุ่นชื่อดัง) ที่หนีตายจากการฆ่าล้างผลาญของตระกูล Harkonnen บนดาวทะเลทราย Arrakis ที่เขา จะได้ทำความเข้าใจในวิถีชีวิตแห่ง Fremen ชนเผ่าทะเลทราย และต้องเลือก เพื่อเดินในเส้นสู่ความเป็น ‘ผู้ทำนาย (Lisan Al Gaib)’ ภายใต้ชื่อใหม่ Paul Muad’Dib Atreides และสะสางความแค้นกับ Harkonnen ในปลายทาง 

ความโดดเด่นที่ไม่เป็นสองของ Dune Part 2 ที่เห็นได้ชัดเจนที่สุด คงหนีไม่พ้นงานภาพและ Cinematography โดย Greig Fraser อันเต็มเปี่ยมที่ได้แผ้วถางเอาไว้จากภาพยนตร์ก่อนหน้า และเสริมขึ้นมาให้ทรงพลังอีกขั้นในพาร์ทนี้ เขาเปลี่ยนทะเลทรายของสาธารณรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ให้กลายเป็นพิภพทราย Arrakis ได้อย่างบรรเจิดศิลป์ รวมไปถึงฉากที่ไม่ใช่ดาวทะเลทราย ก็มีเอกลักษณ์และจุดเด่นที่สัมผัสได้ 

ทุกเฟรมของภาพยนตร์ บอกเล่าเรื่องราวในตัวเอง สืบเนื่องต่อกันได้อย่างไหลลื่นเป็นเนื้อเดียว ราวกับว่ามันกำลัง ‘สนทนา’ กับผู้ชมด้วยหลักการ ‘Show, Don’t Tell’ ที่แทบจะเป็นลายเซ็นสำคัญของ Villenueve ในงานทุกชิ้น เขาเป็นหนึ่งในผู้กำกับที่สามารถใช้งานภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมันแสดงให้เห็นอย่างชัดแจ้งใน Dune Part 2 เรื่องนี้

งานด้านเสียงและดนตรีประกอบ ยังคงใช้บริการจาก Hans Zimmer ประพันธกรมือฉมังที่ยังคงร่ายมนต์ด้านเสียงเพลงได้อย่างไม่เป็นสองรองใคร เสียงสายลมที่พัดผ่านเนินทราย เสียงบทสวดภาวนาของเหล่าผู้ศรัทธา เสียงเทพหนอนทราย Shai-Hulud ที่เยื้องย่างผ่านผืนพิภพอย่างน่าเกรงขาม จนถึงดนตรีประกอบในแต่ละช่วง ถูกใช้เพื่อขับเน้นเสริมพลังให้กับงานภาพ เอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน เรียกได้ว่าเป็นอีกครั้ง ที่งานด้านเสียง น่าจะถูกจดจำ และมีลุ้นว่าจะเข้าชิงรางวัลใหญ่ไม่เวทีใดก็เวทีหนึ่งในเวลาที่จะมาถึงค่อนข้างแน่ 

ในพาร์ทของเหล่านักแสดงที่มารวมตัวกันอย่างคับคั่งนั้นก็สำคัญ เพราะทุกคนต่างส่งพลังและเคมีที่เข้ากันราวกับสวมวิญญาณเป็นตัวละครนั้นๆ ไม่ว่าจะบทของ Paul โดย Chalamet ที่มีพาร์ทด้านพัฒนาการที่ชัดเจน, Feyd Rautha Harkonnen โดย Austin Butler ที่เปรียบประหนึ่งขั้วตรงข้ามของตัวเอก ที่แทบจะขโมยซีนทุกครั้งที่ปรากฏขึ้นมา, Chani โดย Zendaya ก็มีบทบาทที่มากขึ้น และมีความซับซ้อนในแง่ Characteristic ที่ลึกไปกว่าเวอร์ชันนวนิยาย ไปจนถึงบท Stilgar ผู้นำเผ่า Fremen โดย Javier Bardem ที่แม้จะให้อารมณ์ที่ชวนหัวแบบ Comic Relief แต่ก็สะท้อนภาพของความเชื่ออย่างฝังหัวงมงายของเหล่าชนเผ่าทะเลทรายได้เป็นอย่างดี 

และนั่น คือประเด็นสำคัญที่ภาพยนตร์เรื่องนี้พยายามจะสื่อถึง…. ศรัทธา ที่ถูกรับใช้จุดประสงค์ที่เป็นส่วนตัว 

ความงมงายของ Stilgar ที่ปรากฏในทุกครั้งที่เข้ามาในฉาก มันสะท้อนภาพทัศน์ที่สุดขมขื่นประการหนึ่งที่ว่า ชนเผ่าทะเลทราย Fremen บนดาว Arrakis นั้น ไม่เหลือสิ่งใดที่เป็นความหวังให้เงยหน้ามอง นอกจากคำทำนายของผู้ปลดปล่อย Lisan Al Gaib ที่แท้จริงแล้ว เป็นเพียงกุศโลบายที่สร้างขึ้นโดยสำนักนางชี Bene Gesserit ที่ได้หว่านไถรอวันเก็บเกี่ยวล่วงหน้ามานับพันปี 

ชุดความเชื่อ ศรัทธา และศาสนา จนถึงวิถีการดำเนินชีวิตของ Fremen ถูกหล่อหลอมด้วย ‘เรื่องโกหก’ ที่มีสเกลของผู้บงการในเงามืดอย่างสำนักนางชีใหญ่ระดับบัลลังก์จักรวาล….. 

แม้ในเบื้องแรก Paul ไม่อาจจะทำใจโอบรับบทบาทที่ ‘กึ่งยัดเยียด’ โดยชนพื้นเมืองนี้ แต่เมื่อเรื่องราวดำเนินไป เราจะได้เห็นพัฒนาการของตัวละครนี้ในแง่ของการสูญเสียความพิสุทธิ์ทางความคิด และ ‘เข้าใจ’ กลเกมการเมืองจักรวาล ที่เกี่ยวพันกับการดำรงอยู่ของตระกูลตนเอง และแร่ธาตุ Spice อันมีค่ามหาศาลบนดาว Arrakis มากขึ้นทุกขณะ 

จนท้ายที่สุด เมื่อเขาตัดสินใจ ‘เล่น’ กับความเชื่อเหล่านั้น (ด้วยพาร์ทของความอภินิหารเหนือธรรมชาติอยู่เป็นบางส่วน….) สิ่งที่ถูกกดทับเอาไว้มาเป็นเวลายาวนาน จึงระเบิดออกมา เมื่อศรัทธา กลายเป็นอาวุธ และเป็นอาวุธที่ถูกใช้ เพื่อจุดมุ่งหมายของคนคนเดียว …. Paul Atreides 

ตลอดระยะเวลาสองชั่วโมงกับสี่สิบห้านาที หนังบอกใบ้ Foreshadowing ถึงผลลัพธ์ในการเลือกของ Paul กับเส้นทางนี้เอาไว้อย่างกลายๆ ว่าจะนำไปสู่ความหายนะแบบใด ความพินาศแบบใดที่เขาจะนำมาสู่จักรวาล และวิถีชีวิตของชนพื้นเมือง Fremen จะกลายสภาพเป็นแบบไหน ในตัวเขาที่คุมบังเหียน ‘ศาสดาอภินิหาร’ ที่ถูกบูชาสักการะ (และมีแม่อย่าง Lady Jessica เชิดใยอยู่เบื้องหลังอีกชั้นหนึ่ง…..) 

ฉากรบสับประยุทธ์ในช่วงท้าย มันยิ่งใหญ่ อลังการ ตระการตา แต่มันไม่ฮึกเหิม ….. มันคือความเศร้า ความพังทลาย ความแตกสลาย…. 

เมื่อผู้คนนับล้านต้องล้มตายกลายเป็นเบี้ย เพียงเพื่อที่จะสังเวยให้กับความขัดแย้งของชุดความเชื่อที่เป็น ‘Self Fulfilling Prophecy’ หรือทุกสิ่งกลายเป็นจริงจากการประกอบสร้าง ทุกทางเลือกนำส่งไปสู่ผลลัพธ์ที่มีข้ออธิบายตาม ‘คำทำนายโบราณ’ รองรับเอาไว้แล้ว 

‘เป็นดั่งคำทำนาย (As it was Written)’ ประโยคติดปากของ Stilgar ในยามที่จ้องมอง Paul กระทำสิ่งใดสำเร็จด้วยความชื่นชมศรัทธา จนถึงขั้นงมงาย มันถึงแฝงไปด้วยความตลกร้าย เพราะพวกเขาเลือกที่จะเชื่อและฝากชีวิตไว้กับเรื่องโกหก แม้ว่าจะมีศักยภาพที่จะปลดปล่อยตัวเองให้เป็นอิสระ และ Paul ก็สมโภชประโยชน์จากความเชื่อนั้นได้อย่างหมดใจ 

‘กล่าวโดยสรุปแล้ว Dune เป็นข้อ “ควรระวัง” เกี่ยวกับวีรบุรุษ พึงพึ่งพาคนเหล่านั้นด้วยวิจารณญาณและยอมในผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้น’ 

‘The Bottom Line of the Dune Trilogy is: Beware of heroes. Much better rely on your own judgment, and your own mistake’

Frank Herbert กล่าวถึงหัวใจหลักของไตรภาคนวนิยาย Dune (Dune, Dune Messiah, Children of Dune)

สุดท้ายนี้ ในแง่ภาพยนตร์ Dune Part 2 ประสบความสำเร็จในการดัดแปลงนวนิยายไซไฟที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในครึ่งหลังของศตวรรษที่ 20 และมีความเป็น Niche อย่างสูงให้สามารถจับต้องได้ในวงกว้าง มันดูได้สนุก มีการดำเนินเรื่องราวที่รวดเร็ว มีงานภาพที่สวยงามตระการตา โปรดัคชันระดับจัดเต็ม เหล่านักแสดงส่งฝีมือกันได้อย่างเต็มเปี่ยม มันคือ ‘มาสเตอร์พีซ’ ที่สามารถก้าวข้ามงานพาร์ทแรกได้อย่างสมศักดิ์ศรี และน่าจะเป็นหนึ่งในภาพยนตร์ชั้นดีที่คงจะอีกนาน กว่าที่จะมีใครที่สามารถสร้างชิ้นงานขึ้นมาเทียบเคียงได้

และในแง่ของการวิพากษ์การเมือง ศาสนา และศรัทธา ….. Dune Part 2 ได้รจนานาฏกรรมและปอกเปลือกสิ่งที่เป็นธรรมชาติในส่วนลึกที่สุดของมนุษยชาติ ที่แม้เวลาจะผ่านไปอีกนับหมื่นปี แต่สิ่งเหล่านั้นไม่เคยเปลี่ยน …. ความขัดแย้งในชุดความเชื่อ การใช้ศรัทธาเป็นอาวุธเพื่อประโยชน์ตน การใช้ศาสนาเป็นคำตอบหลังการกระทำที่เลวร้าย และกลเกมการเมืองที่ทุกฝ่าย ต่างมุ่งชิงความเป็นใหญ่ โดยไม่เกี่ยงว่าจะไปถึงปลายทางที่ว่า ด้วยวิธีใดก็ตาม 

ผู้ใดครอง Spice ผู้นั้นครอง Arrakis (He who control Spice, control Arrakis)

ผู้ใดครอง Arrakis ผู้นั้นครองจักรวาล….. (He who control Arrakis, Conquer the Universe….)

หมายเหตุ: เป็นที่แน่นอนแล้วว่า Denis Villenueve ได้เตรียมตัวที่จะสร้าง Dune Part 3 ที่สร้างจากนวนิยายเล่มสอง Dune Messiah เพราะได้เขียนร่างบทเสร็จเป็นที่เรียบร้อย และ Hans Zimmer ก็กำลังจะเริ่มแต่งเพลงประกอบให้ ซึ่งอาจจะใช้เวลาไม่นานกว่าที่คิด ที่เราจะได้เห็นว่า ผลลัพธ์สุดท้ายในการเลือกของ Paul Atreides นั้น จะไปบรรจบที่ความพินาศแบบใด…. 

หมายเหตุ 2: Dune Part 2 มีความยาว 2 ชั่วโมง 45 นาที ไม่มี After Credit หลังจบ แต่กับภาพยนตร์ที่ครบถ้วนสมบูรณ์แบบในตัวเช่นนี้ ของแบบนั้นก็ไม่จำเป็นต้องมี หรือไม่จริง?

#TicyCity #MovieReview #Dune2 #AwesomeSciFi #GreatMovie

Exit mobile version