กันยายน 14, 2024
JP Media Solutions Co., Ltd.
Art & Event Culture

เมื่ออาร์ทิสต์ตวัดปลายพู่กัน เป็น ‘ฉลากไวน์’ ของนักสะสม

ไวน์ดี ๆ แพงและหายาก เป็นของโปรดของนักชิม และเป็น ของสะสม ในเซลลาร์ เพื่อดื่มกับผองเพื่อน หรือเพื่อประมูลเก็งกำไร 

ไวน์ชั้นเลิศย่อมเป็นที่หมายปองอยู่แล้ว

ทว่า ฉลากบนขวดไวน์ กระดาษที่แปะบนขวดบอกข้อมูลของไวน์ ก็เป็นของหายาก เก็งกำไร อยู่ในสถาบันประมูล อยู่ในกรุของนักสะสม โดยเฉพาะ ฉลากไวน์ ของ ชาโต มูตง ร็อธส์ชิลด์ (Chateau Mouton Rothschild) ไวน์ที่ขึ้นชื่อว่าแพง หายาก เป็นของสะสม ประมูลได้ราคาสูง (บางรุ่น) พร้อมฉายาที่นักชิมไวน์ยกย่อง เช่น 5 เสือเมด็อก, 5 อรหันต์, ไวน์แดงแพงที่สุดในโลก ฯลฯ

เจ้าของไวน์ บารอง ฟิลิป เดอ ร็อธส์ไชล์ (Baron Philipe de Rothschild – ชื่อตระกูลอ่าน ร็อธส์ไชลส์ / ชื่อไวน์อ่าน ร็อธส์ชิลด์) เป็นผู้ริเริ่มเชิญศิลปินมาออกแบบ ฉลากไวน์ จากส่วนตัวที่ชื่นชอบงานศิลปะ ครั้งแรก ท่านบารอง นำโปสเตอร์งานศิลปะของ Jean Carlu ที่ออกแบบไว้แล้วนำมาออกแบบสไตล์คิวบิสม์ ติดข้างขวดไวน์ วินเทจ 1924 แต่ความฝันเป็นจริงเมื่อปี 1945

วินเทจ 1945 โดยศิลปิน Philippe Jullian (ค.ศ.1921 – 1977) สมัยนั้นยังไม่ดัง มาออกแบบฉลาก วินเทจ 1945 ด้วยสัญลักษณ์อักษร V ที่หมายถึงชัยชนะในสงครามโลกครั้งที่ 2 นับแต่นั้น ศิลปินระบือนามก็พาเหรดมาออกแบบฉลากให้ เช่น Joan Miro ศิลปินชาวคาตาลัน, Marc Chagall ศิลปินชาวรัสเซียน-ฝรั่งเศส, Georges Braque, Picasso, Dali, Francis Bacon, Jeff Koons, Andy Warhol ฯลฯ

ศิลปินชื่อดังเหล่านี้ไม่ได้คาดหวังค่าตัวแพง หากเป็นเกียรติประวัติที่ได้ร่วมแสดงผลงานไว้บน ฉลากไวน์ ค่าตอบแทนที่ได้ก็คือ ไวน์ขวดที่ตัวเองออกแบบและได้ฝากผลงานให้โลกรู้ ศิลปินจากเอเชียหลายคนที่ได้ออกแบบไว้ มีอาทิ Xu Bing, Xu Lei จากจีน ศิลปินญี่ปุ่น เช่น Setsuko, Chiharu Shiota ผลงานหลายชิ้นพิมพ์จำหน่ายเป็นโปสเตอร์ บางชิ้นนำออกประมูล บ้างขายออนไลน์ได้ราคาดี

บางฉลากอยู่ในสถาบันประมูล บางฉลากเป็นของสะสมหายาก เช่นฉลากไวน์ วินเทจ 2004 เป็นฝีพระหัตถ์ของ พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 เมื่อครั้งยังทรงดำรงพระอิสริยยศ เจ้าชายแห่งเวลส์ มกุฎราชกุมารอังกฤษพระองค์ทรงจรดปลายพู่กัน วาดภาพเขียนสีน้ำรูปต้นสน (Pine) ริมชายฝั่งโก๊ต ดาซูร์ (Cote d’Azur) ชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศฝรั่งเศสรวมถึงโมนาโก ที่พระองค์เสด็จไปพักผ่อน ปัจจุบันฉลากจริงเก็บไว้ที่สถาบันประมูล Sotheby ในนิวยอร์ก เคียงข้างศิลปินอีกหลายคนที่วาดภาพบนฉลากไวน์ของชาโต มูตง ร็อธส์ชิลด์ เช่น Picasso, Chagall, Dali, Andy Warhol ฯลฯ

ฉลากไวน์ฝีมือศิลปิน ยังเป็นของสะสมอยู่เสมอ บ้างนำมาจำหน่ายเป็นโปสเตอร์ ใส่ในกรอบ และนำออกประมูล หลายชิ้นราคาสูงคิดเป็นเงินไทยหลายหมื่นบาท เช่น วินเทจ 2010 โดย Jeff Koons 

วินเทจ 1993 ออกแบบฉลากโดย Balthus ศิลปินชาวฝรั่งเศส ที่กลายเป็นเรื่องตลกขบขันในวงการไวน์ คือศิลปินออกแบบรูปลายเส้นผู้หญิงเปลือย แต่ไม่ผ่านกองเซ็นเซอร์อาหารและยาของอเมริกา หลังถูกแบน ฉลากนั้นจึงลบรูปออก ปล่อยว่างไปเลย แต่ข้อความเกี่ยวกับวินเทจยังอยู่ครบ อย่างไรก็ตาม รูปวาดฉลากไวน์ของศิลปินก็จัดอยู่ในของสะสม ขายได้ราคา

วินเทจ 1997 ภาพวาดลายเส้นสีสันสดใสของ Niki de Saint Phalle ศิลปินชาวฝรั่งเศส เป็นประติมากร เพ้นเตอร์ และทำงานอินสตอลเลชั่น งานสวยสดใส ดูโดดเด่นบนขวดไวน์ ผลงานชิ้นนี้นักวิจารณ์ (ไวน์) บอกว่า แม้ปีนี้ไม่ใช่วินเทจที่ดีเพราะฝนตกและอากาศอุ่นขึ้น ส่งผลให้องุ่นไม่ได้รสชาติที่ดีนัก จึงได้ชื่อว่า ไม่ใช่ปีของไวน์แต่เป็นปีของฉลากไวน์

หลังจากท่านบารองเสียชีวิต ผู้สืบทอดคือลูกสาว บารอนเนสส์ ฟิลิป เดอ ร็อธส์ไชล์ ต่อมาส่งต่อให้ลูกชาย จูเลียน เดอ บัวมาไซส์ เดอ ร็อธส์ไชส์ ซึ่งสืบสานเจตนารมณ์ออกแบบ ฉลากไวน์ ด้วยผลงานของศิลปินหลากหลายแขนง

วินเทจแรกภายใต้การบริหารของจูเลียน คือ วินเทจ 2015 ออกแบบโดย เกอร์ฮาร์ด ริชเตอร์ (Gerhard Richter) ชาวเยอรมัน เป็นแอ็บสแตรคต์เพนติ้งที่สวยมาก และเป็นหนึ่งในวินเทจคลาสสิก ทั้งไวน์และฉลากไวน์

มีหลายวินเทจที่ได้ศิลปินจากเอเชียออกแบบ เช่น วินเทจ 2018 ศิลปินจีนจากฉงชิ่ง Xu Bing นำตัวอักษรละตินมาเขียนแบบจีนในรูปแบบ Square word calligraphy แปลว่า Mouton Rothschild 2018 ด้านซ้ายมือคือคำว่า Mouton ขวามือคือ Rothschild 

ก่อนหน้านั้น วินเทจ 2008 ออกแบบโดยศิลปินจีน Xu Lei เป็นรูปแกะกับพวงองุ่นโทนสีน้ำเงินชวนฝัน อาจเป็นว่าเป็นยุคที่ชาวจีนดื่มไวน์มากขึ้น เป็นตลาดใหญ่ของไวน์จากโลกเก่าและโลกใหม่

ล่าสุด วินเทจ 2021 ชิฮารุ ชิโอตะ (Chiharu Shiota) ศิลปินชาวญี่ปุ่นออกแบบผลงานชื่อ Universe of Mouton เป็นรูปผู้ชาย 1 คนพร้อมเส้น 4 เส้นที่เชื่อมโยงไปยังวงรีสีแดงคล้ายผลองุ่น หมายถึงผลผลิตองุ่นใน 4 ฤดูกาล 

มีเพียง 4 วินเทจเท่านั้น ที่ไม่มีศิลปินออกแบบฉลากคือ วินเทจ 1953 ฉลอง 100 ปี ตระกูลร็อธสไชลด์ เป็นรูปเจ้าของชาโตคนแรก บารอง นาธาเนียล เดอ ร็อธส์ไชลด์ (Nathaniel de Rothschild de Rothschild)

วินเทจ 1977 ครบรอบปีที่ควีนเอลิซาเบธ แห่งอังกฤษ เสด็จมาเยือนชาโต จึงนำสัญลักษณ์ของพระองค์มาเป็นฉลากข้างขวด

วินเทจ 2000 ฉลองปีทองของไวน์ฝรั่งเศส ฉลากเป็นรูปแกะ (Mouton แปลว่า แกะ) 

วินเทจ 2003 ฉลอง 150 ปี ของตระกูลร็อธส์ไชลด์ นำรูปบารอง นาธาเนียล เป็นฉลากนั่งเก้าอี้ ด้านหลังแสดงเอกสารสิทธิ์การครอบครองชาโต

แม้ไม่ได้สะสมไวน์แต่สะสมฉลากไวน์ มีไว้ครอบครองก็ประหนึ่งได้เสพงานศิลปะ

Leave feedback about this

  • Rating

Culture, God's City

‘ท้าวเวสส

Movement, Voice

ปักหมุดกล

Destination, Food

‘You Hunt

Art & Event, Culture

“ENDLESS

Destination, Food

Tapas Vin

X