ธันวาคม 13, 2024
ticycity.com
Movement Voice

ตรอกโพธิ์ที่ถูกมองข้าม

ชุมชนแออัด เหตุเพลิงไหม้ และหัวใจของ ‘การพัฒนาเมือง’

เมื่อพูดถึงการเจริญเติบโตของเมืองใหญ่แล้วนั้น แน่นอนว่ามันเกิดขึ้นจากการทับซ้อนกันของหลากหลายพื้นที่ที่แตกต่างกันจากแต่ละช่วงเวลา ใหม่ซ้อนเก่า ถมทับแปรเปลี่ยนไปตามการใช้งานและสภาพการอยู่อาศัย นั่นทำให้ ‘ชุมชนแออัด’ เปรียบได้ดั่งซอกหลืบที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ของการพัฒนาชุมชนเมือง เพราะไม่ว่าจะวางแผนผังมาดีสักเพียงใด แต่ต้องมีอยู่ไม่มากไม่น้อย ที่พื้นที่อันไม่สามารถปรับตัวตามสภาพการเปลี่ยนแปลง จะถูกทิ้งเอาไว้ให้ห่างไกลจากสายตาและการพัฒนาที่เร่งรุดในรอบด้าน

และก็เป็นอีกหลายครั้ง ที่ชุมชนแออัด ต้องประสบปัญหาอันหลากหลาย ทั้งการอยู่อาศัย สาธารณูปโภค สุขภาวะ ไปจนถึงความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน …. 

ที่ซึ่งความผิดพลาดทางเทคนิคของระบบน้ำ หรือ ‘ไฟฟ้าลัดวงจร’ เพียงครั้งเดียว อาจจะหมายถึงการเกิดเหตุเพลิงไหม้ครั้งใหญ่ ที่ทำให้พื้นที่แห่งนั้น สิ้นสภาพความเป็นชุมชนโดยสมบูรณ์ ….. 

ดังที่ได้เกิดขึ้นแล้ว กับเหตุเพลิงไหม้ครั้งล่าสุด ที่ชุมชนตรอกโพธิ์ ถนนเยาวราช เมื่อวันที่ 6 กรกฏาคมที่ผ่านมา …. 

เหตุเพลิงไหม้ครั้งนี้ แม้จะไม่สามารถสรุปสาเหตุเริ่มต้นของการเกิดเหตุได้ แต่ความเสียหายก็กระจายตัวเป็นวงกว้าง และทำให้ชุมชนตรอกโพธิ์ สิ้นสภาพความเป็นชุมชนในทันที ซึ่ง ศาสตราจารย์ ด็อกเตอร์ อมร พิมานมาศ นายกสมาคมวิศวกรโครงสร้างแห่งประเทศไทย เผยว่า ได้ส่งผู้เชี่ยวชาญด้านโครงสร้างลงพื้นที่ตรวจสอบโครงสร้างอาคารร่วมกับสำนักงานควบคุมอาคาร กรุงเทพมหานคร และเจ้าหน้าที่โยธา จากสำนักงานเขตสัมพันธวงศ์ เมื่อวันที่ 8 กรกฏาคมที่ผ่านมา 

ผลสำรวจพื้นที่และสภาพโครงสร้างอาคาร แบ่งอาคารตามระดับความเสียหายได้เป็นสองกลุ่มคือ 

1.อาคารตรงบริเวณชุมชนตรอกโพธิ์ ซึ่งเป็นจุดที่เกิดเหตุเพลิงไหม้โดยตรง พบว่าอาคารส่วนใหญ่ในบริเวณดังกล่าวประมาณร้อยละ 80 ได้รับความเสียหายทางโครงสร้างและทางสถาปัตยกรรมอย่างรุนแรง เนื่องจากเป็นจุดที่เกิดเพลิงไหม้โดยตรง และอาคารส่วนใหญ่ก่อสร้างขึ้นจากไม้ ซึ่งเป็นวัสดุที่ติดไฟได้ง่าย… 

2.อาคารตึกแถว 6 ชั้นที่อยู่ด้านนอก และติดกับชุมชนตรอกโพธิ์ ซึ่งทางสมาคมได้เข้าตรวจสอบอาคารที่เป็นภัตตาคารและโรงแรม พบว่าอาคารทั้งสองเป็นโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กซึ่งเป็นวัสดุที่ทนไฟได้ดีกว่าอาคารไม้หรือเหล็ก… 

นอกเหนือจากนี้ มีการสำรวจชุมชนโดยรอบของชุมชนตรอกโพธิ์ที่ได้รับความเสียหาย ก็พบว่า การเข้าถึงสาธารณูปโภคเช่นประปาหัวแดงสำหรับต่อท่อฉีดดับเพลิง อยู่ในตำแหน่งที่ไม่สะดวกต่อการเข้าถึง ถนนในชุมชนที่เล็กและแคบ แออัดและแน่นไปด้วยสิ่งของกีดขวางการสัญจร บางแห่งถนนกว้างไม่ถึง 2 เมตร ยากที่รถดับเพลิง และเจ้าหน้าที่พนักงานดับเพลิงจะเดินผ่านเข้าไปทำการช่วยเหลือ

สิ่งเหล่านี้ เป็นเรื่องที่พบเห็นกันอย่างชินตา ในสภาวะของการเกิดชุมชนแออัด ที่ที่ความจำเป็นในการใช้งานและการอยู่อาศัย ไม่สัมพันธ์กับการพัฒนาชุมชนเมืองในทิศทางที่เหมาะสม หลายพื้นที่ เป็นพื้นที่ทับซ้อน มีอาคารเก่าแก่ที่อยู่ในสภาพอันตราย เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุที่ตกสำรวจอยู่เป็นจำนวนมาก 

เช่นนั้นแล้ว การพัฒนาเมืองที่ดี อาจจะไม่ใช่แค่การเล็งเห็นถึงการพัฒนาสิ่งใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้น แต่ต้องรวมไปถึงการสำรวจ ‘สิ่งตกค้าง’ ที่อาจจะยังไม่พร้อมที่จะก้าวไปตามกระแสธารของความเปลี่ยนแปลง เพื่อสร้างหลักประกันและความแน่ใจ ว่าผู้อยู่อาศัย จะถูกมองเห็น ได้รับความสะดวกปลอดภัย และมีช่องทางเพื่อนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตและการอยู่อาศัยอย่างยั่งยืนไปพร้อมกัน 

ในปัจจุบัน มีการสำรวจจำนวนของชุมชนแออัดในเขตกรุงเทพมหานครและพบว่า มีจำนวนชุมชนจัดตั้งที่มากถึง 2008 แห่ง เป็นชุมชนแออัดหนาแน่นสูงกว่า 600 แห่ง เป็นชุมชนที่แคบ ยากแก่การเข้าถึง 491 แห่ง และมีอีกกว่า 256 แห่ง ที่รถและเจ้าหน้าที่ดับเพลิงไม่สามารถเข้าไปได้ 

นี่จึงเป็นโจทย์ที่สำคัญอย่างยิ่ง สำหรับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในทุกภาคส่วนของกระบวนการพัฒนาเมือง ว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาพื้นที่อันเกิดจากความจำเป็น ที่ ‘ตกค้าง’ ใน ‘ซอกหลืบ’ ของการพัฒนาสมัยใหม่ได้หรือไม่ 

เพราะในทุกครั้ง ที่เกิดเหตุอุบัติภัยครั้งใหญ่ ที่ทำให้ชุมชนแออัดแห่งนี้ต้อง ‘สิ้นสภาพ’ …. 

มันไม่ได้เป็นแค่เพียงสถานที่ ที่หมดสิ้นความสามารถในการอยู่อาศัย หรือทำมาหากินในชีวิตประจำวัน แต่มันรวมถึงผู้คนในชุมชน และการส่งต่อทางวัฒนธรรมที่สะสมมาตามระยะเวลา ที่จะเลือนหายไปพร้อมกับกองไฟเพียงไม่กี่ชั่วโมง ซึ่งนั่นเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย น่าใจหายยิ่งนัก

Leave feedback about this

  • Rating

Art & Event, Culture

เล่นสนุกก

Destination, Food

ตามหา 12

Destination, Food

แนะนำร้าน

Movement, Voice

ชวนชม ‘รา

Culture, God's City

เกร็ดบางเ

Movement, Voice

“TOYZEROP

X