กรุงเทพมหานคร
ในเดือนเมษายน นอกจากจะเป็นช่วงเวลาของเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งถือเป็นประเพณีสำคัญของไทยแล้ว ยังมีอีกหนึ่งวันสำคัญที่หลายคนมองข้าม หรือไม่ทราบด้วยซ้ำว่าอยู่ในเดือนนี้เช่นกัน นั้นคือ “วันสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์” ทั้งยังเป็นวันยกเสาหลักเมืองกรุงเทพมหาคร เมืองหลวงของประเทศไทยอีกด้วย ซึึ่งตรงกับวันที่ 21 เมษายนของทุกปี โดยในปีนี้ กรุงรัตนโกสินทร์ มีอายุ 242 ปี


Ticy City ขอพาย้อนเวลาไปกลับไปยังพุทธศักราช 2325 เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช องค์ปฐมกษัตริย์แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ทรงเสด็จขึ้นครองราชสมบัติปราบดาภิเษกขึ้นเป็น รัชกาลที่ 1 แห่งราชวงศ์จักรี เมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2325
ทั้งนี้พระองค์ทรงย้ายราชธานีจากกรุงธนบุรี มาฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สร้างพระราชวังหลวงเริ่มขึ้นพร้อมกับการสร้างราชธานีใหม่ โดยพระราชทานนามว่า
“กรุงเทพมหานคร อมรรัตนโกสินทร์ มหินทรายุธยา มหาดิลกภพ นพรัตน์ราชธานีบุรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน อมรพิมานอวตารสถิต สักกะทัตติยะวิษณุกรรมประสิทธิ์”

ซึ่งมีความหมายว่า พระนครอันกว้างใหญ่ดุจเทพนครเป็นที่สถิตของพระแก้วมรกต เป็นนครที่ไม่มีใครรบชนะได้ มีความงามอันมั่นคงและเจริญยิ่ง เป็นเมืองหลวงที่บริบูรณ์ด้วยแก้วเก้าประการน่ารื่นรมย์ยิ่ง มีพระราชนิเวศใหญ่โตมากมาย เป็นวิมานเทพที่ประทับของพระราชาผู้อวตารลงมา ซึ่งท้าวสักกเทวราชพระราชทานให้พระวิษณุกรรมลงมาเนรมิตไว้
นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้กระทำพิธียกเสาหลักเมือง เมื่อวันอาทิตย์ เดือน 6 ขึ้น 10 ค่ำ ซึ่งตรงกับวันที่ 21 เมษายน ปีพุทธศักราช 2325 เวลา 06.54 นาฬิกา

ทั้งนี้ การฝังเสาหลักเมืองมีพิธีรีตองตามพระตำราที่เรียกว่า “พระราชพิธีนครฐาน” โดยใช้ไม้ชัยพฤกษ์ทำเป็นเสาหลักเมือง ประกับด้านนอกด้วยไม้แก่นจันทน์ ที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางวัดที่โคนเสา 29 เซนติเมตร สูง 187 นิ้ว และกำหนดให้ความสูงของเสาหลักเมืองอยู่พ้นดิน 108 นิ้ว ฝังลงในดินลึก 79 นิ้ว มีเม็ดยอดรูปบัวตูม สวมลงบนเสาหลัก ลงรักปิดทอง ล้วงภายในไว้เป็นช่องสำหรับบรรจุดวงชะตาเมือง
สำหรับพระราชพิธีนครฐาน เป็นพระราชพิธียกเสาหลักเมืองตรงข้ามพระบรมมหาราชวัง เพื่อเป็นสิริมงคลแก่การสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ตามธรรมเนียมพิธีพราหมณ์ เพื่อเป็นศูนย์รวมจิตใจ สร้างความร่มเย็นเป็นสุขให้แก่ราษฎร และเพื่อเป็นนิมิตรหมายแสดงที่ตั้งแห่งพระนคร ในตำราพระราชพิธีนครฐาน ได้กล่าวถึงการเลือกใช้ไม้ชัยพฤกษ์ ในการทำเป็นเสาหลักเมือง กรุงรัตนโกสินทร์ ว่า …พระราชพิธีนครถานซึ่งจะฝังหลักพระนครนั้น ท่านให้เอาไม้ไชยพฤกษ์มาทำหลักเมือง เอาไม่แก่นประกับนอก โดยสูงอยู่บนดิน 108 นิ้ว อยู่ใต้ดิน 78 นิ้ว… ความเชื่อเรื่องไม้ (ไชย) ชัยพฤกษ์ ว่าเป็นต้นไม้แห่งความโชคชัย หมายถึง การมีโชคชัย ชัยชนะ ชนะสิ่งทั้งปวง สมัยโบราณใช้เสาแก่นไม้ชัยพฤกษ์ในพิธีสำคัญ เช่น พิธีลงหลักเมือง และใช้ในการทำยอดชัยเฉลิมพลและคฑาพล

และในวันที่ 21 เมษายน พ.ศ 2567 ซึ่งเป็นวาระครบรอบ 242 ปี กรุงรัตนโกสินทร์ ทางกระทรวงวัฒนธรรม ร่วมกับหน่วยงานรัฐ เอกชนและเครือข่ายวัฒนธรรมกว่า 20 หน่วยงาน ได้จัดงาน ใต้ร่มพระบารมี 242 ปี กรุงรัตนโกสินทร์ ระหว่างวันที่ 21 – 25 เมษายน พ.ศ2567 ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร โรงละครแห่งชาติ หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน บริเวณพื้นที่รอบเกาะรัตนโกสินทร์ กรุงเทพมหนคร และวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร
ข้อมูล : https://th.wiktionary.org
ภาพ : Internet
ห้องสมุด มสธ https://library.stou.ac.th/wp-content/odi/online/exhibition-lukinlukchai/index.html
#TicyCity#ตีซี้ชิตี้ #เมือง #City #Movement #242ปีกรุงรัตนโกสินทร์ #กรุงเทพมหาคร #ใต้ร่มพระบารมี242ปีกรุงรัตนโกสินทร์
Leave feedback about this