การพัฒนานครฉงชิ่งสู่ความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ประเทศจีน
ต้องยอมรับว่าหนึ่งในประเทศที่ Ticy City ให้ความสนใจและอยากไปเยือนนั่นคือประเทศจีน โดยเฉพาะนครฉงชิ่ง เมืองที่เต็มไปด้วยเสน่ห์ และสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมมากมาย
หากพูดถึงนครฉงชิ่ง (Chongqing) หรือ จุงกิง ซึ่งเป็นนครที่ตั้งอยู่ภาคตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศจีน ทั้งยังเป็นหนึ่งในสี่นครที่อยู่ภายใต้การบริหารโดยตรงของรัฐบาลกลาง และเป็นนครปกครองโดยตรงเพียงแห่งเดียวที่ไม่ได้ตั้งอยู่ริมชายฝั่งทะเล และต้องถือว่าเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดในประเทศจีน ครอบคลุมพื้นที่ 82,300 ตารางกิโลเมตร (เกือบเท่ากับภาคกลางของประเทศไทย ) ในเขตมณฑลเสฉวน มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ5 ของแผ่นดินใหญ่ รองจากเซี่ยงไฮ้ ปักกิ่ง เซินเจิ้น และกวางโจว มีประชากรกว่า 32 ล้านคน
ทั้งยังเป็นเต็มไปด้วยสถาปัตยกรรมอันโครงสร้างล้ำยุค ตึกระฟ้าแนวนอนที่ยาวที่สุดในโลก โดยเฉพาะร้านหนังสือ Zhongshuge ซึ่งขนาด 3,344 ตารางเมตร ในลักษณะเขาวงกตที่คนรักหนังสือต่างชื่นชอบ โดยได้รับการยกย่องจาก Architectural Digest ว่าเป็นร้านหนังสือที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก
อีกสิ่งหนึ่งที่โดดเด่นของเมืองเศรษฐกิจทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีนแห่งนี้ คือ ระบบคมนาคมที่แผ่ขยายกิ่งก้านสาขาได้อย่างน่าอัศจรรย์ ทุกหมู่บ้านมีถนนเชื่อมต่อทำให้สามารถเดินทางได้อย่างสะดวกสบาย
แต่หากย้อนกลับไปเมื่อ 10 ปีที่แล้ว รู้หรือไม่ว่า…เมืองเศรษฐกิจของแผ่นดินใหญ่นามว่า ฉงชิ่ง เคยประสบปัญหามลพิษทางอากาศอย่างมาก ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่มาจากภาคอุตสาหกรรม การเผาไหม้ถ่านหินและเชื้อเพลิงชีวภาพ ซึ่งนั้นทำให้รัฐบาลต้องเร่งออกนโยบายทุกวิถีทางเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว โดยนโยบายนี้เป็นที่รู้จักกันในชื่อ “สงครามปกป้องท้องฟ้าสีคราม” หรือ “Blue sky defense battle” ซึ่งก็รวมถึงนโยบายการส่งเสริมพลังงานสะอาดอีกด้วย
และเมื่อเร็วๆนี้ สมาคมด้านพลังงานของเมืองฉงชิ่ง ได้จัดการประชุมและศึกษาดูงานด้านการพัฒนาเมือง โดยได้เชิญนักวิชาการจากสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย หรือ TEI เข้าร่วม โดยมี คุณเบญจมาส โชติทอง และคุณวิลาวรรณ น้อยภา จากเมืองไทยเข้าร่วมประชุมครั้งนี้ด้วย
โดยสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย หรือ TEIได้เรียบเรียงข้อมูลเกี่ยวกับ Green Chongqing ในหัวข้อ10 เรื่องต้องรู้ นครฉงชิ่งสู่ความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ขึ้นมาดูกันว่ามีอะไรน่าสนใจบ้าง
1. ภูมิทัศน์สวยงาม ต้นไม้ใหญ่และพื้นที่สีเขียวสองข้างถนนถูกจัดการเป็นอย่างดี สัมผัสได้ตั้งแต่ออกเดินทางจากสนามบินเจียงเป่ย (Jiangbei) ไปตลอดทาง
2. บทบาทองค์กรทางสังคม (Social organizations) ซึ่งเป็นคำที่จีนใช้เรียกองค์กรพัฒนาเอกชนหรือ NGO ได้เข้ามามีส่วนช่วยเฝ้าระวังมลพิษ และทำงานร่วมกับบริษัทเอกชนมากขึ้น รวมทั้งกระตุ้นเยาวชนและสังคมให้เรียนรู้และปกป้องธรรมชาติ เช่น กรณีศูนย์เรียนรู้ธรรมชาติ การอนุรักษ์นกอินทรีย์
3. ขยายชุมชนเกษตรอินทรีย์ โดยนำองค์ความรู้สมัยใหม่เข้ามาใช้ในการทำเกษตร มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพร เชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวเชิงนิเวศในเขตชนบท สร้างงานให้กับคนในท้องถิ่น โดยได้รับการส่งเสริมจากภาครัฐ อย่างกรณีเมืองดาชู (Dashu Town)
4. ป้ายทะเบียนรถยนต์แยก 2 สี ชัดเจน ให้เข้าใจว่าป้ายทะเบียนสีเขียวคือรถยนต์พลังงานไฟฟ้า หรือ EV (Electricity vehicle) ซึ่งมีประมาณ 20% ในเมืองนี้และกำลังเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ส่วนป้ายทะเบียนสีน้ำเงินคือรถที่ใช้เชื้อเพลิงแบบเดิม
5. พัฒนาเทคโนโลยีระบบชาร์ตสำหรับรถยนต์ EV และขยายจุด/สถานีชาร์ตแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ EV ซึ่งมีอยู่ทั่วไปในเขตเมือง แม้ยังมีจำกัดในเขตพื้นที่ชนบท
6. สถานีสลับแบตเตอรี่สำหรับรถแท็กซี่ EV ใช้เวลาไม่ถึง 1 นาที น่าตื่นเต้นมากสำหรับยุคนี้ (ต่อไปน่าจะขยายเพิ่มและพบเห็นได้ทั่วไป)
7. เกิดธุรกิจสตาร์อัพใหม่ ๆ ด้านธุรกิจพลังงานสะอาด โดยการสนับสนุนจากรัฐบาล บางบริษัทเพิ่งก่อตั้งได้ 4-5 ปี สามารถขยายงานได้แบบก้าวกระโดด
8. การให้บริการแบบครบวงจรของบริษัทผลิตอุปกรณ์ด้านพลังงานแสงอาทิตย์ ตั้งแต่การขออนุญาตติดตั้ง การติดตั้ง ระบบการติดตามแบบเรียลไทม์ บริการทำความสะอาดแผงโซลาร์ ฯลฯ แต่ก็ยังขาดความรับผิดชอบเรื่องการจัดการซากอุปกรณ์หลังใช้งาน
9. พัฒนาระบบเก็บพลังงาน (Energy storage) ในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งในระดับอุตสาหกรรม ครัวเรือน เพื่ออำนวยความสะดวกในการใช้งานนอกสถานที่ เช่น การแคมปิ้ง
10. ความร่วมมือวิจัยด้านพลังงาน เทคโนโลยี และนวัตกรรม ของนักวิชาการ ช่วยขับเคลื่อนการลงทุนของภาคเอกชน เช่นที่ Chongqing University มีงานวิจัยเกี่ยวกับพลังงานสะอาด การรีไซเคิลวัสดุ พลังงานจากขยะ
นักวิชาการ TEI ยังได้เล่าต่อว่า ยังมีอีกหลายเรื่องที่นครฉงชิ่งและรัฐบาลจีนเร่งส่งเสริม โดยเฉพาะเรื่องพลังงานสะอาดเพื่อแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ และการบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี 2060 ด้วย ซึ่งเห็นได้ชัดจากการเดินหน้าส่งเสริมและกระตุ้นให้ภาคเอกชนปรับตัวด้านธุรกิจพลังงานซึ่งหากเปรียบกับประเทศไทยที่ตั้งเป้าจะบรรลุเป้าหมายนี้ภายในปี 2030 ก่อนจีน แต่มาตรการด้านพลังงานสะอาดของเรายังมีน้อย
นอกจากนี้ ยังได้ทราบจากภาคเอกชนในการประชุมที่ฉงชิ่งเป็นเสียงเดียวกันว่า ความก้าวหน้าในการพัฒนาด้านพลังงานสะอาดทุกวันนี้นั้นเป็นเพราะนโยบายและมาตรการส่งเสริมจากรัฐบาล
อย่างไรก็ดี แม้การพัฒนาด้านพลังงานสะอาดของจีนรุดหน้าไปมาก ทั้งยังมีการพัฒนาโครงสร้างทางพลังงานที่ไม่ใช่เชื้อเพลิงฟอสซิลกระจายทั่วประเทศ แต่ปัจจุบันจีนยังใช้แหล่งพลังงานส่วนใหญ่จากถ่านหินกว่า 50% และน้ำมันดิบ เกือบ 20%
ขณะเดียวกันจีนมีการใช้พลังงานเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ ซึ่งสังคมคนรุ่นใหม่เปลี่ยนแปลงไปอย่างเห็นได้ชัด มีการพัฒนาเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว ทำให้เกิดการบริโภคและการใช้พลังงานสูงขึ้น ซึ่งที่นักวิชาการจีนให้ข้อมูลว่า รัฐบาลจีนจะยังคงผลิตพลังงานจากแหล่งฟอสซิลต่อไป เพื่อรักษาความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าของประเทศเอาไว้
และนี่คือ นครฉงชิ่งเมืองที่มีความหมายว่า “เฉลิมฉลองซ้ำ” (ฉง (重) — “ซ้ำ” ชิ่ง (庆) — “เฉลิมฉลอง” )
#TicyCity #ตีซี้ชิตี้ #เมือง #City #SUSTAINABILITY #ฉงชิ่ง #Chongqing #ประเทศจีน #GreenChongqing #เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม #พลังงานสะอาด #สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย #TEI
Leave feedback about this