โดย จักรกฤษณ์ สิริริน
ตัวเลขผู้เสียชีวิตในญี่ปุ่นขึ้นสู่จุดสูงสุดนับตั้งแต่มีการบันทึกสถิติครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2442
เนื่องจากสถิติผู้เสียชีวิตเมื่อปีที่แล้วมีมากกว่า 1.5 ล้านคน ซึ่งคาดว่าตัวเลขดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
โดยในปี พ.ศ. 2583 มีประมาณการว่า จำนวนผู้เสียชีวิตอาจสูงถึง 2 ล้านคน
ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการของญี่ปุ่น ระบุว่า ยอดผู้เสียชีวิตในปี พ.ศ. 2565 เพิ่มขึ้นร้อยละ 9 จากปี พ.ศ. 2564
หรือเพิ่มขึ้น 150% ในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา
สาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งคือโรคมะเร็ง ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนไปแล้วเกือบ 400,000 คน หรือ 1 ใน 4 ของยอดผู้เสียชีวิตทั้งหมด รองลงมาคือโรคหัวใจ 232,879 คน โรคชรา 179,524 คน โรคหลอดเลือดสมอง 107,473 คน โรคปอดบวม 74,002 คน และ COVID-19 47,635 คน
ปัจจุบัน ผู้ประกอบการธุรกิจงานศพ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เทศบาลต่างๆ กำลังเร่งหามาตรการเพื่อรับมือกับเรื่องนี้
ทุกวันนี้ หลายครอบครัวที่มีผู้เสียชีวิต เศร้าต้องรอนานเกือบ 2 สัปดาห์ เพื่อส่งบุคคลอันเป็นที่รักไปสู่สุคติ
เพิ่มความเครียดตึงเครียดให้กับพวกเขาเป็นอย่างมาก ในช่วงเวลาแห่งความโศกเศร้าสุดจะบรรยาย ที่กระทบกระเทือนจิตใจอย่างถ้วนหน้า
หญิงคนหนึ่งจากจังหวัดคานางาวะ เป็นหนึ่งในหลายครอบครัว ที่ต้องรับมือกับความล่าช้าของการจัดพิธีศพ เธอสูญเสียคุณย่าอายุ 94 ปีไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
หญิงคนนี้ได้ตระเตรียมสิ่งต่างๆ ที่จำเป็น และแจ้งไปยังบริษัทจัดงานศพ เพื่อช่วยพ่อแม่ที่แก่ชราของเธอจากพิธีศพที่ยุ่งยาก
แม้แผนของเธอนั้นง่ายแสนงาน คือให้แขกไปเคารพที่ฌาปนสถาน โดยไม่จัดพิธีศพ แต่วันที่จะทำการฌาปนกิจได้อย่างเร็วที่สุดคือ 14 วันหลังจากคุณย่าเสียชีวิต
เธอถูกบริษัทจัดงานศพเรียกเก็บค่าใช้จ่ายมากถึง 15,000 เยน หรือราว 3,000 บาทต่อวันสำหรับการจัดเก็บศพ
แม้ว่าเธอพยายามติดต่อฌาปนสถานอีกแห่งที่สามารถให้บริการได้ทันทีในเขตเทศบาลอื่น แต่ค่าขนส่งที่เพิ่มขึ้น กลับไม่ได้ทำให้ประหยัดเงินได้อย่างที่คิด
เธอบอกว่า “ค่าใช้จ่ายก้อนนี้ เป็นภาระที่หนักอึ้งสำหรับพ่อแม่ของฉันซึ่งเป็นข้าราชการบำนาญ”
การที่ต้องรอนานแบบนี้ แถมค่าใช้จ่ายก็แพงแสนแพง ทำให้เธอประหลาดใจมาก
“โคเงียว ทัตสึมิ” เจ้าของธุรกิจตู้แช่ศพแห่งเมืองคาวาซากิ จังหวัดคานางาวะระบุว่า จำนวนการสั่งซื้อตู้แช่ศพที่ในปีที่แล้วเพิ่มขึ้น 5 เท่าเมื่อเทียบกับปี พ.ศ. 2562
“สำหรับในปี พ.ศ. 2566 ผมเห็นความต้องการที่มากขึ้น จากสถานที่จัดงานศพและฌาปนสถานที่กำลังจะเพิ่มขึ้น” โคเงียว ทัตสึมิ กระชุ่น
ทุกวันนี้ เทศบาลหลายแห่ง พยายามเพิ่มความจุของสถานที่รองรับพิธีศพ ด้วยการปรับปรุง ไม่ก็สร้างฌาปนสถานเพิ่มเติม โดยส่วนใหญ่อยู่ในเขตเมือง ซึ่งแน่นอนว่า ต้องมีปัญหาความล่าช้าในการก่อสร้าง
เห็นได้จากเมืองโยโกฮามา ที่แม้จะอยู่ใกล้กับกรุงโตเกียว แต่หน่วยงานเทศบาล 4 แห่ง มีการจัดพิธีฌาปนกิจไปแล้วมากถึง 35,000 ศพ ขณะนี้ ระยะเวลารอคิวเฉลี่ยตอนนี้คือศพละ 7 วัน แม้จะมีความพยายามทำ Kaizen และ Lean เพื่อลดเวลารอแล้วก็ตาม
ในอดีต ความเชื่อเรื่องเหนือธรรมชาติมีส่วนทำให้การฌาปนกิจล่าช้า เช่น วันโทโมบิกิ ที่แปลว่า “ดึงเพื่อนไปกับคุณ” จะไม่มีการทำพิธีศพอย่างเด็ดขาด
แต่ในปัจจุบัน เทศบาลหลายแห่งพยายามโน้มน้าวให้ผู้คนจองการเผาศพ แม้ในวันที่ถือว่าเป็นวันอัปมงคล คือวันโทโมบิกิ ซึ่งเป็นวันที่ชาวญี่ปุ่นมักจะหลีกเลี่ยงในการจัดงานศพ โดยแต่ในแต่ละเดือนจะมีวันโทโมบิกิ 4-6 วันแล้วแต่จะเป็นเดือนไหน
เช่นเดียวกับเมืองโยโกฮามา ที่มีการประกาศสร้างฌาปนสถานแห่งใหม่ที่จะเริ่มดำเนินการภายใน 3 ปีนับจากนี้
“มาโกโตะ ยามางูจิ” ผู้จัดการศาลาจัดงานศพของโยโกฮามากล่าวว่า “ความต้องการสถานที่จัดงานศพที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องรีบเร่งทุกสิ่งอย่าง เพื่อตอบสนองความต้องการของทุกคน
“เรากำลังเร่งปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกที่มีอยู่ และพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกใหม่ๆ กันแบบข้ามวันข้ามคืน” มาโกโตะ ยามางูจิ กล่าว
“อิตารุ ทาเกดะ” ผู้อำนวยการสมาคมฌาปนกิจ แสดงความคาดหวัง ที่จะเปลี่ยนความคิดของผู้คนที่ยึดมั่นในประเพณีโบราณ
“การวางแผนสร้างฌาปนสถานใหม่มักประสบกับความล่าช้าเป็นประจำ เพราะเทศบาลหลายแห่งประสบปัญหาเรื่องกรรมสิทธิ์ที่ดิน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การะขอคำยินยอมจากผู้อยู่อาศัยละแวกนั้น ซึ่งมักรู้สึกไม่สบายใจที่มีสถานที่ของคนตายอยู่ในละแวกบ้าน” อิตารุ ทาเกดะ กล่าว และว่า
แน่นอนว่า หากเป็นบ้านคุณ คุณก็จะต้องต่อต้าน เป็นธรรมดา ที่ผู้คนจำนวนมากได้พากันต่อต้านการสร้างฌาปนสถานในบริเวณใกล้บ้าน
“ด้วยเหตุผลนี้ ทำให้เราอาจต้องคิดให้มากขึ้น ถึงจุดที่จะสร้างฌาปนสถาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปฏิบัติการทางจิตวิทยา เพื่อเปลี่ยน Mindset ของผู้คน” อิตารุ ทาเกดะ กล่าว และว่า
ปัจจุบัน เราพยายามตกแต่งฌาปนสถานให้เป็นสถานที่ที่มีทิวทัศน์ที่งดงาม “อิตารุ ทาเกดะ” สรุป
อนึ่ง ตัวเลขคาดการณ์ของสถาบันวิจัยประชากรและประกันสังคมแห่งชาติญี่ปุ่น ระบุถึงจำนวนผู้เสียชีวิตต่อปี ว่าจะยังคงสูงต่อไป แม้ว่าจะผ่านจุดสูงสุดในปี พ.ศ. 2583 ซึ่งตัวเลขดังกล่าวคาดว่าจะเกิน 2 ล้านคนต่อปี ไปจนถึงปี พ.ศ. 2613 เลยทีเดียว
“มิโดริ โคตานิ” ผู้เชี่ยวชาญด้านการเตรียมตัวสำหรับวาระสุดท้ายของชีวิต ในฐานะผู้อำนวยการสถาบันวิจัยชีวิตและวัฒนธรรมของผู้สูงวัยช่วยผู้คนเตรียมพร้อมสำหรับวาระสุดท้ายของชีวิต กล่าวว่า การที่ค่าเฉลี่ยอายุประชากรญี่ปุ่นมากขึ้นเรื่อยๆ ได้สะสมปัญหาให้กับครอบครัวต่างๆ
“โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ครอบครัวที่ไม่สามารถหาสถานที่จัดงานศพได้ สวนทางกับจำนวนผู้คนที่โศกเศร้าที่สูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักซึ่งเพิ่มมากอย่างก้าวกระโดด” มิโดริ โคตานิ กล่าว และว่า
สิ่งสำคัญก็คือ ครอบครัวต้องหารือกัน ว่าพวกเขาต้องการจะปิดฉากชีวิตอย่างไร จะบอกใครบ้าง
“โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความสัมพันธ์กับบุคคลภายนอกครอบครัว เช่น เพื่อนและเพื่อนบ้าน ที่พวกเขาสามารถฝากผีฝากไข้ได้ ขณะที่พวกเขายังสุขภาพดีอยู่” มิโดริ โคตานิ ทิ้งท้าย