โดย: จักรกฤษณ์ สิริริน
Ticy City ในตอนนี้ ขอไล่เรียงเส้นทางประวัติศาสตร์ของ “เสื้อโปโล” ในฐานะนวัตกรรมแฟชั่นการแต่งกายกึ่งลำลองกึ่งทางการ โดยมี Jean Rene Lacoste แชมป์เทนนิส Grand Slam 7 สมัยชาวฝรั่งเศส เป็นคนแรกของโลกที่ลุกขึ้นมาออกแบบ “เสื้อโปโล” ใน Design ที่เรารู้จักกันในปัจจุบัน และแน่นอน นามสกุลคุ้นๆ แบบนี้ ก็จะเป็นยี่ห้อไหนไปไม่ได้นอกเสียจาก “เสื้อตราไอ้เข้” หรือ Lacoste เนื้อผา “มองตากู” หรือ Montagut นั่นเอง 555
เป็นที่ทราบกันดี ว่า “เสื้อโปโล” เป็น “นวัตกรรม” ที่ผสมผสาน “เสื้อเชิ้ต” กับ “เสื้อยืด” เข้าด้วยกัน ตามมาตรฐานทั่วไป “เสื้อเชิ้ต” นั้น ใช้สำหรับใส่ไปทำงานในออฟฟิศ หรือไปทำอะไรที่เป็นทางการ ส่วน “เสื้อยืด” ก็ใส่เวลาอยู่บ้าน ไปจ่ายตลาด หรือออกไปเดินเล่นสูดอากาศ
การนำเอา “เสื้อเชิ้ต” มารวมกับ “เสื้อยืด” กลายเป็น “เสื้อโปโล” จึงเป็นอะไรที่ตอบโจทย์ความสะดวกของท่านสุภาพบุรุษมากๆ เป็นการนำเอาความลำลองของ “เสื้อยืด” มา “ใส่ปกเสื้อเชิ้ต” แล้วดูเป็นทางการ แถมบรรดาสุภาพสตรียังสามารถนำไปใช้ได้อีกต่างหาก กึ่งลำลอง กึ่งทางการ สุภาพ เพราะมีปก มีกระดุมนิดหน่อย สวมใส่ง่าย และยังดูดี ยิ่งสวมสูททับยิ่งดูเป็นทางการ นับว่าฉลาดล้ำจริงๆ สำหรับผู้ค้นคิด ประดิษฐ์ “เสื้อโปโล”
ต้นทางคำว่า “เสื้อโปโล”
ในยุคอาณานิคมศตวรรษที่ 19 สหราชอาณาจักรหรืออังกฤษ ได้แผ่อิทธิพลทางทหาร การเมือง เศรษฐกิจ สังคม และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง วัฒนธรรม
กีฬาเป็นสิ่งหนึ่งซึ่งอังกฤษนำไปเผยแพร่ในประเทศอาณานิคมอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะกีฬาตระกูล “ขี้ม้าโปโล” “คริกเก็ต” และ “ฮ็อกกี้” เห็นได้จากทุกวันนี้ ประเทศอาณานิคมอังกฤษคืออินเดียเป็นประเทศที่เก่งกีฬาตระกูล “โปโล” ไม่แพ้อังกฤษต้นแบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ฮ็อกกี้”
ในมุมมองของนักกีฬาโปโลขณะนั้น เดิมที เสื้อผ้าที่พวกเขาใส่ มักจะเป็นเสื้อแบบมีปก ผลิตจากผ้าอย่างหนา ซึ่งก็คือผ้าค็อตต้อนอ็อกซ์ฟอร์ด ที่เป็นผ้าที่ไม่มีความยืดหยุ่น ตัวเสื้อมีลักษณะคล้ายเชิ้ตแขนยาว มีกระดุมที่คอ ทำให้ในความรู้สึกของนักกีฬาโปโลแล้ว ต้องถือว่ามันยังสวมใส่ได้ไม่คล่องตัวเพียงพอ
อย่างไรก็ดี แม้จะมีความพยายามปรับประยุกต์เสื้อผ้าสำหรับนักกีฬา “โปโล” โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในประเทศอาณานิคมที่สำคัญอย่าง “อินเดีย” ซึ่งเป็นเมืองร้อนที่นิยมกีฬา “คริกเก็ต” ด้วยการปรับเนื้อผ้าให้เหมาะสมกับสภาพอากาศและรูปแบบทรงเสื้อจากแขนยาวเป็นแขนสั้น ทว่า รูปแบบ “เสื้อโปโล” ที่เรารู้จักกันในปัจจุบันก็ดูจะยังไม่ค่อยลงตัวนัก
จนกระทั่ง Jean Rene Lacoste แชมป์เทนนิส Grand Slam 7 สมัยชาวฝรั่งเศส ลุกขึ้นมาออกแบบ “เสื้อโปโล” ใน Design ที่เรารู้จักกันในปัจจุบัน Jean Rene Lacoste ได้ Design “เสื้อโปโล” สำหรับตัวเขาเอง ที่ต้องไปแข่งเทนนิสตามประเทศต่างๆ โดยเฉพาะในเขตเมืองร้อน เนื่องจากเสื้อผ้านักกีฬาเทนนิสรูปแบบเดิมๆ ไม่คล่องตัว และสร้างความเหนียวเหนอะหนะระหว่างแข่งอย่างไรก็ดี แม้ Jean Rene Lacoste จะอวดโฉม “เสื้อโปโล” ที่เขาออกแบบเองสู่สายตาชาวโลกเป็นครั้งแรก ในทัวร์นาเมนต์ U.S. Open อีกหนึ่ง Grand Slam สำคัญของวงการเทนนิสโลกในปี ค.ศ. 1926
ทว่า กลับมีข้อถกเถียงถึงรูปแบบ “เสื้อโปโล” ว่าแท้จริงแล้ว ใครเป็นคนต้นคิด เพราะวันดีคืนดี ทายาท Brooks Brothers แบรนด์เสื้อผ้าสุดหรูของสหรัฐอเมริกา ออกมากล่าวว่า Brooks Brothers คือผู้ค้นคิดรูปแบบ “เสื้อโปโล” มาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1896 เพราะได้ออกแบบเสื้อแข่ง “โปโล” ให้ทีมชาติอังกฤษ แน่นอนว่า Jean Rene Lacoste มิได้ตอบโต้คำโต้แย้งดังกล่าว แถมยังเดินหน้าเปิดบริษัทเสื้อผ้าภายใต้แบรนด์ “ไอ้เข้” ในปี ค.ศ. 1933 หรือที่เรารู้จักกันดีในนาม Lacoste โดยมีสินค้า Signature คือ “เสื้อโปโล” ตราจระเข้ อันโด่งดังไปทั่วโลก
จุดที่แตกต่างระหว่าง Design ของ Jean Rene Lacoste กับ Brooks Brothers นั้น ไม่ใช่เรื่อง “เสื้อคอปกแขนสั้นแบบสวม” หรือ “เสื้อกระดุมคอ 3 เม็ด” แต่ประเด็นหลักอยู่ที่เนื้อผ้า โดย “เสื้อโปโล” ของ Jean Rene Lacoste ใช้ผ้ายืดที่เหมาะสำหรับการเล่นเทนนิส ส่วนของ Brooks Brothers ยังใช้ผ้าแบบเดียวกับ “เสื้อเชิ้ต”
Ralph Lauren ผู้นำ “เสื้อโปโล” สู่กระแสแฟชั่น
แม้การต่อสู้ระหว่าง Jean Rene Lacoste กับ Brooks Brothers ที่ผ่านมา จะยังไม่สามารถชี้ชัดว่า ใครกันแน่ที่เป็นผู้คิดค้น Design “เสื้อโปโล” แต่แล้ว ในปี ค.ศ. 1972 Ralph Lauren นำรูปแบบ “เสื้อโปโล” ของ Jean Rene Lacoste ออกไปทำการตลาด “สินค้ามวลชน” แถมยังท้าทาย Jean Rene Lacoste ด้วยการตั้งชื่อ “เสื้อโปโล” ของเขาว่า Polo Ralph Lauren
การต่อสู้ระหว่าง Jean Rene Lacoste กับ Brooks Brothers จึงเปลี่ยนมาเป็น Jean Rene Lacoste กับ Ralph Lauren ไปในทันที แม้ในปัจจุบัน Jean Rene Lacoste จะเลิกสนใจและเบื่อที่จะสู้กับใครๆ ในประเด็น Design “เสื้อโปโล” และ Ralph Lauren เองก็คงจะสู้ไม่ไหว
เพราะทุกวันนี้ “เสื้อโปโล” ขยับจาก “เสื้อผ้ากีฬา” กลายไปเป็น “สินค้าแฟชั่น” ทั้งสีสัน ลวดลาย ที่เปลี่ยนไป แม้รูปแบบ “เสื้อโปโล” ที่ Jean Rene Lacoste ได้ Design เอาไว้จะยังคงอยู่ ทว่า วัตถุประสงค์ดั้งเดิม ได้เปลี่ยน “เสื้อโปโล” ให้เป็น “สินค้ามวลชน” ที่ใครก็ชอบใส่ ทั้งชายหญิง ทั้งเด็กและผู้ใหญ่
“เสื้อโปโล” กับมูลค่าการตลาดมหาศาล
ในปัจจุบัน รูปแบบ “เสื้อโปโล” ถูกนำไปใช้ในการผลิตอย่างหลากหลาย ทั้งภายใต้แบรนด์ชั้นนำระดับโลก และสินค้าในตลาดนัด มีการคาดการณ์มูลค่าทางการตลาดของ “เสื้อโปโล” ในปี ค.ศ. 2019 ว่าจะมีมากถึง 5,000 ล้านดอลลาร์ และในอีก 5 ปีข้างหน้าคือในปี ค.ศ. 2024 จะเพิ่มขึ้นเป็น 5,700 ล้านดอลลาร์
ในจำนวนนี้ มีแบรนด์ Lacoste และ Brooks Brothers สองผู้คิดค้นรูปแบบ “เสื้อโปโล” รวมอยู่ด้วย ส่วนแบรนด์อื่นๆ ที่เราคุ้นเคยกันก็มี Banana Republic, Ralph Lauren, Calvin Klein, Burberry, Prada, Hugo, Boss, Gucci, Tommy Hilfiger กระทั่ง J. Press, Zara, H&M, Uniqlo
“เสื้อโปโล” ก็เหมือน “นวัตกรรม” อื่นๆ ที่ผู้คิดค้น ไม่ได้ร่ำรวยจากการเป็นผู้มาก่อน เหมือนกับ “หลอดไฟ” ที่ Thomas Alva Edison ไม่ได้เก็บเกี่ยวผลประโยชน์ทางการตลาดแบบเต็มเม็ดเต็มหน่วยเท่าที่ควรจะเป็น