พฤศจิกายน 15, 2024
ticycity.com
Talk Voice

Ticy City Interview: สุรพร เลิศวงศ์ไพฑูรย์ (Jekky Zoo)

ศิลปะ ความเกี่ยวเนื่องกับบริบทแห่งความเป็น ‘เมือง’

หากจะกล่าวกันถึงความสัมพันธ์ระหว่างงานศิลปะ กับการดำรงอยู่ของ ‘เมือง’ แล้วนั้น อาจจะเรียกได้ว่าเป็นการปฏิสัมพันธ์ที่ส่งเสริม สืบเนื่อง และสะท้อนไปกลับซึ่งกันและกัน กล่าวคือ วิถีชีวิตของคนในเมืองเป็นเช่นไร ก็จะสะท้อนผ่านงานศิลปะที่สรรสร้างออกมา และในอีกมุมหนึ่ง งานศิลปะที่ประดับสร้างลงในพื้นที่ ก็สามารถก่อให้เกิดรูปแบบการดำเนินชีวิตแบบใหม่ของคนในพื้นที่ด้วยเช่นกัน 

เช่นนั้นแล้ว งานศิลปะเกี่ยวกับเมืองที่ดี จึงต้องผ่านการพินิจคำนวณอย่างเหมาะสมในทุกบริบท ต้องไม่แปลกต่างไปจากความเข้าใจของคนในพื้นที่ แต่ก็ต้องพร้อมจะกระตุ้นให้เกิดปฏิภาคการใช้ชีวิตใหม่ๆ ของคนในพื้นที่ด้วยเช่นกัน 

เป็นงานที่ไม่ง่าย แต่ก็ท้าทายสำหรับผู้สร้างงานอย่างยิ่ง ซึ่ง สุรพร เลิศวงศ์ไพฑูรย์ ศิลปินผู้คร่ำหวอดในวงการ ผ่านนามแฝง ‘Jekky Zoo’ ได้ผ่านประสบการณ์การสร้างงานศิลปะสำหรับคนเมือง ในพื้นที่จังหวัดราชบุรี ในงาน ‘ติดศิลป์บนราชบุรี 2: We Are the City’ ที่จะมาบอกเล่าความประทับใจ มุมมอง และทัศนะที่มีต่องานศิลปะ และนิยามของคำว่าเมืองที่ดี ในบทความสัมภาษณ์ขนาดกะทัดรัดที่ Ticy City ได้เรียบเรียงมาให้ได้อ่านกันในครั้งนี้ 

ประสบการณ์ในฐานะ Curator ในงาน ‘ติดศิลป์บนราชบุรี 2: We Are the City’

แม้เวลาจะผ่านมานานกว่า 11 ปี แต่สำหรับงานที่ สุรพร เลิศวงศ์ไพฑูรย์ หรือ Jekky Zoo ได้มีโอกาสทำร่วมกับเมือง อย่าง ‘ติดศิลป์บนราชบุรี 2: We Are the City’ ที่จังหวัดราชบุรี ในฐานะ ภัณฑรักษ์ (Curator) ก็ถือได้ว่าเป็นสิ่งที่ช่วยเปิดหูเปิดตา และเป็นประสบการณ์ในการทำงานศิลปะร่วมกับเมืองอย่างหาที่เปรียบไม่ได้อย่างยิ่ง 

‘เมื่อปีพ.ศ. 2556 ผมได้รับมอบหมายเป็นภัณฑรักษ์ (curator) ให้กับงานนิทรรศการ Street Art ในเมืองราชบุรีชื่องาน “ติดศิลป์บนราชบุรี 2 : We are the City” โดยคอนเซ็ปแล้วมันคือการสะท้อนภาพเมืองกับประชากรหร์อผู้อยู่อาศัยในเมือง ให้เห็นว่ามันเป็นซึ่งกันและกัน โดยมีแนวคิดว่า เมืองเป็นอย่างไรคนก็เป็นอย่างนั้น คนเป็นอย่างไรเมืองก็เป็นอย่างนั้น

ตอนนั้นก็สนุกสนานกันมาก เพราะในอ.เมืองราชบุรีก็มีกลุ่ม Jartown ที่เป็นกลุ่มที่ทำงาน Graffiti ในเมืองซึ่งเป็นคนพื้นที่อยู่อยู่แล้ว รวมทั้ง Graffiti ต่างเมืองเช่นกรุงเทพฯ เชียงใหม่ฯลฯที่พอเชิญไปเขาก็ยินดีเข้าร่วมทันที เตรียมงานกันอยู่ประมาณ 2 เดือนกว่าๆ’

ผลจากการทำงานศิลปะร่วมกับเมือง ช่วยให้เห็นว่า ศิลปะนั้น สามารถสะท้อนบริบทของผู้อยู่อาศัย คนในพื้นที่ และสร้างปฏิสัมพันธ์ใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นได้อย่างน่าอัศจรรย์ 

‘ซึ่งมันก็สะท้อนให้เห็นจริงๆว่ามีทั้งคนที่เข้าใจและไม่เข้าใจ แต่ทั้งหมดก็เกิดผลลัพธ์จากการดำรงอยู่ของมัน ผมเคยสอบถามลุงป้าน้าอาแถวๆที่มีงานศิลปะดู บางท่านก็ว่าขายของดีขึ้น บางคนก็บอกว่าดูไม่รู้เรื่องหรอกแต่ก็สวยดีนะมีสีๆ นี่อะเด็กๆมันก็ได้มาวิ่งเล่นดีกว่าเป็นปูนเฉยๆ ส่วนหนึ่งมันก็ดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้ามาในเมืองด้วย บริเวณนั้นมันก็คึกคักขึ้นมาเองช่วงนึง’

เมื่อถามว่า อะไรคือเสน่ห์ของการทำงานศิลปะร่วมกับเมือง สุรพร ได้กล่าวย้ำว่า การเริ่มต้นนำศิลปะไปสู่คนในพื้นที่ คือก้าวแรกที่เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี 

‘ก็คิดว่าถ้างานเราได้เป็นส่วนหนึ่งที่สร้างความสวยงามนำศิลปะไปหาคน เข้าไปในชีวิตประจำวันของคนได้อย่างน้อยก็น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี และมีที่ให้โชว์งานขนาดใหญ่ของตัวเองด้วย’

และเมื่อถามถึงความประทับใจที่ได้จากการทำงานศิลปะร่วมกับเมือง สุรพร กล่าวว่า การได้มีส่วนร่วมกับชุมชน และได้เห็นผลลัพธ์จากสิ่งที่สร้างขึ้น คือหัวใจสำคัญ 

‘ส่วนใหญ่เลยจะเป็นเรื่องการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนหรือพื้นที่นะครับ เช่นให้พื้นที่กำแพงข้างบ้าน ให้ใช้ประตูบ้านเป็นที่ทำงาน ให้ความเอื้อเฟื้อข้าวปลาอาหารก็มี  เคยมีคุณลุงคนนึงเดาว่าแกน่าจะเป็นคนขับรถตู้ประจำทางเพราะบริเวณนั้นเป็นวินรถตู้ เดินมาทักเสียงดังว่า ว่าชอบงานศิลปะบนกำแพง ทำให้พื้นที่ได้ออกโทรทัศน์ มีคนสนใจ แสดงว่าศิลปะก็สามารถความภูมิใจให้กับผู้คนที่อาศัยอยู่ได้ด้วยเช่นกัน’

ศิลปะ กับความเป็น “เมือง”

ในทัศนะของ สุรพร เลิศวงศ์ไพฑูรย์ หรือ Jekky Zoo เกี่ยวกับการนำศิลปะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของเมืองนั้น ก็นับว่าน่าสนใจอย่างยิ่ง เพราะส่งผลในเชิงบวกในหลากหลายบริบทและปัจจัย 

‘อย่างแรกเลยที่เห็นได้ชัดก็เรื่อง”ทัศนียภาพที่ดีขึ้น” ที่จะส่งผลด้วยแน่นอนก็คือ”ประชากร”ในเมือง เพราะศิลปะมีอิทธิพลในด้านบวก มีส่วนทำให้ สุขภาวะดีขึ้นและด้านเศรษฐกิจก็จะตามมาด้วย ไม่ว่าจะด้วยการค้าขาย ธุรกิจหรือพัฒนาอสังหาริมทรัพย์’

แต่ในอีกแง่หนึ่ง การทำงานศิลปะกับเมือง ก็ยังมีปัญหาด้านการให้คุณค่าด้านความงามกับศิลปะ ที่เป็นพลวัต และเป็นอัตวิสัย ไม่ตายตัว 

‘การขาดการปลูกฝังให้รู้สึกถึงความสุนทรีย์ ความงาม และคุณค่าของศิลปะในภาพรวม คือสิ่งที่เป็นอุปสรรคสำคัญในการทำงานศิลปะกับเมืองอย่างเห็นได้ชัด เพราะหลายครั้ง มันก็ต้องใช้การอธิบาย และทำความเข้าใจกับคนในพื้นที่อย่างมาก ว่าสิ่งที่เราทำนั้น คือความพยายามที่จะสร้างความงาม และความกลมกลืนให้เกิดขึ้น แม้มันจะผิดไปจากสิ่งที่คุ้นเคยไปบ้างก็ตาม’

มาถึงจุดนี้ สุรพร เลิศวงศ์ไพฑูรย์ หรือ Jekky Zoo ยังคงวนเวียนในแวดวงศิลปะ สร้างสรรค์ผลงานอย่างต่อเนื่อง และยังปรารถนาที่จะไปรับชมงานศิลปะระดับโลกอีกหลายต่อหลายงานที่ไม่เคยได้สัมผัส และทิ้งท้ายกับ Ticy City ด้วยว่า งานศิลปะ สามารถเปลี่ยนแปลงเมืองได้ 

‘งานศิลปะเปลี่ยนแปลงเมืองได้จริงครับ มันจะช่วยส่งเสริมคุณลักษณะที่เป็นบวกของพื้นที่ให้โดดเด่นขึ้นมา ให้กลายเป็นเมืองที่ผู้อยู่อาศัย ได้ใช้ศักยภาพของพื้นที่อย่างเต็มที่ ให้มีความเป็นอยู่ที่ดี และมีความสุข’ 

Leave feedback about this

  • Rating

Movement, Voice

‘ลอยกระทง

Destination, Food

ร้านโนบุท

Art & Event, Culture

Awakening

Movement, Voice

‘โครงการห

Culture, God's City

ไหว้เทพอง

PR news, TICY PR

เช็คอินมื

X