ความวูบไหวและไม่มั่นคงของเศรษฐกิจแบบ ‘ห้อยโหนคนดัง’
เมื่อไม่นานมานี้ ผู้เขียนได้อ่านบทความหนึ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์ที่มาพร้อมกับคอนเสิร์ตของ ‘Taylor Swift’ นักร้องหญิงสายป็อบ-คันทรีชื่อดังระดับโลก ว่ามีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศที่เธอไปแสดงคอนเสิร์ต ‘The Era Tours’ ในตลอดระยะเวลาหนึ่งปีครึ่ง หรือที่เหล่านักเศรษฐศาสตร์ขนานนามปรากฏการณ์นี้ว่า …. ‘Taylornomics’ (หรืออาจจะเรียกว่าเศรษฐกิจแบบ Swiftie ก็ได้ แล้วแต่จะเรียกขานกัน….)
กล่าวโดยสรุปสั้นๆ ว่าการมาถึงของคอนเสิร์ตดังกล่าว กระตุ้นให้เกิดอุปสงค์อุปทานในแทบจะทุกระดับ ตั้งแต่ตั๋วชมคอนเสิร์ต ที่พัก ตั๋วเครื่องบิน ไปจนถึงธุรกิจท้องถิ่นและโรงภาพยนตร์ (ที่ฉายคอนเสิร์ต ‘The Era Tours’ สำหรับประเทศที่ไม่ได้มีโอกาสรับชมคอนเสิร์ตแบบแสดงสด)
มันเป็นปรากฏการณ์ที่หักล้างและท้าทายหลักเศรษฐศาสตร์และสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันค่อนข้างมาก เพราะภายใต้การหดตัวของเศรษฐกิจหลังวิกฤติ COVID-19 นักวิชาการต่างคาดการณ์และทำนายว่า การจับจ่ายใช้สอยสินค้าอุปโภคบริโภค รวมถึง ‘สินค้าฟุ่มเฟือย’ นั้น จะลดน้อยลง
แต่มองในอีกแง่หนึ่ง โลกที่ขาดไร้ซึ่งสีสัน จากวิกฤติโรคระบาด ก็โหยหาความบันเทิงในระดับที่แทบจะกินดื่ม ดูดเสพ จึงอาจจะไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจนัก ถ้ามองจากในมุมนี้….
แน่นอนว่า เศรษฐกิจแบบ Taylornomics นั้น ไม่ได้ถูกมองแต่ในด้านดีเพียงอย่างเดียว ยังมีนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์จำนวนหนึ่งเล็งเห็นว่า อุปสงค์อุปทานที่เกิดขึ้นนั้น ไม่ใช่สิ่งที่สะท้อนความต้องการที่แท้จริง เป็น ‘ดีมานด์และซัพพลายเทียม’ ที่ถูกปั่นตามจังหวะและโอกาส และไม่อาจสร้างการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศที่จัดคอนเสิร์ตให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน
ว่ากันง่ายๆ มันเป็นจังหวะ ‘ฉวยได้ก็รีบคว้า’ แต่เมื่อคอนเสิร์ตร้างลา ปุจฉาสำคัญก็ตามมา ว่าจะเอาอย่างไรกันต่อ? ….
เรื่องนี้ มีความพ้องกับสถานการณ์ล่าสุดของประเทศไทยอย่างมีนัยสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะเมื่อ ‘ลลิษา มโนบาล’ หรืออดีต ‘Lisa Blackpink’ ผู้ออกมาเดบิวต์เป็นศิลปินเดี่ยว ส่งซิงเกิลใหม่ล่าสุด ‘Rockstar’ ที่มีมิวสิควิดีโอที่ถ่ายทำ ณ ย่านเยาวราช กรุงเทพมหานคร
ต้องเท้าความกันก่อนว่า ในรอบหลายปีที่ผ่านมา Lisa ถือได้ว่าเป็นศิลปินสัญชาติไทยที่มีมูลค่าทางการตลาดในระดับสากลสูงเป็นลำดับต้นๆ ของโลก สินค้าและบริการที่เธอเลือกใช้ หรือแม้แต่หยิบจับ กลายเป็นกระแสไวรัลทาง Social Media ที่แปรเปลี่ยนเป็นเม็ดเงินได้ราวกับไฟลามทุ่ง
หยิบตุ๊กตาลาบูบู้ ราคาก็พุ่งกระฉูด โฆษณายาสีฟัน ก็ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า ถ้ามีร้านอาหารใดที่ Lisa ไปทานแล้วโพสต์ภาพลง Instagram วันต่อมา คนก็แน่นขนัดเต็มร้าน ….
มันจึงไม่แปลก ที่จู่ๆ การถ่ายทำมิวสิควิดีโอแบบ ‘กองโจร’ ที่ปิดข่าวเงียบมิดชิดของ Lisa ที่ย่านเยาวราช และเผยเอาในตอนที่ถ่ายทอดลงสื่อ Social Media จะกลายเป็นปรากฏการณ์ และย่านชุมชนชาวไทยเชื้อสายจีนแห่งกรุงเทพมหานคร จะกลายเป็นที่กล่าวถึงแบบก้าวกระโดด
แม้ว่าเยาวราช จะเปิดประตู รับนักท่องเที่ยวเรือนหมื่นเรือนแสนต่อปีเป็นเรื่องปกติ ….
และสิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นแทบจะปัจจุบันทันด่วน คือผู้เกี่ยวข้องของหน่วยงานภาครัฐ เห็นจังหวะประจวบเหมาะ รีบ ‘โหนกระแส’ ของ Lisa กับย่านเยาวราช มุ่งหมายจะปลุกปั้นย่านอื่นๆ ตามแนวทางผลักดัน Soft Power ของประเทศไทยโดยไม่ช้าที
อันนี้ไม่ได้พูดกันแบบเลื่อนลอย เพราะทางภาครัฐก็ยอมรับกันอย่างตรงไปตรงมา ว่าเต็มใจ ‘โหน’ เต็มที่ ก็ทำไมจะไม่ Lisa ก็ลูกหลาน ‘ชาวไทย’ ทำไมจะภูมิใจไม่ได้ ทำไมจะ ‘โหน’ ไม่ได้?
ก็ไม่ได้ว่าจะโหนไม่ได้หรอกครับท่าน …. แต่ไหนๆ จะห้อยโหนโจนทะยานกันปานนี้แล้ว ก็วางแนวทางที่เป็นรูปธรรมในการต่อยอดให้เกิดผลสัมฤทธิ์ที่จับต้องได้ ให้ยั่งยืน ให้สร้างสรรค์ทางเศรษฐกิจกันสักหน่อย ก็น่าจะดีไม่น้อย ….
ข้อแตกต่างระหว่าง Taylornomics กับ Lisanomics นั้น อยู่ตรงที่ ย่านเยาวราช เป็น Destination ที่คนเชื้อสายจีนที่มาเที่ยวเมืองไทย ต่างรับรู้และรู้จักกันมาอย่างเนิ่นนาน เติบโต หล่อเลี้ยงเศรษฐกิจชุมชนและประวัติศาสตร์ที่ส่งมอบกันมาอย่างยาวนาน และยังมีอีกหลายแง่มุมที่น่าสนใจที่สามารถนำมาต่อยอดได้
ผู้เขียนค่อนข้างเชื่อว่า เหล่าคนทำงานในระดับหน้างาน ต่างมีความพยายามที่จะสนับสนุน ส่งเสริม และผลักดันเยาวราช รวมไปถึงภูมิภาคอื่นๆ ให้สามารถยืนหยัดได้ด้วยตนเอง เติบโตอย่างยั่งยืนมาโดยตลอด การมีแผนงานที่ชัดเจน จับต้องได้ และเข้าใจความคิดของคนในพื้นที่ จึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง
แต่ทุกวันนี้ก็ต้องยอมรับกันอย่างเศร้าๆ ว่า นอกเหนือจากชุมชนที่ประคองเติบโตและต่อสู้กันเอง กับคนทำงานที่พยายามแม้จะไม่ค่อยสัมฤทธิ์ผลนัก ก็ไม่ได้มีแรงสนับสนุนผลักดันอะไรในระยะยาวที่สามารถพูดได้เต็มปาก ว่าผู้มีอำนาจระดับบน มีความเข้าใจ หรือใส่ใจจะต่อยอดจากแนวคิดนี้กันสักกี่มากน้อย
มีคนกล่าวว่า ประเทศไทย เป็นประเทศที่ไม่ชอบ ‘สร้างความสำเร็จ’ แต่ชอบ ‘ซื้อความสำเร็จ’ ที่เสร็จเรียบร้อย เข้าทำนองว่า สร้างเองมันช้า ลงทุนสูง กว่าจะเห็นผลมันก็เนิ่นนาน สู้เกาะกระแสห้อยโหนคนสำเร็จที่แวะเวียนมาเป็นพักๆ ให้พอมีสีสันกระชุ่มกระชวย ขายของได้เป็นพักๆ ดีกว่า ง่ายสะดวกดายกว่ากันนัก
ก็แล้วแต่นานาจิตตังกันไป บางทีเหล่าท่านๆ อาจจะมีนโยบายที่คิดสะระตะกันเอาไว้อยู่แล้ว ผู้เขียนก็คงไม่อาจไปนั่งทางในคาดเดาอะไรได้ แต่ก็อยากจะบอกถึงความจริงที่ต้องพึงระวัง กับเศรษฐกิจแบบ ‘ห้อยโหนคนดัง’ เป็นครั้งๆ คราวๆ แบบนี้ว่า….
ความสำเร็จที่มาแบบเสร็จสรรพ หลายครั้ง มันไม่ได้มาพร้อมคู่มือการใช้ ใช้ผิดใช้ถูก มันก็ดูพิอักพิอ่วน ดูไม่งามเท่าไร แถมราคาที่ต้องจ่ายในระยะยาว ก็สูงลิบยิ่งนัก
และการผลักดันภาคการท่องเที่ยวของประเทศให้สามารถยืนหยัดได้อย่างยั่งยืน เป็นรูปธรรม จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องคิดถึงกระบวนการและภาคส่วนอื่นๆ ประกอบกัน เพราะก็เชื่อว่า Lisa คงไม่ได้ว่างมานั่งทำมิวสิควิดีโอให้ครบทั้ง 76 จังหวัดเป็นแน่ (และคงไม่ใช่ธุระอะไรที่เธอจะต้องมาทำแบบนั้นด้วย….)
Leave feedback about this