ผู้ใช้แรงงาน
“ขบวนการแรงงานไม่ได้ทำให้ความแข็งแกร่งของประเทศลดน้อยลง แต่ขยายให้กว้างขึ้น ด้วยการยกระดับมาตรฐานการครองชีพของผู้คนนับล้าน แรงงานได้สร้างตลาดสำหรับอุตสาหกรรมอย่างน่าอัศจรรย์ และยกระดับทั้งประเทศไปสู่ระดับการผลิตที่ไม่เคยฝันถึง”
– มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ –
ศาสนาจารย์และนักต่อสู้เพื่อสิทธิพลเมืองชาวแอฟริกัน-อเมริกัน
“The labor movement did not diminish the strength of the nation but enlarged it. By raising the living standards of millions, labor miraculously created a market for industry and lifted the whole nation to undreamed of levels of production.”
– Martin Luther King Jr. –
Ticy City มาชวนคุณผู้อ่านทบทวนถึงที่มาของวันแรงงาน หรือ May Day ด้วยการย้อนเวลาสู่ยุคเกษตรกรรมของประเทศทางแถบยุโรป เพราะนั้นคือจุดเริ่มต้น 1 พฤษภาคม วันแรงงานสากล
วันเมย์เดย (May Day) ถือเป็นวันเริ่มต้นฤดูกาลใหม่ของการเพาะปลูกในยุคเกษตรกรรมของประเทศทางแถบยุโรป โดยมีการจัดพิธีเฉลิมฉลองพร้อมทำการบวงสรวงเพื่อขอให้เทพเจ้าช่วยดลบันดาลให้การปลูกพืชเป็นไปด้วยดี มีผลผลิตมากมาย พร้อมทั้งขอพรให้ประชาชนอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบ ร่มเย็นเป็นสุข
ซึ่งขณะเดียวกันในทางภาคเหนือของยุโรปก็มีการจัดงานรอบกองไฟขึ้นในวันนี้อีกด้วย และยังคงมีการสืบทอดประเพณีนี้มาจนถึงปัจจุบันในประเทศอังกฤษ
โดยช่วงระยะแรก วันเมย์เดย์เป็นเพียงแค่วันหยุดพักผ่อนประจำปี แต่ต่อมาประเทศอุตสาหกรรมหลายๆ ประเทศได้กำหนดให้เป็นวันหยุดตามประเพณี เพื่อให้ทุกคนได้ตระหนักถึงความสำคัญของผู้ใช้แรงงานที่ทำคุณประโยชน์ให้กับประเทศโดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ ความหมายของวันเมย์เดย์จึงเปลี่ยนไปจากเดิม
และในปีคริสต์ศักราช1890 หรือพุทธศักราช 2433ได้มีการออกมาเรียกร้องในหลายประเทศทางแถบตะวันตกให้กำหนดเอาวันที่ 1 พฤษภาคม ของทุกปีเป็น วันแรงงานสากล และมีการเริ่มจัดงานเฉลิมฉลองวันแรงงานขึ้นเป็นครั้งแรกจนมาถึงปัจจุบันนี้
สำหรับการก่อเกิดวันแรงงานในประเทศไทยนั้นอยู่ในช่วงระหว่าง พ.ศ.2496 – พ.ศ.2499 ซึ่งเป็นช่วงที่จอมพล ป พิบูลสงคราม (แปลก พิบูลสงคราม) เป็นนายกรัฐมนตรี และมีความตื่นตัวในเรื่องการก่อตั้งองค์การลูกจ้าง เพราะขณะนั้นในประเทศไทยยังไม่มีกฏหมายแรงงาน องค์การลูกจ้างจึงได้จัดตั้งขึ้นในนามของ สมาคมกรรมกรไทยและสมาคมเสรีแรงงานแห่งประเทศไทย โดยกรรมการและผู้แทนของสมาคมเหล่านี้ได้มีโอกาสเข้าร่วมประชุมกิจกรรมด้านแรงงานในต่างประเทศ ทำให้ได้รับรู้ว่าหลายประเทศถือเอาวันที่ 1 พฤษภาคมเป็น “วันแรงงาน”
ซึ่งต่อมาในวันที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2499 คณะกรรมการจัดงานที่ระลึกวันแรงงานได้จัดให้มีการประชุมขึ้นและมีความเห็นว่าควรกำหนดให้วันที่ 1 พฤษภาคม เป็นวันที่ระลึกแรงงานในประเทศไทย จึงได้มีหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีขอให้ทางราชการรับรอง และในวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2499 ได้มีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีกำหนดให้วันที่ 1 พฤษภาคม เป็นวันกรรมกรแห่งชาติ ซึ่งต่อมาได้มีการเปลี่ยนชื่อเป็น วันแรงงานแห่งชาติ ใน พ.ศ.2500
ทั้งนี้ได้มีพระราชบัญญัติแรงงาน พ.ศ.2499 บัญญัติให้ลูกจ้างมีสิทธิหยุดงานประจำปีในวันกรรมกรแห่งชาติ คือวันที่ 1 พฤษภาคม อีกด้วย
และแม้ว่าวันแรงงานที่ถูกกำหนดขึ้นให้เป็นวันของผู้ใช้แรงงานก็ตาม แต่อีกนัยยะสำคัญก็เพื่อเตือนให้ทุกคนตระหนักถึงความสำคัญของผู้ใช้แรงงานที่ทำประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติในหลากหลายมิตินั้นเอง
โดยปัจจุบันสามารถเข้าถึงและติดตามข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับแรงงานไทยในด้านต่างๆ ได้ที่เว็บไซต์กระทรวงแรงงาน https://www.mol.go.th/
ข้อมูล : สำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยรามคำแหง http://www.lib.ru.ac.th/journal/may/may01-DayForLabor.html
Image : https://www.pexels.com/
#TicyCity #ตีซี้ชิตี้ #เมือง #City #Movement #mayday #วันแรงงาน #แรงงานสากล #แรงงานไทย
Leave feedback about this