ticycity.com Contents Sustainability เมืองที่มีความยั่งยืน ในความคิดของทุกท่านหน้าตาเป็นอย่างไร?
Sustainability

เมืองที่มีความยั่งยืน ในความคิดของทุกท่านหน้าตาเป็นอย่างไร?

เมืองและความยั่งยืน

ต่อคำถามที่ว่า “เมืองที่มีความยั่งยืน ในความคิดของทุกท่านหน้าตาเป็นอย่างไร?” จากคำถามนี้เชื่อว่าหลายคนจะนึกถึงภาพเมืองที่แตกต่างกันไป ทั้งเมืองที่มีพื้นที่สีเขียวร่มรื่น เมืองที่มีอากาศสะอาดและจัดการขยะได้ดี เมืองที่มีการใช้พลังงานหมุนเวียนและยานยนต์ไฟฟ้า ไปจนถึงเมืองที่มีระบบขนส่งมวลชนที่มีประสิทธิภาพและผังเมืองที่เอื้อต่อการทำกิจกรรมต่าง ๆ 

แน่นอนว่าเมืองในจินตนาการเหล่านี้เป็นตัวอย่างของเมืองที่ดี และมีความยั่งยืนในมิติสิ่งแวดล้อม แต่หากมองให้ลึกลงไปว่าเมืองเหล่านี้มีความยั่งยืนแล้วหรือไม่ คงจะต้องพิจารณาองค์ประกอบอื่น ๆ ไปพร้อมกันด้วย

เพราะความยั่งยืนของเมืองคงไม่ได้มาจากการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมหรือระบบสาธารณูปโภคที่ดีแต่เพียงอย่างเดียว แต่ยังมีมิติอื่นที่ต้องได้รับการพัฒนาไปพร้อมกัน ทั้งนี้ต้องไม่ลืมว่าเป้าหมายสูงสุดในการพัฒนาเมืองให้เกิดความยั่งยืนนั้นก็คือ การทำให้คุณภาพชีวิตของผู้คนที่อาศัยอยู่ในเมืองนั้นดีขึ้นโดยไม่ส่งผลในเชิงลบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม 

ดังนั้นการพัฒนาเมืองโดยมุ่งเน้นในด้านโครงสร้างพื้นฐานหรือสิ่งแวดล้อมแต่เพียงอย่างเดียวคงไม่สามารถตอบโจทย์การยกระดับคุณภาพชีวิตของคนได้ในทุกด้าน ดังจะเห็นตัวอย่างจากหลายต่อหลายเมืองทั่วโลกที่มีการ เตรียมระบบสาธารณูปโภค การวางผังเมือง การจัดการสิ่งแวดล้อมที่ดี ตลอดจนเทคโนโลยีต่าง ๆ ไว้รองรับอย่างสมบูรณ์ แต่กลับมีจำนวนประชากรผู้อยู่อาศัยอยู่ในเมืองนั้นน้อยกว่าที่วางแผนไว้มาก

ซึ่งเป็นเรื่องที่บ่งชี้ได้ว่า การพัฒนาเมืองให้มีความยั่งยืนต้องมีองค์ประกอบที่ควรนำมาพิจารณาอย่างหลากหลายด้าน การหาหลักยึดที่เหมาะสมมาเป็นกรอบในการพัฒนาจึงน่าจะเป็นแนวทางหนึ่งในการวิเคราะห์และวางแผนการพัฒนาเมืองให้เกิดความยั่งยืนอย่างแท้จริง 

แน่นอนว่าเมื่อพูดถึงแนวทางการพัฒนาเพื่อความยั่งยืน โดยการนำกรอบแนวคิดประเด็นพื้นฐานสำคัญอย่าง ESG ซึ่งเป็นแนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาขององค์กรอย่างยั่งยืน หรือEnvironmental (สิ่งแวดล้อม), Social (สังคม)  และ Governance (ธรรมาภิบาล) นั้นสามารถนำมาปรับใช้เพื่อการพัฒนาเมืองให้ครบทุกมิติได้ ทั้งการวางแผนเพื่อลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมของเมือง การมีสภาพแวดล้อมที่น่าอยู่อาศัย การส่งเสริมความเท่าเทียมทางสังคมของพลเมือง รวมถึงการบริหารจัดการเมืองอย่างมีประสิทธิภาพ และการมีส่วนร่วมของทุกคน ซึ่งจะขอยกตัวอย่างการนำกรอบแนวคิด ESG มาใช้เพื่อการสร้างความยั่งยืนในเบื้องต้น

ด้านสิ่งแวดล้อม (E) : มุ่งเน้นการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อมของเมืองโดยมี 2 วัตถุประสงค์ ได้แก่ 

1. การลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากเมืองที่มีแนวโน้มขยายตัวขึ้น โดยครอบคลุมตั้งแต่การวางผังเมืองที่ดี ซึ่งจะช่วยลดปัญหาด้านการเดินทาง การจัดการมลพิษจากเมืองไม่ว่าจะเป็นเรื่องขยะหรือเรื่องน้ำเสียอย่างถูกต้อง ไปจนถึงประเด็นการลดก๊าซเรือนกระจกเพื่อมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (carbon neutrality) หรือการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (net zero emission) ที่ทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญ

2 .การปรับสภาพแวดล้อมของเมืองให้น่าอยู่อาศัย ซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่การวางแผนแม่บทของเมือง การวางผังเมืองอย่างเหมาะสมและตอบโจทย์การใช้ประโยชน์ของผู้คน การเพิ่มพื้นที่สีเขียวและพื้นที่สำหรับใช้เพื่อการพักผ่อน การจัดการสาธารณูปโภคพื้นฐานรวมถึงระบบขนส่งมวลชนที่มีประสิทธิภาพและครอบคลุมทุกพื้นที่ ไปจนถึงการออกแบบโครงสร้างพื้นฐานและสภาพแวดล้อมของเมืองโดยคำนึงถึงการใช้งานของทุกคน (universal design)

ด้านสังคม (S) : ส่งเสริมความเท่าเทียมในการเข้าถึงบริการ การใช้ประโยชน์จากเมือง และสิทธิขั้นพื้นฐานของพลเมือง ทั้งการพัฒนาด้านกายภาพของเมืองที่สอดคล้องกับการสร้างสภาพแวดล้อมให้มีความน่าอยู่และตอบสนองกับกิจกรรมของคนในเมืองดังที่กล่าวถึงข้างต้น ยังรวมไปถึงการส่งเสริมสุขภาวะของผู้อยู่อาศัยในเมืองโดยการเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุขและสังคมที่ดี การเข้าถึงการศึกษาขั้นพื้นฐาน การมีที่อยู่อาศัยอย่างเหมาะสม ตลอดจนการเข้าถึงโอกาสในการจ้างงานและรายได้ที่เหมาะสม ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้เกิดคุณภาพชีวิตที่ดีได้

ด้านธรรมาภิบาล (G) : สร้างแนวทางการจัดการเมืองที่ฟังเสียงผู้อยู่อาศัย โดยสร้างการมีส่วนร่วมของพลเมืองทั้งในด้านการออกนโยบาย การร้องเรียน การส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ ในเมือง รวมไปถึงการสื่อสารและเปิดเผยข้อมูลการดำเนินการในการจัดการเมืองในด้านต่าง ๆ เช่น ด้านกายภาพหรือด้านสังคม ตลอดจนการจัดสรรทรัพยากรสนับสนุนกิจกรรมใด ๆ ที่ช่วยในการพัฒนาเมืองของกลุ่มพลเมือง

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงตัวอย่างส่วนหนึ่งในการนำกรอบแนวคิดด้านความยั่งยืนมาใช้ในการพิจารณามิติต่าง ๆ ในการพัฒนาเมืองให้ครอบคลุม ซึ่งจะส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงจากเมืองที่ดีไปสู่เมืองแห่งความยั่งยืนที่ช่วยยกระดับความเป็นอยู่ของพลเมืองที่อาศัยอยู่ในทุกด้าน

เพราะความยั่งยืนของเมืองไม่ใช่แค่เรื่องสิ่งแวดล้อม แต่คือคุณภาพชีวิตของทุกคน

เรื่อง : ดร.ณัฐวิญญ์ ชวเลิศพรศิยา (Nattawin Chawaloesphonsiya, PhD)

Mission Earth co., ltd.

 #TicyCity #ตีซี้ชิตี้ #เมือง #City #SUSTAINABILITY #ยั่งยืน #ESG #MissionEarth #คุณภาพ

Exit mobile version