พฤศจิกายน 15, 2024
ticycity.com
Movement Voice

เมื่อเบอร์มิงแฮมประกาศล้มละลาย!

เมื่อเมืองใหญ่อันดับสองในอังกฤษ ประกาศล้มละลาย สิ่งนี้กำลังบอกอะไรกับโลก

หากพูดกันถึงเรื่องสภาพคล่องทางการเงินแล้วนั้น ไม่ว่าจะกิจการใหญ่หรือเล็ก การที่ยอดบัญชีสุดท้ายไม่ติดตัวแดง นับเป็นสิ่งอันน่าปรารถนา แต่แน่นอนว่า ไม่ใช่ทุกครั้ง ทุกเดือน หรือทุกไตรมาส ที่จะเป็นเช่นนั้น การจัดสรรงบประมาณบัญชี และเงินทุนให้สมดุลในภาพกว้าง จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นไม่แพ้กัน 

ซึ่งรวมถึง ‘การบริหารเมือง’ ในส่วนภูมิภาค…. 

งบประมาณที่ได้จากส่วนกลางต่อปี ต้องจัดสรรให้เหมาะสม เท่าทันกับค่าใช้จ่ายคงที่ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงและโครงการใหม่ๆ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากรที่อยู่อาศัยในเมืองนั้นๆ นี่คือหลักการการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นระดับสากลที่กระทำกันมาโดยตลอด โดยมี ‘สภาเมือง’ เป็นตัวกลางระหว่างความต้องการของประชาชนในพื้นที่ กับส่วนกลาง 

เหตุผลที่ทางสภาเมืองต้องออกประกาศใข้มาตราดังกล่าวนั้น เกิดจากการที่สภาเมือง ไม่มีทรัพยากรเพียงพอสำหรับจัดทำงบประมาณสมดุล และสภาพงบดุลที่ติดตัวแดงมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน ประกอบกับการจ่ายเงินค่าชดเชยที่สูงถึง 760 ล้านปอนด์ ให้แก่กลุ่มลูกจ้างหญิงทั้งในอดีตและปัจจุบัน จากคดีจ่ายค่าตอบแทนไม่เท่าเทียมกันระหว่างเพศ 

ไม่นับรวมปัญหาเศรษฐกิจและเงินเฟ้อที่ภูมิภาคยุโรปกำลังเผชิญ ที่สั่นสะเทือนสภาพคล่องทางการคลังจากส่วนกลางอย่างมหาศาล

 สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ ถือได้ว่าเป็นวิกฤติการณ์ที่สร้างความตื่นตระหนกให้แก่ทั้งส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่นอย่างหนักหน่วง เพราะในสหราชอาณาจักร ไม่มีกระบวนการทางกฎหมายสำหรับหน่วยงานท้องถิ่นที่ล้มละลาย หรือพูดอย่างง่ายๆ มันไม่เคยเกิดกรณี ‘ส่วนท้องถิ่นล้มละลาย’ มาก่อนนับตั้งแต่ประวัติศาสตร์การก่อตั้งประเทศเป็นต้นมา 

(อาจจะมีที่ใกล้เคียงกันอยู่บ้างกับเมืองลิเวอร์พูลในสมัยนายกรัฐมนตรีหญิงเหล็ก มาการ์เร็ต แธตเชอร์ ที่ตั้งใจจะปล่อยให้ ‘ล้มละลาย’ แต่ชาวเมืองก็แข็งแกร่งมากพอที่จะอยู่รอดได้ และกลายเป็นมรดกสืบทอดความเกลียดชังที่แทบผีไม่เผาเงาไม่เหยียบจนถึงทุกวันนี้….) 

และเบอร์มิงแฮมอาจจะไม่ใช่เมืองแรกที่จะพลิกคว่ำในกระดานโดมิโน่ทางการคลัง และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหลายแห่งในสหราชอาณาจักร ก็ประสบปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน แต่ยังอยู่ในสภาวะ ‘คาบลูกคาบดอก’ ที่ยังไม่ถึงกับล้มละลาย แต่ก็เข้าข่ายเฝ้าระวังอย่างน่าตระหนกตกใจ 

สิ่งเหล่านี้ กำลังบอกอะไรกับโลกในภาพใหญ่? 

แต่ละสภาเมืองอาจจะประสบกับปัญหาภายในเมือง ซึ่งเป็นเรื่องปกติ แต่การกดดันเชิงระบบจากส่วนกลางที่ผู้นำส่วนท้องถิ่นต้องเจอ เช่น การลดงบประมาณ การจัดหาเงินทุน ไปจนถึงปัญหาเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ สวนทางกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่อย่างมีนัยสำคัญ 

มีการประเมินกันว่า มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในอังกฤษอย่างน้อยอีก 26 แห่ง ที่มีความเสี่ยงจะประกาศ ‘ล้มละลาย’ ภายในเวลาอีกสองปี และเทรนด์ที่น่าตกใจเช่นนี้ ก็ไม่ใช่ที่สหราชอาณาจักรเพียงแห่งเดียว เพราะแม้แต่ประเทศญี่ปุ่น เมืองเกียวโต เมืองท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมสำคัญของประเทศ ก็อยู่ในระยะความเสี่ยงที่จะล้มพับทางการเงิน และ ‘ล้มละลาย’ ได้ หากส่วนกลางยังไม่ดำเนินการให้ทันท่วงที 

(ในกรณีของเกียวโตนั้น เกิดจากการลดลงของนักท่องเที่ยวช่วงการแพร่ระบาด COVID-19 ซึ่งทำให้รายได้ที่พึ่งพิงจากการท่องเที่ยวของเมืองนั้น มีอัตราที่ลดลง และอาจจะต้องใช้เวลาอีกสักระยะใหญ่ๆ รวมถึงความช่วยเหลือจากภาครัฐ จึงจะฟื้นตัวกลับคืนมาได้….) 

ในกรณีของประเทศไทย อาจจะยังห่างไกลจากตัวอย่างของทั้งสหราชอาณาจักรและญี่ปุ่นอยู่มากนัก เพราะการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นยังอยู่ในระดับที่จำกัด และขึ้นตรงกับส่วนกลางอย่างแน่นหนา การจัดสรรงบประมาณ โครงการ เป็นไปอย่างจำกัดและตรวจสอบจากภาครัฐด้วยความระมัดระวัง (ในกรณีที่เรามองข้ามการเบี้ยบ้ายรายทางไปแล้ว….) 

แต่เทรนด์ของส่วนท้องถิ่น ‘ล้มละลาย’ นี้ เป็นสัญญาณระดับสากลที่น่าสนใจและน่าติดตามอย่างยิ่ง เพราะมันกำลังเรียกร้องให้มีการพัฒนาระดับความสัมพันธ์ระหว่างส่วนกลางและส่วนท้องถิ่นใหม่ แนวคิดใหม่ ความยืดหยุ่นทางงบประมาณแบบใหม่ แน่นอน อาจจะเป็นการ ‘Disrupt’ เชิงระบบ แต่เมื่อความจำเป็นมาถึง วันนั้น สิ่งใหม่ที่ว่า จะต้องถูกนำมาใช้ …. 

ซึ่งมันอาจจะดีกว่าที่เมืองจะล้มพับ ล้มละลาย และกลายสภาพเป็นสถานที่ที่จะอยู่ก็ไม่สุข จะจากไปก็ไม่ไหว ขยับตัวก็ไม่ได้ ทำอะไรก็ติดขัดเป็นแน่

Leave feedback about this

  • Rating

Movement, Voice

‘ลอยกระทง

Destination, Food

ร้านโนบุท

Art & Event, Culture

Awakening

Movement, Voice

‘โครงการห

Culture, God's City

ไหว้เทพอง

PR news, TICY PR

เช็คอินมื

X