เรื่อง : จักรกฤษณ์ สิริริน
เป็นกระแสข่าวมาพักใหญ่ สำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในญี่ปุ่น ประเทศในฝันของคนนับล้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พี่ไทยที่นอกจากอยากไปเที่ยวแล้ว ยังอยากไปซ้ำและมีถึงขนาดอยากไปอยู่อีกต่างหาก
ชีวิตจริง…ไม่ง่าย
ซึ่งสำหรับคนที่เคยใช้ชีวิตอยู่ที่ญี่ปุ่นจะทราบดีว่า การเที่ยวกับการอยู่ที่หมายถึงตั้งรกรากทำมาหากิน มันต่างกันราวฟ้ากับเหว ซึ่งหลายคนไม่เข้าใจหรือแกล้งไม่เข้าใจ ว่าการใช้เงิน (เที่ยว) กับการหาเงิน (ไปอยู่) นั้น ความบีบคั้นนั้นต่างกัน
ภาพของญี่ปุ่นในโปสเตอร์ท่องเที่ยว หรือรูปใน Social Media ก็เหมือนกับทุกประเทศที่ต้องการโปรโมทอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ที่เน้นภาพสวยหรูดูดี น่าค้นหา จูงใจให้อยากไปท่องเที่ยว
แต่สภาพความเป็นจริงของชีวิตจริง และความเป็นอยู่จริง การหาช่องทางทำกิน สร้างรายได้ หรือการทำงานในกรณีไปอยู่จริง ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย
จากปัจจัยของปัญหาแต่ละประเทศที่ต่างกัน ปัญหาซ่อนเร้นที่มองไม่เห็น และวัฒนธรรมที่ลึกกว่าที่ตาเห็นตามแหล่งท่องเที่ยว นั้นยิ่งทำให้เรื่องที่ไม่ง่าย ไม่ง่ายเข้าไปอีก
ปัญหาซ่อนเร้น ความเจริญ และ ความเชื่อ
อย่างปัญหาหนึ่งซึ่งต้องนับว่าไม่ใช่เรื่องที่หลายคนเคยคาดคิดมาก่อน เพราะต่างมองว่าญี่ปุ่นเป็นสังคมที่มีความสุข ผู้คนอายุยืน และมีคุณภาพชีวิตที่ดี จะมีปัญหาบางด้านที่น่าครุ่นคิด และชวนติดตามอยู่เหมือนกัน
นั่นคือ ปัญหาบ้านร้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแถบชนบทห่างไกล ที่มีบ้านร้างมากมายซึ่งทางรัฐบาลท้องถิ่นแต่ละจังหวัด มีแคมเปญรณรงค์ “แจกบ้านฟรี” เพื่ออยากให้คนเข้าไปอยู่!
จากข้อมูลทางสถิติในปี ค.ศ. 2013 มีบ้านร้างทั่วญี่ปุ่น 7.5 ล้านหลัง คิดเป็น 10% ของปริมาณบ้านทั้งประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มีการคาดการณ์ว่า ในปี ค.ศ. 2033 จำนวนบ้านร้างจะเพิ่มขึ้นอีก 30% แปลไทยเป็นไทยก็คือ บ้านร้างในญี่ปุ่นจะกลายเป็น 1 ใน 3 ของบ้านทั้งหมดในประเทศ
ส่วนสาเหตุนั้น ฟังแล้วแทบไม่น่าเชื่อ ว่าประเทศที่เจริญแล้ว ซึ่งไม่ใช่เจริญอย่างเดียว ต้องเรียกว่าซูเปอร์เจริญ คือเจริญก้าวหน้าแบบขั้นสุด ทั้งเทคโนโลยี รายได้ คุณภาพชีวิต ความเป็นอยู่ และวัฒนธรรมร่วมสมัยที่พัฒนามาไกล ทว่ายังหลอมรวมวัฒนธรรมโบราณอันงดงามเข้าไว้ได้ด้วย แต่ในขณะเดียวกันยังคงมีความเชื่อเรื่อง ภูติผีปีศาจ หลงเหลืออยู่อย่างมาก ทำให้ไม่มีใครอยากเข้าไปอยู่ในบ้านร้างดังกล่าวกันสักเท่าไหร่ แม้ว่าจะมีแคมเปญแจกบ้านฟรีในหลายจังหวัดของญี่ปุ่นก็ตาม
แต่ถ้าจะบอกว่า ไม่น่าเชื่อก็คงจะพูดไม่ได้เต็มปาก เพราะไม่ว่าญี่ปุ่น ไทย ฝรั่ง หรือจีน ก็คงไม่มีใครอยากย้ายเข้าไปอยู่ในบ้านที่มีคนตายกันสักเท่าไหร่ ถ้าไม่จำเป็นจริงๆ หรือมีความคิดแบบคนหัวสมัยใหม่ คน Generation ใหม่จริงๆ
เพราะบ้านร้างในญี่ปุ่นเกือบทั้งหมด เป็นบ้านที่มีคนแก่ตาย ไม่ตายธรรมชาติ ก็ป่วยตาย หรือติดเตียง แม้จะมีคนที่บาดเจ็บเรื้อรังจากอุบัติเหตุ หรือฆ่าตัวตาย แต่ก็ถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับการตายโดยธรรมชาติ คือแก่ตาย หรือป่วยจากโรคชราแล้วเสียชีวิต
อย่างไรก็ดี ยังมีบ้านร้างอีกเป็นจำนวนมาก ที่ไม่มีคนแก่ตายในบ้าน ทว่า ก็ยังไม่มีใครอยากเป็นเจ้าของ หรือเข้าไปอาศัยอยู่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งลูกหลานของบ้านเองซึ่งเข้าไปเรียนหนังสือหรือทำงานในเมืองใหญ่ ก็ไม่อยากกลับมาอยู่บ้านเกิด หรือบ้านของพ่อแม่ปู่ย่าตายายของตนเอง
ตัวการสำคัญ
สาเหตุก็คือ ปัญหาเรื่อง ภาษีที่ดิน ที่รัฐบาลท้องถิ่นแต่ละแห่งของญี่ปุ่นมีการจัดเก็บอย่างเข้มงวด เพราะถือเป็นรายได้หลัก นอกเหนือจากงบประมาณส่วนกลางที่แทบจะไม่พอทำอะไรในท้องถิ่นมากนัก เพราะงานของท้องถิ่นมีมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการซ่อมบำรุงระบบสาธารณูปโภค การสร้าง Infrastructure ใหม่ หรือบำรุงรักษา เช่น การตัดถนนใหม่ ซ่อมแซมถนน ซ่อมระบบไฟฟ้า ระบบประปา ระบบบำบัดน้ำเสีย จัดเก็บและบำบัดขยะมูลฝอย ฯลฯ
ความโหดของอัตราการเก็บภาษีที่ดินที่สูงถึง 1.7% ต่อปีของมูลค่าที่ดิน ซึ่งต้องบอกว่า ราคาที่ดินญี่ปุ่นแพงมาก เมื่อเจอกับอัตราภาษีที่แพงแบบนี้ จึงไม่มีใครอยากรับหรือถือมรดกบ้านและที่ดินเก่าของครอบครัวอีกต่อไป
ปัญหาสำคัญอีกประการก็คือ การถือครองอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นมรดกซึ่งหมายถึงบ้านและที่ดินของครอบครัวแบบเอาไว้เก็งกำไร หรือเล่นที่ดิน ก็ทำได้ยาก เนื่องจากต่างคนต่างไม่อยากอยู่ จึงต่างไม่อยากซื้อเอาไว้ ขนาดให้อยู่บ้าน ฟรี ยังไม่มีใครเอา แล้วใครจะมาซื้อ
เพราะแม้ว่าญี่ปุ่นเป็นสังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์มานานแล้ว ทำให้ประชากรโดยรวมลดลงมาเรื่อยๆ แบบก้าวกระโดดอย่างมีนัยสำคัญตั้งแต่ปี ค.ศ. 2010 เป็นต้นมา จนถึงปัจจุบันประชากรลดลงหลักล้านอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ เช่น แคนาดา หรือหลายประเทศในยุโรป ริเริ่มและดำเนินนโยบายเปิดรับคนต่างชาติเข้ามาอยู่อาศัย มาทำงาน มาเรียนหนังสือ และมาเป็นประชากร แบบให้กรีนการ์ด หรือบัตรประชาชนกันเลย
ทว่า ญี่ปุ่นไม่มีนโยบายดังกล่าว ซึ่งได้ส่งผลกระทบแบบลูกโซ่ หรือเป็นปัญหาแบบโดมิโน คือเด็กเกิดน้อย คนวัยทำงานลดลง แรงงานหายาก คนแก่ตายช้า คนแก่มีมาก เมื่อคนแก่ตายลง บ้านร้างก็นับวันจะมีมากขึ้นเรื่อยๆ
ปัญหาขาดแคลนแรงงาน กำลังเป็นปัญหาใหญ่ในภาคการผลิต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อาชีพดูแลคนสูงอายุ หรืออาชีพอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับคนแก่ ก็ยิ่งทำให้คนชราญี่ปุ่นต้องเผชิญกับคุณภาพชีวิตที่ย่ำแย่ที่นอกจากจะห่างไกลลูกหลานแล้ว แม้จะมีเงินจ้างคนดูแล แต่ไม่มีคนดูแลให้จ้าง
Akiya Bank ธนาคารบ้านร้าง
ปรากฏการณ์แจกบ้านฟรี แต่ไม่มีใครเอาจึงเกิดขึ้นเช่นนี้ดังที่เล่ามา นำไปสู่การก่อตั้ง “ธนาคารบ้านร้าง” หรือ Akiya Bank ทำหน้าที่บริหารจัดการ “บ้านร้าง” ดำเนินธุรกรรมโอนบ้านให้กับผู้ที่ต้องการมาอยู่ ซึ่งแทบจะไม่มีลูกค้าอะไรเป็นจริงเป็นจัง เนื่องจากไม่มีใครอยากได้บ้านร้าง
แม้กระทั่ง บ้านร้างในเกียวโตราคาแค่ 150,000 บาทก็ยังไม่มีใครเอา หรือบ้านในโตเกียวราคาแค่ 200,000 บาทก็ยังไม่มีใครซื้อ ตามรายงานจาก Akiya Bank
อ่านถึงตรงนี้ ผมคิดว่าพี่ไทยหลายคนที่มีเงินคงคิดอยากไปซื้อบ้านที่ญี่ปุ่น ซึ่งหากพูดกันตามจริงแล้ว ก็มีสิทธิ์ตามกฎหมาย เนื่องจากญี่ปุ่นไม่ห้ามชาวต่างชาติถือครองที่ดิน
ทว่า หากจะไปอยู่กันจริงๆ จะติดปัญหา VISA ระยะยาว รวมไปถึงเรื่องสัญชาติที่ต้องบอกว่าปิดประตูไปเลย แต่ถ้าซื้อไว้เป็นบ้านตากอากาศ ไว้ไปพักร้อนก็คงทำได้ (มั้งครับ)
Leave feedback about this