จักรกฤษณ์ สิริริน
ชื่อเสียงของ “ตึกหุ่นยนต์” คือการได้รับการเลือกให้เป็น 1 ใน “50 อาคารแห่งศตวรรษ” จาก “พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยลอสแอนเจลิส” หรือ The Museum of Contemporary Art of Los Angeles
แน่นอนว่า ชื่อเสียงที่โด่งดังไม่แพ้กันก็คือ สถาปนิกผู้ออกแบบ “ตึกหุ่นยนต์” อาจารย์ “สุเมธ ชุมสาย”
“ดร.สุเมธ ชุมสาย” ได้ให้สัมภาษณ์นิตยสาร “อาษา” ฉบับเดือนตุลาคม 2553 เอาไว้ว่า “ตึกหุ่นยนต์นี่สร้างพร้อมกับอาคาร Hong Kong Bank ภายใต้แนวคิด Hi-Tech Concept ของสถาปนิกอังกฤษ ที่มักออกแบบตึกเพื่อแสดงให้เห็นชิ้นส่วนเครื่องจักรกล โดยไม่ปิดบัง หรือแอบซ่อน”
“เช่น เอางานระบบของอาคารซึ่งทำหน้าที่อยู่ภายใน เอามาแสดงไว้ข้างนอก อย่าง Centre Pompidou ของฝรั่งเศส ซึ่งเราจะเห็นท่อหรืออะไรต่อมิอะไรมาอยู่ข้างนอก ทั้งที่ไม่มีความจำเป็น แต่มันทำให้เกิดความตื่นเต้น และดูเผินๆ เหมือนจะประหยัด แต่ไม่ประหยัด”
“เป็นการกลับแนวคิดจาก Hi-Tech Concept มาเป็น Post Hi-Tech คือแทนที่ตึกหุ่นยนต์ จะเอาชิ้นส่วนต่างๆ ข้างในของเครื่องยนต์ออกมาโชว์ แต่กลับเป็นการใช้ตัวหุ่นยนต์เองทำหน้าที่เป็นสัญลักษณ์”
“ตอนนั้นลูกชายกำลังเล่นตุ๊กตาหุ่นยนต์ของญี่ปุ่น ซึ่งเริ่มกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเด็กๆ จึงนึกถึงคำว่า User Friendly เพราะหุ่นยนต์ในอนาคตจะเป็นองค์ประกอบของชีวิตมนุษย์”
“ตึกหุ่นยนต์” สร้างเสร็จในปี ค.ศ. 1986 ใช้งบประมาณก่อสร้างราว 300 ล้านบาท เป็นอาคารสูง 20 ชั้น พื้นที่ 23,506 ตารางเมตร
เสาอากาศ 2 เส้นที่หัวหุ่นยนต์ ใช้สำหรับติดตั้งเครื่องมือสื่อสาร และเป็นสายล่อฟ้า Facade เป็นห้องประชุมใหญ่ และเป็นห้องรับประทานอาหารของผู้บริหารธนาคารเอเชีย
ตาหุ่นยนต์มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 6 เมตร เป็นหน้าต่างของตึก ส่วนน็อตยักษ์ที่อยู่ข้างอาคาร ทำจากคอนกรีตเสริมเหล็ก เป็นน็อตที่ใหญ่ที่สุดในโลกในสมัยนั้น
“ตึกหุ่นยนต์” ได้รับการยกย่องให้เป็นสัญลักษณ์ของอาคารยุค Modern ที่มีชื่อเสียงที่สุดของไทยเคียงคู่กับ “ตึกช้าง” ผลงานการออกแบบของ “องอาจ สาตรพันธุ์” ซึ่งแม้จะสร้างขึ้นหลัง “ตึกหุ่นยนต์” หลายสิบปีก็ตาม
จากข่าวคราวความเคลื่อนไหวล่าสุดเกี่ยวกับ “ตึกหุ่นยนต์” ปรากฏว่า จะมีโครงการ Renovate “ตึกหุ่นยนต์” ขนานใหญ่ ให้เป็นตึกกระจกล้วน ตามประกาศที่ออกมาก่อนหน้านี้
ทำให้เกิดกระแสเสียงเรียกร้องการอยู่ร่วมกันระหว่างสถาปัตยกรรมยุค Modern กับผู้คนยุค Post-Modern ในเมืองใหญ่
โรงหนังเฉลิมไทย โรงหนังสกาลา อาคาร AUA โรงแรมดุสิตธานี เหล่านี้คือตัวอย่างของ สถาปัตยกรรมยุค Modern ที่ถูกทุบทิ้งไปหมดแล้ว
ซึ่ง 100 ทั้ง 100 มักมีแถลงการณ์ก่อนทุบ ทำนองว่า “ด้วยรูปลักษณ์ที่ล้าสมัย สิ่งอำนวยความสะดวกไม่ครบครัน การใช้พื้นที่หละหลวม ไม่คุ้มค่ากับมูลค่าที่ดินในปัจจุบัน”
แม้อาคารเหล่านี้จะมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์มากเพียงใดก็ตาม
Docomomo Thai (คณะทำงานระหว่างประเทศ ว่าด้วยการเก็บข้อมูล และการอนุรักษ์สถาปัตยกรรม Modern ไทย) ระบุว่า “ตึกหุ่นยนต์” มีความสำคัญในฐานะ “หมุดหมายทางประวัติศาสตร์” ที่แสดงให้เห็นยุคเปลี่ยนผ่าน จาก Later Modernism มาสู่ Post-Modernism
โดยทาง Docomomo Thai ได้ร่วมมือกับ Docomomo Japan ในการรวบรวมข้อมูลสถาปัตยกรรม Modern ในประเทศไทย จำนวน 100 อาคาร โดย “ตึกหุ่นยนต์” หรือ The Robot Building ได้รับการคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 20 อาคารที่มีความโดดเด่นที่สุด
ซึ่งทาง Docomomo Thai และทาง Docomomo Japan กำลังจัดให้ “ตึกหุ่นยนต์” ได้เข้าไปอยู่ใน “MoMap” ภายใน Website: Docomomo International เร็วๆ นี้
ในอดีตที่ผ่านมา ต้องถือว่า “ตึกหุ่นยนต์” ถนนสาทร เป็น “Landmark ระดับโลก” ของ “กรุงเทพมหานคร” ที่ชาวต่างชาติหลายคนซึ่งรับรู้ชื่อเสียง ต่างพากันแวะเวียนมาเยี่ยมชม
จากจุดเริ่มต้นของ “ตึกหุ่นยนต์” สุด Modern ในยุค 80 ที่สื่อถึง “ธนาคารเอเชีย” ว่าเป็นผู้นำทางนวัตกรรม นำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาให้บริการแก่ลูกค้าในยุคนั้น
โดย “ยศ เอื้อชูเกียรติ” ผู้บริหารระดับสูงของ “ธนาคารเอเชีย” ในขณะนั้น ได้มอบหมายให้ “ดร.สุเมธ ชุมสาย ณ อยุธยา” มีอิสระในการออกแบบอย่างเต็มที่
จากวันนั้น ถึงวันนี้ วันที่ “ตึกหุ่นยนต์” icon กรุงเทพฯ ยุค 80 กำลังจะถูก Renovate กลายเป็น “หุ่นยนต์ Transformers” Version กระจก
จึงขอบันทึกเรื่องราวของ “ตึกหุ่นยนต์” ไว้ด้วยอารมณ์โหยหาอาวรณ์ในแบบ Nostalgia ไว้ ณ โอกาสนี้