พฤศจิกายน 15, 2024
ticycity.com
Movement Voice

ญี่ปุ่น แผ่นดินไหว สึนามิซัดสาด ในวันปีใหม่ 2024 เทียบกับเหตุเมื่อ 13 ปีที่แล้ว 

ประกาศเตือนภัย

แผ่นดินไหว คลื่นซัดสาด ประกาศเตือนภัย!: การมาถึงของสึนามิครั้งใหญ่ในวันขึ้นปีใหม่ของญี่ปุ่น และการเปรียบเทียบกับเหตุเมื่อ 13 ปีที่แล้ว 

วันขึ้นปีใหม่ 1 มกราคม เป็นวันที่เป็นการเริ่มต้นของสิ่งดีๆ ที่จะเกิดขึ้นในตลอดปี 2024 สำหรับหลายประเทศ ความสุข ความสมหวัง และความปรารถนาจากช่วงคืนส่งท้ายปี ยังคงหลงเหลือตกค้างในอณูอากาศแห่งความ Festive อย่างชื่นมื่น และ ‘ญี่ปุ่น’ เอง ก็เป็นอีกหนึ่งประเทศ ที่ร่วมส่งท้ายปีสู่วาระปีใหม่ได้อย่างยิ่งใหญ่ และน่าสนใจ 

แต่ราวกับธรรมชาติจะเล่นตลก เพราะเพียงระยะเวลา 16 ชั่วโมงนับจากเที่ยงคืน ฝันร้ายเก่าที่เคยหลอกหลอนประเทศญี่ปุ่นก็พลันเกิดขึ้น เมื่อสถานการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ ก่อตัวขึ้นในช่วงตอนกลางฝั่งตะวันตกของประเทศ ด้วยความรุนแรงที่สัมผัสได้ และมีแนวโน้มที่ ‘สึนามิ’ จะกลับมาอีกครั้ง 

สึนามิ ที่เคยสร้างความเสียหาย และการสูญเสียครั้งใหญ่ให้กับประเทศญี่ปุ่นเมื่อปี 2011 ยังคงเป็นประสบการณ์ที่ชาวอาทิตย์อุทัย จดจำได้ไม่มีลืมเลือน บ้านเรือนเสียหาย บุคคลสูญหายล้มตาย และที่หนักที่สุด คือโรงงานไฟฟ้าที่ฟุกุชิมะ เกิดการรั่วไหล กลายเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ยังตกค้างมาจนถึงปัจจุบัน 

ภาพรวมที่เกิดขึ้น ณ ขณะนี้ เป็นเช่นใด และเมื่อเทียบกับเหตุการณ์เมื่อ 13 ปีที่แล้ว แตกต่างกันมากน้อยแค่ไหน เราขอสรุปสถานการณ์อย่างคร่าวๆ เพื่อให้เห็นภาพ และช่วยให้ประเมินได้ว่า สิ่งที่ ‘อาจจะ’ เกิดขึ้นในระยะเฝ้าระวังถัดจากนี้ จะเป็นไปในทิศทางใด 

สถานการณ์ล่าสุด ณ วันที่ 2 มกราคม

ภายหลังจากเหตุแผ่นดินไหวในวันที่ 1 มกราคม 2024 ขนาด 7.4 แมกนิจูด ทางตอนกลางฝั่งตะวันตกของประเทศ ในเวลา 16.10 น ตามเวลาท้องถิ่น สำนักงานอุตุนิยมวิทยาของญี่ปุ่น ได้ทำการประกาศเตือนภัยสึนามิตามแนวชายฝั่งทั้งหมดสามจังหวัดด้วยกัน จังหวัดอิชิกาวะ จังหวัดนีงาตะ จังหวัดโทยามะ

ก่อนที่จะทำการประกาศเพิ่มเติมอีกสามจังหวัด คือ จังหวัดยามากาตะ จังหวัดฟุคุอิ จังหวัดเฮียวโงะ

ซึ่งทั้งหกจังหวัด ได้มีรายงานว่าคลื่นสึนามิความสูงประมาณ 3 เมตร ได้พัดเข้าชายฝั่งแล้วเป็นที่เรียบร้อย ก่อให้เกิดเหตุผู้เสียชีวิตในเบื้องต้นที่จังหวัดอิชิกาวะ อย่างน้อย 6 คน และติดอยู่ในซากอาคาร 6 คน (ส่วนจำนวนล่าสุด ยังไม่ได้รับการยืนยันอย่างเป็นทางการ….) 

พร้อมกันนั้น หลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวที่จังหวัดอิชิกาวะ ทางสำนักงานอุตุนิยมวิทยาของญี่ปุ่นได้ทำการประกาศเฝ้าระวังคลื่นสึนามิเพิ่มเติมอีก 10 จังหวัด ดังต่อไปนี้ 

จังหวัดอาโอโมริ จังหวัดเกียวโต จังหวัดฮอกไกโด จังหวัดอากิตะ จังหวัดทตโทริ จังหวัดยามากุจิ จังหวัดซากะ จังหวัดนางาซากิ จังหวัดชิมาเนะ จังหวัดฟุกุโอกะ

หรือแม้แต่จังหวัดโตเกียว เมืองหลวงของประเทศญี่ปุ่น ที่อยู่ห่างจากจุดศูนย์กลางการเกิดแผ่นดินไหว ก็สัมผัสถึงแรงสั่นสะเทือนที่ส่งมา สร้างความตื่นตระหนก และเกิดเป็นคำสั่งอพยพผู้คนไปอยู่ในศูนย์พักพิง และในฐานทัพของกระทรวงกลาโหม

ด้านการคมนาคม รถไฟชินคันเซ็นความเร็วสูงสาย Joetsu และ Hokuriku ในจังหวัดอิชิกาวะ ยกเลิกการเดินรถทั้งหมด และยังมีเหตุสัญญาณโทรศัพท์ขัดข้อง ถนนและบ้านเรือนกว่า 35000 หลังคาเรือนพังเสียหาย 

ด้านโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ บริษัท โอคุริคุ อิเล็กทริค พาวเวอร์ ได้ให้สัมภาษณ์กับทางสำนักข่าว NHK ว่า กำลังตรวจสอบความผิดปกติใดๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นกับโรงงานไฟฟ้าของทางบริษัท เพื่อป้องกันเหตุร้ายที่อาจจะเกิดขึ้น 

ความเสียหายจากเหตุสึนามิ ปี 2011

สถานการณ์ในปัจจุบัน เมื่อมองย้อนกลับไปยังเหตุแผ่นดินไหวและสึนามิครั้งใหญ่ในวันที่ 11 มีนาคม 2011 นั้น นับว่ามีความใกล้เคียงในระดับความรุนแรงอยู่ไม่น้อย โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้ 

วันที่ 11 มีนาคม 2011 เกิดเหตุแผ่นดินไหวขนาด 9.0 ริกเตอร์ ศูนย์กลางอยู่นอกชายฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือ แถบโทโฮคุ และนับเป็นแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศญี่ปุ่น และรุนแรงจัดเป็นอันดับ 4 ของโลก โดยมีระยะเวลาการสั่นไหวทั้งหมด 6 นาที 

จังหวัดที่ได้รับความเสียหายเป็นลำดับแรกคือ จังหวัดเซ็นได ในหมู่เกาะฮอนชู ที่อยู่ห่างจากศูนย์กลางแผ่นดินไหวกว่า 130 กิโลเมตร และจังหวัดอื่นๆ ตามแนวชายฝั่ง ที่มีรายงานการเกิดแผ่นดินไหวต่อเนื่องตามมาอีกนับร้อยครั้ง โดยไต่ระดับจาก 7.9 ริกเตอร์ ขึ้นไปที่ 8.8 และ 8.9 ก่อนที่จะปรับตัวไปที่ระดับ 9.0 ในตอนท้าย 

แผ่นดินไหวสร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวง แต่สิ่งที่ตามมา คือพลังทำลายล้างที่ยิ่งกว่า เพราะคลื่นสึนามิที่เกิดจากการบีบตัวของแผ่นเปลือกโลก ได้ซัดสร้างความเสียหายตามชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกในหมู่เกาะตอนเหนือของญี่ปุ่น มีผู้เสียชีวิตและสูญหายนับพันคน จนกลายเป็นคำสั่งเตือนภัยและอพยพที่ตามมา 

นอกเหนือจากนั้น คลื่นสึนามิยักษ์ที่ซัดเข้ามา ได้ทำให้ระบบกำเนิดไฟฟ้าดีเซลสำรองของโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ 1 และฟุกุชิมะ 2 ได้รับความเสียหาย กลายเป็นปัญหาในการลดความร้อน จนเกิดการระเบิด 2 ครั้ง ก่อเกิดเป็นระดับกัมมันตภาพรังสีที่สูงในบริเวณรอบข้าง ที่ส่งผลให้ประชาชนกว่า 200000 คนโดยรอบต้องอพยพหนี และยังคงเป็นพื้นที่ที่เป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมมาจนถึงปัจจุบัน 

เมื่อเหตุสิ้นสุด ความเสียหายสุดท้ายของเหตุแผ่นดินไหวและสึนามิในปี 2011 ทำให้มีผู้เสียชีวิตไม่ตำกว่า 9408 ราย สูญหายกว่า 14716 ราย บาดเจ็บ 2746 ราย ผู้ไร้ที่อยู่อาศัยนับไม่ถ้วน และมูลค่าความเสียหายที่รัฐบาลญี่ปุ่นประเมินว่าสูงถึง 3.09 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ตามค่าเงินในเวลานั้น….) ซึ่งทำให้มันกลายเป็นภัยพิบัติครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่นไปโดยปริยาย 

จากอดีต มองสู่สถานการณ์ปัจจุบัน

สถานการณ์แผ่นดินไหวของญี่ปุ่น ณ ปัจจุบันขณะนี้ แม้จะไม่รุนแรงเท่ากับเหตุการณ์ในปี 2011 แต่การเฝ้าระวังของทางการและกรมอุตุนิยมวิทยาของญี่ปุ่นก็มีความเข้มข้นที่มากขึ้น การประกาศเตือนการเฝ้าระวังตามจังหวัดที่มีแนวโน้มจะได้รับผลกระทบถูกส่งออกไปอย่างทันท่วงที และหกจังหวัดที่ได้รับผลกระทบ ก็มีการอพยพผู้คนและเริ่มดำเนินการช่วยเหลือแล้ว

แต่ทางกรมอุตุนิยมวิทยาของประเทศญี่ปุ่นก็ยังคงเตือนประชาชนอย่างต่อเนื่อง ให้ระวังการ ‘Aftershock’ ที่อาจจะเกิดขึ้นในระยะเวลาสองสัปดาห์นับจากนี้ ซึ่งจะทำให้ความเข้มข้นของการป้องกันของทางภาครัฐยิ่งสูงขึ้นอีกเป็นเท่าตัว 

เพราะมันไม่อาจรู้ได้ว่านี่เป็นเพียงเหตุการณ์แบบครั้งเดียวจบ หรือเป็นการ ‘โหมโรง’ สู่มหันตภัยใหญ่ครั้งใหม่ ….. 

ซึ่งความเสียหายและความสูญเสียเมื่อ 13 ปีก่อน มันก็เป็นเหตุผลที่มากเพียงพอที่ทางภาครัฐจะต้องเฝ้าระวังอย่างสุดความสามารถ เพื่อลดความเสียหายให้เหลือน้อยที่สุด เท่าที่จะทำได้…  

Leave feedback about this

  • Rating

Movement, Voice

‘ลอยกระทง

Destination, Food

ร้านโนบุท

Art & Event, Culture

Awakening

Movement, Voice

‘โครงการห

Culture, God's City

ไหว้เทพอง

PR news, TICY PR

เช็คอินมื

X