พฤศจิกายน 16, 2024
ticycity.com
Movement Voice

“กุหลาบ” สุดอันตราย!

มอบ “ความตาย” แทน “ความรัก”

โดย จักรกฤษณ์ สิริริน

ธรรมเนียมการให้ “ดอกกุหลาบ” ใน “วันวาเลนไทน์” นั้น เริ่มต้นขึ้นในช่วงปลายศตวรรษที่ 17 โดยพระเจ้าคาร์ลที่ 12 แห่งสวีเดน ในระหว่างที่เดินทางไปยังอาณาจักรเปอร์เซีย พระองค์ก็ได้พบกับการร่ายลำนำกวีประกอบศิลปะแสดงสด “ภาษาดอกไม้” หรือ “การใช้ดอกไม้แทนคำพูด” ที่ความรู้สึกจากผู้ให้ถึงผู้รับ โดยในการแสดง “ภาษาดอกไม้” นั้น “กุหลาบ” เป็นดอกไม้ที่แสดงถึงความรักที่เด่นชัดที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กุหลาบแดง

ดังนั้น เมื่อ “วันแห่งความรัก” หรือ “วาเลนไทน์” เวียนมาบรรจบครบอีกวาระหนึ่ง “กุหลาบ” จึงยังเป็นดอกไม้ยอดนิยมที่ใครๆ เลือกหา เพื่อมอบให้คนรัก เฉกเช่นทุกปีที่ผ่านๆ มาซึ่งเป็นที่ทราบกันทั่วโลก ว่า “ดอกกุหลาบ” คือสัญลักษณ์สำคัญของ “เทศกาลวาเลนไทน์” แต่ “วาเลนไทน์” ปีนี้ Ticy City ขอ “กระตุกต่อมคิด” ชวนท่านผู้อ่าน “มองต่างมุม” ถึง “อันตราย” ของ “กุหลาบ” กันครับ เพราะเราเชื่อว่า อะไรที่ “น้อยเกินไป” อาจไม่ดี แต่อะไรที่ “มากเกินไป” ก็ไม่ดีเช่นกัน

เรากำลังพูดถึง “สารเคมี” ที่เคลือบ “ดอกกุหลาบ” ใน “วันวาเลนไทน์” เพราะส่วนใหญ่ ในเชิงการตรวจสอบ “อันตราย” ของ “สิ่งปนเปื้อน” เรามักให้ความสำคัญกับ “อาหารการกิน” มากกว่า “ดอกไม้” ซึ่งแทนที่จะเป็นการ “ส่งมอบความรัก” แต่อาจกลับกลายเป็นการ “หยิบยื่นความตาย” ให้ “คนที่คุณรัก” ในปีนี้ก็เป็นได้

เริ่มที่ “วันวาเลนไทน์” ปีนี้ หากเราถอยออกมามอง “กุหลาบ” ในฉากไกลๆ ตัด “ความโรแมนติก” ออกเล็กน้อย เราอาจได้แง่มุมใหม่ที่มีต่อ “ดอกกุหลาบ” ในมุมเศรษฐกิจ ผลผลิต “กุหลาบ” ผูกโยงกับเศรษฐศาสตร์มหภาคพอสมควร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มูลค่าทางการตลาดช่วง “วาเลนไทน์” ที่ถือเป็นห้วงเวลาโกยเงินโกยทองของวงการดอกไม้ช่วงหนึ่งในรอบปี ปฏิเสธไม่ได้ว่า “กุหลาบ” เป็น “ดอกไม้เศรษฐกิจ” ที่มีมูลค่าในตัวเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากมองในมุมของเกษตรกร กุหลาบเป็นพืชเศรษฐกิจที่ราคาไม่เคยตก โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลวันวาเลนไทน์ ราคากุหลาบจะพุ่งสูงกว่าปกติหลายเท่าตัว ทำให้ปัจจุบันตลาดกุหลาบมีแนวโน้มการแข่งขันที่สูงมากขึ้น

สำหรับธุรกิจกุหลาบมีทั้งขายเป็นต้นสำหรับนำไปปลูกเอง และการตัดดอกขาย ในเมืองไทยมีการปลูกกุหลาบเพื่อตัดดอกกระจายอยู่ทั่วทุกภาคของประเทศ ข้อมูลในปี พ.ศ. 2566 พบแปลงปลูก “กุหลาบ” ขนาดใหญ่รวมประมาณ 2,000 ไร่ กระจายตัวในจังหวัดปลูกกุหลาบที่สำคัญ ได้แก่ ตาก เชียงใหม่ เลย นครปฐม กาญจนบุรีเชียงราย ราชบุรี และชลบุรี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แหล่งปลูก “กุหลาบ” ใหญ่สุดอยู่ที่อำเภอพบพระ จังหวัดตาก รองลงมาคืออำเภอสะเมิง อำเภอฮอด อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ และลดหลั่นลงมาคือพื้นที่ปลูกในจังหวัดเลย และจังหวัดนครปฐม โดยไทยส่ง “กุหลาบ” เป็นสินค้าออกในรูปดอกสด มานานหลายสิบปีแล้ว มูลค่าการส่งออกเฉลี่ย 7,000,000 บาทต่อปี ตลาดส่งออกใหญ่ที่สุดคือสิงคโปร์

อย่างไรก็ดี ต้องบอกว่า “อุตสาหกรรมดอกกุหลาบ” ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเพาะปลูกกุหลาบในปริมาณมหาศาลเพื่อรองรับความต้องการใน “วันวาเลนไทน์” เพื่อให้เสื้อผ้าหน้าผมที่สวยสดงดงามของกุหลาบ จึงต้องมีการอัดสารเคมีจำนวนมาก เพื่อป้องกันศัตรูพืช แม้ทุกฝ่ายจะทราบดี ว่าสารเคมีเหล่านี้ล้วนตกค้างอยู่ในพื้นที่เพาะปลูก และระบบนิเวศ ยังไม่นับผลกระทบที่นำไปสู่วิกฤติโลกร้อน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การใช้พลังงานจำนวนมาก ทั้งในกระบวนการเพาะปลูก และการขนส่งแบบควบคุมอุณหภูมิ

เนื่องจากกุหลาบไม่ใช่พืชประจำท้องถิ่นของหลายประเทศ เพราะสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวย หลายท่านอาจไม่ทราบ ว่ากุหลาบหลายพันธุ์ที่วางขายในช่วงเทศกาลแห่งความรักของไทย เป็นการนำเข้าจากประเทศผู้ส่งออกรายใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นจากยุโรป คือฮอลแลนด์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “จีน” เพราะกงสุลใหญ่นครคุนหมิง ได้เคยเปิดเผยรายงาน ว่ากุหลาบที่วางขายในประเทศไทยในเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี 90% มาจากประเทศจีน โดยแหล่งซื้อขายใหญ่ที่สุดอยู่ที่ “ตลาดโต่วหนาน” มณฑลยูนนาน ซึ่งเป็นตลาดการค้าดอกไม้สดส่งออกที่ใหญ่ที่สุดในประเทศจีน คล้ายกับปากคลองตลาดของบ้านเรา

พูดถึงปากคลองตลาด กับการซื้อขายดอกไม้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “กุหลาบวาเลนไทน์” ก็เป็นเรื่องตลกร้ายเอามากๆ กล่าวคือ แม้แต่ในปากคลองตลาดที่เป็นตลาดดอกไม้สดที่ใหญ่ที่สุดของไทย ปัจจุบันกลายเป็นนักธุรกิจดอกไม้จาก “จีน” เข้ามาครองส่วนแบ่งตลาด โดยใช้วิธีจ้างนอมินีเข้าซื้อพื้นที่แผงขายหน้าร้านดอกไม้เก่า หรือไม่ก็สร้างตึกเพื่อเปิดร้านขายดอกไม้โดยเฉพาะ เพื่อแข่งขันกับธุรกิจค้าดอกไม้ปากคลองตลาดดั้งเดิมที่ดำเนินการโดยคนไทย

อย่างไรก็ดี แม้ “กุหลาบ” จะมี “มูลค่าทางเศรษฐกิจ” และ “คุณค่าทางจิตใจ” มากเพียงใด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเทศกาล “วาเลนไทน์” แต่เราต้องไม่ลืม “ความงามอาบยาพิษ” ที่เคลือบอยู่บน “ดอกกุหลาบ” เพราะเป็นที่ทราบกันดีใน “วงการกุหลาบ” ว่า ดอกไม้งามชนิดนี้ “ขาดยาไม่ได้”

ข้อมูลจากกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระบุว่า พื้นที่ปลูก “กุหลาบ” 1 ไร่ เกษตรกรต้องใช้ยาปราบศัตรูพืชเฉลี่ยมากถึง 125 ลิตร โดยชาว “สวนกุหลาบ” จะต้องฉีดพ่นยาปราบศัตรูพืชตลอดระยะเวลา 6 เดือน เรียกได้ว่า มีการใช้สารเคมีที่ใช้ปรากฏอยู่ทุกขั้นตอน ตั้งแต่เริ่มปลูก จนถึงวันตัดดอก

ลองไปไล่เรียงภัยคุกคามของเกษตรกรผู้ปลูก “กุหลาบ” กันดูเป็นที่ทราบกันดีทั่วโลก ว่า “ศัตรูหมายเลขหนึ่ง” ของ “กุหลาบ” ก็คือ “โรคใบจุด” หรือ Black Spot “โรคใบจุด” คือศัตรูตัวฉกาจของ “วงการกุหลาบ” ถือเป็นโรคระดับ Classic ที่ “ผู้เลี้ยงกุหลาบ” รู้จักดี เพราะ “กุหลาบ” จะต้องเผชิญกับ “โรคใบจุด” ตลอดทั้งปี

อาการของ “โรคใบจุด” นั้น ตรงตามชื่อโรคทุกประการ คือจะเกิด “จุดวงกลมสีดำ” ที่ผิวด้านบนของใบ โดยจุดนี้จะขยายวงกว้างออกไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ต้นฤดูฝนที่มีฝนตกสม่ำเสมอ หรือในฤดูหนาวที่น้ำค้างลงหนักก็มักเกิด “โรคใบจุด” เช่นกัน “โรคใบจุด” แก้ได้ด้วยคูปราวิท ไดเทน คาโดนิล แคปแทน เบนเลท หรือเบนโนมิล

นอกจาก “โรคใบจุด” ที่มาเยือนตลอดทั้งปีแล้ว “เพื่อนซี้” ของ “กุลาบ” มีอีก 2-3 คน เป็นต้นว่า “เพลี้ยไฟ” และ “ไรแดง” สำหรับ “เพลี้ยไฟ” นั้น “หมอกุหลาบ” มักสั่งยาคาร์บาริล, เอ็นโดซัลแฟน, มาลาไธออน, เมทธิโอคาร์บ, คาร์โบซัลแฟน, อะบาเมคทิน, เบนฟูราคาร์บ หรือฟิโพรบิล มาเพื่อแก้อาการ ส่วน “ไรแดง” ก็ต้องเจอกับไพรบิดาเบน, อิมิดาคลอพริด, โอเม็ทโธเอท, อะบาเม็คติน, อะมิทราซ, แลมด้าไซฮาโลธริน หรือเท็ทตระไดฟอน นอกจาก “เพลี้ยไฟ” และ “ไรแดง” ธรรมชาติยังแถม “หนอน” มาให้อีกเล็กน้อย ซึ่งต้องโคจรมาพบกับอะบาเม็กติน หรือไซเพอร์เมทริน

ปิดท้ายกันที่ “เชื้อรา” ที่ต้องป๊ะกับเบโนมิล ดาโคนิล หรือเมทาแลกซิล เป็นขั้นตอนสุดท้ายก่อนที่ “กุหลาบ” จากจาก “ไร่” ไปสู่ “ร้าน” ข้อมูลวิจัยระดับโลกชี้ว่า อาการเบาะๆ ของการสูดดมสารเคมีที่เคลือบอยู่ที่ “ดอกกุหลาบ” คืออาการแพ้ ที่มีหลายระดับจากเบาไปหาหนัก ทั้งทางผิวหนัง และดวงตา  ส่วน “ยาฆ่าเชื้อรา” มีอันตรายต่อหญิงตั้งครรภ์ ทำให้เสี่ยงต่อการแท้งลูก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ยากำจัดไรแดง” ซึ่งได้เคยพบตัวอย่างเกษตรกรหญิงชาวโปแลนด์วัย 48 ปี มีอาการ “กระเพาะอาหาร” และ “ลำไส้” อักเสบ อีกทั้งยังพบว่า “เม็ดเลือดขาว” นั้น “ลดจำนวนลง” อย่างรวดเร็ว

ดังนั้น ไม่ใช่แค่ “หนาม” เท่านั้นที่ “อันตราย” เพราะ “สารเคมี” ใน “กุหลาบ” มอบ “ความตาย” แทน “ความรัก” ครับ

Leave feedback about this

  • Rating

Movement, Voice

ประตูเชื่

Movement, Voice

‘ลอยกระทง

Destination, Food

ร้านโนบุท

Art & Event, Culture

Awakening

Movement, Voice

‘โครงการห

Culture, God's City

ไหว้เทพอง

X