ความงดงามแห่งสถาปัตยกรรมร่วมสมัย ที่เปิดเผยอีกครั้งในรูปแบบ Night Museum
งานสถาปัตยกรรมหลวงที่ส่งต่อมาจากยุคสมัยก่อนหน้าหลายต่อหลายแห่งในกรุงเทพมหานคร มีประวัติความเป็นมาที่น่าสนใจ และสไตล์การออกแบบที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ที่ทรงรับอิทธิพลและแนวทางจากฟากฝั่งตะวันตก ผสมผสานจนเกิดเป็นเส้นสายที่มีความเป็นสยามและตะวันตกไว้ในรูปเดียวกัน เหมาะสมทั้งในแง่การใช้งาน และความงดงาม
และ ‘พระราชวังพญาไท’ ก็จัดเป็นหนึ่งใน Contemporary Architecture ร่วมสมัยที่น่าสนใจอย่างยิ่ง
เป็นเวลากว่าหนึ่งศตวรรษ ที่พระราชวังแห่งนี้ ได้ถูกสร้าง ดำรงอยู่ ในหลากหลายบทบาท ผ่านประวัติศาสตร์การใช้งานและผ่าน ‘รัชสมัย’ ท้าทายซึ่งกาลเวลา จนมาถึงวันนี้ วันที่พระราชวังพญาไท กลายมาเป็นพิพิธภัณฑ์สำหรับประชาชนผู้สนใจ ได้เข้าชมเพื่อศึกษาและเรียนรู้
ความเป็นมาของพระราชวังพญาไทนั้น เรียบง่าย แต่น่าสนใจอย่างยิ่ง กล่าวคือ ถือกำเนิดขึ้นในปี พุทธศักราช 2452 จากการก่อสร้างและต่อเติมถนนราชวิถี ปลายถนนซังฮี้ ที่มีพื้นที่โปร่งโล่ง อากาศน่าสบาย เป็นที่ต้องพระราชหฤทัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นอย่างยิ่ง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ซื้อที่ดินประมาณ 100 ไร่เศษ จากชาวไร่ชาวนาในละแวก เพื่อสร้างเป็นพระตำหนักที่ประทับสำราญพระราชอิริยาบถ รวมถึงทดลองปลูกธัญพืชต่างๆ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อพสกนิกรทั่วไป
อันเป็นจุดเริ่มต้นของ ‘พระตำหนักพญาไท’ หรือที่ชาวบ้านเรียกขานกันว่า ‘วังพญาไท’ ในเวลานั้น นอกจากนั้น พื้นที่ด้านตรงข้ามพระตำหนักที่ประทับ ยังได้สร้าง ‘โรงนาหลวงคลองพญาไท’ และตั้งการพระราชพิธีแรกนาขวัญ พระตำหนักแห่งนี้ เป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแค่เพียงชั่วระยะเวลาอันสั้น ก่อนจะเสด็จสวรรคต ในวันที่ 23 ตุลาคม 2453
ต่อมา เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัตินั้น สมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้ทรงมาย้ายประทับ ณ ตำหนักแห่งนี้เป็นการถาวร ตราบจนเสด็จสวรรคตเมื่อปี 2462
หลังจากนั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รื้อพระตำหนักพญาไท พระราชทานแก่โรงเรียนมหาดเล็กหลวงกรุงเทพฯ คงไว้เพียง พระที่นั่งเทวราชสภารมย์ ซึ่งเป็นท้องพระโรง ก่อนจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ยกให้ขึ้นเป็น ‘พระราชวังพญาไท’ เพื่อเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระบรมชนกาธิราช และ สมเด็จพระบรมราชชนนี พร้อมให้สร้างพระที่นั่งใหม่หลายองค์ด้วยกัน
จนกระทั่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีเฉลิมพระที่นั่งตามพระราชประเพณี เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2465 ถือเป็นจุดเริ่มต้นของพระราชวังสำคัญ ที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ประทับ ณ พระราชวังแห่งนี้ตลอดจนปีสุดท้ายแห่งรัชกาล นอกจากนั้น พระราชวังพญาไท ยังเป็นที่ตั้งของ ‘ดุสิตธานี’ เมืองจำลองเพื่อทดลองแนวทางการปกครองในระบอบประชาธิปไตยในช่วงระยะเวลาหนึ่งด้วย
ต่อมารัชสมัย พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ กรมรถไฟหลวง ปรับปรุงพระราชวังพญาไทเป็นโรงแรมชั้นหนึ่งสำหรับให้ชาวต่างชาติ ตามที่ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชประสงค์ไว้ สำหรับรองรับพระราชดำริการจัดงานสยามรัฐพิพิธภัณฑ์ “โฮเต็ลพญาไท” เริ่มดำเนินกิจการเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2468 โดยในระหว่างนั้นได้มีการใช้พระราชวังพญาไทเป็นที่ตั้งของ สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งแรกของสยาม ออกอากาศเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2473
กรมรถไฟได้ดำเนินการโฮเต็ลพญาไทไปจนถึง เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2475 และปิดกิจการลง เนื่องจากเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครอง ในเวลาต่อมากองทัพบกได้ปรับปรุงพระราชวังพญาไทให้เป็นสถานพยาบาล ได้มีการสร้างโรงพยาบาลทหารบกขึ้น ในบริเวณใกล้เคียงกับพระราชวัง และด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณใน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้ขนานนามโรงพยาบาลเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติว่า “โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า”
ตราบจนปัจจุบัน พระราชวังพญาไท คงเหลือพระที่นั่งที่สร้างครั้งรัชสมัยรัชกาลที่ 5 เพียงองค์เดียว คือ พระที่นั่งเทวราชสภารมย์ ส่วนพระที่นั่งองค์อื่น ๆ ล้วนสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 6 โดยมีนามคล้องจองกัน ได้แก่ ไวกูณฐเทพยสถาน พิมานจักรี ศรีสุทธนิวาส เทวราชสภารมย์ อุดมวนาภรณ์ ตามลำดับ ลักษณะของสถาปัตยกรรมอันโดดเด่นของ พระราชวังพญาไท คือ หอคอยสูงและหลังคายอดแหลมของพระที่นั่งพิมานจักรี ภายในมีภาพเขียนแบบปูนเปียกเป็นลวดลายงดงามแบบตะวันตก
และในวันนี้ มูลนิธิอนุรักษ์พระราชวังพญาไท ในพระอุปถัมภ์ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี รู้สึกสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณและคุณูปการของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงดำริจัดงาน ‘101 พระราชวังพญาไท’ The Glory of Siam ในรูปแบบพิพิธภัณฑ์ยามค่ำคืน (Night Museum) เพื่อเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 101 ปี เพื่อแสดงความงดงามทรงคุณค่าสู่สายตาชาวไทยและชาวต่างชาติ
การจัดงานครบรอบ “101 ปี พระราชวังพญาไท” THE GLORY OF SIAM ในครั้งนี้ จะมีการจัดงานแสดง แสง สี เสียง สื่อผสม รวมถึงกิจกรรมต่างๆ ระหว่าง วันพุธที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567 จนถึงวันเสาร์ที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2567 รวมเป็นเวลา 32 วัน ตั้งแต่เวลา 18.00 – 21.30 น. ณ พระราชวังพญาไท เลขที่ 315 ถนนราชวิถี แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร
มูลนิธิอนุรักษ์พระราชวังพญาไท คณะผู้จัดงาน “101 ปี พระราชวังพญาไท” THE GLORY OF SIAM เริ่มจำหน่ายบัตรเข้าชมงานฯ วันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567 ผ่าน 3 ช่องทาง คือ Agoda, KKday, Zipevent
โดยจัดแสดงนิทรรศการในรูปแบบพิพิธภัณฑ์ยามค่ำคืน (NIGHT MUSEUM) จะได้พบกับ …
FREE AREA
โซนที่ 1 ARCHITECTURE LIGHTING & PROJECTION MAPPING : การฉายภาพแสง กับงานออกแบบภาพเคลื่อนไหวภายใต้จุดกำเนิด พระราชวังพญาไท ร่วมกับการแสดงศิลปะสถาปัตยกรรมบนตัวอาคาร พระที่นั่งพิมานจักรี และ พระที่นั่งไวกูณฐเทพยสถาน
โซนที่ 2 ARCHITECTURE LIGHTING & INTERIOR LIGHTING : นิทรรศการจัดแสดงแสงไฟเพื่อชื่นชมสถาปัตยกรรมภายใน อันงดงาม ณ พระที่นั่งเทวราชสภารมย์
TICKET AREA
LIGHTING INSPIRATIONS พบกับแรงบันดาลใจจากผลงานบทพระราชนิพนธ์ของ ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 6 ในการสร้างสรรค์ผลงานไฟที่วิจิตรตระการตา บนพื้นที่ประวัติศาสตร์
โซนที่ 3 PROJECTION MAPPING : โดยได้รับแรงบันดาลใจในการออกแบบจากบทพระราชนิพนธ์ ของล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 6 ภายใน ห้องธารกำนัล หรือ ห้องรับแขก
โซนที่ 4 PROJECTION MAPPING & LIGHTING INSTALLATION : สัมผัสจินตนาการ งานศิลปะเคลื่อนไหวในโลกของพระราชวังโบราณผสานจินตนาการ ของงานจัดแสดงแสง สี เสียงที่น่าอัศจรรย์ พร้อมนำบทพระราชนิพนธ์ “มัทนะพาธา” ที่วรรณคดีสโมสรยกย่องให้เป็นยอดแห่งบทละครพูด คำฉันท์ ซึ่งเป็นบทพระราชนิพนธ์ ของ ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 6 มาเป็นตัวดำเนินเรื่อง โดยโซนนี้ถือเป็นอีกหนึ่งไฮไลต์ในการจัดแสดงไฟ โดยจะมีการยิง PROJECTION MAPPING เข้าตัวอาคารพระราชวังด้านหลัง ทุกๆ ครึ่งชั่วโมง
โซนที่ 5 LIGHTING INSTALLATION & MAPPING ON THE BIG GIANT TREE WITH THE GLASS SCREENS : สัมผัสงานอาร์ตกับการจัดแสดงแสงไฟนับพันดวงที่ประดับประดาบริเวณสนามหญ้า และ ต้นไม้ยักษ์ ตื่นตากับเทคนิค Glass Screens สวยงามมีมิติ
โซนที่ 6 LIGHTING INSTALLATION : เปิดประสบการณ์และดื่มด่ำไปกับความงดงามของดอกบัวนับพันดอกด้วยเทคนิคไฟย้อมสี ณ เส้นทางเดินไปสักการะ “ท้าวหิรัญพนาสูร”
พร้อมพักผ่อน และ ดื่มด่ำไปกับเครื่องดื่มไทยแท้ที่ร้านกาแฟนรสิงห์ ร้านคาเฟ่ที่ตั้งอยู่ในอาคารเทียบรถพระที่นั่ง ณ บริเวณด้านหน้าพระที่นั่งพิมานจักรี โดยจะเปิดให้บริการเป็นพิเศษในช่วงเวลา 16.00 – 20.30 น. ตลอดค่ำคืนแห่งการแสดงแสงเสียงของการเฉลิมฉลอง “101 ปี พระราชวังพญาไท” THE GLORY OF SIAM
เนื่องจาก “พระราชวังพญาไท” อยู่ภายในรั้วเดียวกับโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ถนนราชวิถี การเดินทางมายังพระราชวังพญาไทจึงสามารถเลือกการเดินทางได้หลายวิธี อาทิ
- รถยนต์ส่วนบุคคล : เดินทางโดยรถยนต์ เลี้ยวเข้าถนนราชวิถีและขับตรงไปประมาณ 500 เมตร จะเห็นโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าอยู่ทางขวามือ ให้เลี้ยวขวาเพื่อจอดรถภายในโรงพยาบาล
- รถโดยสารประจำทางสาย : เดินทางโดยรถโดยสารสาธารณะ สาย 8, 12, 14, 18, 28, 92, 97, 108, ปอ.92, 509, 522, 536, ปอ.พ.4
- รถไฟฟ้าบีทีเอส : เดินทางโดยรถไฟฟ้า BTS สายสุขุมวิท ลงที่สถานีอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ออกทางออกที่ 3 (ลงฝั่งโรงพยาบาลราชวิถี) ข้ามสะพานลอยไปฝั่งตรงข้ามแล้วเดินทางเท้าตรงมาเรื่อยๆ ทางแยกตึกชัย จนถึงโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า
ร่วมภาคภูมิใจกับ งาน “101 ปี พระราชวังพญาไท” THE GLORY OF SIAM ด้วยกาลเวลา อันทรงคุณค่า ก้าวสู่เรื่องเล่าบทบาทมิติใหม่ในพิพิธภัณฑ์ยามค่ำคืน (NIGHT MUSEUM) กับประวัติศาสตร์ที่มีชีวิต ได้ตั้งแต่วันพุธที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567 จนถึง วันเสาร์ที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2567 ตั้งแต่เวลา 18.00 – 21.30 น. ณ พระราชวังพญาไท