ตำนานเล่าขาน
นับถอยหลังเข้าสู่ช่วงเทศกาลสำคัญของไทยนั้นคือ “เทศกาลสงกรานต์” Nai Mu กรูรูสายมูผู้มีเรื่องเล่ามากมายใน God’s City จากเว็บต์ไซต์และเพจ Ticy City เลยถือโอกาสมาเล่าตำนานเล่าขาน “กบิลพรหม, ขุนสาง , อสิพรหม” นิทานวันสงกรานต์หลายชาติ ให้ได้อิมเอมในอรรถรสก่อนออกลุยเล่นน้ำให้ฉ่ำชื่นใจ
คนไทยอาจจะคุ้นเคยกับ “ท้าวกบิลพรหม” ความจริงแล้ว นิทานนี้เพิ่งจะมีครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ 3 ส่วนนิทานสงกรานต์ของเพื่อนบ้านใกล้เคียงก็จะมีเรื่องราวที่แตกต่างกันไป เช่น บางแห่งเป็นเรื่องของอสูรชื่อ “ขุนสาง” และบางแห่งที่ชื่อว่า “อจิพรหม” อีกด้วย

“ท้าวกบิลพรหม” ที่มาของตำนานสงกรานต์ไทย
สำหรับสงกรานต์ที่แพร่หลายในประเทศไทย มาจากจารึกเรื่อง “มหาสงกรานต์” ที่เป็นลายลักษณ์อักษร ณ คอสองในประธานของศาลาล้อมพระมณฑปทิศเหนือ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม หรือที่เราคุ้นชินกันในชื่อ วัดโพธิ์ ซึ่งตั้งอยู่ที่ท่าเตียน โดยจารึกนี้เป็นภาษาไทย มีจำนวน 7 แผ่น (ปัจจุบันสูญหายไปบางแผ่น) สร้างในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้งที่ทรงบูรณะพระอารามเมื่อปี พ.ศ. 2374 สันนิษฐานว่าเป็นเรื่องเล่าจากฝ่ายมอญ มีเนื้อหาเกี่ยวกับ “ท้าวกบิลพรหม” อ้างในนิทานว่า เป็นพรหมในชั้นยามาเทวภูมิ (สวรรค์ชั้นที่ 3) ลงมายังโลกมนุษย์ เพื่อทายปริศนา 3 ข้อกับพระธรรมบาลกุมาร
เนื้อเรื่องเริ่มจาก ครอบครัวเศรษฐี สามี-ภรรยาคู่หนึ่งอยู่ด้วยกันมาหลายสิบปี แต่ไม่มีลูก บ้านของเศรษฐีอยู่ใกล้เคียงกับครอบครัวนักเลงผู้หนึ่งที่มีลูกชายหน้าตาดีถึง 2 คน ฝ่ายนักเลงไม่กินเส้นกับพวกคนรวย พอฝ่ายหนึ่งมีจุดอ่อน ฝ่ายนักเลงก็กล่าวจาบจ้วงเปรียบเปรยว่า เป็นเศรษฐีมีสมบัติมากมายแค่ไหนก็เปล่าประโยชน์ เพราะไม่มีลูกมารับช่วงต่อ เศรษฐีได้ยินอย่างนั้นก็พูดไม่ออก แต่เห็นด้วย ทำอะไรไม่ได้นอกจากก้มหน้าด้วยความอับอายในโชคชะตา เศรษฐีผู้นั้นจึงตั้งความปรารถนาอยากจะมีลูกด้วยวิธีการต่างๆ เช่น ทำการบวงสรวงแก่พระอาทิตย์และพระจันทร์เป็นเวลานานถึง 3 ปี ก็ยังเงียบ ! ในปีที่ 4 เปลี่ยนการบวงสรวงจากสุริยัน-จันทรา มาบวงสรวงเจ้าพ่อต้นไทร ! แบบจัดเต็ม มากมายด้วยข้าวของบูชาชั้นเลิศทุกสิ่งอย่าง เศรษฐีรำพึง รำพัน น้อยใจในชะตา เจ้าพ่อต้นไทรจึงไปทูลต่อพระอินทร์ถึงประสงค์ของเศรษฐีผู้นั้น พระอินทร์ตอบรับส่ง “ธรรมบาลเทวบุตร” ไปเกิด เศรษฐีตั้งชื่อลูกชายคนนี้ว่า “ธรรมบาล” สร้างปราสาทสูง 7 ชั้นข้างต้นไทรให้ลูกชาย
ธรรมบาลกุมาร เฉลียวฉลาดมาก จบคัมภีร์ไตรเพทของฝายพราหมณ์ตั้งแต่อายุ 7ขวบ แถมมีความสามารถพิเศษคือ รู้ภาษานกอีกด้วย ธรรมบาลกุมารช่วยแก้ปัญหาให้ชาวบ้านอยู่เนืองๆ และมากขึ้นทุกวัน คนไม่ได้มาบนบานถวายข้าวของให้ท้าวกบิลพรหมดังก่อน ท้าวกบิลพรหมจึงมีจิตคิดอิจฉา อยากตัดไฟแต่ต้นลม ! จ้องล้างผลาญอย่างมีคุณธรรมแก่กุมารผู้นี้จงได้
ท้าวกบิลพรหม ลงจากสวรรค์ชั้นยามาเทวภูมิและตั้งคำถาม 3 ข้อว่า… ในวัฏจักรชีวิตของคนเรา เวลาเช้าศรีอยู่ที่ไหน, กลางวันศรีอยู่ที่ไหน และเวลาเย็นศรีอยู่ที่ไหน ? ท้าวกบิลพรหมกล่าวต่อว่า ถ้าธรรมบาลกุมารตอบได้ ก็จะบั่นคอถวายหัวให้ แต่ถ้าธรรมบาลกุมารตอบไม่ได้ ก็ต้องกระทำเช่นเดียวกัน และอีก 7 วันข้างหน้าจะมาเอาคำตอบ !
ล่วงเลยมาถึงวันที่ 6 พระธรรมบาลกุมารก็ยังคำตอบถามนี้ไม่ได้ ! จึงคิดปลง ไปเที่ยวเล่นให้เพลิดเพลินในป่าให้สบายใจก่อนตาย เมื่อเมื่อยล้าก็ล้มลงนอนใต้ต้นตาล ! ระหว่างที่กำลังเคลิ้มๆ ก็ได้ยินเสียงนกอินทรีผัว-เมียคุยกัน ฝ่ายอินทรีตัวเมียถามผัวว่า พรุ่งนี้เราจะไปหาอาหารที่ไหนให้ลูก ฝ่ายผัวว่า เราได้กินเนื้อธรรมบาลกุมารที่แพ้ต่อท้าวกบิลพรหมแน่ ! พลันผัวก็เผยคำตอบแก่เมีย ธรรมบาลกุมารได้ยินก็ดีใจ นำคำตอบไปบอกท้าวกบิลพรหมในวันรุ่งขึ้นว่า “เช้าราศีอยู่ที่หน้า ตื่นมาก็ต้องล้างหน้าก่อน , กลางวันแดดร้อน ก็ต้องหาแป้งร่ำน้ำอบมาพรมที่หน้าอก, ตอนเย็น ก็ต้องล้างเท้าก่อนขึ้นบ้านนอน”
คำตอบทั้งหมดถูกต้อง ! ท้าวกบิลธรรมก็ต้องตัดเศียรตัวเอง พรหมผู้นี้ น่าจะเป็นบุคลาธิษฐานของ “พระอาทิตย์” เพราะสงกรานต์คือ การย้ายของพระอาทิตย์เข้าไปราศีเมษ
พระอาทิตย์มีความร้อนมาก ตกที่ไหน ไม่ว่าแผ่นดินหรือผืนน้ำ ไฟก็จะลุกไหม้เป็นจุณ ดังนั้น พระธิดาทั้ง 7 ซึ่งเป็นนางฟ้าบนสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา (สวรรค์ชั้นที่ 2) ในสังกัดฮาเร็มของพระอินทร์ จึงต้องผลัดกันนำพานมารองรับเศียรท้าวกบิลพรหมแห่ประทักษิณหรือการเวียนขวารอบเขาพระสุเมรุเป็นเวลา 60 นาที แล้วนำเศียรนั้นไปไว้ในถ้ำคันธูลี เขาไกรลาส บูชาด้วยเคริ่องทิพย์ ท้าวเวสสุกรรม เนรมิตโรงประชุมหมู่เทวดาด้วยแก้วเจ็ดประการ ทุกหนึ่งปี จะนำเศียรท้าวกบิลพรหมมาเวียนครั้งหนึ่ง
“ขุนสาง” นิทานสงกรานต์ไทใหญ่
เมืองขอน มณฑลยูนนาน ประเทศจีน มีตำนานกล่าวถึง ขุนสาง อสูรตัวพ่อสุดโหด ไม่มีใครสังหารได้ ทั้งมีนิสัยชอบแย่งชิงข้าวของและเมียคนอื่นมาเป็นของตัว ขุนสางแย่งเมียคนอื่นมาถึง 7 คน และเมียเด็กคนสุดท้าย มีความงดงามเป็นเลิศ ขุนสางรักใคร่ยิ่งกว่านางใด วันหนึ่งในงานเลี้ยง อสูรเมามาย นางกล่าวว่า เจ้าพี่คงมีชีวิตอมตะนิรันดร์กาล เพราะไม่มีใครในโลกจะสังหารได้ ! เมื่อรักเมียคนนี้ที่สุดจึงไว้ใจ และบอกเคล็ดท่าไม้ตายแก่นางว่า มีเพียงเส้นผมของตัวเองที่จะบั่นคอให้ขาดได้ บรรดาเมียทั้งหลายคงทนกับคนจัญไรอย่างอสูรขุนสางมานานก็ดีใจ เมียคนเล็กรอให้ผัวหลับ แล้วถอนเส้นผมมารัดคออสูรขุนสางจนถึงแก่ความตาย หัวตกพื้นก็เกิดไฟไหม้ ครั้นหยิบหัวขึ้นมาจากพื้น ไฟก็มอดลง จึงเป็นประเพณีว่า ในแต่ละปี เมียหม้ายทั้ง 7 จึงต้องผลัดกันมาเชิญหัวอสูรขุนสาง เมื่อตอนยกหัวมีเลือดออกก็จะต้องใช้น้ำรดแผ่นดิน ไม่ให้เกิดไฟไหม้
ตำนานสงกรานต์ เมียนมา
ตำนานว่า สักยามิน (พระอินทร์) โต้แย้งกับอจิพรหม มีอยู่ 2 สำนวน สำนวนหนึ่งเป็นเรื่องปัญหาทางพุทธศาสนาว่าสิ่งใดคือยอดบุญ ฝ่ายแพ้ต้องถูกตัดเศียร สักยามินว่า ศีล ส่วน อาจิพรหมว่า ทาน ทั้งคู่จึงได้ถามหมอดูกะวาลาเมียงผู้มีความรู้และอภิญญาแก่กล้า ผลปรากฏว่าสักยามินเป็นผู้ชนะ อาจิพรหมต้องตัดเศียร
อีกเรื่องคือ สักยามินว่า สัปดาห์หนึ่งมี 7 วัน แต่อาจิพรหมว่ามี 8 วัน จึงให้ หมอดูกะวาลาเมียงตัดสิน สักยามินเป็นฝ่ายชนะ อาจิพรหมจึงต้องตัดเศียร แต่อาจิพรหมเสียชีวิตไม่ได้ สักยามินจึงให้พระขรรค์เล่มหนึ่งกับหมอดู ให้ไปตัดหัวสัตว์ตัวแรก ซึ่งคือ ช้าง เพื่อมาต่อให้อาจิพรหม (พระคเณศ) ส่วนเศียรเดิม สักยามินให้นางฟ้าทั้ง 7 (ไม่ได้เป็นลูกสาวอาจิพรหม) ผลัดกันมาเชิญเศียรสรงน้ำ เวียนรักษาคนละปี
สงกรานต์คนไทสิบสองปันนา
เรื่องหนึ่งว่า เทวดาชั้นผู้ใหญ่ชื่อ หุ่นซีเจี่ย ได้สร้างโลก แล้วให้เทวดา 4 องค์มาดูแลเดือนและฤดูกาล เทวดา 3 องค์แรก แบ่งวันเป็น 30 วัน, 31 วัน และ 29 วัน แต่องค์ที่ 4 ชื่อ หุ้นส่ง เสนอให้มี 30 วันเท่ากันทุกเดือน 10 ปีต่อมา ปรากฏว่า ทฤษฎีของหุ้นส่ง ส่งผลให้ฤดูกาลแปรปรวน หุ่นซีเจี่ยจึงคิดกำจัดเทวดาหุ่นส่ง ไปปรึกษาเมียคนหนึ่งของหุ้นส่งที่หลงรักหุ่นซีเจี่ย นางจึงใช้เส้นผมรัดคอหุ่นส่งจนตาย แล้วให้เมียทั้งหลายผลัดเวียนกันมาเชิญเศียรหุ่นส่ง และใช้น้ำเย็นราด ดังนี้ หุ่นซีเจี่ย จึงแบ่งฤดูกาลใหม่ นับแต่นั้น
บรรดานิทานสงกรานต์หลากหลายชาติเหล่านี้ สะท้อนความขัดแย้งผ่านตัวละคร ไม่ว่าจะเป็น ท้าวกบิลพรหม- ธรรมบาลกุมาร, สักยามิน -อสิพรหม , พญามาร-เมีย ซึ่ง การตัดหัว ตีความ อาจหมายถึง การตัดศักราช หรือเปลี่ยนศักราชเข้าสู่ปีใหม่ , เศียร คือ อาทิตย์ และ “ผู้หญิง” ในฐานะผู้เชิญเศียร อาจจะเป็นภาพสะท้อนของสังคมโบราณที่ผู้หญิงเป็นใหญ่ในการปกครอง เป็นผู้นำทั้งเรื่องความเชื่อ ประเพณี และพิธีกรรมต่างๆ ก็เป็นได้ ! สัปดาห์หน้า “นางสงกรานต์” จะมารับหน้าที่บอกเล่าของพวกเธอ!
พิเศษ ปีนี้ 13-15 เมษายน มีกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวด้วย สงกรานต์ 4 ภาค 6 จังหวัด ได้แก่ ขอนแก่น (วัดไชยศรี) , กรุงเทพฯ (12 พื้นที่วัฒนธรรม) , ลำพูน (ตลาดนัดสงกรานต์ ถนนรถแก้ว), เชียงใหม่ (วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร) ,อุดรธานี (บ้านเชียง), ภูเก็ต (วัดไม้ขาว)
ติดตามรายละเอียดที่ เพจ Water Festival Thailand
เรื่อง : Nai Mu