จักรกฤษณ์ สิริริน
“เด็กในวันนี้ คือผู้ใหญ่ในวันหน้า” ตั้งแต่เด็กจนโต เราคงได้ยินประโยคนี้จนเบื่อ เหมือนกับ “คำขวัญวันเด็ก” ของ “นักการเมือง” ที่ไม่ค่อยจะมีอะไรสร้างสรรค์ และเป็นรูปธรรมจับต้องได้มากนัก ซึ่งก็จะถูกลืมเลือนไปในไม่กี่วันหลังงานวันเด็กจบลง
อย่างไรก็ดี สาระสำคัญของ “วันเด็ก” มิได้อยู่ที่ “คำขวัญวันเด็ก” ของ “นักการเมือง” แต่อยู่ “คุณค่า” ที่ “ผู้ใหญ่” มอบให้ “เด็ก” โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โอกาสต่างๆ ทั้งสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ และทักษะที่จำเป็นในโลกแห่งการทำงาน
เช่นเดียวกัน ตั้งแต่เด็กจนโต เด็กไทยคุ้นเคยกันแต่เฉพาะ “วันเด็ก” และ “งานวันเด็ก” ในบ้านเรา และไม่เฉพาะ “เด็ก” แต่ “ผู้ใหญ่” หลายคนก็ยังไม่รู้ ว่าบนโลกใบนี้ มีอีกหลายประเทศที่มี “วันเด็ก” เช่นเดียวกัน
“วันเด็ก” ของไทย มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า “วันเด็กแห่งชาติ” ถูกกำหนดไว้ให้ตรงกับวันเสาร์ที่ 2 ของเดือนมกราคมของทุกปี ซึ่งในปีนี้ ตรงกับวันเสาร์ที่ 13 มกราคม
หลังจากนั้น วันอังคารที่ 13 กุมภาพันธ์ จะเป็น “วันเด็ก” ของ “เมียนมาร์” หรือวัน Thingyan ซึ่งหมายถึงเทศกาลแห่งความสดชื่น ต้อนรับฤดูใบไม้ผลิ ที่เปรียบเสมือนเด็กๆ ที่ผลิบาน พร้อมก้าวสู่วัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่ เหมือนใบไม้ที่เติบใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ
ตามด้วย 6 มีนาคม จะเป็น “วันเด็ก” ของ “นิวซีแลนด์” ซึ่งเป็นชาติที่ให้ความสำคัญกับ “การศึกษา” จึงมักมีกิจกรรมฉลอง “วันเด็ก” เน้นการเรียนรู้ ปลูกฝังจิตสำนึก และสร้างแรงบันดาลใจให้กับเยาวชน
“วันเด็ก” ของ “บังคลาเทศ” ตรงวันที่ 20 มีนาคมของทุกปี เพื่อสร้างความตระหนักถึงสิทธิของเด็ก ซึ่งไม่ได้แค่เป็น “วันหยุด” แต่ยังถือเป็นวันที่มีการจัดงานเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่ที่สุดของปีเลยทีเดียว
ข้ามไป 4 เมษายน ถึงคราว “วันเด็ก” ของ “จีน” หรือเทศกาล Qingming ถ้าสังเกตให้ดีจะใกล้กับ “วันเช็งเม้ง” ดังนั้น กิจกรรมของเด็กๆ ชาวจีน จึงใกล้เคียงกับ “เช็งเม้ง” ตามคติ “ขงจื๊อ” ที่ปลูกฝัง “ความกตัญญูรู้คุณ” ให้กับเยาวชน เราจึงจะได้เห็นกิจกรรมที่เด็กๆ ร่วมทำความสะอาดสุสาน เล่นว่าว และเพลิดเพลินกับธรรมชาติ
ต่อกันที่ 23 เมษายน เป็น “วันเด็ก” ของ “ตุรกี” หรือวัน Ulusal Egemenlik ve Çocuk Bayrami ซึ่งตรงกับ “วันฉลองเอกราช” เพื่อให้เด็กๆ ได้รำลึก และสัมผัสกับความยิ่งใหญ่ของเสรีภาพ อิสรภาพ และสันติภาพ ด้วยการสวมเสื้อผ้าสีสันสดใส ร้องรำทำเพลง ใน “วันความหวังแห่งอนาคต” ในอีกนัยหนึ่ง
ส่วน “โคลัมเบีย” จะเฉลิมฉลอง “วันเด็ก” ในวันอาทิตย์สุดท้ายของเดือนเมษายน
และ 30 เมษายน จะเป็น “วันเด็ก” ของ “เม็กซิโก” หรือวัน Niñez Mexicana ซึ่งเป็นวันที่ “เม็กซิโก” จะกระหึ่มด้วยเสียงเพลง และสีสันแห่งขบวนพาเหรดเด็ก เพื่อสื่อถึงวัฒนธรรมอันงดงามของชาติ
ส่วน 5 พฤษภาคม เป็นวันที่ “เด็กญี่ปุ่น” และ “เด็กเกาหลีใต้” ฉลอง “วันเด็ก” กัน ซึ่งเป็นวันเดียวกัน โดยญี่ปุ่น จะเรียก “วันเด็ก” ว่า Kodomo no Hi หรือ Tango no Sekku ด้วยการประดับ “ธงปลาคาร์ฟ” หลากสีสันที่หน้าบ้าน สื่อถึงความแข็งแกร่ง อดทน เหมือน “ปลาคาร์ฟ” ที่ว่ายทวนน้ำไปวางไข่ทางเหนือ “เด็กหญิง” จะสวมชุดกิโมโน ออกมาทำกิจกรรมต่างๆ
โดยในอดีต “วันเด็ก” ของ “ญี่ปุ่น” จะแบ่งออกเป็น 2 วัน คือ “วันเด็กผู้ชาย” 5 พฤษภาคม และ “วันเด็กผู้หญิง” 3 มีนาคม ทว่า ในปัจจุบัน “วันเด็ก” ของ “ญี่ปุ่น” รวม “วันเด็กผู้ชาย” และ “วันเด็กผู้หญิง” เป็นวันเดียวกันคือ 5 พฤษภาคม โดยถือเป็น “วันหยุดประจำชาติ” อีกด้วย!
ส่วน “วันเด็ก” ของ “เกาหลีใต้” เรียกว่า Eorininal โดยเด็กๆ จะสวมชุดฮันบก และละเล่นเกมพื้นบ้านต่างๆ โดยมีขนมต็อกเป็นขนมประจำ “วันเด็ก” โดยกำหนดเป็น “วันหยุดราชการ” เช่นเดียวกับ “ญี่ปุ่น”
ทั้ง 2 ชาติ คือ “ญี่ปุ่น” และ “เกาหลีใต้” ต่างให้ความสำคัญกับ “วันเด็ก” เป็นอย่างมาก เพราะเป็นวันแสดงความรัก ความห่วงใย ส่งเสริม และสนับสนุนเด็กๆ ให้เติบโตอย่างมีความสุข แข็งแรง เพื่อก้าวไปเป็นกำลังสำคัญของชาติต่อไปในอนาคต
จากนั้น 8 พฤษภาคม จะเป็น “วันเด็ก” ของ “สเปน” หรือวัน Fiesta de la Comunidad de Madrid ที่เด็กจะออกมาร่วมในขบวนพาเหรด เพื่อละเล่นเกม และสนุกสนานในกิจกรรมต่างๆ
“วันเด็ก” ของ “นอร์เวย์” จะจัดขึ้นในวันที่ 17 พฤษภาคมของทุกปี และยังเป็นวันเดียวกับ “วันรัฐธรรมนูญนอร์เวย์” อีกด้วย ซึ่งกิจกรรมที่น่าสนใจของที่นี่ก็คือขบวนพาเหรดของเด็กๆ ที่มีหลากหลายรูปแบบ
ต่อกันที่ “วันเด็ก” ของ “ไนจีเรีย” ตรงกับวันที่ 27 พฤษภาคม ซึ่ง “ไนจีเรีย” ในชนบทห่างไกล ที่แม้จะค่อนข้างขาดแคลน แต่รัฐบาลก็เน้นส่งเสริม และสนับสนุนด้านการศึกษา สุขภาพที่ดี และสิทธิของเด็กๆ
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วันที่ 1 มิถุนายน ถือเป็นวันสำคัญของเด็กในหลายประเทศด้วยกัน เพราะถูกกำหนดให้เป็น “วันเด็ก” ของแอลเบเนีย, เอกวาดอร์, เลบานอน, มองโกเลีย, กัมพูชา, ลาว, เวียดนาม, โปรตุเกส, โปแลนด์, โรมาเนีย, รัสเซีย, ทาจิกิสถาน, ยูเครน ที่เด็กทุกชาติที่กล่าวมา จะได้ร่วมเฉลิมฉลองด้วย “เสียงเพลงแห่งวันเด็ก”
“วันเด็ก” ครั้งแรกของชาติยักษ์ใหญ่อย่าง “สหรัฐอเมริกา” เกิดขึ้นในปี ค.ศ. 2000 โดยประธาธิบดี “บิล คลินตัน” ได้ประกาศให้จัด “งานวันเด็ก” ในวันอาทิตย์แรกของเดือนตุลาคม แต่หลังจากนั้น ประธานาธิบดี “จอร์จ ดับเบิ้ลยู บุช” ได้เปลี่ยน “วันเด็กแห่งชาติ” วันอาทิตย์แรกของเดือนมิถุนายนแทน มีการจัดกิจกรรมอันหลากหลาย เรียงไล่ไปตั้งแต่ จัดเทศกาลปิคนิคในสวนสาธารณะ จัดการแข่งขันกีฬา และเปิดให้เด็กๆ เข้าชมฟรี เป็นต้น
และ 14 กรกฎาคม จะเป็น “วันเด็ก” ของ “อังกฤษ”
ข้ามมา 23 กรกฎาคม เป็น “วันเด็ก” ของ “อินโดนีเซีย” หรือวัน Anak Indonesia” (Anak แปลว่า “เด็ก”) โดยมี “เพลงประจำวันเด็ก” คือ “เพลงบาติก” และ เด็กๆ ชาวอินโดนีเซียจะสวมชุดพื้นเมืองออกมาร้องรำทำเพลง เพื่อสื่อให้เห็นถึงวัฒนธรรมอันยิ่งใหญ่ของชาติ
ทุกวันอาทิตย์ที่ 2 ของเดือนสิงหาคม เป็น “วันเด็ก” ของ “อาร์เจนตินา” หรือวัน Día del Niño ใน “ภาษาสเปน” ที่มีขบวนพาเหรด และละเล่นเกมต่างๆ ในกิจกรรม “วันเด็ก” เช่นเดียวกับชาติอื่นๆ
ข้ามไป 9 กันยายน เป็น “วันเด็ก” ของ “คอสตาริกา” หรือวัน Dia del Niño ใน “ภาษาสเปน” เช่นเดียวกับ “อาร์เจนตินา” เนื่องจากชาติใหญ่ “ละตินอเมริกา” หรือ “อเมริกาใต้” ใช้ “ภาษาสเปน” เป็นภาษาราชการ (ยกเว้น “บราซิล” ที่ใช้ “ภาษาโปรตุกีส”) โดย “วันเด็ก” ของ “คอสตาริกา” ภาครัฐ จะเน้นการปลูกฝังคุณค่าในตัวเด็ก การสนับสนุนให้เด็กๆ รักษ์สิ่งแวดล้อม และส่งเสริมความเท่าเทียมกันของ “เด็ก” และ “ผู้ใหญ่” รวมถึงความหลากหลายทางเพศ
5 ตุลาคม เป็น “วันเด็ก” ของ “ชิลี” ชาติอเมริกาใต้อีกประเทศหนึ่งซึ่งเรียก “วันเด็ก” เป็น “ภาษาสเปน” เช่นกันว่าวัน Día del Niño โดยเด็กๆ ชาว “ชิลี” จะออกมาร่วมขบวนพาเหรด เพื่อร้องรำทำเพลง และเดินชมดอกไม้บานในสวนสาธารณะ
ส่วนวันวันศุกร์แรกของเดือนตุลาคม เป็น “วันเด็ก” ของ “สิงค์โปร์” ที่เด็กๆ จะได้หยุดเรียนติดต่อกัน 3 วัน เพื่อให้พ่อแม่และเด็กได้ใช้เวลาร่วมกัน
และ “วันเด็ก” ของ “อิสราเอล” จะเป็นวันที่ 19 ตุลาคม ส่วนวันเสาร์สุดท้ายของเดือนตุลาคม เป็น “วันเด็ก” ของ “มาเลเซีย”
และก็มาถึง วันที่ 20 พฤศจิกายน ซึ่งถือเป็น “วันเด็กสากล” หรือ “วันเด็กนานาชาติ” ที่หลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นแคนาดา, ฝรั่งเศส, กรีซ, สเปน, สวีเดน, ฟิลิปปินส์, บรูไน ร่วมเฉลิมฉลองวัน Children’s Day โดยในปี ค.ศ. 1954 ที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ ได้มีการประกาศตั้ง “วันเด็กนานาชาติ” อย่างเป็นทางการ ถือเป็น “วันเด็กครั้งแรกของโลก” เพื่อส่งเสริมให้เข้าใจในตัวเด็ก และเฉลิมฉลองให้แก่เด็กๆ ทั่วโลก และกระตุ้นให้ทุกประเทศมีวันเด็กแห่งชาติอีกด้วย เน้นการศึกษา สิทธิ และความเป็นอยู่ที่ดีของเด็กๆ
ปิดท้ายบทความ และปิดท้ายปี กันที่ “วันเด็ก” ของ “คองโก” และ “ชาด” ซึ่งตรงกับ “วันคริสต์มาส” 25 ธันวาคม ซึ่งจะเป็นวันเต็มไปด้วยของขวัญ “วันคริสต์มาส” และของขวัญ “วันเด็ก” เสียงเพลง “วันคริสต์มาส” และเสียงเพลง “วันเด็ก” โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความอบอุ่นของ “วันคริสต์มาส” และความอบอุ่นของ “วันเด็ก” ไปพร้อมๆ กันในวันเดียวกัน
#TicyCity #ตีซี้ซิตี้ #Movement #Kidsday #ChildrenDay #วันเด็ก
Leave feedback about this