งานแสดงตราไปรษณียากร 2566’ และ นิทรรศการแสตมป์โลก เริ่มขึ้นแล้ว ชมได้ ณ อาคารไปรษณีย์กลาง บางรัก วันที่ 27 พย. – 3 ธ.ค.2566
สมาคมนักสะสมตราไปรษณียากรแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (ส.ต.ท.) จัดงาน แสดงตราไปรษณียากรโลก World Stamp Championship Exhibition (WSC) (THAILAND 2023)
ชมคอลเลคชั่นตราไปรษณียากรจากทั่วโลกกว่า 60 ประเทศ กว่า 500 ผลงานและ งานออกร้านจำหน่ายแสตมป์และสิ่งสะสมจากไปรษณีย์ชาติต่าง ๆ และร้านค้าชั้นนำทั่วโลกกว่า 60 บูธ

สุรจิตร ก้องวัฒนา ประธานที่ปรึกษา สมาคมนักสะสมตราไปรษณียากรประเทศแห่งไทย ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (ส.ต.ท.) ให้ข้อมูลว่า “การจัดงานเฉลิมฉลองวาระพิเศษ 140 ปี ไปรษณีย์ไทยและงานแสดงตราไปรษณียากรโลก 2566 เป็นการจัดงานระดับโลกของวงการสะสมตราไปรษณีย์ที่ประเทศไทยได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดงานมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี พ.ศ.2526 และจัดต่อเนื่องกันมาในปีพ.ศ. 2536, 2546, 2556 และ 2561 ในปีนี้สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ สสปน. (TCEB) ยังร่วมสนับสนุนในการจัดนิทรรศการและการประกวดตราไปรษณียากรโลกครั้งนี้ด้วย



นิทรรศการแสตมป์โลก ตอบโจทย์ดัชนีแห่งความสุขของนักสะสมแสตมป์จากทั่วโลก ที่เดินทางมาร่วมงานมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของการจัดการประกวดในแต่ละครั้งที่ผ่านมา เป็นการแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยเรามีศักยภาพทั้งด้านเศรษฐกิจ มีซอฟต์พาวเวอร์ที่แข็งแรงทั้งทางด้านการท่องเที่ยว อาหาร ศิลปวัฒนธรรม ประเพณี ความเป็นอัตลักษณ์เฉพาะตัวของคนไทย มีความน่าเชื่อถือในเรื่องความปลอดภัย บริการด้านต่าง ๆ ที่ได้รับการยอมรับไว้วางใจ โดยคาดว่าในช่วง 6 วันของการจัดงานฯ น่าจะมีชาวไทยและต่างชาติเข้าร่วมชมงานไม่ต่ำกว่า 5,000 คน”
ผู้เข้าชมจะได้ชื่นชมผลงานคอลเลคชั่นจากการประกวดตราไปรษณียากรจากหลายประเทศทั่วโลก จำนวนกว่า 60 ประเทศ กว่า 500 ผลงาน ประมาณ 2,500 เฟรม


ไฮไลท์เช่น แสตมป์ดวงที่แพงที่สุดในโลก มูลค่า 300 ล้านบาท ของบริติช กายาน่า อดีตอาณานิคมของสหราชอาณาจักร (British Guiana 1C Magenta) แสตมป์ดวงที่แพงที่สุดของทวีปเอเชีย มูลค่า 200 ล้านบาท แสตมป์มังกร พิมพ์กลับหัว (500 Mon Center Inverted) จากประเทศญี่ปุ่น

แม่พิมพ์ของแสตมป์ไทยชุดแรก ของสยามประเทศ ชุดโสฬศ ที่นำมาจากสำนักทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน ไฮไลท์อีกอย่างคือ จัดแสดงสิ่งสะสมส่วนพระองค์สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ไม่เคยจัดแสดงที่ไหนมาก่อน รวมถึง สิ่งแสดงเกียรติยศจากนักสะสมชื่อเสียงดังจากทั่วโลก ถือเป็นงานแสดงที่ทรงคุณค่าและแทบจะหาดูจากที่อื่นไม่ได้

ความสำคัญของนิทรรศการแสตมป์โลก ยังส่งผลต่อมูลค่าทางเศรษฐกิจ อัตราการเติบโตขึ้นในกลุ่มของนักสะสมผ่านช่องทางการซื้อขาย และประมูล โดยนักสะสมแสตมป์จากทั่วโลกจะเข้าร่วมกิจกรรมกรรมการประมูล จากบริษัทผู้ดำเนินการประมูลรายใหญ่ ๆ ของโลก ทั้งชาวไทยและต่างประเทศ ซึ่งเป็นบริษัทที่ได้รับความไว้วางใจจากนักสะสมทั่วโลก ในการเสนอขาย และประมูลตราไปรษณียากรและสิ่งสะสมที่ทรงคุณค่าและหายาก เช่น Stanley Gibbons, David Feldman, Spink, Stack’s & Bowers, เอื้อเสรี คอลเลคติ้ง, PMG, PCGS, NCS เป็นต้น
ในงานนี้ไปรษณีย์จากประเทศต่าง ๆ กว่า 10 ประเทศ เข้าร่วมออกร้านจำหน่ายตราไปรษณียากร และสิ่งสะสมที่ระลึก พร้อมบริการประทับตราพิเศษ ที่ระลึกของงาน เช่น ไปรษณีย์ญี่ปุน ฝรั่งเศส จีน เวียดนาม อินโดนีเซีย ฯลฯ และเป็นโอกาสที่นักสะสมแต่ละท่านได้มาพบปะ พูดคุย แลกเปลี่ยน และซื้อขายระหว่างกัน สำหรับตราไปรษณียากรและสิ่งสะสมต่าง ๆ อีกด้วย
ชม งานแสดงตราไปรษณียากรโลก 2556 และ นิทรรศการแสตมป์โลก ณ อาคารไปรษณีย์กลาง บางรัก ระหว่างวันที่ 27 พฤศจิกายน ถึง 3 ธันวาคม 2566
Leave feedback about this