เครื่องประดับ
สำหรับใครที่เป็นสายแฟชั่น โดยเฉพาะกับเครื่องประดับสุดเก๋ที่สวมใส่ได้ทุกช่วงเวลา ต้องมาตาม Ticy City ไปฟังเรื่องราว The Journey of Pearl ว่าด้วยเรื่องราวการเดินทางของ “ไข่มุก” ผ่านมุมมองของนักอัญมณีศาสตร์ คุณเก๋ เยือนจันทร์ ชัยวัฒน์ พร้อมทีมงาน ผู้มากด้วยประสบการณ์ทางด้านอัญมณี ที่มาร้อยเรียงเป็นเรื่องราวได้อย่างน่าสนใจ
ซึ่งในกิจกรรมครั้งได้ทั้งความรู้และความสนุกสนาน ไม่ว่าจะเรื่องของที่มาและเรื่องราวของไข่มุก , ประเภทและการประเมินคุณภาพไข่มุก , วิธีการแยกไข่มุกธรรมชาติ ไข่มุกเลียนแบบและการปรับปรุงคุณภาพ และ วิธีการดูแลรักษาในการสวมใส่ไข่มุก ที่แม้จะเป็นช่วงเวลาสั้นๆ แต่ Ticy City ก็ได้ประเด็นสำคัญ ๆ มาแบ่งปันเรื่องราวของเครื่องประดับที่กำลังเป็นเทรนด์นิยมในขณะนี้

ที่มาและเรื่องราว
ไข่มุก คืออัญมณีอินทรีย์ กล่าวคือเป็นอัญมณีที่เกิดขึ้นจากสิ่งมีชีวิต เป็นสัญลักษณ์ของความมั่งคั่ง ความสง่างามและความบริสุทธิ์ (อัญมณีในเครื่องประดับ Gems in jewelry, 2552.)
หากพูดถึงแหล่งกำเนิดไข่มุกที่แรกของโลก เริ่มต้นจากปี ค.ศ. 1492 นักประวัติศาสตร์กล่าวว่า ไข่มุกธรรมชาติเดิมมีถิ่นกำเนิดจากอ่าวเปอร์เซีย ในทวีปยุโรป ในขณะเดียวกัน ปี ค.ศ. 1498-1502 คริส
โตเฟอร์ โคลัมบัส นักสำรวจหรือนักเดินเรือชาวอิตาลี ผู้บุกเบิกทวีปแห่งใหม่ (New world) ได้ค้นพบว่าอ่าวเวเนซุเอลาและอ่าวปานามา เป็นแหล่งกำเนิดของหอยมุกเช่นเดียวกัน และกลายเป็นแหล่งอุตสาหกรรมสำคัญด้านไข่มุกที่โด่งดังยาวนานกว่า 100 ปี แต่เนื่องจากอุตสาหกรรมด้านประมงและการสำรวจน้ำมันบริเวณอ่าวเวเนซุเอลาและอ่าวปานามาอย่างต่อเนื่อง ทำให้บริเวณดังกล่าวไม่สามารถเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ไข่มุกทางธรรมชาติอีกต่อไป
ต่อมาในศตวรรษที่ 19 ประเทศจีนและประเทศญี่ปุ่น ได้ค้นพบวิธีเพาะพันธุ์ไข่มุกที่เกิดจากการเลี้ยงโดยมนุษย์ที่แรกของโลก ซึ่งกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการเพาะพันธุ์ไข่มุกเลี้ยงเป็นต้นมา จนถึงศตวรรษที่ 20 ผลิตภัณฑ์ของไข่มุกเลี้ยงได้มีความนิยมมากขึ้นและแพร่หลายไปทั่วโลก เช่น ไข่มุก Akoya จากประเทศญี่ปุ่น และไข่มุกน้ำจืดจากประเทศจีน (GIA pearl history lore, 2545.)
ประเภทและการประเมิณคุณภาพ
ไข่มุก แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่
ไข่มุกธรรมชาติ (Natural Pearl) เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติมนุษย์ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการผลิต โดยเกิดจากสิ่งแปลกปลอมหลุดเข้าไปอยู่ในหอยมุกทำให้มุกเกิดการระคายเคือง ก่อให้เกิดการสร้างเซลล์และแบ่งเซลล์ออกมาล้อมสิ่งแปลกปลอมทำให้เกิดถุงมุก ก่อนที่มุกจะผลิตชั้น nacre ที่ประกอบไปด้วยแร่ Aragonite และ โปรตีนเชื่อม Conchiolin เมื่อเวลาผ่านไปหอยมุกจะสร้างชั้น nacre สะสมตัวมากขึ้นและหนาขึ้นจนเกิดเป็นไข่มุก ในปัจจุบันไข่มุกธรรมชาติหาได้ยากและราคาสูงมาก ไข่มุกเลี้ยง (Cultured pearl) เกิดจากการเพาะเลี้ยงโดยมนุษย์ หรือมนุษย์มีความเกี่ยวข้องในการผลิต มี 2 ประเภทแยกตามแหล่งน้ำที่เพาะเลี้ยงมุก คือ มุกเลี้ยงน้ำจืด และ มุกเลี้ยงน้ำเค็ม โดยการเพาะเลี้ยงไข่มุกน้ำเค็มในประเทศ Australia มีชื่อว่า Pinctada imbricata fucata เป็นหอยที่ผลิตไข่มุก Akoya โดยขั้นตอนการผลิต เริ่มจากตัดเนื้อเยื่อของหอยให้มีขนาด 2×2 มิลลิเมตร จากนั้นนำ bead nucleus ขนาด 6 มิลลิเมตร ใส่คู่กันลงไปในหอยมุก โดยหอยมุกชนิดดังกล่าวสามารถใส่ bead และเนื้อเยื่อ ได้ 2 เม็ดต่อหอยมุกหนึ่งตัว และใช้เวลาเลี้ยงประมาณ 18 เดือน
การตัดเนื้อเยื่อ (ซ้ายบน) เม็ด bead (ซ้ายล่าง) ใส่เนื้อเยื่อและเม็ด bead ในหอยมุก (ขวาบนและ ขวาล่าง)
โดยสามารถแยกประเภทการเพาะเลี้ยงไข่มุกตามแหล่งน้ำได้ดังนี้
ไข่มุกเลี้ยงน้ำเค็ม (Saltwater Cultured Pearl)
ไข่มุกเลี้ยงน้ำเค็ม มีหลายประเภท แต่จะยกตัวอย่างเพียง 3 ประเภทหลัก เนื่องจากเป็นที่รู้จักกันมากในอุตสาหกรรมมุกเลี้ยงน้ำเค็ม ได้แก่
Akoya คือ ไข่มุกเลี้ยงน้ำเค็ม มีสีขาวหรือครีม ลักษณะกลม อาจมีสีชมพูหรือเขียวเหลือบ (overtone) และมีความวาวสูง ขนาดของไข่มุกอยู่ที่ 2-9 มิลลิเมตร แหล่งที่ผลิต คือประเทศ ญี่ปุ่น
South Sea คือ ไข่มุกเลี้ยงน้ำเค็มที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเภทมุกเลี้ยง ส่วนมากจะมีสีขาวหรือสีเงินและสีเหลืองทอง ซึ่งมีขนาดอยู่ในช่วง 8-18 มิลลิเมตร แหล่งที่ผลิต คือประเทศ Australia, Indonesia และ Philippines
Tahitian คือ ไข่มุกเลี้ยงน้ำเค็มที่มีสีเข้ม (Black Pearl) สีหลัก (body) มีลักษณะดำเข้ม ไปจนถึงสีเทาอมเขียว และมีสีเหลือบเป็นสีต่างๆ เช่น เขียว ชมพู แดง มีขนาดอยู่ในช่วง 7-12 มิลลิเมตร แหล่งที่ผลิต คือประเทศ French Polynesia หมู่เกาะตาฮิติ
ไข่มุกเลี้ยงน้ำจืด (Freshwater Cultured Pearl)
ไข่มุกเลี้ยงน้ำจืด คือ ไข่มุกที่เลี้ยงในสภาพแวดล้อมแหล่งน้ำจืด มีหลากหลายสี แต่สีหลักคือ สีชมพู สีส้ม และสีม่วง สามารถมีสีผสมได้ มีความวาวสูงและมีรูปร่างที่ไม่แน่นอน โดยทั่วไปมีรูปร่างเป็นทรงกลม ทรงเม็ดข้าว ทรงหยดน้ำ และรูปทรงบิดเบี้ยว แหล่งที่ผลิตที่สำคัญ คือประเทศจีน
การแยกไข่มุกธรรมชาติและไข่มุกเลี้ยง
เนื่องจากไข่มุกธรรมชาติและไข่มุกเลี้ยงจะมีลักษณะทางกายภาพที่เหมือนกัน อาจสังเกตได้ยากด้วยตาเปล่า ดังนั้นนักอัญมณีศาสตร์จึงมีการศึกษาโครงสร้างดังกล่าวจากเครื่องมือขั้นสูง ผ่านเครื่อง X-ray ซึ่งใช้ตรวจดูลักษณะโครงสร้างภายในที่แตกต่างกันคือ ไข่มุกเลี้ยงจะพบเม็ด bead nucleus แสดงรอยต่อของนิวเคลียสและชั้นเคลือบมุก ในขณะที่ไข่มุกธรรมชาติจะพบว่าไม่มี bead nucleus และมีลักษณะการสร้างชั้นมุกคล้ายชั้นของหัวหอม
นอกจากนี้ ไข่มุกเลี้ยงน้ำจืดสามารถใส่เนื้อเยื่อเพียงอย่างเดียวและไม่ใส่ bead ลงไปในหอยมุกได้เช่นกัน
ในส่วนของการประเมินคุณภาพไข่มุก เนื่องจากการประเมินคุณภาพไข่มุก มีหลากหลายปัจจัยในการทำการประเมิน แต่จะยกตัวอย่างเพียง 5 ปัจจัยหลักๆ ได้แก่ ขนาด (size) วัดจากเส้นผ่านศูนย์กลางของไข่มุกเม็ดร่วง มีหน่วยเป็นมิลลิเมตร โดยการวัดแบบเม็ดร่วงและสร้อยจะมีลักษณะการวัดที่ต่างกันเล็กน้อย โดยการวัดแบบสร้อยจะวัดตั้งฉากกับรูที่เจาะ ระบุเป็นค่าช่วงของไข่มุกขนาดเล็กที่สุดและใหญ่ที่สุด โดยขนาดของไข่มุกจะไม่ถูกนำมาเป็นเกณฑ์ในการประเมิณคุณภาพ แต่มีผลต่อการประเมิณราคา เช่น ไข่มุกที่มีขนาดใหญ่ มีราคาสูงกว่าไข่มุกที่มีขนาดเล็ก
รูปร่าง (shape) จัดออกเป็น 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ กลุ่มทรงกลม (spherical) ได้แก่
ทรงกลม (round) และ ค่อนข้างกลม (near round)
กลุ่มที่มีรูปทรงสมมาตร (symmetrical) คือ กลุ่มที่มีรูปทรงไม่กลมแต่มีความสมมาตร ได้แก่ รูปไข่ (oval) รูปทรงกว้าง (button) และทรงหยดน้ำ (drop)
กลุ่มที่ไม่มีรูปทรง (baroque)
ทั้งนี้รูปร่างที่เป็นที่นิยมและมีค่ามากที่สุดคือ รูปทรงกลม
สี (color) มีองค์ประกอบทั้งหมด 3 ส่วน ได้แก่
สีหลัก (Body Color) คือสีพื้นทั่วทั้งเม็ดของไข่มุก
สีเหลือบ (Overtone Color) คือสีเหลือบที่เคลือบอยู่บนสีพื้นผิวของไข่มุก
สีรุ้ง (Orient) คือ สีรุ้งที่อยู่ใต้ผิวมุก เกิดจากการแทรกสอดและเลี้ยวเบนของแสงผ่านชั้นต่างๆของผิวมุก
โดยการประเมิณคุณภาพสีจะพิจารณาจาก สีหลักและสีเหลือบเป็นหลัก โดยสีของไข่มุกมี 2 โทนคือ โทนร้อนและโทนเย็น ซึ่งโทนร้อนจะเป็นช่วงสี เหลือง ส้ม ชมพู และโทนเย็นจะเป็นช่วงสีเขียว ฟ้า ม่วง และเทา
ความวาว (Luster) คือความชัดเจนของแสงที่สะท้อนบนผิวมุก สังเกตจากความสว่าง ความคมชัด และความสม่ำเสมอของความวาว ไม่ด้าน มีทั้งหมด 5 ระดับ ได้แก่
ดีเยี่ยม (Excellent) มีความวาวสะท้อนทั่วทั้งเม็ด
ดีมาก (Very Good) มีความสะท้อนแสงได้ดี
ดี (Good) มีความสะท้อนของแสงน้อยลงมีความวาวอยู่
พอใช้ (Fair) มีความสะท้อนของแสงที่ผิวน้อยและมีความวาวน้อยมาก
แย่ (Poor) คือการสะท้อนของแสงน้อยมากมีความด้านมากกว่าความวาว
พื้นผิว (Surface) เป็นการประเมิณความสมบูรณ์ของผิวมุก โดยดูจากผิวที่เรียบสม่ำเสมอ หรือตำหนิ มลทิน มีรอยหลุมลึกลงไปที่ผิวมุก แบ่งเป็น 4 ระดับ คือ
ไม่มีรอย (Clean) คือมลทินบนผิวเกลี้ยงเกลา
มีรอยที่ผิวเล็กน้อย (Lightly Spotted) มองเห็นยากด้วยตาเปล่า
มีรอยปานกลาง (Moderate Spotted) สามารถสังเกตุเห็นรอยหลุมด้วยตาเปล่า แต่มีปริมาณไม่มากนัก
มีรอยมลทิน หลุม ชัดเจนทั่วเม็ด (Heavily Spotted)
วิธีการแยกไข่มุกธรรมชาติและไข่มุกเลียนแบบ
เนื่องจากไข่มุกธรรมชาติและไข่มุกเลียนแบบ มีลักษณะทางกายภาพที่คล้ายคลึงกัน แต่เมื่อสังเกตโดยอ้างอิงจากหลักการดังต่อไปนี้ ก็จะสามารถจำแนกเบื้องต้นได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
ลักษณะผิวของไข่มุกธรรมชาติ ผิวของมุกจะมีลักษณะเฉพาะเป็นรูปร่างคล้ายรอยนิ้วมือ (fingerprint) โดยวัสดุเลียนแบบจะไม่มีรูปแบบการเรียงตัวคล้ายรอยนิ้วมือธรรมชาติ แต่ลักษณะดังกล่าวต้องสังเกตภายใต้กล้องจุลทรรศน์ เพราะเป็นลักษณะที่สังเกตด้วยตาเปล่าได้ยาก
วัสดุเลียนแบบไข่มุกอาจเป็นได้ทั้งแก้วหรือพลาสติก โดยพื้นผิวไข่มุกเลียนแบบจะไม่พบลักษณะของรอยนิ้วมือ แต่จะพบลักษณะผิวเรียบหรือขรุขระคล้ายผิวเปลือกส้ม หรืออาจมีผิวลอกร่อนไม่สม่ำเสมอ โดยการสังเกตต้องใช้กล้องกำลังขยายขนาด 10x (loupe) หรือกล้องจุลทรรศน์อัญมณี (microscope) ในการสังเกตลักษณะดังกล่าว
นอกจากนี้วิธีการสังเกตรูของไข่มุกก็สามารถช่วยในการจำแนกไข่มุกธรรมชาติและไข่มุกเลียนแบบได้ด้วยเช่นกัน โดยไข่มุกธรรมชาติจะมีผิวเรียบหรือมีร่องรอยของรอยนิ้วมือปรากฏอยู่บริเวณรอบรู ในขณะเดียวกันวัสดุเลียนแบบจะปรากฏความไม่สม่ำเสมอของพื้นผิวรูและแสดงให้เห็นความเป็นวัสดุคนละชนิดกันอย่างชัดเจน
(UPDATE ON THE IDENTIFICATION OF DYE TREATMENT IN YELLOW OR “GOLDEN” CULTURED PEARLS, 2555.)
การย้อมสี (Dyeing) ปัจจุบันไข่มุกส่วนมาก มีการปรับปรุงคุณภาพโดยการย้อมสี เพื่อให้ไข่มุกมีสีเข้มและสวยขึ้นตามความต้องการของตลาด การย้อมสีจึงเป็นการปรับปรุงคุณภาพอย่างหนึ่ง โดยการนำไข่มุกไปฟอกขาว (Bleaching) ก่อนเพื่อขจัดรอยดำด่างต่างๆ จากนั้นจึงทำการย้อมสีในภายหลัง วิธีการสังเกตไข่มุกย้อมสี คือ ไข่มุกมีสีสดใสเกินจริง และพื้นผิวที่ถูกย้อมจะปรากฏหย่อมสีที่เข้มกว่าพื้นผิวปกติ โดยสังเกตจากตำแหน่งของรู หลุมหรือร่องบนพื้นผิวไข่มุกจะพบระดับความเข้มของสีที่ต่างกันจากพื้นผิวปกติ
นอกจากนี้ยังสามารถสังเกตบริเวณรูของไข่มุก โดยสีที่ย้อมจะไม่สามารถย้อมถึงเม็ด bead แกนกลางได้
วิธีดูแลรักษาไข่มุก
ไข่มุกเป็นอัญมณีที่มีความแข็งเพียง 3 ระดับ ความแข็งของ Mohs scale (GIA Mohs Scale – Gem and Mineral Hardness, 2555.) ดังนั้นพื้นผิวจึงมีความเปราะบางและส่งผลให้เกิดรอยตามพื้นผิวของไข่มุกได้ง่ายกว่าอัญมณีทั่วไป วิธีการดูแลรักษาจึงมีความพิเศษกว่าอัญมณีชนิดอื่นๆ แต่ก็ไม่ได้ยุ่งยากเกินไปเพียงแค่ 3 ขั้นตอนเท่านั้น
ขั้นตอนที่ 1 เตรียมผ้าสะอาดที่มีลักษณะนุ่ม เพื่อป้องกันรอยขีดข่วนที่อาจเกิดขึ้นหากนำผ้าหยาบหรือแปรงมาใช้ในการทำความสะอาด
ขั้นตอนที่ 2นำผ้านุ่มชุบน้ำอุ่นให้ผ้ามีลักษณะหมาดและเช็ดทำความสะอาดผิวไข่มุกอย่างเบามือ หลังจากนั้นนำผ้าแห้งที่มีลักษณะนุ่มเช็ดให้แห้งสนิทอีกครั้ง
ขั้นตอนที่ 3ทิ้งเครื่องประดับไว้ให้แห้งสนิท จากนั้นเก็บใส่กล่องเครื่องประดับให้เรียบร้อย
และเนื่องจากไข่มุกมีความไวต่อสารเคมี จึงควรใช้เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์บำรุงผิว และน้ำหอมให้เรียบร้อย ก่อนแล้วจึงสวมใส่เครื่องประดับไข่มุก เพราะเครื่องสำอางหรือผลิตภัณฑ์บำรุงผิวต่างๆ ประกอบไปด้วยกรดหรือสารเคมีที่สามารถทำลายพื้นผิวของไข่มุก ทำให้ความวาวของไข่มุกลดลง จึงควรถอดเครื่องประดับไข่มุกออกทั้งหมด หากมีการใช้สารเคมีต่างๆ (GIA Pearl Care and Cleaning Guide, 2545.)
และทั้งหมดนี้คือThe Journey of Pearl เรื่องราวการเดินทางของ “ไข่มุก” ผ่านมุมมองของนักอัญมณีศาสตร์ ที่ Ticy City นำมาฝากกัน
ขอบคุณ : ข้อมูลและภาพ TREZ Jewelry ชั้น 1 สยามพารากอน
กรรมการบริหาร บริษัท เทรซ จิวเวลรี่ จำกัด
#TicyCity #ตีซี้ซิตี้ #เมือง #City #กรุงเทพ #TheJourneyofPearl #การเดินทาง #ไข่มุก #มุมมอง #นักอัญมณีศาสตร์ #เครื่องประดับ #Jewelry