หน้าฝน
เมื่อย่างเข้าสู่หน้าฝนเป็นที่ทราบกันดีว่าคือช่วงเวลาที่ “ยุงลาย” จะแผลงฤทธิ์เรียกว่าออกกัด 24 ชั่วโมงเลยก็ว่าได้ และนั้นทำให้เกิดโรค ‘ไข้เลือดออก’ รุนแรง ซึ่งคนไทยป่วยทะลุแสน 2 ปีซ้อน การฉีดวัคซีนป้องกันจึงเป็นเรื่องที่ Ticy City เห็นว่าสำคัญ
โดยมีข้อมูลจากกรมควบคุมโรคเผยว่า ในปี 2567 มีผู้ป่วยไข้เลือดออกมากถึง 105,250 ราย และเสียชีวิตกว่า 100 ราย ซึ่งตัวเลขที่สูงขนาดนี้ส่วนหนึ่งเกิดจากความเชื่อผิด ๆ ที่ว่ายุงลายจะออกมาเฉพาะตอนกลางคืน ทำให้หลายคนละเลยการป้องกันยุงกัดในช่วงกลางวัน ทั้งที่จริงแล้วยุงลายสามารถออกกัดได้ตลอดทั้งวัน
ดังนั้นทุกคนจึงควรป้องกันตัวเองอย่างรอบด้าน ทั้งการระวังไม่ให้ถูกยุงกัดและการฉีดวัคซีนไข้เลือดออก ซึ่งมีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อและช่วยลดความรุนแรงของอาการที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิต
ทั้งนี้ Ticy City ได้ตระหนักถึงอันตรายจากโรคไข้เลือดออก จึงขอนำเสนอบทความดีๆ มีสาระจากนายแพทย์บารมี พงษ์ลิขิตมงคล แพทย์ผู้ชำนาญการเวชศาสตร์ครอบครัว ศูนย์อายุรกรรม รพ.วิมุต เพื่อย้ำเตือนถึงอันตรายของโรคไข้เลือดออก พร้อมแชร์วิธีป้องกันยุงกัดง่าย ๆ ที่นำไปใช้กันได้ทั้งครอบครัว

‘ไข้เลือดออก’ ระยะวิกฤตอันตรายถึงชีวิต
โรคไข้เลือดออก เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเดงกี (dengue virus) ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 4 สายพันธุ์ คือ DENV-1, DENV-2, DENV-3 DENV-4 โดยโรคนี้ไม่ได้ติดจากคนสู่คนโดยตรง แต่ติดต่อผ่านทางยุงลายที่เป็นพาหะนำโรค ไปกัดคนที่ติดเชื้อไวรัสมาก่อนแล้วมากัดอีกคนหนึ่งในภายหลัง
ปกติเชื้อจะฟักตัวในร่างกายประมาณ 3-7 วัน ก่อนจะเริ่มมีอาการ โดยโรคไข้เลือดออกแบ่งออกเป็น 3 ระยะ
เริ่มจากระยะไข้ (Febrile phase) ผู้ป่วยจะมีไข้สูงเฉียบพลันมากกว่า 38.5 องศาเซลเซียส มีผื่นแดงตามตัว กดเจ็บบริเวณใต้ชายโครงขวา และอาจมีอาการร่วม เช่น ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ ปวดกระดูก คลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง และไข้มักจะลดลงในระยะเวลาประมาณ 3-7 วัน
ส่วนระยะที่สอง คือ ระยะช็อกหรือระยะวิกฤต (Critical phase) ซึ่งจะเกิดหลังระยะไข้ในวันที่ 5-7 โดยจะเป็นระยะที่ไข้จะลงอย่างรวดเร็ว เกล็ดเลือดต่ำ ในบางครั้งอาจมีความรุนแรงมากจนทำให้ผู้ป่วยช็อกและมีโอกาสเสียชีวิตได้
สุดท้ายคือระยะฟื้นฟู (Recovery phase) หลังจากผู้ป่วยอยู่ในระยะวิกฤตนานประมาณ 24-48 ชั่วโมง ก็จะเริ่มเข้าสู่ระยะฟื้นตัว โดยเป็นช่วงที่ร่างกายค่อย ๆ ฟื้นตัวจนอาการต่าง ๆ ดีขึ้นอย่างรวดเร็วตามลำดับ
หลายคนมีความเชื่อว่ายุงลายกัดเฉพาะตอนกลางวัน แต่ความจริงแล้วยุงลายกัดได้ทั้งกลางวันและกลางคืน จึงต้องระวังมากขึ้น โดยเฉพาะคนที่เคยเป็นมาก่อน เพราะหากติดเชื้อซ้ำอาจมีอาการรุนแรงมากขึ้น

ไขข้อสงสัย ‘ไข้เลือดออก’ เป็นซ้ำทำไมเสี่ยงอาการรุนแรงกว่าเดิม
โดยปกติร่างกายจะสร้างแอนติบอดีเพื่อต่อสู้กับไวรัสและป้องกันการติดเชื้อซ้ำ แต่ในกรณีของไข้เลือดออกซึ่งมี 4 สายพันธุ์หลัก ภูมิคุ้มกันที่เกิดจากการติดเชื้อครั้งแรกจะป้องกันได้เฉพาะสายพันธุ์ที่ติดตลอดชีวิต แต่ป้องกันสายพันธุ์อื่นได้ชั่วคราวประมาณ 3–6
ดังนั้นหากติดเชื้อครั้งที่สองจากสายพันธุ์ต่างกัน ระบบภูมิคุ้มกันอาจทำงานผิดพลาดจนเกิดภาวะ Antibody Dependent Enhancement (ADE) หรือการที่แอนติบอดีจำไวรัสตัวใหม่ว่าเป็นตัวเดิม ทำให้ไวรัสแพร่กระจายได้ง่ายขึ้นและเพิ่มความรุนแรงของโรค เช่น มีไข้สูง คลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง บางรายมีการรั่วไหลของน้ำออกจากหลอดเลือด ทำให้เกิดภาวะช็อก ขาดน้ำ หรืออาจมีเลือดออกรุนแรงจนอาจทำให้เสียชีวิตได้ ดังนั้นจึงขอแนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันไว้จะดีที่สุด
วัคซีน ‘ไข้เลือดออก’ กันติดเชื้อได้ 80%
โรคไข้เลือดออกนั้นสามารถเป็นได้ทุกคนเมื่อโดนยุงลายที่มีเชื้อกัด โดยเฉพาะในเด็ก ๆ ช่วงอายุ 5-14 ปี ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันยังไม่พัฒนาเต็มที่ และเป็นวัยที่ยังไม่ได้ระวังตัวเองกับการติดเชื้อมากนัก โดยทุกคนสามารถป้องกันตัวเองได้หลายวิธี เช่น ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุง นอนในมุ้ง ทายากันยุง ใส่เสื้อให้มิดชิด และดีที่สุดควรเลี่ยงการโดนยุงกัด แต่อาจจะเลี่ยงไม่ได้ตลอด ดังนั้นจึงควรฉีดวัคซีนเพื่อป้องกัน
ซึ่งปัจจุบันมีวัคซีนไข้เลือดออกครอบคลุมทั้ง 4 สายพันธุ์ แต่แนะนำให้ฉีดวัคซีนคิวเดงกา (Qdenga) ซึ่งเป็นวัคซีนชนิด เชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์ (live-attenuated vaccine) ที่กระตุ้นภูมิคุ้มกันต่อเชื้อทั้ง 4 สายพันธุ์ ฉีดทั้งหมด 2 เข็ม ห่างกันเข็มละ 3 เดือน สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ 80% อีกทั้งยังป้องกันภาวะแทรกซ้อน ลดความรุนแรง ลดโอกาสช็อกได้ถึง 90%
ซึ่งตัววัคซีนสามารถฉีดได้ตั้งแต่อายุ 4 – 60 ปี ทั้งผู้ที่เคยและไม่เคยเป็นไข้เลือดออกมาก่อน แต่จะมีข้อห้ามสำหรับผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น ผู้ป่วยที่ใช้ยากดภูมิคุ้มกัน ผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับยาเคมีบำบัด ผู้ป่วย HIV รวมถึงหญิงที่ตั้งครรภ์ และให้นมบุตร

วิธีการรักษา ‘โรคไข้เลือดออก’
ปัจจุบันยังไม่มียาต้านเชื้อไวรัสเดงกีโดยตรง การรักษาจึงเน้นไปที่การบรรเทาอาการตามระยะของโรค เช่น การรับประทานยาแก้ปวดลดไข้ การเช็ดตัวลดไข้ และดื่มน้ำเกลือแร่เพื่อชดเชยภาวะขาดน้ำ
แต่ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการรุนแรงหรือเข้าสู่ระยะวิกฤต ควรรีบไปพบแพทย์ทันที เพราะผู้ป่วยอาจมีภาวะสารน้ำรั่วไหลออกจากหลอดเลือด เลือดออกรุนแรง จนนำไปสู่ภาวะช็อกหรือเสียชีวิตได้ จึงจำเป็นต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด
ซึ่งในเมื่อช่วงหน้าฝนแบบนี้ยุงลายจะแพร่พันธุ์ได้เร็วขึ้น ส่งผลให้มีโอกาสป่วยเป็นโรคไข้เลือดออกเพิ่มไปด้วย ดังนั้นจึงต้องเลี่ยงไม่ให้โดนยุงกัด และทำลายพื้นที่น้ำขังที่เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงรอบบ้านให้หมด
ที่สำคัญคือต้องฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออกไว้ตั้งแต่เนิ่น ๆ เพราะไข้เลือดออกเป็นซ้ำได้ตลอดชีวิต ซึ่งเมื่อฉัดวัคซีนแล้วเวลาติดเชื้อขึ้นมาจะได้มีอาการไม่รุนแรงและฟื้นฟูร่างกายได้ไวขึ้นขึ้น
ที่มา : โรงพยาบาลวิมุต โทร. 02-079-0030 หรือ ViMUT Application
Leave feedback about this