PM 2.5 ฝุ่นละอองมหาภัย ที่มีขนาดเล็กมาก คือมีขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือเทียบเท่ากับขนาดประมาณ 1 ใน 25 ส่วนของเส้นผ่านศูนย์กลางเส้นผมมนุษย์
มีต้นกำเนิดจากควันหรือการเผาไหม้เชื้อเพลิงไม่ว่าจะเป็น การผลิตไฟฟ้า ถ่านหิน โรงงานอุตสาหกรรม หรือแม้กระทั่งควันเสียจากท่อรถยนต์
ส่งผลถึงระบบทางเดินหายใจ กระแสเลือด และอวัยวะอื่น ๆ ของร่างกาย เสี่ยงต่อการเกิดโรคทางเดินหายใจและมะเร็งได้
วิธีการแก้ไขที่ผ่านมา คือลดการเกิดควันพิษ และฝุ่นละออง อาจช้วิธีการฉีดพ่นน้ำขึ้นไปในอากาศ ประกอบกับการทำฝนหลวง เพื่อลดปริมาณฝุ่นละออง
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การให้ความรู้ประชาชนสวมหน้ากากป้องกันฝุ่น PM2.5 ชนิด N95 ถือได้ว่าสามารถช่วยแก้ไขปัญหาได้ในระดับหนึ่งแต่นั่นก็ยังไม่ใช่ทางออกของปัญหาที่แท้จริง

เพราะฝุ่นมหาภัยมีอิทธิพลมากถึงขนาดทำให้คนไทยในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลมากกว่าครึ่งหันมาใส่ หน้ากากป้องกันฝุ่น N95 แสดงว่าฝุ่นละออง PM 2.5 นี้ไม่ใช่เรื่องธรรมดาจริง
นอกจากนี้ ปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ไม่ใช่ปัญหาใหม่ที่เพิ่งจะเกิดขึ้นบนโลกใบนี้ แต่เป็นปัญหาประเทศต่างๆ ทั่วโลกต่างก็เคยประสบปัญหานี้กันมาแล้ว แต่หลายชาติต่างก็มีวิธีการแก้ไขที่แตกต่างกันออกไป เป็นต้นว่า การยุติโรงงานถ่านหินในจีน
ผลักดันให้ประชาชนหันมาใช้พลังงานสะอาดแทน โดยประกาศมาตรการในการเก็บภาษีอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม จำนวน 12 หยวนต่อหน่วยของการปล่อยมลพิษทางอากาศ ทุกคนจึงเกิดความตระหนักในการใช้พลังงานที่อาจจะส่งผลในการปล่อยมลพิษมากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ รัฐบาลจีนได้จัดตั้งทีมขจัดมลพิษ Smog Squad ซึ่งจะทำหน้าที่ในการตระเวนตรวจบริเวณพื้นที่ในเมือง และห้ามปรามหรือตักเตือนพลเมืองในประเทศไม่ให้มีการปิ้งย่าง หรือการกระทำใดที่ก่อให้เกิดควันในที่แจ้ง
เกาหลีใต้บริการขนส่งมวลชนฟรีประกาศใช้กฎกระทรวงควบคุมวิธีการเดินทางโดยรถบริการขนส่งมวลชน เพื่อเป็นดึงดูดให้พลเมืองเลือกการเดินทางด้วยรถสาธารณะมากกว่าการใช้รถยนต์ ทำให้รถยนต์บนท้องถนนลดลงอย่างเห็นได้ชัด นั่นหมายความว่าฝุ่นละอองจากควันพิษรถยนต์ก็จะลดลงไปด้วย
รวมถึงใช้โดรนบินตรวจตราพื้นที่แถบชานเมืองกรุงโซล เพื่อสำรวจพฤติกรรมการลักลอบปล่อยควันเสียและก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ยังเป็นอีกหนึ่งวิธีที่เกาหลีใต้ใช้ในการลดปัญหามลพิษในอากาศอีกด้วย
ส่วนอินเดียประกาศห้ามแท็กซี่ใช้ดีเซล เพื่อช่วยลดปัญหาฝุ่นควันที่เป็นมลพิษทางอากาศ เพราะเครื่องยนต์ดีเซล ถือเป็นตัวการสำคัญที่ก่อให้เกิดมลพิษ เนื่องจากระบบการทำงานของเครื่องยนต์ที่จะมีการเผาไหม้ได้อย่างง่ายดายเมื่อมีการขับเคลื่อน และการเผาไหม้นั้นจะออกมาในรูปแบบของควันเสียลอยอยู่ในชั้นบรรยากาศ
ที่ฝรั่งเศสมีการสั่งห้ามรถที่มีอายุการใช้งานที่มีการผลิตก่อนปี 1997 วิ่งเข้ามาในเมือง ในช่วงวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 08.00-20.00 น. เพื่อพยายามผลักดันให้ประชาชนใส่ใจและเลือกเดินทางด้วยวิธีการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น
สเปนก็เช่นเดียวกับฝรั่งเศสที่จำกัดปริมาณรถยนต์ที่จะวิ่งเข้ามาในเขตควบคุมคุณภาพอากาศ เช่น ย่านใจกลางกรุงมาดริด โดยกำหนดมาตรการให้ผู้ใช้รถต้องนำรถยนต์ไปเข้ารับการตรวจวัดปริมาณการปล่อยควันเสีย และหันมาให้ความสำคัญกับการใช้รถยนต์ไฮบริดมากยิ่งขึ้น

เยอรมนีห้ามจอดรถยนต์ใกล้บริเวณที่พัก โดยเจ้าของรถยนต์จะต้องไปหาเช่าพื้นที่สำหรับจอดรถซึ่งมีราคาที่ค่อนข้างสูง จึงส่งผลให้อัตราการซื้อรถยนต์ลดน้อยลง มลพิษภายในอากาศจึงมีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อยลงอีกด้วย
อังกฤษห้ามขายเชื้อเพลิงที่ก่อให้เกิดมลพิษสำหรับใช้ในครัวเรือน เช่น เตาหุงต้มอาหารที่ใช้ในครัวเรือนจะต้องเป็นประเภทที่ไม่ก่อให้เกิดมลพิษ เนื่องจากปัญหาหลักในขณะนี้ คือการเผาไหม้เชื้อเพลิงจากไม้และถ่านหินในครัวเรือนมากที่สุด
หลายชาติรณรงค์การใช้จักรยานแทนการใช้รถยนต์ เพราะนอกจากจะช่วยลดฝุ่นละอองในอากาศได้แล้ว ยังเสริมสร้างสุขภาพที่แข็งแรงได้ด้วย ทั้งนี้ควรเตรียม ที่จอดรถจักรยาน ที่ได้มาตรฐานไว้หลายๆ จุดด้วย
จะเห็นได้ว่า เรื่องฝุ่น PM2.5 ไม่ใช่ปัญหาเฉพาะในบ้านเราเท่านั้น แต่มันคือปัญหาระดับโลกที่ทุกคนจะต้องหันมาให้ความใส่ใจ และร่วมมือกันขจัดปัญหาดังกล่าว
ช่วยกันคนไม้คนละมือ เพียงเท่านี้ โลกของเราก็จะน่าอยู่มากยิ่งขึ้น
เขียนโดย: ดร.จักรกฤษณ์ สิริริน
Leave feedback about this