โรคติดต่อ
ถ้าใครได้ติดตามข่าวเรื่องการพบผู้ป่วยต้องสงสัยว่าเป็นโรค “ฝีดาษลิง clade 1″ ซึ่งเป็นชาวยุโรปที่อาศัยอยู่ในประเทศแทบแอฟริกาและได้เดินทางมาประเทศไทย โดยล่าสุดได้รับการยืนยันแล้วว่า เป็นฝีดาษลิง “สายพันธุ์ clade 1B” นับว่าเป็นผู้ป่วยรายแรกที่ได้รับการวินิจฉัยในประเทศไทย
และเท่าที่ Ticy City ทราบ โรคฝีดาษลิงสามารถหายเองได้ แต่หากเกิดภาวะแทรกซ้อนก็อาจทำให้เสียชีวิตได้เช่นกัน ดังนั้นเพื่อความชัวร์ Ticy City ได้ติดต่อขอข้อมูลจากทาง นายแพทย์พงศ์ภากร ศรธนะรัตน์ แพทย์ด้านเวชศาสตร์ชะลอวัย สวนสุขภาพอรุณสหคลินิก ถึงการกลับมาของ “โรคฝีดาษลิง” โรคติดต่อที่องค์การอนามัยโลกเคยประกาศว่าถูกกำจัดแล้ว
สำหรับโรคฝีดาษลิง หรือเอ็มพ็อกซ์ (Mpox) ซึ่งครั้งหนึ่งเป็นโรคหายาก ที่ถูกพบในประเทศแถบแอฟริกากลางและตะวันตก ซึ่งได้ถูกประกาศเป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศอีกครั้งในรอบ 2 ปี จากการระบาดเป็นวงกว้าง สร้างความกังวลให้กับผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขทั่วโลก
ทั้งนี้โรคฝีดาษลิงเกิดจากการติดเชื้อไวรัสฝีดาษลิง (Mpox virus หรือ monkeypox virus) ซึ่งอยู่ในสกุลจีนัส Orthopoxvirus เช่นเดียวกันกับไวรัส variola ที่ทำให้เกิดโรคฝีดาษหรือไข้ทรพิษ (smallpox) โรคนี้สามารถแพร่ผ่านการสัมผัสรอยโรคที่ผิวหนัง สารคัดหลั่งในร่างกาย และการมีเพศสัมพันธ์ การแพร่เชื้อเกิดขึ้นได้ตั้งแต่ผู้ป่วยมีอาการ จนกว่าแผลจะตกสะเก็ดและหายดี
โดยไวรัสฝีดาษลิง มีระยะฟักตัวตั้งแต่ประมาณ 3-17 วัน ซึ่งในช่วงระยะเวลานี้ผู้ติดเชื้อจะยังไม่มีอาการและยังไม่มีการแพร่เชื้อ อาการหลักของโรคคือมีผื่นขึ้นที่ผิวหนังบริเวณใบหน้า แขน ขา มือ เท้า หน้าอก หรือบริเวณอวัยวะเพศ ระยะเริ่มต้นของการขึ้นผื่นนั้นอาจเหมือนสิวตามมาด้วยกลายเป็นตุ่มน้ำใส จนแตกและตกสะเก็ด ในระหว่างนี้ผู้ป่วยจะมีอาการร่วม เช่น มีไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย เจ็บคอ คัดจมูก ไอ และต่อมน้ำเหลืองโต แต่สำหรับในเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ หรือผู้ที่ทีภูมิคุ้มกันบกพร่องอาจมีอาการรุนแรงถึงขึ้นเสียชีวิตได้
โรคฝีดาษลิงไม่มีวัคซีนป้องกันเฉพาะนะครับ แต่สามารถใช้วัคซีนป้องกันไข้ทรพิษ (smallpox) ซึ่งมีประสิทธิภาพสูงถึง 85% สำหรับประเทศไทยนั้นเท่าที่หมอทราบมาได้ยกเลิกการฉีดไปแล้วตั้งแต่ปีพ.ศ. 2523 ซึ่งเป็นปีที่องค์การอนามัยโลกประกาศว่าฝีดาษได้ถูกกำจัดไปจากโลกของเราแล้ว ดังนั้นผู้ที่เกิดหลังจากพ.ศ 2523 เป็นต้นมาอาจมีความเสี่ยงในการติดเชื้อฝีดาษลิงได้สูง แต่อย่างไรก็ตามหากสามารถระวังป้องกันตนเองได้โดยการสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์อยู่สม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงพื้นที่แออัดซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการสัมผัสผู้ติดเชื้อ ก็จะรอดพ้นจาการเป็นโรคนี้ได้ครับ
ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา จะเห็นว่าเราต้องพบเจอทั้งโรคอุบัติใหม่อย่างไวรัสโควิด-19 หรือโรคที่เคยถูกประกาศว่าหมดไปจากโลกแล้วอย่างฝีดาษลิง ซึ่งก็กลับมาระบาดทั่วโลกอีกครั้ง โดยสาเหตุที่สำคัญอย่างหนึ่งคงไม่พ้นภาวะโลกร้อน ที่อาจส่งผลต่อพฤติกรรมสัตว์ การทำลายถิ่นที่อยู่อาศัย ป่าไม้ ทำให้สัตว์ป่ามีการย้ายถิ่นฐาน และมีโอกาสสัมผัสมนุษย์มากขี้น โรคระบาดที่อาจพบเฉพาะในสัตว์ป่าก็มีโอกาสแพร่มาสู่มนุษย์สูงขึ้น
แต่ภาวะโลกร้อนไม่ใช่ภาวะที่จะจัดการได้โดยง่าย มีแต่จะทวีความรุนแรงสูงขึ้น แน่นอนว่ามนุษยชาติยังคงต้องพบกับโรคระบาดใหม่ ๆ หรือโรคในอดีตกาลที่เคยหายไปแล้วย้อนกลับมาระบาดรุนแรงอีกครั้งก็เป็นได้ ฉะนั้นสิ่งสำคัญที่สุดที่หมออยากแนะนำ คือต้องพร้อมรับมือป้องกันโรคเหล่านี้ด้วยการดูแลภูมิคุ้มกันของร่างกายอันเป็นด่านแรกของการต่อกรกับเชื้อโรคให้ดีอยู่เสมอ ซึ่งการจะมีภูมิคุ้มกันที่มีประสิทธิภาพนั้น ต้องได้รับการพักผ่อนที่เพียงพอ มีโภชนาการที่ดี ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และมีวิธีการจัดการความเครียดที่เหมาะสม รวมทั้งต้องหมั่นติดตามข่าวสารการแพร่ระบาดของโรคเหล่านี้โดยไม่ตื่นตระหนก แต่ตระหนักในวิธีการดูแลตัวเองให้ปลอดภัยครับ
โรคฝีดาษลิงก็เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งที่แสดงถึงความสัมพันธ์ใกล้ชิดในด้านสุขภาพของมนุษย์ สุขภาพของสัตว์ และสิ่งแวดล้อม ภาวะโลกร้อนที่รุนแรงขึ้นจะตามมาด้วยโรคระบาดที่มากและอันตรายยิ่งขึ้น จึงต้องเสริมสร้างภูมิคุ้มกันร่างกายให้แข็งแรงเพื่อเป็นเกราะป้องกันการมาถึงของโรคต่างๆ รวมทั้งต้องจัดการที่รากของปัญหาเรื่องภาวะโลกร้อน เพราะนั้นจะส่งผลทำให้มนุษยชาติโดยเฉพาะอย่างยิ่งในรุ่นลูกรุ่นหลานปลอดภัยจากอันตรายของโรคระบาดเหล่านี้ครับ
เรื่อง : นายแพทย์พงศ์ภากร ศรธนะรัตน์ (Phongphakorn Sontanarat,M.D.)
แพทย์ด้านเวชศาสตร์ชะลอวัย สวนสุขภาพอรุณสหคลินิก
(Integrative Medicine Arun Health Garden)
ภาพ : https://www.istockphoto.com/
#TicyCity #ตีซี้ซิตี้ #เมือง #City #กรุงเทพ #โรคฝีดาษลิง #โรคติดต่อ #แพร่ระบาด
Leave feedback about this